ThaiPublica > เกาะกระแส > “รณดล นุ่มนนท์” รองผู้ว่าการธปท.แนะเร่งสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสไซเบอร์รับบริบทโลกใหม่

“รณดล นุ่มนนท์” รองผู้ว่าการธปท.แนะเร่งสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสไซเบอร์รับบริบทโลกใหม่

22 กันยายน 2021


นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

วันพุธที่ 22 กันยายน 2564 นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าว เปิดงานสัมมนา ประจำปีด้าน cybersecurity ที่จัดขึ้นภายใต้ชื่องาน “Vaccinate Your Cybersecurity, Now or Never”

นายรณดลกล่าวว่า ชื่อของงานสื่อถึงการสร้างภูมิคุ้มกัน ที่ไม่จำกัดเฉพาะกับโรคภัยเท่านั้น แต่ยังควรสร้างภูมิคุ้มกันต่อการโจมตีและภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่าง ๆ ด้วย

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันที่มีผลต่อวิถีชีวิตของประชาชนและภาคธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและรูปแบบธุรกิจไปสู่ new normal ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการจับจ่ายใช้สอยในลักษณะออนไลน์ที่สูงขึ้นอย่างมาก ปัจจุบันมียอดการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์กว่า 22 ล้านรายการต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมามากกว่าร้อยละ 70 ประชาชนมีการลงทะเบียนเปิดใช้บริการพร้อมเพย์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 57 ล้านบัญชีผู้ใช้งานแล้ว ในขณะเดียวกันรูปแบบการทำงานก็เปลี่ยนแปลงไป บริษัท องค์กร หรือสถาบันการเงินเอง ก็มีการปรับรูปแบบการทำงานแบบ work from home ที่ต้องพึ่งพาโลก internet มากขึ้น ทำให้โลกแบบ new normal มาเร็ว
กว่าที่คาดคิด

ภัยคุกคามทางไซเบอร์จึงเป็นความเสี่ยงที่ต้องยกระดับการบริหารจัดการและเร่งสร้างภูมิคุ้มกันตามบริบทที่ปรับเปลี่ยนไป

ในยุคดิจิทัลนี้ ภาคการเงินการธนาคารเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศที่สำคัญและเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักในการโจมตีจากผู้ไม่ประสงค์ดี ประกอบกับความเชื่อมโยงถึงกันของระบบและบริการที่เพิ่มมากขึ้น จึงมีโอกาสที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่ง อาจส่งผลต่อไปยังอีกแห่งหนึ่งจนลุกลามเป็นวงกว้าง และทวีความรุนแรงได้อย่างรวดเร็ว

ดังนั้น สถาบันการเงินแต่ละแห่งจึงจำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้เข้มแข็ง และร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันหมู่หรือ herd immunity ผ่านการมีความร่วมมืออย่างเข้มแข็งในทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดความพร้อมในการรับมือต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ในรูปแบบต่าง ๆ

ตลอดช่วงที่ผ่านมา TB-CERT และ ธปท. ได้ร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันและรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์มาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการฉีดวัคซีนมาแล้วอย่างน้อย 2 เข็ม

เข็มแรกเพื่อสร้างความเข้มแข็งพื้นฐานให้กับภาคการธนาคารผ่านการสร้างความร่วมมือระหว่างสมาชิกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลภัยคุกคามต่าง ๆ การสร้างบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญในระดับต่าง ๆ ให้มีความรู้ ความพร้อมในการป้องกัน รับมือและตอบสนองกับภัยไซเบอร์รวมทั้งร่วมมือกันซักซ้อมการตอบสนองกรณีเกิดการโจมตีทางไซเบอร์ในภาคการธนาคาร

เข็มที่สอง เพื่อขยายการสร้างภูมิคุ้มกันไปสู่ภาคการเงิน โดยการร่วมมือกับหน่วยงาน CERTในภาคตลาดทุน หรือ TCM-CERT และภาคธุรกิจประกันภัย หรือ Ti-CERT เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และร่วมกันสร้างหลักเกณฑ์กระบวนการ บุคลากรในการรับมือภัยไซเบอร์ในภาคการเงิน

อย่างไรก็ดี ภัยไซเบอร์ย่อมจะปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ในขณะที่ภูมิคุ้มกันย่อมมีประสิทธิผลลดลง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเสริม พร้อมทั้งต้องมีวัคซีนใหม่เพื่อเป็น booster รับมือภัยไซเบอร์สายพันธุ์ใหม่

ไวรัสคน ไวรัสคอมพิวเตอร์มีความคล้ายคลึงกันอยู่อย่างหนึ่ง คือสามารถแพร่กระจายได้โดยง่ายหากไม่ระมัดระวังป้องกัน ก็มีโอกาสที่อาจตกเป็นเหยื่อได้ตลอดเวลา และถึงแม้เราจะดูแลรักษาตนเองเป็นอย่างดี มีการฉีดวัคซีนมาแล้ว แต่หากผู้คนรอบข้างยังอ่อนแอ ก็อาจทำให้ ไวรัสเกิดการกลายพันธุ์จนทำให้ภูมิคุ้มกันที่มีอยู่อาจไม่สามารถป้องกันได้

ดังนั้นการร่วมมือร่วมใจกันผลักดันให้ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงินการธนาคารทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้มีภูมิคุ้มกันมีภูมิต้านทานในการป้องกัน ติดตาม ตอบสนองและรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เข้มแข็งไปพร้อม ๆ กันและสร้างให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในระดับประเทศก็จะเป็นการช่วยป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์และภัยไซเบอร์ได้

“ในระยะต่อไป ผมเชื่อมั่นว่า TB-CERT จะเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ให้กับภาคการเงินการธนาคารของประเทศ และขยายไปยังภาคธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งยังมีงานสำคัญที่ต้องร่วมมือกันดำเนินการอีกมากใน 4 ด้าน ประกอบด้วย”

ด้านแรกคือ การยกระดับความมั่นคงปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศตาม พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
ด้านที่สอง การพัฒนามาตรฐานหรือกระบวนการในการรับมือภัยไซเบอร์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนาแนวปฏิบัติการใช้API ร่วมกับ ธปท. หรือ การพัฒนากระบวนการป้องกันหรือตอบสนองการหลอกลวงผ่าน SMS ร่วมกับ กสทช.
ด้านที่สาม การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางเทคนิคเชิงลึกที่ต้องอาศัยการฝึกฝนทักษะความเชี่ยวชาญเพื่อให้มีศักยภาพในการป้องกัน ติดตาม และรับมือภัยไซเบอร์รูปแบบใหม่
และด้านสุดท้ายคือ การสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจพื้นฐานในการใช้บริการทางการเงินให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ให้กับประชาชน

คณะทำงาน TB-CERT และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ร่วมกันทำงานอย่างเข้มแข็งและใกล้ชิดตลอดเวลาที่ผ่านมา เพื่อขับเคลื่อนให้ TB-CERT เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความมั่นคงปลอดภัยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ในภาคการเงินและภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงช่วยกันสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้บริการทางการเงินดิจิทัลออกไปยังภาคประชาชนอีกด้วย