ThaiPublica > Native Ad > 33 ปี “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” บรรลุเป้าหมาย “หนุนโภชนาการที่ดี-สร้างแหล่งอาหารยั่งยืน”

33 ปี “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” บรรลุเป้าหมาย “หนุนโภชนาการที่ดี-สร้างแหล่งอาหารยั่งยืน”

14 ธันวาคม 2021


33 ปี “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” บรรลุเป้าหมาย “หนุนโภชนาการที่ดี-สร้างแหล่งอาหารยั่งยืน”

ย้อนไป เมื่อปี 2532 “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” เริ่มต้นดำเนินงานเป็นปีแรก ด้วยความมุ่งมั่นของมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ซึ่งก่อตั้งโดยผู้บริหารและพนักงานเครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ น้อมนำ “โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน” ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อันเป็นแนวพระราชดำริมุ่งแก้ปัญหาภาวะโภชนาการต่ำกว่ามาตรฐานของเด็กไทย มาเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการ บนหลักคิด คือส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่ในโรงเรียน เพื่อนำผลผลิตสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันอย่างต่อเนื่อง และลดภาวะทุพโภชนาการของนักเรียนให้เป็นศูนย์

ตลอด 33 ปี ของการดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน มีจำนวนโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯผ่านเกณฑ์คัดเลือกปีละ 25 โรงเรียน เป็นการส่งมอบและกระจายโอกาสให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลและถิ่นทุรกันดารเข้าถึงโปรตีนคุณภาพอย่างไข่ไก่

จากปีที่ 1 ซึ่งมีจำนวนโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ 4 โรงเรียน ขยับสู่ 880 โรงเรียนของการดำเนินงานครบรอบปีที่ 33 ช่วยสร้างโภชนาการที่ดีให้เด็กและเยาวชนไทย 180,000 คน ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ประกอบด้วย โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 720 แห่ง โรงเรียนสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 154 แห่ง รวมทั้งโรงเรียนสังกัดกองการศึกษาพิเศษ (อาทิ รร.โสตศึกษา) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อาทิ อบต.) เกิดการเรียนรู้การจัดการอาชีพเกษตรเชิงธุรกิจให้กับครู 12,000 คน ชุมชน 1,900 แห่ง ได้รับประโยชน์จากโครงการฯมีไข่ไก่บริโภคในราคาย่อมเยา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด 2 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตไข่ไก่จากโครงการฯเป็นคลังเสบียงของชุมชนได้เป็นอย่างดี

นอกจากผลสำเร็จตามเป้าประสงค์หลักของโครงการ คือ สร้างโภชนาการที่ดีให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ทุรกันดาร โดยนักเรียนได้บริโภคไข่ไก่อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 มื้อ ภายใต้รูปแบบการบริหารจัดกาiผลผลิตไข่ไก่ที่ถูกนำไปใช้เป็นโมเดลเดียวกัน โดยผลผลิตส่วนหนึ่งขายเข้าโครงการอาหารกลางวันนักเรียน และบางส่วนจำหน่ายภายในพื้นที่ที่เป็นตลาดชุมชน จำหน่ายให้กับผู้ปกครองนักเรียน เน้นการขายปลีกเพื่อสร้างทักษะอาชีพให้แก่เด็กนักเรียน ฝึกระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ โดยที่รายได้จากการจำหน่ายผลผลิตไข่ไก่นำกลับเข้ามาต่อยอดการดำเนินโครงการฯ ตอบโจทย์จุดมุ่งหมายของโครงการ คือ “ความยั่งยืน” จากทุนเริ่มต้นในปีแรก สร้างการเรียนรู้ที่จะบริหารในรุ่นต่อๆ ไป

การอบรมความรู้ด้านเกษตรยุคใหม่ การเลี้ยงไก่ไข่อย่างถูกต้อง การจัดการเลี้ยงไก่ไข่ให้ได้ผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ และทัศนคติต่ออาชีพเกษตรได้รับการถ่ายทอดและได้รับคำแนะนำจากสัตวบาลและเจ้าหน้าที่ซีพีเอฟ ไปยังคุณครูและนักเรียนที่รับผิดชอบโครงการ ฯ รวมไปถึงการถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดการฟาร์ม การบริหารจัดการผลผลิต การตลาด การทำบัญชี ระบบสหกรณ์ การบันทึกข้อมูลและรายงานผล นอกเหนือจากปัจจัยที่ซีพีเอฟให้การสนับสนุนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในปีแรก คือ พันธุ์ไก่ไข่ อาหารสัตว์ ในปีแรก ซึ่งปัจจุบันมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนชบท ซีพีเอฟ เดินหน้าร่วมมือกับพันธมิตรที่มีเจตนารมณ์เดียวกัน คือ หอการค้าญี่ปุ่น -กรุงเทพ (เจซีซี) และ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) สนับสนุนโครงการฯ

“โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 47 จังหวัดเพชรบุรี” เป็นโรงเรียนลำดับแรกๆ ที่เข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ มาเป็นเวลา 26 ปี ซึ่ง ครู “มนตรี สุขพินิจ” ครูชํานาญการพิเศษ ผู้สอนการเกษตรของโรงเรียน เล่าว่า แรกเริ่มโรงเรียนมีโครงการเกษตร ทั้งปศุสัตว์และเพาะปลูก เพื่อเป็นแหล่งอาหารสำหรับนักเรียนชั้น ป.1 – ม.6 จำนวน 600 คน เมื่อทราบว่ามีโครงการเลี้ยงไก่ไข่ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของโรงเรียนที่ต้องการบริหารการเลี้ยงไกที่ทำอยู่เดิมให้ยั่งยืน จึงสมัครเข้าร่วมโครงการฯ เมื่อปี 2538 สร้างโรงเรือนมาตรฐานเลี้ยงไก่ไข่ 200 ตัว โดยได้รับพันธุ์ไก่และอาหารไก่ชุดแรกฟรีจากซีพีเอฟ ผลผลิตไข่ไก่จำหน่ายเข้าโครงการอาหารกลางวัน เป็นทุนสำหรับการเลี้ยงไก่รุ่นต่อไป จากนั้นในปี 2558 โรงเรียนได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 4 โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ดำเนินโครงการขยายการเลี้ยงไก่เป็น 500 ตัว จนถึงปัจจุบันมีผลผลิตไข่ไก่ที่สามารถนำมาบริหารจัดการเป็นอาหารกลางวันให้กับนักเรียนได้อย่างเหมาะสม เด็กๆได้บริโภคไข่ไก่คนละ 4-5 ฟองต่อสัปดาห์

“วันนี้เราบรรลุเป้าหมายเริ่มต้นในการเข้าร่วมโครงการฯ ที่ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการช่วยจัดการศึกษาให้กับนักเรียน ขยายงานด้านเกษตรในโรงเรียนให้มั่นคง จากโรงเรือน พันธุ์ไก่และอาหารที่บริษัทมอบให้ในรุ่นแรก เป็นทุนต่อยอดให้โรงเรียนดำเนินการในรุ่นต่อๆไปได้อย่างยั่งยืนมาถึง 26 ปี เรามีห้องเรียนอาชีพที่สอนให้เด็กๆได้เรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง เด็กนักเรียนมีสนามในการฝึกฝน ไม่ใช่เรียนบนกระดานดำหรือหน้าหนังสือที่ไม่อาจสร้างทักษะได้” ครูมนตรี กล่าว

24 ปีของการเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ ฯ “โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเขาสารภี” จังหวัดสระแก้วเริ่มต้นนับหนึ่งมาตั้งแต่ปี 2540 จำนวนไก่ไข่ที่เลี้ยงไว้ 100 ตัว จำนวนนักเรียน 68 คน เป็นเด็กไทย 39 คน และเด็กกัมพูชา 29 คน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล – ป.6 ซึ่ง ด.ต.หญิงสำรวย อินอุ่นโชติ หรือ ครูแขก ผู้ช่วยครูโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน กล่าวว่าไข่ไก่ช่วยแก้ปัญหาทุพโภชนาการในเด็กได้จริง เห็นได้จากการที่โรงเรียนเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ช่วยแก้ปัญหาเด็กที่อยู่ในภาวะผอม โดยปี 2563 คุณครูพยาบาล ตรวจร่างกายเด็กนักเรียน พบว่านักเรียน 3 คนเติบโตต่ำกว่าเกณฑ์ จึงให้รับประทานไข่ทุกวัน ปัจจุบันไม่มีเด็กที่เติบโตต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานแล้ว

ด.ญ.ชาคริยา บุ้งทอง หรือผักกาด อายุ 12 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่6 รร.ตชด.บ้านเขาสารภี เล่าว่า ดีใจที่โรงเรียนกลับมาเปิดเรียนอีกครั้งหลังจากต้องปิดเรียนไปนานเพราะโควิด -19 ได้กลับมาเจอเพื่อนๆ มาช่วยดูแลเลี้ยงไก่ไข่ของโรงเรียน ผักกาดบอกว่าเธอและเพื่อนๆ มีหน้าที่ให้อาหารไก่ เก็บไข่ ทำความสะอาดโรงเรือนเลี้ยงไก่ นับจำนวนผลผลิตไข่ไก่ที่เก็บได้ในแต่ละวัน เพื่อลงบัญชีส่งเข้าสหกรณ์โรงเรียน นำไปทำอาหารกลางวันให้นักเรียน เธอบอกด้วยว่า ไก่ที่โรงเรียนปลดระวางแล้ว ยายของเธอขอซื้อไปเลี้ยงที่บ้าน ตอนนี้เลี้ยงไก่ไว้ 10 ตัว ทำให้สามารถนำไข่ไก่มาทำอาหารให้ทานได้ทุกวัน หรือในบางวันคุณครูก็ให้ไข่ไก่นำกลับมาให้ที่บ้านด้วย

นายสมคิด วรรณลุกขี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟสนับสนุนโรงเรือน อุปกรณ์การเลี้ยง พันธุ์สัตว์ และอาหารสัตว์สำหรับการเลี้ยงรุ่นแรก (ระยะเลี้ยงประมาณ 60 สัปดาห์) ให้กับโรงเรียน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย พร้อมส่งผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการเลี้ยง การดูแลสุขภาพสัตว์ การจัดการโรงเรือน ตามหลักวิชาการและสุขาภิบาล รวมถึงให้คำแนะนำการบริหารจัดการผลผลิตและบัญชี เพื่อให้โครงการฯ มีผลประกอบการที่ดี และมีทุนสำหรับการเลี้ยงเองในรุ่นถัดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งซีพีเอฟถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้กับคุณครูและนักเรียนนำไปประยุกต์ใช้ อาทิ นำระบบแอปพลิเคชั่นไลน์มาใช้ในการสื่อสารระหว่างโรงเรียนและเจ้าหน้าที่ของซีพีเอฟ ให้คำแนะนำและแก้ปัญหาในการเลี้ยงได้อย่างทันท่วงที ใช้กูเกิลฟอร์มในการรายงานข้อมูลผลผลิตไข่ไก่ จำนวนไข่ที่จำหน่ายให้ชุมชน ฯลฯ อย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลที่รวดเร็วเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการผลิต

“บริษัทฯ มุ่งมั่นต่อยอดโครงการฯ ให้เป็นศูนย์เรียนรู้และคลังความรู้ ที่เปิดให้ชาวชุมชนเข้ามาเรียนรู้เทคโนโลยีการเลี้ยงไก่ การจัดการฟาร์ม และการตลาด เพื่อนำโมเดลธุรกิจเกษตรฉบับย่อไปประยุกต์ใช้เป็นอาชีพ” นายสมคิด กล่าว

เข้าสู่ปีที่ 33 ของโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ภายใต้ความมุ่งมั่นของมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ซีพีเอฟ และพันธมิตร ที่มีเจตนารมณ์เดียวกันในการร่วมดูแลสุขภาวะของเด็กและเยาวชนในสังคมไทย เติบโตสมวัยทั้งร่างกายและสติปัญญา สร้างหลักประกันอาหารมั่นคง โดยเฉพาะการส่งเสริมให้โรงเรียนในถิ่นทุรกันดารและห่างไกลผลิตอาหารได้เองอย่างยั่งยืน วางพื้นฐานการเรียนรู้วิธีการเลี้ยงไก่ไข่อย่างถูกวิธีเพื่อต่อยอดเป็นอาชีพได้ในอนาคต สามารถพึ่งพาตนเองได้

สอดรับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่มีเป้าหมายขจัดความหิวโหย สร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการสนับสนุนการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีโภชนาการอย่างเพียงพอ เพื่อให้เด็กและเยาวชนเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศก้าวไปข้างหน้าด้วยความแข็งแกร่ง