ThaiPublica > เกาะกระแส > สาธารณสุขประเมินนโยบาย “รับยาที่ร้านยา” กรณีตัวอย่าง “รพ.วชิระภูเก็ต”

สาธารณสุขประเมินนโยบาย “รับยาที่ร้านยา” กรณีตัวอย่าง “รพ.วชิระภูเก็ต”

30 ธันวาคม 2021


โครงการรับยาที่ร้านยา

วิจัยประเมินนโยบาย “รับยาที่ร้านยา” สู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน “รพ.วชิระภูเก็ต” ลดแออัด รอนาน พร้อมขยาย 17 กลุ่มโรคเข้าโครงการ

จากที่กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสำคัญ “รับยาที่ร้านยา” เพื่อการจัดการและแก้ไขปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล กระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะกับเมืองใหญ่ที่มีประชากรมาก โครงการดังกล่าวได้รับผลตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากกลุ่มคนไข้ที่ได้เข้าร่วมโครงการ โรงพยาบาลที่ลดความแออัดลงไปได้ ขณะที่ร้านยาจะได้ประโยชน์จากการได้ใช้วิชาชีพในการดูแลคนไข้เพิ่มเติมมากกว่าการที่ถูกมองว่าเป็นธุรกิจค้าขายยาเพียงอย่างเดียว

นโยบายรับยาที่ร้านยา ตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นโครงการนำร่อง โดย “คณะกรรมการวิเคราะห์ข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบายและติดตามผลการดำเนินการนโยบายให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล” ภายใต้การดำเนินงานวิจัยโครงการ “ประเมินผลโครงการนำร่องให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ระยะที่ 2” โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เข้ามาช่วยติดตามการดำเนินงานตามนโยบายให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยา รวมทั้งการประเมินผลกระทบ และนำข้อมูลเสนอไปยังผู้มีส่วนตัดสินใจในเชิงนโยบาย เพื่อให้การรับยาที่ร้านยา ถูกผลักดันให้เป็นการดำเนินงานที่ยั่งยืน บนเป้าหมายประชาชนคนไทยโดยเฉพาะผู้มีสิทธิ์ในบัตรทอง หรือหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ประโยชน์สูงสุด โดยมีร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ 44 แห่ง

ภญ.ฉัตรลดา สุทธินวล เภสัชกรชำนาญการ กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้รายงานการติดตามผลการดำเนินการโครงการรับยาที่ร้านยาของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ว่า โครงการรับยาที่ร้านยาของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต หรือในชื่อว่า “รับยาใกล้บ้าน ร้านยาใกล้ใจ” ได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ปัจจุบันมีร้านยาเข้าร่วมทั้งหมด 44 ร้าน ซึ่งในช่วงแรกดำเนินการกันในลักษณะรูปแบบที่ 1 คือ โรงพยาบาลจัดยาแล้วนำไปส่งที่ร้านยา เพื่อจ่ายยาให้กับผู้ป่วย กระทั่งล่าสุดในปีงบประมาณ 2564 โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตได้ร่วมกับร้านยาแผนปัจจุบันในพื้นที่นำร่องในรูปแบบที่ 3 คือ ร้านยาบริหารจัดการด้านยาเอง จัดและจ่ายยาให้กับผู้ป่วยรายบุคคลตามใบสั่งแพทย์ แล้วเบิกค่ายาจากโรงพยาบาล

ทั้งนี้ ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการกระจายไปอยู่แทบทุกพื้นที่ของ จ.ภูเก็ต โดยเฉพาะกับ 3 อำเภอหลักที่มีประชากรมาก คือ อำเภอถลาง อำเภอกระทู้ และอำเภอเมือง จากข้อมูลพบว่ามีร้านยาที่อำเภอเมืองภูเก็ตเข้าร่วมแล้ว 27 ร้าน มีผู้ป่วยไปรับยา 450 คน อำเภอถลางมีร้านยาเข้าร่วม 7 ร้าน มีคนไข้ไปรับยา 59 คน และที่อำเภอกระทู้ มีร้านยาเข้าร่วม 10 ร้าน และมีคนไข้ไปรับยา 41 ราย ซึ่งจากร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ และผลสะท้อนจากผู้ป่วยพบว่ามีความสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะกับการไม่ต้องเสียเวลารอคอยการรับยาที่โรงพยาบาลนานเหมือนเดิม

ภญ.ฉัตรลดากล่าวต่อว่า จากเดิมดำเนินโครงการตามแนวทางของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการรับยาที่ร้านยา โดยจะเน้นในผู้ป่วยกลุ่มโรค NCD ให้เข้าร่วมโครงการ แต่จากการประเมินของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และ สปสช. เขต 11 ในฐานะที่ดูแลพื้นที่ มีมติให้กลุ่มโรคเรื้อรัง 17 กลุ่มที่สามารถเข้าโครงการรับยาที่ร้านยาได้ ประกอบไปด้วย โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคทางจิตเวช โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบทางเดินอาหาร โรคระบบไต โรคระบบประสาท โรคระบบต่อมไร้ท่อ โรคระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ โรคระบบภูมิคุ้มกัน โรคระบบกระดูกและข้อ โรคระบบตา หู คอ จมูก โรคระบบผิวหนัง โรคมะเร็ง และโรคระบบหลอดเลือด

“โครงการนี้ยืนยันได้ว่าการรับยาที่ร้านยาสำหรับพื้นที่ จ.ภูเก็ตได้ผลดี ด้วยระยะเวลารอรับยาจากการรับยาที่ร้านยาลดลงได้มากถึง 80% เมื่อเปรียบเทียบกับการรอรับยาที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ขณะที่ความพึงพอใจของคนไข้ก็มีให้กับโครงการนี้สูงถึง 75%”

ภญ.ฉัตรลดากล่าวว่า “ในช่วงแรกของโครงการ ผู้ป่วยยังมีความไม่เข้าใจในรายละเอียดของโครงการ โดยมีข้อกังวลในเรื่องของคุณภาพยาที่ไปรับที่ร้านยา จะเหมือนกับยาที่ได้รับจากโรงพยาบาลหรือไม่ หรือจะได้พบแพทย์อีกหรือไม่ รวมทั้งความกังวลที่ครอบคลุมทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายจากการไปรับยาที่ร้านยา อีกทั้งการได้รับคำแนะนำสำหรับการใช้ยาจะเหมือนกับไปพบแพทย์หรือไม่ด้วย แต่หลังจากที่บุคลากรของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ให้คำแนะนำ อธิบาย พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ ทำให้เกิดการรับรู้ และความเข้าใจในโครงการรับยาที่ร้านยามากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการมากขึ้นรื่อยๆ”

พร้อมกล่าวเสริมว่า “แต่ละห้องตรวจโรค ทีมแพทย์ พยาบาล ได้ช่วยคัดกรองผู้ป่วยที่เข้าข่ายสามารถร่วมโครงการได้ มีการแนะนำชักชวนให้เข้าโครงการรับยาที่ร้านยา และบันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบของโรงพยาบาล ส่วนเภสัชกรร้านยา มีการประเมินคนไข้ เพื่อนัดคนไข้เป็นระยะสำหรับดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างคนไข้และร้านยาเองที่ต้องมีการติดตามการใช้ยา และประเมินอาการของโรคเพื่อจัดเก็บเป็นข้อมูลส่งให้กับทีมแพทย์ของโรงพยาบาล ขณะที่โรงพยาบาลจะก็มีการลงพื้นที่ร้านยา เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น ของโครงการระหว่างกัน โดยร้านยาจะมีป้ายสัญญลักษณ์ที่สามารถรับยาได้ใกล้บ้านประชาสัมพันธ์อีกทางหนึ่งด้วย”

ด้านนายเกียรติศักดิ์ ปานรังศรี ประธานชมรมเภสัชกรชุมชนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า “โครงการรับยาใกล้บ้าน ร้านยาใกล้ใจ ที่สำคัญคือเราได้มีบทบาททางวิชาชีพเภสัชกรที่มากกว่าการจ่ายยา นั่นคือการได้ร่วมดูแลผู้ป่วย ได้ดูแลแนะนำและติดตามอาการของคนไข้ที่มารับยาที่ร้านยา ซึ่งไม่ได้หวังว่าจะต้องได้ค่าตอบแทนเป็นผลกำไรมากมาย แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือความภูมิใจมากกว่า”

นอกจากนี้ ยังมีคนไข้ในสิทธิ์ประกันสังคม หรือสิทธิ์ข้าราชการที่ต้องการเข้าร่วมโครงการด้วยเช่นกัน โดยมีคนไข้จากสิทธิ์บัตรทองที่เข้าร่วมโครงการรับยาที่ร้านยา แต่ได้เปลี่ยนสิทธิ์การรักษาเป็นสิทธิ์ข้าราชการตามบุตร ซึ่งเราไม่สามารถบันทึกข้อมูลสำหรับการเปลี่ยนแปลงได้ แต่คนไข้อยากเข้าโครงการต่อ เพราะคนไข้สะดวกกว่าการไปรับยาที่โรงพยาบาล ที่ต้องรอเวลานาน ร้านยาก็ทำให้แม้ไม่ได้ค่าตอบแทน ซึ่งข้อมูลความต้องการของคนไข้สิทธิ์อื่นๆ ในการรักษาที่ต้องการมารับยาที่ร้านยา ร้านยาเองก็ส่งข้อมูลกลับไปยังโรงพยาบาลเพื่อให้มีการดำเนินการต่อไป” ประธานชมรมร้านยาจังหวัดภูเก็ตกล่าว

ภก.สมสุข สัมพันธ์ประทีป รองนายแพทย์ สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวเสริมว่า จากการวิเคราะห์จากตัวผู้ป่วยในสิทธิ์บัตรทองที่เข้าร่วมโครงการ ซพบว่าร้านยาที่เข้าโครงการ 44 ร้าน กระจายทั้งเกาะภูเก็ต เมื่อคนไข้เลือกร้านขายยาเพื่อเข้าร่วมโครงการ จะมีโบรชัวร์แผ่นพับให้พิจารณาว่าคนไข้สะดวกไปรับยาที่ร้านยาที่ไหน ไม่ได้จำกัดว่าต้องใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงาน อย่างไรก็ตาม ในส่วนสิทธิ์ประกันสังคมที่อยากเข้าร่วมโครงการ พบว่ายังติดปัญหาในเชิงระบบอยู่ แต่ก็ถือว่าเป็นแพ็กเกจที่น่าพิจารณาเนื่องจากเป็นการดูแลคนไข้ทั้งระบบด้วยเช่นกัน