ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > 3 ประสาน รัฐ-ชุมชน-ซีพีเอฟ สร้างสมดุลป่าชายเลน ฟื้นป่าเสื่อมโทรม-คืนสัตว์หายากสู่ธรรมชาติยั่งยืน

3 ประสาน รัฐ-ชุมชน-ซีพีเอฟ สร้างสมดุลป่าชายเลน ฟื้นป่าเสื่อมโทรม-คืนสัตว์หายากสู่ธรรมชาติยั่งยืน

18 กันยายน 2019


เสียง “ป๊อก ป๊อก ป๊อก” เป็นจังหวะเหมือนเสียงดนตรีตลอดเวลาที่เดินอยู่บนสะพานไม้ซึ่งทอดยาวคดไปเคี้ยวมาอยู่ในป่าโกงกาง ที่ตำบลปากน้ำประแส จังหวัดระยอง ทำให้ทุกคนต้องถามเป็นเสียงเดียวกันว่า “นั่นเสียงอะไรน่ะ” และฟังอย่างตั้งใจ คำตอบที่ได้รับคือ เสียงจากก้ามที่หนีบขบกันของ “กุ้งดีดขัน” นักดนตรีน้อยแห่งป่าชายเลน เสียงดนตรีจากธรรมชาติ เสียงนี้สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติของป่าที่ฟื้นตัวจากสภาพป่าชายเลนเสื่อมโทรมถูกทำลายจากผู้บุกรุกได้เป็นอย่างดี

เช่นเดียวกับพื้นที่ป่าชายเลนที่บ้านทับปลา ตำบลท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ที่หลายคนตั้งใจไปที่นั่นเพื่อไปดูสัตว์หายากอย่าง “แม่หอบ” สัตว์น้ำที่มีรูปร่างคล้ายกุ้งผสมกับปูที่อาศัยอยู่ในรังที่ชาวบ้านเรียกว่า “จอมหอบ” คล้ายจอมปลวกแต่ขนาดเล็กกว่ามากขนาดพอดีตัว จอมหอบ กระจายอยู่บนพื้นเลน เป็นสิ่งบ่งชี้สภาพธรรมชาติที่สมบูรณ์กลับคืนสู่ป่า หลังได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทำให้เราได้พบเจอกับสิ่งมีชีวิตหายากเหล่านี้อีกครั้ง

การคืนสมดุลธรรมชาติสู่ระบบนิเวศป่าชายเลนไม่สามารถเกิดได้เพียงชั่วข้ามคืน แต่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจจับมือเดินไปด้วยกันด้วยความเข้มแข็ง โดยเฉพาะตามแนวทาง 3 ประสาน ระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ภายใต้โครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ที่เป็นการทำงานร่วมกันด้วยจุดแข็งของแต่ละฝ่ายของ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) เครือข่ายภาคประชาสังคม รวมทั้งชุมชนในพื้นที่ และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ

“แม่หอบ”

“ซีพีเอฟ” ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ตระหนักถึงความสำคัญของการคงอยู่ของทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นต้นทางของการผลิตอาหารปลอดภัยสู่ความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งบริษัทฯได้กำหนดทิศทางกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมสู่ความยั่งยืน 3 เสาหลัก “อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่”

โครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นตามแนวทางในเสาหลักด้าน “ดินน้ำป่าคงอยู่” มุ่งมั่นอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่ใกล้เคียงกับสถานประกอบการ ร่วมปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและคืนความสมดุลสู่ระบบนิเวศป่าชายเลน ผ่านการดำเนิน เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าชายเลนเพิ่มเติมในพื้นที่ยุทธศาสตร์ 5 จังหวัด คือ ที่ต.ปากน้ำประแส อ.แกลง จ.ระยอง , ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ,ต.ชะแล้ อ.สิงหนคร จ.สงขลา ,ต.ท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ. พังงา และ ที่ต.ชุมโค อ.ปะทิว จ.ชุมพร

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2536 ซีพีเอฟดำเนินโครงการ “ซีพีเอฟ ชวนคนไทยปลูกป่าชายเลน” สู่โครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (ปี 2557-2561) นอกจากช่วยอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่รวม 2,388 ไร่แล้ว ยังเกิดศูนย์การเรียนรู้ ปลูก -ปัน -ป้อง ป่าชายเลน เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของระบบนิเวศป่าชายเลนและทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนและนักท่องเที่ยว โครงการดังกล่าวยังสอดคล้องเป้าหมายความยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs)ข้อ 13 คือ การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศข้อ 14 คือ การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล และข้อ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

อีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญของโครงการนี้ คือ การส่งเสริมชุมชนให้อยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน จากความมุ่งมั่นสู่กระบวนการสร้างความร่วมมือ จากความร่วมมือสู่การเรียนรู้ จากการเรียนรู้สู่การแบ่งปัน สร้างความตระหนักและสำนึกรักษ์เพื่อให้เกิดความหวงแหน เพราะป่าชายเลนที่ได้รับการฟื้นฟูยังเอื้อประโยชน์ต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และอาชีพของชาวบ้านในชุมชน เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา ทำให้ชาวบ้านที่มีอาชีพประมงมีรายได้เพิ่มขึ้น

ซีพีเอฟ ต่อยอดโครงการปลูกป่า ด้วยการจับมือกับ บริษัท โลคอล อไลค์ จำกัด บริษัทท่องเที่ยวชุมชนที่มีเป้าหมายในการแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ดึงอัตลักษณ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิถีชีวิตของคนกลุ่มต่างๆในชุมชน นำร่องที่ ต.ปากน้ำประแส อ.แกลง จ.ระยอง และ ชุมชน ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร พัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยววิถีชุมชน ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยว และรายได้ส่วนหนึ่งยังถูกแบ่งปันเข้าสู่กองทุนอนุรักษ์ป่าชายเลน เพื่อให้ชุมชนมีกองทุนหมุนเวียนสำหรับใช้ในการดูแลรักษาป่าชายเลนอย่างยั่งยืน

ไม่เพียงแต่การดำเนินโครงการตามเป้าหมายเท่านั้น บริษัทฯ ยังได้ว่าจ้างหน่วยงานภายนอกมาถอดบทเรียนปัจจัยสู่ความสำเร็จโครงการปลูกป่าชายเลน ของซีพีเอฟ เพื่อประเมินการดำเนินโครงการในองค์รวม เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงโครงการในช่วงต่อไปให้ดียิ่งขึ้น

“นางรำ รอดอำไพ” วัย 50 ปี ชาวบ้าน ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีอาชีพประมงชายฝั่ง เล่าว่า เคยมีรายได้จากการทำประมงเดือนละไม่ถึง 3,000 บาท ระยะหลังมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 5,000-6,000 บาท เพราะสามารถหา กุ้ง หอย ปู ปลา ได้มากขึ้น มีต้นไม้มากขึ้นก็ทำให้สัตว์น้ำชนิดต่างๆ เข้ามาอาศัยในพื้นที่มากขึ้น มาฟักไข่ตามรากแสม ปลาหลายชนิดที่ไม่เคยเจอในพื้นที่ก็เข้ามา เช่น ปลาอินทรีย์ ปลาแป้น ปลาสลิดหิน ปลากุเลา เป็นผลจากปลูกป่าเพิ่มขึ้น ก็อยากให้มีการปลูกป่าเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

“โทน อินกลับ” วัย 63 ปี ชาวบ้านที่อาศัยในชุมชน ต.บางหญ้าแพรก และยึดอาชีพทำประมงชายฝั่งเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว เล่าว่า ทำประมงมาตั้งแต่อายุ 20 ปี ช่วง 2-3 ปีมานี้ มีรายได้เพิ่มขึ้น จับหอย ปู ปลา ได้เพิ่มขึ้น ก็น่าจะเกี่ยวกับป่าชายเลนในพื้นที่ที่มีจำนวนมากขึ้น ทำให้สัตว์น้ำกลับเข้ามาอาศัยในพื้นที่ ที่เห็นได้ชัดว่ามีปริมาณเยอะขึ้น เช่น ปูที่มาอาศัยต้นแสมและกินใบต้นแสม

“ดวงฤดี ขวัญนิยม” ประธานสภาองค์กรชุมชนและกลุ่มท่องเที่ยววิถีชุมชน ต. ปากน้ำประแส จ.ระยอง กล่าวว่า “ดีใจที่ภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุน และช่วยกันเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ทำให้ระบบนิเวศในพื้นที่ฟื้นคืนกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง สัตว์น้ำที่เคยหายไปจากพื้นที่ในช่วงที่ยังไม่มีการฟื้นฟูป่า ก็มีปริมาณเพิ่มขึ้นหลังจากที่ป่าชายเลนได้รับการฟื้นฟู คนในชุมชนซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพประมงสามารถจับกุ้ง หอย ปู ปลา ได้มากขึ้น เส้นทางท่องเที่ยวชุมชนทำให้สมาชิกฯมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายของและการท่องเที่ยว”

ป่าชายเลน 2,388ไร่ ที่เกิดจาการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่เพิ่มเติม ในโครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” โครงการที่เกิดจากความร่วมมือ 3 ประสาน ซึ่งไม่เพียงเพิ่มพื้นที่ป่าสีเขียวให้กับประเทศ แต่ร่วมสร้างชุมชนเข้มแข็งเพื่อดูแลรักษาป่าอย่างยั่งยืนต่อไป