ThaiPublica > คอลัมน์ > เวเนซูเอลลาขัดแย้งไม่จบสิ้น

เวเนซูเอลลาขัดแย้งไม่จบสิ้น

25 สิงหาคม 2017


วรากรณ์ สามโกเศศ


ประเทศที่ประท้วงกันมิได้หยุดหย่อนจนเศรษฐกิจพังพินาศประเทศหนึ่งในปัจจุบันก็คือเวเนซูเอลลา ผู้คนทั่วโลกสนเท่ห์ว่ามันอะไรกันนักกันหนาจึงไม่มีความสงบเลย พูดกันไม่รู้เรื่องหรืออย่างไร ข้อเขียนต่อไปนี้อาจสร้างความกระจ่างขึ้นได้บ้าง

เวเนซูเอลลาเป็นประเทศในอเมริกาใต้ที่มีประชากรประมาณ 32 ล้านคน และมีพื้นที่ประมาณ 900,000 ตารางกิโลเมตร จำง่าย ๆ ว่า มีประชากรน้อยกว่าไทยครึ่งหนึ่งแต่มีพื้นที่มากกว่าไทยเกือบหนึ่งเท่าตัว

ประเทศนี้ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีปริมาณน้ำมันดิบมากกว่าซาอุดิอาระเบีย อีกทั้งมีสินแร่ทองคำอยู่มากมาย แต่เหตุไฉนผู้คนจึงเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้าในขณะนี้ หากตอบสั้น ๆ ในตอนนี้ก็คือมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างคน 2 กลุ่มในประเทศ

ประชากรของเวเนซูเอลลาประกอบด้วย Mestizo (ลูกผสมระหว่างคนผิวขาวยุโรป คนพื้นเมืองอเมริกันอินเดียน คนอาฟริกา ฯลฯ) ร้อยละ 52 เป็นคนผิวขาว ร้อยละ 43 ในจำนวนทั้งหมด ร้อยละ 77 เป็นโรมันคาธอริก อีกร้อยละ 17 เป็นโปรแตสแตนท์ เมืองหลวงซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดคือ Caracas

ประเทศล้มลุกคุกคลานมาตลอดสลับไปมาระหว่างประชาธิปไตยและเผด็จการตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 หลังจากหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของสเปน การค้นพบปริมาณน้ำมันปริมาณมหาศาลระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914-1918) ผลักดันให้เปลี่ยนจากเศรษฐกิจพึ่งพิงการเกษตรในการส่งออกมาเป็นน้ำมัน การมีน้ำมันเช่นนี้เสมือนกับเป็นปีศาจแปลงร่างมา (devil in disguise) กล่าวคือทำให้มีเงินเข้าประเทศมหาศาล แต่คอรัปชันเบ่งบานเป็นประเพณี เอาแต่คิดพึ่งพิงการส่งออกน้ำมันอยู่เสมอ และเกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจขึ้นอย่างมาก

ในทศวรรษ 1960 ก็เกิดกลุ่มก่อการร้ายเอียงซ้ายเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในลาตินอเมริกา ความคิดแนวมาร์กซิสและสังคมนิยมแพร่กระจายในเวเนซูเอลลา และมีโมเมนตัมเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ในทศวรรษ 1990 ก็เกิดกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองที่มีชื่อเรียกว่า The Bolivarian Revolution (ตามชื่อของ Simon Bolivar ผู้นำปฏิวัติ ซึ่งเป็นวีรบุรุษของทวีปนี้ ในตอนต้นศตวรรษที่ 19ได้ ช่วยให้หลายประเทศหลุดพ้นจากแอกของสเปน) ซึ่งมุ่งสร้างประชาธิปไตย ความเสรีทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม การจบสิ้นของคอรัปชัน ฯลฯ ทั้งหมดด้วยวิธีการของลัทธิสังคมนิยม

ในยุคทศวรรษ 1990 มีนายกรัฐมนตรีผู้หนึ่งชื่อ Hugo Chavez สมัยหนุ่มตอนเป็นทหารได้ตั้งกลุ่มลับในเหล่าทหารเพื่อหาทางนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้พัฒนาประเทศ เขาสามารถหาพรรคพวกได้มากจนทำการปฏิวัติใน ค.ศ. 1992 แต่ล้มเหลวต้องติดคุก

เมื่อรัฐบาลที่เป็นพรรคพวกเดียวกันเป็นรัฐบาล Chavez ก็ได้รับการปล่อยตัวหลังจากติดคุกนาน 2 ปี เมื่อออกมาก็ลุยการเมือง อาศัยความกล้าได้กล้าเสีย วาทศิลป์ บุคคลิกและเสน่ห์ส่วนตัวChavez ก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีใน ค.ศ. 1998

Chavez เรียนจบโรงเรียนนายทหาร มีความรู้ดีมากในด้านลัทธิการเมืองและในการหาคะแนนนิยม แต่อ่อนมากในเรื่องการจัดการเศรษฐกิจ

เขาเริ่ม The Bolivarian Revolution โดยให้ผลประโยชน์แก่คนยากจนที่มีอยู่ทั่วประเทศอย่างจริงจัง ให้ทั้งเงินโดยตรง สร้างบ้านให้ แจกอาหาร ให้เข้าถึงสาธารณสุขและการศึกษา โดยใช้เงินมหาศาลที่ได้รับจากการส่งออกน้ำมันในต้นทศวรรษ 2000 จนทำให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจนเป็นขวัญใจของคนยากจน ผู้เลื่อมใสแนวทางของเขาเรียกตัวเองว่า Chavistas ส่วนผู้ที่ไม่เห็นชอบคือพวก Non-Chavistas นั้นได้แก่ผู้นิยมประชาธิปไตย ผู้ประกอบธุรกิจ คนชั้นกลางและสูง (ธุรกิจอาจถูกยึดเป็นของรัฐได้อย่างไม่ยากนัก)

Chavez ได้รับเลือกตั้งอีกหลายครั้งต่อเนื่องมาจนมาถึงปี 2012 ที่ถึงชนะแต่ก็ไม่ได้เป็นอีก เพราะตายเสียก่อนจากโรคมะเร็งในลำไส้ใหญ่ การชุมนุมประท้วงก่อนเลือกตั้ง ระหว่างและหลังเลือกตั้งเป็นเรื่องปกติของคนในประเทศนี้ โดยเฉพาะในช่วงที่ Chavez เป็นประธานาธิบดีนั้นประท้วงกันไม่ขาด

เชื้อไฟของเหตุการณ์วุ่นวายก็มาจากการแขวนโชคชะตาของประเทศไว้กับราคาน้ำมัน เมื่อราคาน้ำมันตกลงตั้งแต่ประมาณกลางทศวรรษ 2000 เงินที่จะนำมา “แจก” ก็ไม่มี รัฐบาลก็พิมพ์ธนบัตรมากขึ้น (ราคาสินค้าก็พุ่งขึ้นเพราะอำนาจซื้อสูงขึ้น แต่สินค้ามีอยู่เท่าเดิม) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศก็ลดลงเป็นลำดับเพราะส่งออกน้ำมันไม่ได้มากแต่นำเข้าสูงตลอดมาจนเกิดการขาดดุลการค้าและตามด้วยการขาดดุลการชำระเงิน จึงไปกินเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ จนอาจชำระหนี้ต่างประเทศในปีหน้าไม่ได้

การควบคุมราคาสินค้าทำให้สินค้าหายไปจากตลาด (ไม่คุ้มที่จะผลิตออกมาหรือผลิตออกมาก็มีขายแต่ในตลาดมืดในราคาที่สูงลิบจนคนทั่วไปเข้าไม่ถึง) ครั้นจะนำเข้าก็ไม่ได้เพราะจะทำให้ราคาเกินที่กำหนด การขาดแคลนสินค้าดำรงชีพโดยเฉพาะยานั้นรุนแรงมาก เงินเฟ้อก็สูงถึงปีละกว่า 100% ในปี 2017 นี้อาจสูงถึง 1,000%

Nicolas Maduro ที่มาภาพ : https://www.reuters.com/article/us-venezuela-politics-idUSKCN1B225P

สภาวะเช่นนี้ดำรงอยู่ตลอดทั้งก่อนหน้าและหลังการตายของ Chavez ในปี 2013 รองประธานาธิบดีชื่อ Nicolas Maduro ในวัย 51 ปี ฃึ่งเป็น Mestizo ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีแทน Maduro นั้นเรียนไม่จบชั้นมัธยม อดีตเป็นคนขับรถโดยสารประจำทางและผู้นำสหภาพแรงงานก่อนที่จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2000 เมื่อ Chavez ถูกใจก็ได้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในปี 2005 ทั้ง ๆ ที่พูดได้แต่ภาษาสเปน

Maduro เป็นคนฉลาด มีฝีมือทางการเมืองแต่ขาดเสน่ห์อย่างต่างไปจากChavez นับตั้งแต่เป็นประธานาธิบดีมาก็ถูกประท้วงเป็นประจำเพราะต้องเผชิญกับ “มรดก” ที่ลูกพี่ทิ้งไว้ให้ นโยบายสังคมนิยมในอดีตที่ไม่ปล่อยให้กลไกลตลาดทำงานเสรีในระดับหนึ่งซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจยิ่งขึ้น ผู้คนลำบากกันทั่วหน้า ว่างงาน ทำมาหากินได้ลำบาก เพราะทุกวันมีแต่การชุมนุมประท้วงไล่

เหตุการณ์มาผันผวนเลวร้ายลงอย่างฉับพลันเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2017 เมื่อศาลสูงซึ่งเป็นพวกเดียวกันตัดสินให้เลิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด (สองในสามคือ ส.ส.ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามพรรคของประธานาธิบดี และสนับสนุนผู้ประท้วง) ผู้คนจึงประท้วงอย่างกว้างขวางจนศาลสูงสุดกลับคำตัดสินในอีก 3 วันต่อมา ตลอดเวลา 4 เดือนกว่า การประท้วงรุนแรงขึ้นเป็นลำดับจนมีคนตายไปแล้วกว่า 100 คน และบาดเจ็บอีกไม่ต่ำกว่า 400 คน แต่ Maduro ก็ไม่ยอมลาออกและมีลูกเล่นคือให้มีการเลือกตั้งสภาชนิดใหม่ที่เรียกว่า Constitutional Assembly ขึ้นในปลายเดือนกรกฎาคม เพื่อมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งจะทำให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2018 ต้องเลื่อนออกไป และทำให้ตนเองอยู่ในอำนาจนานขึ้น

Maduro จัดการกับฝ่ายค้านอย่างสไตล์เผด็จการ จับขังคุกหลายร้อยคน สื่อตายไปหลายคน มีคนกล่าวหาว่าประธานาธิบดี Maduro และ Chavez ใช้วิธีการสกปรกแบบรุนแรงหลายรูปแบบ จนผู้นำประเทศลาตินอเมริการวม 11 คน ลงนามในจดหมายประท้วง อีกทั้งกีดกันเวเนฃูเอลลาออกไปจาก Mercosur (กลุ่มสนับสนุนการค้าเสรีในอเมริกาใต้)

ขณะนี้ไม่มีใครคาดเดาว่าจะจบลงอย่างไร Maduro ไม่ยอมอ่อนข้อเพราะกลัวโดนคิดบัญชีหลังตกจากอำนาจแล้ว ฝ่ายค้านก็มีพลังเพราะดูจะอยู่ในฝ่ายธรรมะจึงไม่ยอมลดราวาศอกตราบที่ Maduroไม่ลาออก และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีตามกำหนดเวลาของรัฐธรรมนูญคือ ปี 2017

กลุ่มชื่นชมนโยบายสังคมนิยม และกลุ่มต่อต้านซึ่งขัดแย้งกันมายาวนาน ยากที่จะจบลงได้เนื่องจากไม่เห็นพ้องกันในบทบาทของภาครัฐในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ อยากเชื่อว่าประเทศสารขันธ์ขัดแย้งน้อยกว่าเพราะเป็นประเด็นเรื่องตัวบุคคล ซึ่งมาและก็จะหายไป

หมายเหตุ : คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจอังคาร 22 ส.ค. 2560