ThaiPublica > เกาะกระแส > กรมชลฯนำร่องใช้ “น้ำท่วมค้างทุ่ง” ช่วยชาวนา เตรียมแปลงปลูกข้าวฤดูแล้ง

กรมชลฯนำร่องใช้ “น้ำท่วมค้างทุ่ง” ช่วยชาวนา เตรียมแปลงปลูกข้าวฤดูแล้ง

8 ธันวาคม 2021


กรมชลฯนำร่องใช้ “น้ำท่วมค้างทุ่ง” ในฤดูน้ำหลาก ช่วยชาวนาในจังหวัดมหาสารคาม เตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวในฤดูแล้ง ลดต้นทุนการผลิต – ประหยัดค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำ

นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กรมชลประทาน กล่าวว่า หลังจากที่ปัญหาเกิดอุทกภัยในพื้นที่ 2 ฝั่งของลำน้ำชี บริเวณจังหวัดขอนแก่น , มหาสารคาม , ร้อยเอ็ด และยโสธร ในช่วงฤดูฝนปีที่ผ่านมา นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ได้มอบนโยบายให้สำนักงานชลประทานฯ เข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรให้ใช้ประโยชน์จาก “น้ำที่ท่วมขังค้างทุ่ง” นำมาใช้ในการเตรียมแปลงเพาะปลูกข้าว

โดยให้เกษตรกรที่แปลงนาถูกน้ำท่วมขัง เริ่มไถนาและหว่านข้าวในแปลงที่อยู่ระดับสูงกว่าก่อน จากนั้นจะมีการปล่อยน้ำที่ท่วมขังลงไปให้แปลงนาที่อยู่ต่ำกว่า ในลักษณะลดหลั่นกันลงไป และหลังจากเกษตรกรใช้น้ำค้างทุ่งจนหมดแล้ว จึงจะใช้น้ำที่ส่งจากระบบชลประทานเข้าไปเสริม เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้น้ำค้างทุ่งให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก่อนที่จะปล่อยไหลลงสู่แม่น้ำชี โดยเปล่าประโยชน์ อีกทั้งเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ช่วยลดต้นทุนในการไถเตรียมแปลง ด้วยการไถพรวนเพียงครั้งเดียว รวมไปถึงเป็นต้นแบบให้เกษตรกรที่ประสบอุทกภัยได้ศึกษาเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเองต่อไป

สำหรับพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง ได้นำร่องพื้นที่สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเขื่อนวังยาง ที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำชีจำนวน 923 ไร่ เป็นพื้นที่ต้นแบบในการใช้ประโยชน์จากน้ำท่วมค้างทุ่ง ซึ่งโดยปกติในการทำนาข้าวจะใช้น้ำประมาณ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ การใช้น้ำท่วมที่ค้างอยู่ในทุ่งมาไถเตรียมแปลงจะช่วยให้สามารถลดปริมาณการใช้น้ำลงได้ประมาณไร่ละ 400 ลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้เขื่อนวังยาง สามารถประหยัดน้ำจากการทำนาในฤดูนี้ได้ประมาณ 369,200 ลูกบาศก์เมตร

ด้านนายสมบัติ อามาตย์มนตรี เกษตรกรบ้านกุดเวียน ตำบลท่าตูม อำเภอเมือง จัหงวัดมหาสารคาม กล่าวว่า พื้นที่นากว่า 30 ไร่ของตนถูกน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ทำให้นาข้าวได้รับความเสียหาย หลังน้ำลดเจ้าหน้าที่ชลประทานได้เข้ามาแนะนำการทำนา โดยการนำน้ำที่ค้างในทุ่งมาใช้ก่อนที่ปล่อยน้ำให้ไหลลงสู่แม่น้ำชี ช่วยลดค่ากระแสไฟฟ้าสูบน้ำ รวมทั้งทำให้ราคาค่าจ้างไถถูกลง เพราะจ้างไถพรวนดินแค่รอบเดียว ก็สามารถหว่านข้าวได้ นอกจากนี้ ยังประหยัดค่าปุ๋ยเพราะดินชุ่มชื่นอุดมสมบูรณ์ ช่วยลดต้นทุนการทำนาได้มากพอสมควร ซึ่งตนจะแนะนำให้เกษตรกรรายอื่นๆได้นำเอาไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนอีกด้วย