ThaiPublica > Native Ad > THE METAMORPHOSIS กสิกรไทยกลายร่างจับโอกาสบุกตลาดภูมิภาค แบบ “ไร้ขีดจำกัด ไร้รอยต่อ ไร้ขอบเขต”

THE METAMORPHOSIS กสิกรไทยกลายร่างจับโอกาสบุกตลาดภูมิภาค แบบ “ไร้ขีดจำกัด ไร้รอยต่อ ไร้ขอบเขต”

8 ธันวาคม 2021


การที่จะอยู่รอดภายใต้บริบทใหม่ได้ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาและเติบโตอย่างรวดเร็วและแตกต่าง ดังที่ชาลส์ ดาร์วิน ได้กล่าวไว้ในปี 1809 ว่า “It is not the strongest of the species that survives, nor the most intelligent that survives. It is the one that is the most responsive to change

“ไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุด ไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุด แต่เป็นคนที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด”

“เราอยากเป็นคนแรก” นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ย้ำในงาน Regional Business Townhall & Press Conference 2021 ที่จัดขึ้นโดย KBank World Business Group หรือ WBG ร่วมกับพนักงานและเครือข่ายของธนาคารกสิกรไทยใน 5 ประเทศอาเซียน รวมถึงจีนและญี่ปุ่น เพื่อประกาศการเข้าไปอยู่ในทุกจังหวะชีวิตของลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อยด้วยความสามารถที่มากกว่าการเป็นธนาคาร (Beyond Banking) บน Digital Ecosystem พร้อมยกทัพบุกตลาดภูมิภาคด้วยแนวคิด “THE METAMORPHOSIS” กลายร่างธนาคารให้เติบโตมากกว่าเดิมแบบ “ไร้ขีดจำกัด ไร้รอยต่อ และไร้ขอบเขต”

รวมไปถึงการขยายความแข็งแกร่งของธนาคารด้วย Banking-as-a-Service ช่วยยกระดับสถาบันการเงินท้องถิ่น บนคอนเซปต์ ESG Bank (Environmental, Social, and Governance) ที่จะสร้างโอกาสการเข้าถึงทางการเงินให้กับลูกค้า พร้อมบริการทางการเงินเพื่อรองรับตลาด Digital Asset ที่จะเติบโตในระดับภูมิภาคโดยเฉพาะในจีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม จากการขยายธุรกิจอย่างหนักในตลาดต่างประเทศ เตรียมเพิ่มกำลังพลอีกกว่า 5 เท่า เพื่อร่วมสร้างความสำเร็จกับการเป็นธนาคารไทยในภูมิภาค

Limitless Opportunity เติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด ก้าวออกไปสู่โอกาสในทุกภูมิภาค

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

“ในบริบทโลกและภูมิทัศน์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป เราจะอยู่รอดได้อย่างไร เราในที่นี้หมายถึงทั้ง ปัจเจกบุคคล องค์กร สังคมและประเทศ จะเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร” นายพิพิธกล่าว

นายพิพิธกล่าวว่า ภูมิทัศน์ของโลกหลังโควิด-19 ที่เปลี่ยนแปลงไป เกิดขึ้นจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก การชิงชัยเพื่อเป็นผู้ชนะในด้านเทคโนโลยี และกระแสการมุ่งสู่ความยั่งยืน นับเป็นโจทย์ที่มีความซับซ้อนและท้าทาย ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจที่ไร้ขีดจำกัด สำหรับธุรกิจที่สามารถปรับตัวได้เร็ว (morph) และเปิดรับทักษะสมัยใหม่

“เมื่อเข้าใจแล้วก็จะเข้าใจว่ากสิกรไทยคิดอย่างไร และจะทำอะไรและอย่างไร” นายพิพิธกล่าว

การเปลี่ยนแปลงของโลกมีด้วยกัน 4 ด้าน คือ
DECOUPLING โลกกำลังเคลื่อนจากตะวันตกมาตะวันออกซึ่งเป็นแรงเติบโตของโลกในศตวรรษต่อไป เป็นโอกาสที่อาเซียนจะสามารถเชื่อมต่อกับสองห่วงโซ่ คือ จีนและสหรัฐฯ จากการเปิดกว้างต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับทั้งสองขั้วอำนาจ

“ที่ผ่านมาโลกเติบโตจากอิทธิพลของตะวันตก แต่ปัจจุบันหลายสถาบันประเมินว่าภายในปี 2030 จีนจะขึ้นมาแซงสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางการกีดกันการแข่งขันในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านความเป็นเลิศทางเทคโนโลยี ทั้ง 5G ด้าน chip, AI ซึ่งจะ reshape บริบทใหม่” นายพิพิธกล่าว

นายพิพิธให้ข้อมูลว่า การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกได้แบ่งห่วงโซ่อุปทานโลกออกเป็นสองขั้ว เห็นได้ชัดจากการค้าการลงทุนในอาเซียนจากการเกิดขึ้นของกลุ่ม QUAD หรือ กลุ่มภาคี 4 ฝ่ายต้านจีน ที่ประกอบด้วย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอินเดีย ซึ่งทั้งการค้าและการลงทุน QUAD และจีนมีสัดส่วนค่อนข้างมากในอาเซียน แม้จีนจะต่ำกว่าเล็กน้อย โดยจีนมีการค้ากับอาเซียนในสัดส่วน 22.6% กลุ่ม QUAD มีการค้ากับอาเซียน 23.5% ด้านการลงทุน FDI จีนมีสัดส่วน 13.6% และกลุ่ม QUAD 23.8%

“จากข้อมูลนี้เรามองได้ว่าเป็นทั้งอุปสรรค (threat) หรือโอกาส (opportunities) ถ้ามองว่าเป็น threat ก็ต้องคิดว่าจะตอบสนองกับ threat นี้อย่างไร แต่หากมองว่าเป็นโอกาส นั่นคือโอกาสที่อาเซียนจะเป็นศูนย์กลางของสนามการแข่งขัน และทั้งกลุ่ม QUAD และจีน เราจะเชื่อมต่อเป็นวงกว้างทางเศรษฐกิจและสร้างพันธมิตรกับสองขั้วอำนาจนี้อย่างไร”

REGIONALIZATION 2.0 จีนผันตัวเองจากแหล่งผลิตสินค้าราคาถูกไปเป็นประเทศที่เน้นการส่งออกสินค้าไฮเทคและนวัตกรรม ขณะเดียวกันธุรกิจของจีนจะทยอยย้ายฐานการผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะอาเซียน ซึ่งมีศักยภาพสูงในการเป็นห่วงโซ่อุปทานของจีน เพื่อรองรับตลาดผู้บริโภคชนชั้นกลางจำนวนมาก

เดิมมองกันว่าจีนเป็นประเทศที่มีแรงงานราคาถูกผลิตสินค้าราคาถูก ปัจจุบันจีนพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดล Dual Circulation Economy รวมทั้งเปลี่ยนตัวเองจากประเทศผู้ส่งออกมาเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าไฮเทค นวัตกรรม และทยอยย้ายฐานการผลิตออกไปในอาเซียนเพื่อรองรับห่วงโซ่อุปทานของจีน

“ในแง่ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ไทยก็ไม่ไกลจากจีน เป็นความได้เปรียบที่จะรองรับโอกาสตลาดที่มีผู้บริโภคจำนวนมหาศาลถึง 1.2 พันล้านคน ที่สำคัญที่สุดกำลังซื้อของคนกลุ่มนี้อยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อวัน” นายพิพิธกล่าว

จีนยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของอาเซียนในสัดส่วน 18% ของการค้ารวมและอาเซียนมีสัดส่วนการค้ากับจีน 14% สะท้อนว่าแยกตัวออกจากกันได้ยาก

“เกมต่อไปเราจะเล่นอย่างไร เพราะการผงาดขึ้นมาของจีนทำให้จีนสามารถสร้างกฎกติกาขึ้นมาได้ สร้างแพลตฟอร์ม สร้างมาตรฐานของตัวเองขึ้นและเราซึ่งมีความสัมพันธ์กันอยู่แล้ว ต้องปรับตัวและนำมาใช้ แต่ขณะเดียวกันไม่ได้ทิ้งตะวันตก เราคงต้องเป็นเวทีที่ประสานห่วงโซ่อุปทานโลกที่มีผู้นำใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมองว่าเป็นโอกาสมากกว่าที่จะเป็นอุปสรรค” นายพิพิธกล่าว

นอกเหนือจากสินค้าไฮเทคและเทคโนโลยีของจีนที่ออกสู่ตลาดและเป็นผู้เล่นรายใหญ่มากขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เช่น ไป่ตู้ เสียวหมี่ แล้ว ในด้านภาคการเงิน เงินหยวนเริ่มมีบทบาทในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้นแม้จะไม่มากนัก จากเดิมที่มีเงินดอลลาร์ถึง 71% ในเงินทุนสำรองทางการทั่วโลก

“ที่น่าสนใจคือเงินดิจิทัลหยวน อาจจะเป็นตัวแทนใหม่ของสกุลเงินดิจิทัล หากมีการยอมรับในด้านการค้า การชำระเงินระหว่างประเทศก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกอีกครั้งหนึ่ง วันนี้ดิจิทัลหยวนได้เปิดตัวแล้วและคาดว่าภายใน 5 ปี ดิจิทัลหยวนอาจมีโอกาสเป็น settlement currency ใช้ชำระเงินระหว่างประเทศ” นายพิพิธกล่าว

  • แอปพลิเคชันจากพลัง Big Data จีน
  • NEXT-GEN DIGITALIZATION Digital Technology ช่วยขับเคลื่อนและสร้างโอกาสทางธุรกิจ ทำให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถของ SMEs อีกทั้งยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อตอบรับการเปลี่ยนผ่านสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

    ในด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยีดิจิทัลของจีนครองอันดับหนึ่งของโลกในหลายมิติ เมื่อประเมินจากหลายตัวชี้วัด เช่น จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต การชำระเงินผ่านมือถือ การค้าอี-คอมเมิร์ซรายย่อย จีนก้าวหน้าไปไกลมาก ทั้งหมดนี้นำไปสู่มีการมีข้อมูลมหาศาล หรือ big data เฉพาะ big data ของจีนจากการไหลเวียนของการค้าการลงทุนระหว่างประเทศมีสัดส่วน 17.7% ของประชากรโลก เมื่อรวม big data จากอาเซียนจะเพิ่มเป็น 25% หากรวมเอเชียเข้าไปอีกจะเป็น 57.7% และหากรวมแอฟริกาจะสูงถึง 73.15% หรือ 3 ใน 4 ของประชากรโลก

    “หมายความว่าข้อมูลที่ไหลเวียนเข้าไปในระบบของจีนมีมหาศาลบวกกับพลังทางเทคโนโลยีที่ได้เริ่มสร้างขึ้นอย่างรวดเร็วคือ super speed computer ซึ่งในที่สุดจะแปลงมาสู่ business application ต่างๆ อย่างมาก เช่น รถยนต์ไร้คนขับ, tele-medicine ทั้งหมดอยู่ในโลกดิจิทัลที่มีพลังงานมหาศาล” นายพิพิธกล่าว

    นายพิพิธกล่าวว่า ขณะเดียวกัน Metaverse จะมาเชื่อมโลกเสมือนกับโลกแห่งความเป็นจริง สร้างประสบการณ์ใหม่ๆให้กับผู้บริโภค มีแอปพลิเคชันจำนวนมาก รวมทั้งการยกระดับประสิทธิภาพของเทคโนโลยีเพื่อการดำเนินธุรกิจ และธุรกิจธนาคารที่มีโอกาสนำเทคโนโลยี Metaverse มาปรับใช้

    ด้าน Web 3.0 ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ที่มีจีนและสหรัฐฯ เป็นผู้นำทั้งคู่ มีการพัฒนาก้าวหน้ามาก

  • มาตรฐานคาร์บอนความท้าทายการค้า
  • ด้านสุดท้าย DECARBONIZATION กระแสการมุ่งสู่สังคมที่ไร้คาร์บอนของนานาประเทศ โดยตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ที่ท้าทาย นับเป็นโอกาสทางธุรกิจในการสร้างห่วงโซ่อุปทานสีเขียว (green supply chain) ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียนบนเส้นทางการเติบโตยั่งยืนในอนาคตข้างหน้า

    นายพิพิธกล่าวว่า การให้คำมั่นร่วมกันที่จะลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ของ 136 ประเทศภาคีที่มี GDP รวมกันกว่า 90% ของโลก ปล่อยคาร์บอนรวมกัน 88% ของโลกและมีประชากรรวมกัน 85% ของโลกในการประชุม COP26 นับว่ามีความหมายอย่างมากเพราะจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ของโลกหลังโควิด-19

    “นับเป็นครั้งแรกที่กลุ่มประเทศทั้งประเทศมหาอำนาจและเป็นผู้ปล่อยคาร์บอนรายใหญ่ของโลกสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน อินเดีย ให้คำมั่นร่วมกันที่จะพัฒนาโลกต่อไปในเส้นทางและทิศทางใหม่ ซึ่งเราไม่สามารถกระพริบตาได้เลย เพราะเป็นทั้งอุปสรรคและโอกาสของธุรกิจและความเป็นอยู่ หรือเราในระดับปัจเจกบุคคล” นายพิพิธกล่าว

    นอกจากนี้ยังได้เห็นจีนและสหรัฐซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลกได้ร่วมมือกัน แม้มีความขัดแย้งในด้านการค้า จึงเชื่อว่า จีนน่าจะมีโอกาสที่จะนำสหรัฐฯในเรื่องนี้ เพราะมีพลังในการทำให้เกิดขึ้น (execution power) มีการร่วมมือร่วมใจกันของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรม อย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เป็น execution power ที่แตกต่างจากโลกตะวันตก

    “ด้านนี้มีโอกาสที่จีนจะแซงอเมริกา เมื่อประเมินจากการใช้พลังงานลมที่มีสัดส่วน 63% ของพลังงานลมทั่วโลก นอกจากนี้จีนยังมีการพัฒนา EV, สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ไฟฟ้า เรื่องนี้จึงมีความหมายต่อการผสมผสานกับห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค แปลว่า ยุทธศาสตร์ของทุกองค์กรต้องปรับเปลี่ยน” นายพิพิธกล่าว

    “เมื่อศึกษาลงไปในรายละเอียดของความริเริ่มสีเขียวของจีน ด้านที่เราจะมีโอกาสในการคว้าพลวัตใหม่มาใช้เพื่อประโยชน์ของตัวเราเองและของลูกค้า พนักงาน และสังคมของเรา คือ จีนได้ปรับเปลี่ยนแหล่งพลังงานมาเป็นพลังงานสะอาด เช่น พลังงานชีวภาพ พลังงานไฮโดรเจน พร้อมลดการใช้พลังงานที่ก่อมลพิษให้เหลือเลขตัวเดียวภายในปี 2060 รวมไปถึงเตรียมระบบบริหารจัดการใหม่ ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมกำลังจะถูกเปลี่ยนผ่านเพื่อความอยู่รอด อีกทั้งมาตรฐานทางการค้าที่จีนสร้างขึ้นเพื่อการค้ากับอาเซียนก็เปลี่ยนไป และด้วยกำลังมหาศาลที่มีในตลาดอาเซียน พลวัตอันนี้เป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ และต้องเล่นในเกมที่เรามีความได้เปรียบ เราต้องเตรียมตัวไว้ให้พร้อมสำหรับโอกาสใหม่ๆในการที่จะช่วยเหลือลูกค้า” นายพิพิธกล่าว

    นายพิพิธกล่าว อาเซียนมีโอกาสที่จะเป็นศูนย์กลางภูมิภาคด้านการซื้อขายคาร์บอน รวมทั้งตลาดการเงิน และตลาดทุนสีเขียวจะเติบโต อย่างไรก็ตามก็ยังมีความท้าทาย เนื่องจากประเทศมหาอำนาจทั้งสาม สหรัฐฯ สหภาพยุโรปและจีน ต่างมีมาตรฐานคาร์บอนของตนเอง โดยสหรัฐญ มี Buy Clean California Act (BCCA) สหภาพยุโรปมี Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) และจีนมี Chinese Certified Emission Reduction (CCER) รวมเป็น 3 มาตรฐาน

    “ถ้าเราจะค้ากับ 3 มหาอำนาจนี้ เราจะใช้มาตรฐานของใคร ถ้าเราไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานของ 3 มหาอำนาจนี้ได้ ก็นับว่าเป็นความท้าทาย ไทยค้าขายกับสหรัฐฯ ประมาณ 15% ยุโรป 9% และจีน 13% แต่มีเพียง 2% จากทั้งสามตลาดที่ได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานคาร์บอน หมายถึงอีก 98% ยังไม่พร้อมที่จะค้า นี่เป็นความท้าทายที่กสิกรจะมีโอกาสเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าไปปฏิบัติตามมาตรฐานและเล่นบนเกมโลกใหม่” นายพิพิธกล่าว

    สำหรับไทย แม้จะต้องลงทุนอีกประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว แต่ก็ช่วยสร้างงาน 700,000 ตำแหน่งภายในปี 2045 และเพิ่มขีดความสามารถของไทย รวมทั้งสร้างอุตสาหกรรมใหม่ S-curve ได้อีกด้วย

  • ตลาดดิจิทัลโลกการเงินใหม่อาเซียน

  • นอกจากนี้ทั้งภาคการผลิตและการเงินกำลังเข้าสู่ crypto economy เป็นโอกาสในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Metaverse ที่เชื่อมโลกเสมือนกับโลกแห่งความเป็นจริง มีแอปพลิเคชันต่างๆ เข้าไปในโลกดิจิทัล (digital space) ซึ่งจะสร้างโลกการเงินใหม่ ทรัพยากรทางการเงินจะไหลไปในสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนั้นธนาคารจะละเลยไม่ได้

    ปัจจุบันมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไทยสูงสุดในอาเซียน รวมทั้งตลาดมีสภาพคล่องสูง จึงมีโอกาสที่ไทยจะเป็นผู้นำภายใน 2 ปี เพราะมีแรงหนุนจากผู้ลงทุนในตลาดที่มีหลายระดับทั้งรายเล็กรายใหญ่ และเป็นผู้ลงทุนที่เข้าใจเทคโนโลยี ประกอบกับไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีในระบบการเงิน จึงเป็นโอกาสที่สร้างโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลเข้าไปในตลาดทุน มีโอกาสที่จะร่วมกันพัฒนาเพื่อเป็นตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในอาเซียน (regional digital asset exchange) เป็นผู้นำในการระดมทุนเพื่อการค้าและการลงทุนในภูมิภาคนี้บน digital space

    “มีการคาดการณ์ว่าในอีก 7 ปีข้างหน้าเวียดนามน่าจะแซงไทยขึ้นไปเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เราต้องทำใหม่ หมายถึงต้องคิดใหม่ มองไปที่บริบทโลกอนาคตข้างหน้าใหม่ ตลาดใหม่ มองไปที่เทคโนโลยีใหม่ สร้าง Talentใหม่ มีโครงสร้างองค์กรใหม่ ผู้นำใหม่และวัฒนธรรมในการทำงานใหม่ จึงจะเล่าเรื่องที่เป็น winning story ให้คนรุ่นหลังได้ และต้องมีคนที่จะสามารถ empower ปัจเจกบุคคลใหม่และลูกค้าให้เราได้” นายพิพิธกล่าว

    “ทั้งหมดนี้เราได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แนวคิดใหม่ของเราประสบความสำเร็จ โดยมีผู้ใช้บริการดิจิทัลรายใหม่ที่ใช้งานประจำ 1.6 ล้านคนภายในปีเดียว และในอีก 2 ปีข้างหน้าเรามีเป้าหมายร่วมกันจะเพิ่มให้เป็น 10 ล้านคนให้ได้และอยู่บน Mobile เป็นหลัก”

    The Metamorphosis การเติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด ไร้รอยต่อ และไร้ขอบเขต

    นายภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

    นายภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ และ World Business Group Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แม้จะอยู่ภายใต้ภาวะวิกฤตจากโควิด-19 ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไปทั่วโลก แต่ธนาคารกสิกรไทยยังสามารถสร้างการเติบโตของธุรกิจธนาคารในระดับภูมิภาคได้อย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2564 เติบโตมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 34% ซึ่งธนาคารได้ตั้งเป้าหมายภายในปี 2566 จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ของธุรกิจในต่างประเทศเป็น 5% ของรายได้สุทธิธนาคารทั้งหมด (net total income — NTI) หรือมีรายได้เติบโตถึง 5 เท่า พร้อมขยายฐานลูกค้าดิจิทัลเป็น 6.5 ล้านราย จากปัจจุบันที่มีอยู่ 1.6 ล้านราย และเพิ่มเป็น 10 ล้านรายภายในปี 2567

    “สองปีที่ผ่านมาธนาคารเติบโตได้อย่างมีความหมายและมีนัยสำคัญ ดังนั้นเป้าหมายที่จะเติบโต 5 เท่าในอีก 2 ปีข้างหน้าไม่ใช่เรื่องยาก การเดินทางของเราเปรียบเสมือนการวิ่งมาราธอน หรือการแข่งจักรยานระยะยาว ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ซึ่งเมื่อจะขึ้นยอดเขาก็ต้อง sprint ดังนั้น 6 ปีข้างหน้าจะเป็นช่วงที่เราจะ sprint เพื่อเป็น king of the mountain และเป็นช่วงของ window of opportunities ที่เราจะสร้างแรงส่งเพื่อการเติบโตของธุรกิจของเราให้ได้” นายภัทรพงศ์กล่าว

    การเติบโตครั้งนี้เปรียบเสมือน “METAMORPHOSIS” หรือการเติบโตผ่านการเปลี่ยนแปลงรูปร่างอย่างรวดเร็วตามเป้าธุรกิจที่ท้าทาย ภายใต้ 3 วิสัยทัศน์หลักแบบไร้ขีดจำกัด (limitless) ไร้รอยต่อ (seamless) และไร้ขอบเขต (borderless)

    “METAMORPHOSIS หมายถึง วิวัฒนาการในเชิงความคิด ที่เปลี่ยนแปลงปรัชญาในการทำธุรกิจ จากแนวคิดการทำธุรกิจในประเทศไทย ไปสู่การเป็น regional bank การพัฒนาโซลูชัน การสร้างกำลังความ สามารถในหลายด้าน เพื่อที่จะช่วยให้ลูกค้าประสบความสำเร็จในชีวิต ชีวิตลูกค้าก็จะดีขึ้น ส่งผลให้สังคมและประเทศชาติดีขึ้น เป็นพัฒนาการทางเทคโนโลยีและเป็นความอุตสาหะของทีมงานทุกคน เพื่อการเติบโตของธนาคารกสิกรไทย”

    Limitless Opportunity ธนาคารกสิกรไทยจะไม่ติดกรอบอยู่แค่การทำธุรกิจในประเทศไทย การเติบโตของธนาคารสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกภูมิภาคอย่างไร้ขีดจำกัด

    “กสิกรไทยได้ขยายขอบเขตธุรกิจไปในหลายประเทศ เช่น จีน ที่เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีนวัตกรรมของโลก เรามีการดำเนินงานในอาเซียนหลายประเทศ เราอยู่ในภูมิภาคที่ที่เศรษฐกิจเติบโตสูงสุดในโลกอย่างต่อเนื่องในอีกหลายปีข้างหน้า” นายภัทรพงศ์กล่าว

    ปีหน้าธนาคารจะเปิดอาคารสำนักงานในเมืองเสิ่นเจิ้น นอกเหนือจากการมีสำนักงานใหญ่ มีสาขา ใน สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจะมีสำนักงานในอินโดนีเซียจากการขยายธุรกิจ ตลอดจนคาดหวังว่าจะมีสำนักงานในเมียนมาหลังจากสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ

    Seamless Connectivity ด้วยการสนับสนุนทางเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยจาก KASIKORN BUSINESS-TECHNOLOGY GROUP (KBTG) ทำให้สามารถจัดสรรทรัพยากรทั้งการลงทุน ผลิตภัณฑ์ และบริการต่างๆ ได้อย่างไร้รอยต่อ

    Borderless Growth สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ศักยภาพ (capabilities) ทุก ๆ ด้านของคนกสิกรไทยที่จะต้องเติบโตได้อย่างไร้ขอบเขต

    Borderless Growth เติบโตอย่างไร้ขอบเขต พร้อมกับศักยภาพ World Business Group

    นายภัทรพงศ์กล่าวเพิ่มเติมว่า World Business Group (WBG) ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ธุรกิจธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค ด้วยการเดินหน้าธุรกิจตามโมเดล Kasikorn China ที่ดำเนินธุรกิจบนปรัชญา “Better Me” มุ่งให้การสนับสนุนลูกค้าที่มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนและมุ่งมั่นนำพาตัวเองสู่อิสรภาพทางการเงิน สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนที่มุ่งเน้นการพัฒนาแบบยั่งยืน ภายใต้แนวคิด ESG Bank ที่สร้างโอกาสการเข้าถึงทางการเงินให้กับลูกค้า

    “ธนาคารกสิกรไทยมุ่งมั่นจะเติบโตอย่างยั่งยืน และไม่ได้ต้องการที่จะให้คนมองว่าเป็นธนาคารที่มุ่งแสวงหาผลกำไร แต่พยายามเปลี่ยนแปลงปรัชญาแนวคิดให้เห็นว่า ธนาคารจะอยู่ได้เมื่อลูกค้าอยู่ได้ สังคมจะเติบโต และประเทศชาติจะรุ่งเรือง ฉะนั้นกสิกรเติบโตบนหลัก ESG”

    “เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทุ่มเทจะสร้างประโยชน์ให้กับ community ของเรา ประเทศของเรา เราไม่ได้อยู่ในประเทศเดียว เรามีทีมงานเข้าไปในหลายประเทศ เราเชื่อมั่นว่า การที่เราจะเชื่อมภูมิภาคเหล่านี้เข้าหากันและใช้พลังและความสามารถของธนาคารกสิกรไทย จะช่วยให้ชีวิตส่วนตัวและชีวิตธุรกิจของลูกค้าเราดีขึ้น” นายภัทรพงศ์กล่าว

    ทั้งนี้ ธนาคารจะนำแนวคิดธุรกิจนี้ขยายไปยังเวียดนาม ที่ได้เดินหน้าด้วยดิจิทัล แบงกิ้งอย่างเต็มรูปแบบ ได้แก่ KBank Loan สินเชื่อดิจิทัลที่ช่วยให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายในการขออนุมัติวงเงิน และ K PLUS Vietnam โมบาย แบงกิ้งที่ต่อยอดจากต้นแบบ
    K PLUS ในประเทศไทย และในอนาคตจะมีการเปิดตัวธุรกิจใหม่บนโมเดล ฺฺBanking as a Service (BaaS) ในการให้บริการมากกว่าธุรกิจการเงินที่จะเริ่มที่เวียดนามเป็นแห่งแรก เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกที่มากกว่าในการเข้าถึงและบริการทางการเงิน ช่วยให้ฟินเทครายย่อยมีโอกาสเติบโตไปพร้อมกันและเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น

    สำหรับกัมพูชา ธนาคารพร้อมเปิดตัว payroll lending ที่ทำให้ลูกค้าได้รับสินเชื่ออย่างง่ายดายผ่านแอปพลิเคชันของพันธมิตร ส่วนในฝั่งสปป.ลาว จะยังคงเดินหน้าเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานบริการ QR KBank จากปัจจุบันที่มี 1.3 แสนรายอย่างต่อเนื่อง ด้วยการขยายการใช้งานให้ครอบคลุมทุกธุรกรรมการเงินของลูกค้า ในขณะเดียวกันก็มุ่งสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่จะช่วยยกระดับธุรกิจให้กับลูกค้าผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศนี้ให้เติบโตไปพร้อมกับธุรกิจของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอีกด้วย

    เป้าหมายถัดไปของธนาคารกสิกรไทย คือ การเชื่อมต่อกับอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่สุดและมีประชากรจำนวนมากที่สุดในภูมิภาค โดยปัจจุบันธนาคารได้เร่งสร้างพันธมิตรธุรกิจที่หลากหลาย เพื่อขยายโอกาสในการทำธุรกิจและส่งมอบบริการทางการเงินให้กับลูกค้าในอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมีแผนในการจัดตั้งบริษัท K VISION FINANCIAL (KVF) เพื่อขยายการลงทุนด้านดิจิทัลในธุรกิจต่าง ๆ ด้วยเป้าหมายในการขยายฐานลูกค้าและเพิ่มจำนวนพันธมิตรทางธุรกิจ สู่การเป็น ecosystem ทางการเงินในระดับภูมิภาค พร้อมชูแผนการสร้างบริการทางการเงินเพื่อรองรับตลาด digital asset ที่จะเติบโตในตลาดภูมิภาค โดยเฉพาะในประเทศจีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม

    “เทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้โลกไร้พรมแดน การเชื่อมโยงผ่านแพลตฟอร์ม เครือข่าย ทำให้โลกไร้รอยต่อ และด้วย capability ทั้งหลายนี้เป็นโอกาสให้กสิกรได้นำมาช่วยลูกค้าสร้างธุรกิจอย่างไร้ขอบเขตจำกัด”นายภัทรพงศ์กล่าว

    Seamless Connectivity เติบโตอย่างไร้รอยต่อ เชื่อมต่อธุรกิจด้วยเทคโนโลยีระดับโลก

    นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยีกรุ๊ป (KBTG)

    การสร้างธนาคารให้เติบโตไม่เพียงต้องมีแผนงาน มีการจัดการที่ดีแล้ว ยังต้องอาศัยบุคลากรที่มีศักยภาพ รวมไปถึงการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับธนาคาร เพื่อให้ธนาคารก้าวทันต่อโลก เติบโตอย่างไร้ขีดจำกัดและประสบความสำเร็จ โดยผู้ที่มีส่วนร่วมสำคัญคือ KBTG ที่พัฒนาเทคโนโลยี ให้กับธนาคาร บริษัทในเครือและพันธมิตร และที่สำคัญคือ การพัฒนาคน

    นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยีกรุ๊ป (KBTG) กล่าวว่า ประเทศจีนมีประชากรมากถึง 1,412 ล้านคน และมีการใช้โทรศัพท์มือถือ (mobile penetration) สูงมาก ส่งผลให้ fintech landscape ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว ในปี 2563 ที่ผ่านมา KBTG ได้มีการจัดตั้ง บริษัท ไคไต้ เทคโนโลยี จำกัด (KAITAI Technology Company Limited:KTECH) ที่เสิ่นเจิ้น มีภารกิจหลัก คือ การหาบุคลากรจีนที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี มาร่วมทีมเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ และ บริการของธนาคาร พร้อมทั้งต่อยอดโอกาสทางธุรกิจจากฟินเทคในจีนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากไปสู่ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน

    “ในด้านเทคโนโลยี จีนมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยียิ่งกว่าการก้าวกระโดด อาเซียน รวมทั้งไทย กำลังเข้ายุคทองของเทคโนโลยี เหมือนกับจีนเมื่อสิบปีก่อน จึงมีหลายอย่างที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากจีน เพราะจีนเป็นตลาดที่มีผู้บริโภค มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาก และเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ตลาด fintech จีนจึงเป็นตลาดที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก มีการพัฒนานำร่องในหลายเรื่อง และเร่งตัวมากขึ้นในช่วงโควิดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมหาศาล เราไม่สามารถพลาดในตลาดนี้ได้อย่างเด็ดขาด การที่จะเรียนรู้ได้ก็ต้องเข้าไปในตลาดที่ใหญ่ที่สุด เพื่อให้เข้าใจ ecosystem”

    นอกจากนี้ตลาดแรงงาน IT ที่จีนมีขนาดใหญ่มากมีผู้สำเร็จการศึกษาด้าน STEM ปีละ 1.4 ล้านคน เป็นแรงงานที่มีประสบการณ์และมีความสามารถ ทำให้หาบุคลากรได้ง่ายกว่าในไทย KBTG จึงร่วมกับ WBG ตั้ง KTECH ซึ่งผลที่ได้นอกจากจะได้บุคลากรที่ความสามารถจากบริษัทชั้นนำ เช่น อาลีบาบา ผิงอัน HSBC IBM แล้วยังทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างจีนกับ AEC มีการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี และมีการเชื่อมโยงกับภูมิภาคอย่างไร้รอยต่อ

    ความสำเร็จในก้าวปีแรกของ KTECH คือ การมีส่วนร่วมใน 14 โครงการสำคัญ ครอบคลุมในทุกประสบการณ์ทางการเงินทั้งด้านการปล่อยกู้ เงินฝาก การชำระเงิน รวมทั้งข้อมูลและการวิเคราะห์กับ 7 พันธมิตรสำคัญในประเทศจีน

    “ทุกคนคือส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการสร้างลูกค้ารายใหม่ 1.6 ล้านคน ภายในหนึ่งปีที่ประสบวิกฤติที่เราเรียกว่าเป็น “Crisis of The Century” แต่ WBG, KBTG KTECH เราไม่ได้รอดพ้น Crisis of The Century แต่เรา Rise และเรา Thrive นี่คือความสำเร็จของ Team of The Century ทุกคนคือ Team of The Century อย่างแท้จริง เพราะสามารถสร้างการเติบโตได้ ท่ามกลางวิกฤติแห่งศตวรรษ” นายเรืองโรจน์กล่าว

    KTECH ยังได้รับมาตรฐานการปฏิบัติงานระดับโลก ทั้ง ISO 9001, ISO 20000, ISO 27001 และได้ CBIRC IT Rating อันดับต้นๆ ในกลุ่มบริษัท IT ของ ธนาคารต่างชาติในจากจีน

    KBTG มีแผนเพิ่มบุคลากรด้านเทคโนโลยีให้ใหญ่ขึ้นถึง 12 เท่า ภายในปี 2569 จากปัจจุบันที่มีจำนวน 80 คนเป็น 300 คน
    พร้อมกับเร่งการสร้างนวัตกรรม และพัฒนาโซลูชันให้มากขึ้น

    “เราจะสร้าง Banking as a Service และตั้งเป้าตั้งแต่ปี 2567 จะยกระดับไปแข่งในระดับยุโรป และเป็น Regional Leading Fintech Company อย่างแท้จริง รวมทั้งจะทำงานอย่างไร้รอยต่อกับ KBTG ในไทย และ WBG ใน AEC และต้องการเป็น Ecosystem Hub ในการเชื่อมต่อกับธนาคาร พันธมิตร และลูกค้า และทำงานร่วมกับ Ecosystem Partner ต่างๆ พัฒนาโซลูชันเพื่อนำมาใช้กับธนาคาร และคู่ค้าของธนาคารทั้งหมด” นายเรืองโรจน์กล่าว

    สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีและโซลูชันใน AEC นั้นนายเรืองโรจน์กล่าวว่า ได้มีการพัฒนาและติดตั้งระบบของสาขาธนาคารในเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ จึงมุ่งเน้นโซลูชันด้านการขยายฐานลูกค้า(Mass Acquisition) การให้บริการธุรกรรมธนาคาร (Transactional Banking) และสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่(Corporate Lending) ไปทั้ง 3 ด้านพร้อมกัน อีกทั้งยังได้ตั้ง KBTG เวียดนาม ในนครโฮจิมินห์

    มุ่งมั่นเป็นองค์กรในฝันของ Top Talent ทั่วโลก

    จากเป้าหมายและพันธกิจที่ใหญ่ขึ้น ทำให้ WBG ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนพนักงานเป็น 1,037 คนในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นถึง 52% จากปี 2563 เพื่อขยายศักยภาพของทีมให้ไปสู่ความสำเร็จได้ และด้วยความตั้งใจที่จะเป็นองค์กรสำหรับ Talent ทั่วโลก ซึ่งธนาคารได้เสนอแนวคิด “World of Borderless Growth” เพื่อสื่อสารให้คนรุ่นใหม่เห็นโอกาสในการเติบโตอย่างไร้ขอบเขตทุกมิติ ทั้ง Personal Growth การเติบโตผ่านประสบการณ์ทำงานจริงที่ท้าทาย Growth of Team การเติบโตร่วมกับทีมที่เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน Growth of Partners การเติบโตไปพร้อมกับพันธมิตรทั้ง Tech Company และ Startup ระดับโลก และ Growth of Community การเติบโตเคียงข้างกับสังคมผ่านทุกภารกิจ (Mission) ของ WBG ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกค้า สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น

    โดยในช่วงแลกเปลี่ยนมุมมอง ซึ่งมีนายชัช เหลืองอาภา รองกรรมการผู้จัดการ และนายสุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณา รองกรรมการผู้จัดการ ได้ร่วมพูดคุยกับ นายจตุพร บุศยอังกูร เวียดนาม General Director สาขานครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม และนางสาวปีติพร ตั้งสุนันท์ธรรม KASIKORNBANK (CHINA):Longgang Sub-Branch Manager

    นายชัชเล่าว่า ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารที่เปิดโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่หลายด้าน โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ทีมงานที่รับผิดชอบเปิดสาขาในเวียดนามมีอายุเพียง 30 ปีเท่านั้น

    “หลายเรื่องที่เราทำ จัดว่าเป็นครั้งแรกของโลก จึงเป็นประสบการณ์ใหม่ของกสิกรไทย ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ลอง ได้ลงมือทำ วันนี้เราต้องการคนรุ่นใหม่ใจกล้า ที่ต้องการเรียนรู้เข้ามาช่วยเราทำ และเราเชื่อว่าเรารู้น้อยกว่าเขา เพราะคนรุ่นใหม่เกิดมาก็เจอความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแล้ว ดังนั้นเขาคือคนที่จะบอกธนาคารได้ว่า ธนาคารจะต้องลงมือทำอะไรและอย่างไรในการเดินไปบนเส้นทางดิจิทัล” นายชัชกล่าว

    นายชัชกล่าวอีกว่า การเติบโตของ WBG มาจากการทำงานเป็นทีม การทำงานเป็นโครงการ หรือที่เรียกว่า SQUAD ปัจจุบันมี 30 กว่าโครงการในหลายประเทศ และแต่ละทีมก็เป็นคนรุ่นใหม่อายุเพียง 25-30 ปี และมีทีมงานเดิมที่มีประสบการณ์คอยสนับสนุน

    ด้านนายสุวัฒน์กล่าวว่า “กสิกรไทยขึ้นชื่อว่าเป็นองค์กรที่สร้างบุคลากร จึงมี WBG Academy เพื่อสร้าง RM ที่ทำหน้าที่ดูแลความสัมพันธ์กับลูกค้า ช่วยส่งมอบสิ่งดีใน AEC รวมไปถึงสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพและไปเติบโตใน AEC ได้

    นายจตุพร กล่าวว่า เดิมตั้งใจทำงานที่ธนาคารกสิกรไทยเพียง 2 ปี แต่กลับกลายเป็นว่าทำงานกับธนาคารกสิกรไทยมา 17 ปีแล้ว ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาได้รับโอกาสมาอย่างต่อเนื่อง จากธนาคารให้ทำในสิ่งใหม่ๆ ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารที่ให้โอกาส และเชื่อว่าเพื่อนพนักงานน่าจะมีความคิดเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะสายงาน WBG ที่ต้องการบุกตลาดที่ยังไม่ความเชี่ยวชาญ แต่ผู้บริหารให้โอกาสคนรุ่นใหม่ ได้คิด ได้แสดงออก

    นางสาวปีติพรกล่าวว่า ได้มาประจำที่สำนักงานกสิกรไทยในจีนมา 5 ปีแล้วและตั้งแต่ทำงานกับธนาคารกสิกรไทยได้รับโอกาสมาอย่างต่อเนื่อง การที่ได้ออกมาทำงานนอกประเทศเป็นโอกาสพัฒนาตัวเอง พัฒนาความรู้ เรียนรู้ประเทศ เทคโนโลยี การทำงานธุรกิจในบริบทของแต่ละประเทศ

    โดยส่วนตัวการทำงานในต่างประเทศได้พัฒนาทักษะทั้ง Hard Skill และ Soft Skill โดยในด้าน Hard Skill ได้เรียนรู้ กฎระเบียบการทำธุรกิจและวัฒนธรรมการทำธุรกิจในจีน ส่วน Soft Skill ได้พัฒนาศักยภาพตัวเอง และสามารถทำงานได้หลายด้านมากขึ้น