ThaiPublica > คอลัมน์ > อังกฤษฮิตในชีวิต

อังกฤษฮิตในชีวิต

27 พฤศจิกายน 2021


วรากรณ์ สามโกเศศ

ทหารหนุ่มพร้อมจะบุกเข้าไปชิงตัวประกันในห้อง ทันใดนั้นก็มีเสียงลอดมาจากวิทยุ “Are you good?” เมื่อกระซิบตอบไปก็ตอบกลับมาว่า “Break a leg ,Bros” คนดูภาพยนตร์ฉากนี้งง เหตุการณ์กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม กลับถามว่าเป็นคนดีหรือเปล่าและแถมให้หักขาหักแข้งและจบด้วย Bros นี่อะไรของมันกัน

คอลัมน์นี้มีชื่อว่า “อาหารสมอง” ดังนั้นวันนี้จึงขอนำเสนอจานหนึ่งด้านการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมผ่านภาษาอังกฤษ ผู้เขียนดูภาพยนตร์อเมริกันและทีวีอเมริกัน ขณะกำลังออกกำลังกายเดินวิ่งบนสายพานเกือบทุกวันมาเกิน 10 ปี และอ่านภาษาอังกฤษด้วย ทำให้สังเกตเห็นการใช้คำวลีและประโยคภาษาอังกฤษหลายคำที่ขอรวบรวมมาในวันนี้

“Are you good?” ข้างบนเป็นคำถามหมายถึงว่า “Are you o.k.?” มิได้มีอะไรเกี่ยวกับการเป็นคนดีแต่อย่างใด ส่วน “break a leg” นั้นเป็นวลีที่นักแสดงอวยพรกันให้โชคดีก่อนรายการแสดง พวกเขาจะถือและไม่พูดว่า “Good luck” แต่จะใช้วลีนี้แทน ต่อมาก็มีคนเอามาใช้ในเรื่องอื่น ๆ ดังตัวอย่างข้างบนด้วย ส่วน Bros ก็มาจาก “Brothers” เป็นคำที่คนอัฟริกันอเมริกันชายใช้ทักทายเพื่อนชายเมื่อพบกัน และระบาดไปทั่วโลก

OMG มาจาก “Oh My God” เป็นคำอุทานแสดงความแปลกใจหรือแสดงอารมณ์สุดๆที่ปัจจุบันคนไทยก็ใช้กันแพร่หลาย บางครั้งก็แผลงเป็น “Oh My Gosh” เพื่อหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงพระเจ้าโดยไม่จำเป็น ปัจจุบันทั้ง OMG กับ RIP (Rest in Peace____จงไปสู่สุคติ) ใช้กันในโลกโซเชียลทั้งเทศและไทย

อีกวลีไม่เป็นทางการที่นิยมคือ “under the weather” ซึ่งหมายถึงรู้สึกไม่ค่อยสบายหรือจิตใจไม่คึกคัก เช่น นักกีฬาคนนี้ “under the weather” จนไม่ลงแข่งขันครั้งนี้ อีกคำที่เกี่ยวข้องกับสมาธิโดยเฉพาะในเรื่องกีฬาก็คือ “on the ball” ซึ่งหมายถึงตื่นตัวและทันกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ดังเช่นวันนี้เขาเล่นในการแข่งขันกอล์ฟไม่ดีเลยเพราะ “not on the ball” กล่าวคือจิตไม่ตื่นตัวและไม่ตระหนักถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างแหลมคม

เราได้ยินคำว่า “pain point” กันบ่อยมากในโลกปัจจุบันที่มีการประเมินแทบทุกสิ่ง มันหมายถึงปัญหาหรือสิ่งเป็นลบที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่เป็นประจำ เช่น อาจารย์เป็นคนเก่งมากแต่มี “pain point” คือพูดไม่รู้เรื่อง

karma เป็นคำที่นิยมใช้กันมากในโลกตะวันตก ปัจจุบันโดยสะท้อนสิ่งที่เรารู้จักกันดีคือกรรม แต่มีความหมายแตกต่างออกไปบ้าง ในภาษาอังกฤษนั้นหมายถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดเป็นผลขึ้น การกระทำดีเป็นสาเหตุของการนำไปสู่ผลดีในอนาคต และการทำสิ่งไม่ดีก็นำไปสู่ผลไม่ดีในอนาคตด้วย อีกคำคือ nirvana หรือนิพพาน ภาษาอังกฤษมีความหมายที่ไม่ลึกซึ้งเท่าความหมายดั้งเดิม โดยหมายถึงสภาวะของ perfect happiness

ผู้เขียนดูโทรทัศน์มากในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2020 (ดูด้วยความหวาดหวั่นว่าทรัมป์จะชนะ) และสังเกตเห็นหลายคำและวลีที่ใช้กันบ่อยมาก คำว่า narrative ซึ่งหมายถึงเรื่องเล่าที่เกิดจากการเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ที่ได้เกิดขึ้นจนสามารถร้อยเรียงเป็นเรื่องราวขึ้นได้ บริบทที่ใช้มักเป็นการพยายามทำให้สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นที่เป็นทั้งบวกและลบกลายเป็นเรื่องเล่าที่เป็นประโยชน์แก่พรรคตน เช่น การพูดติดอ่าง การป้ำ ๆ เป๋อ ๆ และการเผลอลืมของในบางครั้งของไบเดนนั้น มีการพยายามทำให้เป็น narrative ของคนหมดสมรรถภาพในการเป็นประธานาธิบดี

อีกคำที่มักใช้คู่กันก็คือ optics ซึ่งหมายถึงการทำให้มองเห็นและรับรู้รับทราบในใจของสาธารณชนเกี่ยวกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์หนึ่ง เช่น การยุยงให้บุกรุกรัฐสภาเพื่อประท้วงผลการเลือกตั้งของทรัมป์นั้น optics ที่ออกมาคือทรัมป์เป็นคนทำลายระบอบประชาธิปไตย

resonate เป็นอีกคำที่นักการเมืองอเมริกันชอบใช้มากโดยมีความหมายว่านโยบายหรือคำพูดที่ออกไปนั้นโดนใจผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง อีกวลีที่น่าสนใจคือ “on the same page” ซึ่งหมายถึง “เข้าใจตรงกัน เป็นพวกเดียวกัน เห็นอย่างเดียวกัน”

“throwing someone under the bus” หรือโยนบางคนเข้าไปใต้รถโดยสาร เป็นสำนวนที่นิยมหมายถึงการทำให้บางคนอยู่ในสถานะลำบาก เช่น พยานซึ่งร่วมกระทำผิดด้วยกันให้การปรับปรำจนเสมือนถูกโยนเข้าไปใต้รถโดยสาร หรือการเปลี่ยนใจทรยศ เช่น ทนายคนสนิทของทรัมป์ประจานความไม่ดีของนายจ้างเก่าของตน หรือปฏิเสธข้อความหรือความสัมพันธ์เดิมซึ่งทำให้บุคคลหนึ่งตกอยู่ในความลำบากขึ้นมา

cool คือคำแสลงยอดฮิตที่คนหลายชั่วคนใช้กันอยู่ทุกวัน มิได้หมายถึงเย็น หากหมายถึง “เจ๋ง ยอดเยี่ยม ทันสมัย เก๋” อะไร ๆ ก็ cool ได้ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม อีกคำคือ “a piece of cake” หมายถึงของที่ทำได้ง่าย ๆ คล้ายกับสำนวน “ปอกกล้วยเข้าปาก” ของไทย (ที่จริงหากปอกผิดทางก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย) ก็ครองใจคนใช้ภาษาอังกฤษมายาวนานเช่นกัน

OMG! ไม่น่าเชื่อว่าจะเขียนต้นฉบับได้ทันกำหนดเวลา narrative ของข้อเขียนวันนี้ก็คือเป็นคอลัมน์ที่ให้ความรู้ทันสมัยที่เป็นประโยชน์ในด้านการสื่อสาร หวังว่าท่านผู้อ่านและผู้เขียนจะ “on the same page” ไปอีกนาน ๆ นะครับ “pain point” หนึ่งของผมก็คือชอบเขียนยาวกว่าที่เขากำหนดครับ

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 28 ก.ย. 2564