ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ พร้อมรับศึกซักฟอก ปมบริหารจัดการโควิดฯ — มติ ครม. เพิ่มเยียวยา “นายจ้าง-ลูกจ้าง” เป็น 6 หมื่นล้าน

นายกฯ พร้อมรับศึกซักฟอก ปมบริหารจัดการโควิดฯ — มติ ครม. เพิ่มเยียวยา “นายจ้าง-ลูกจ้าง” เป็น 6 หมื่นล้าน

3 สิงหาคม 2021


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

นายกฯ พร้อมรับศึกซักฟอกปมบริหารจัดการโควิดฯ มั่นใจแจงได้ทุกประเด็น-ยันใช้จ่ายเงินกู้ที่เหลือ 4 แสนล้าน ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด — มติ ครม. เพิ่มวงเงินเยียวยา “นายจ้าง-ลูกจ้าง” 29 จว.เป็น 6 หมื่นล้าน-โยกบิ๊กมหาดไทย 28 ตำแหน่ง ดัน “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” นั่งปลัดฯ-ต่ออายุเลขาฯ BOI อีก 1 ปี

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. นายกรัฐมนตรียังคงมอบหมายให้ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตอบคำถามสื่อมวลชนแทน

พร้อมรับศึกซักฟอกปมบริหารจัดการโควิดฯ มั่นใจแจงได้ทุกประเด็น

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนแทนนายกรัฐมนตรีถึงความพร้อมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ในประเด็นการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ว่าเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีพร้อมจะชี้แจงในทุกประเด็นที่สมาชิกมีข้อสงสัยในการบริหารสถานการณ์โควิด ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ประชุมในหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโควิดฯ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด, ผู้อำนวยการโรงพยาบาล, หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าเรื่องยารักษาเวชภัณฑ์, การจัดหาและกระจายวัคซีน, การจัดตั้งโรงพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุข เตรียมดำเนินการเช่นที่สนามบินสุวรรณภูมิ กระทั่งการจัดการโรงพยาบาลสนาม การดูแลบุคลากรทางการค้า และบุคลากรด่านหน้า รวมถึงการดูแลผู้ป่วยให้เข้ารับการรักษาโดยเร็ว ด้วย home isolation, community isolation หรือ factory isolation การจัดหางบประมาณ เพื่อให้มี antigen test kit หรือ มาตรการการเยียวยา

นอกเหนือจากนี้ นายกรัฐมนตรีอยากให้ประชาชนและสื่อมวลชน ติดตามวิธีการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศ ซึ่งจะเห็นวิธีการแตกต่างกันไป บางประเทศมีวัคซีนหลายชนิดทั้ง mRNA, viral vector หรือวัคซีนเชื้อตาย ทุกประเทศก็ยังต้องกลับมาล็อกดาวน์หรือดูแลการแพร่ระบาดอีกครั้ง ประเทศไทยก็เป็นเช่นเดียวกันที่มีมาตรการทำให้การแพร่ระบาดลดน้อยลง ส่วนระบบสาธารณสุขยังสามารถรองรับผู้ป่วยได้หลังจากที่มีการปรับปรุงหลายๆ ส่วน

ย้ำความสัมพันธ์ “พรรคร่วมฯ” ยังเหนียวแน่น

ส่วนคำถามที่ว่าความเหนียวแน่นของพรรคร่วมรัฐบาลยังคงเหมือนกับที่ช่วงเข้ารับตำแหน่งในรัฐบาลนี้หรือไม่ รวมถึงกระแสกดดันให้ถอนตัวออกจากรัฐบาล นายอนุชาตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีว่า นายกรัฐมนตรียืนยันถึงระยะเวลาที่ผ่านมา ยังคงสามารถทำงานร่วมกันด้วยความเข้าใจ และมีความมุ่งมั่นแก้ไขสถานการณ์ในปัจจุบัน สิ่งต่างๆ ที่นายกรัฐมนตรีอาจมองว่าเป็นอุปสรรค ท่านก็จะลงมาแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง หากเป็นเรื่องงบประมาณ เข้าใจว่าส่วนใดสามารถนำมาเป็นการจัดหาเวชภัณฑ์ จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ดูแลบุคลากรทางการแพทย์ ทุกอย่างเรื่องเยียวยาก็จะให้ความสำคัญ

ยันใช้เงินกู้ที่เหลือ 4 แสนล้าน ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ถามว่า งบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท ยังมีเพียงพอที่จะนำมาใช้ในช่วงขยายเวลาล็อกดาวน์ ที่ต้องจ่ายเงินเยียวยาอย่างต่อเนื่องหรือไม่ นายอนุชาตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้คำมั่นสัญญาเรื่องการใช้จ่ายเงินกู้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินกู้ 5 แสนล้านบาทรอบล่าสุด จะอนุมัติเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ ยกตัวอย่าง ครม. อนุมัติลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง โดยปรับลดค่าเทอมของนักเรียนนักศึกษา ทั้งในส่วนของโรงเรียน อุดมศึกษา ทั้งสังกัดเอกชนและรัฐวงเงินทั้งสิ้นประมาณ 32,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังขยายมาตรการช่วยเหลือแรงงานจากการล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นอีก 60,000 ล้านบาท เงินที่จะใช้ในส่วนลดค่าเทอม ค่าการศึกษา และเยียวยาแรงงาน-ผู้ประกอบการอยู่ที่ประมาณ 90,000 ล้าน ยังมีเงินเหลือส่วนเงินกู้อีกประมาณ 4 แสนกว่าล้าน นายกรัฐมนตรีก็ขอให้มั่นใจว่าจะดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ชี้กู้เพิ่ม ต้องคำนึงถึงเสถียรภาพการคลัง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ในอนาคตมีแนวโน้มที่จะต้องกู้เงินเพิ่มหรือไม่ นายอนุชาตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีว่าแล้วแต่สถานการณ์ หากในอนาคตมีความจำเป็นที่จะต้องดูแลพี่น้องประชาชน ก็จะต้องพิจารณาอย่างรอบครอบ โดยจะต้องคำนึงถึงเสถียรภาพทางการคลังและกรอบวินัยทางการเงินอย่างเคร่งครัด

มติ ครม. มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี และ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)

เพิ่มวงเงินเยียวยา “นายจ้าง-ลูกจ้าง” 29 จว.เป็น 6 หมื่นล้าน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. วันนี้ เห็นชอบขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบและให้ความช่วยเหลือกลุ่มแรงงาน ผู้ประกอบการพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 พร้อมขยายกรอบวงเงินการให้ความช่วยเหลือ เพิ่มเป็น 60,000 ล้านบาท จากเดิม 30,000 ล้านบาท รายละเอียด ดังนี้

    1. ปรับเพิ่มพื้นที่ดำเนินการจากเดิม 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด ได้แก่ กทม. กาญจนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ตาก นครปฐม นครนายก นครราชสีมา นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี อยุธยา เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยะลา ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สงขลา สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สุพรรณบุรีและอ่างทอง
    2. กลุ่มเป้าหมายให้ความช่วยเหลือ ยังคงครอบคลุมกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในกิจการที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในส่วนที่อยู่ในระบบประกันสังคมและไม่อยู่ในระบบประกันสังคม
    3. ประเภทกิจการที่ให้ความช่วยเหลือ คือ กิจการในระบบประกันสังคมจะครอบคลุม 9 สาขาและในกลุ่มผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” ภายใต้โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะในปัจจุบันที่ผ่านการคัดกรองแล้วและไม่เป็นผู้ถูกตัดสิทธิ์จากกระทรวงการคลัง จำนวน 5 กลุ่ม
    4. รูปแบบการให้ความช่วยเหลือเป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2564
    5. ระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ กลุ่ม 13 จังหวัดเดิม ได้แก่ ก.ค.-ส.ค. 2564 (2 เดือน) กลุ่ม 16 จังหวัดที่เพิ่มเติม คือ ส.ค. 2564 (1 เดือน)

“นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานได้รับมอบหมายให้ไปเร่งจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ทำให้ไม่สามารถได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการลดผลกระทบและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2564 ใน 29 จังหวัดสีแดงเข้ม เพื่อนำเข้าที่ประชุมเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในโอกาสต่อไป” นายอนุชาฯ กล่าว

เคาะกู้ 3.2 หมื่นล้าน ลดค่าเทอม “นักเรียน-นิสิต-นักศึกษา”

นายอนุชา กล่าวต่อว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในภาคการเรียน ที่ 1 ปีการศึกษา 2564 รวมวงเงิน 32,000 ล้านบาท ประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ วงเงิน 22,000 ล้านบาท และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วงเงิน 10,000 ล้านบาท รายละเอียด ดังนี้

1. กระทรวงศึกษาธิการ ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาให้นักเรียน/นักศึกษา ทุกคนทุกกลุ่มในสถานศึกษาของรัฐและเอกชนทั้งในและนอกสังกัด ศธ. รวมทั้งสิ้น 10,952,960 คน โดยให้ความช่วยเหลือ 2,000 บาทต่อคนในภาคการศึกษาที่ 1/2564 กรอบวงเงิน 22,000 ล้านบาท และ มาตรการที่ 2 สนับสนุนสถานศึกษาในการจัดการเรียนการสอนและแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรควิด-19 ไม่เกิน 10,000 บาท/โรงเรียน รวมจำนวน 34,887 แห่ง แบ่งเป็น สถานศึกษาของรัฐ 30,879 แห่ง และสถานศึกษาเอกชน ที่รับเงินอุดหนุนจากรัฐ อีก 4,008 แห่ง วงเงินรวมทั้งสิ้น 94.08 ล้านบาท

สำหรับมาตรการที่ 1 วงเงิน 22,000 ล้านบาท ยังคงใช้จ่ายจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ขณะที่วงเงิน 94.08 ล้านบาท มาตรการที่ 2 เดิมที่อยู่ในเงินกู้ช่วยเหลือบรรเทาค่าใช้จ่ายด้านการศึกษานั้น ให้ใช้เงินจากงบประมาณแทน เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขการใช้เงินกู้

2. โครงการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนิสิต นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยนิสิต นักศึกษา กลุ่มเป้าหมายจำนวน 1,788,522 คน แบ่งเป็น 1) นิสิต นักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จำนวน 1,458,978 คน 2) นิสิต นักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาภาคเอกชนในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จำนวน 285,000 คน และ 3) นักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐนอกสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จำนวน 44,544 คน

    1. ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐจำนวน 100 แห่ง ตั้งแต่ระดับต่ำกว่าปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา ทั้งภาคปกติ ภาคพิเศษ และภาคสมทบ โดยลดค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา ที่ต้องจ่ายในส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ช่วยเหลือในอัตราร้อยละ 50 ส่วนตั้งแต่ 50,001–100,000 บาท ช่วยเหลืออัตราร้อยละ 30 และตั้งแต่ 100,001 บาทขึ้นไปช่วยเหลือในอัตราร้อยละ 10 โดยรัฐบาลและสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐจะร่วมกันช่วยเหลือเยียวยาในสัดส่วน 6:4
    2. ช่วยค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาภาคเอกชน จำนวน 72 แห่ง โดยเยียวยาค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา คนละ 5,000 บาท
    3. ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา อื่นๆ เช่น การให้ทุนศึกษา ขยายเวลาการชําระ ค่าธรรมเนียมการศึกษา ผ่อนจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา ขยายเวลาสําเร็จการศึกษา ลดและคืนค่าหอพัก รวมทั้งการจ้างงาน/ส่งเสริมรายได้ให้กับนักศึกษา เป็นต้น

โฆษกรัฐบาล เปิดเผยว่า มาตรการช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาทั้งของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษาฯ มุ่งช่วยเหลือผู้ปกครองนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ให้บุตรหลานยังสามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้ต่อไปได้ ขณะเดียวกันยังลดภาระค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้ กรณีสถานศึกษาที่อยู่ภายใต้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น คณะรัฐมนตรีขอให้พิจารณาใช้แหล่งเงินอุดหนุนขององค์กรกปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นลำดับแรกก่อน

เห็นชอบ “บ้านเคหะสุขเกษม” เปิดให้ผู้สูงอายุเช่าบ้านเอื้ออาทร

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายมุ่งส่งเสริมและช่วยเหลือให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยในช่วงปั้นปลายชีวิต อีกทั้งนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้การเคหะแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไปดำเนินการพัฒนาทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของโครงการบ้านเอื้ออาทรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดภาระหนี้และเพิ่มรายได้ ในวันนี้ ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นโครงการต้นแบบ “บ้านเคหะสุขเกษม” โดยเป็นการปรับปรุงทรัพย์สินโครงการบ้านเอื้ออาทรบางส่วนมาดำเนินการให้เป็นห้องเช่าราคาถูกแก่ผู้สูงอายุ ตามที่การเคหะแห่งชาติ (กคช.) เสนอ โดยรายละเอียดมีดังนี้

1. ปรับลดหน่วยโครงการบ้านเอื้ออาทรจังหวัดสมุทรปราการ (เทพารักษ์ 4) จำหน่วย 45 หน่วย

2. ให้ปรับปรุงพัฒนา 45 หน่วยดังกล่าว เป็นอาคารเช่าสำหรับผู้สูงอายุ ข้าราชการ และพนักงานของรัฐที่เกษียณอายุ เป็นโครงการต้นแบบชื่อ “โครงการบ้านเคหะสุขเกษม”

3. เห็นชอบเพิ่มกรอบงบลงทุนประจำปีงบประมาณ 2564 ของการเคหะแห่งชาติ จำนวน 11 ล้านบาท เพื่อใช้ในการปรับปรุงอาคารต้นแบบ 1 อาคาร

นอกจากนี้ที่ประชุม ครม. ได้มีมติให้การเคหะแห่งชาติ เร่งรายงานผลการดำเนินโครงการบ้านเอื้ออาทรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2552 ที่ได้ปรับลดจำนวนหน่วย เหลือ 2.8 แสนหน่วย จากที่เคยได้รับการเห็นชอบจาก ครม. ช่วงปี 2546-2548 จำนวน 6 แสนกว่าหน่วย ซึ่งจนถึงปัจจุบัน มีจำนวนที่ยังขายไม่ได้ 5,848 หน่วย อยู่ในพื้นที่โครงการบ้านเอื้ออาทร (เทพารักษ์ 4) จำนวน 223 หน่วย ขณะเดียวกันให้รายงานผลการดำเนินการโครงการต้นแบบที่ริเริ่มขึ้นนี้ และเร่งจัดทำรายงานการวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการบ้านเคหะสุขเกษม ซึ่งในแผนจะเป็นอาคารสูง 5 ชั้น 4 อาคาร ทุกอาคารติดลิฟท์ แผนการดำเนินงาน 3 ปี (2564-2566) แบ่งเป็น 4 ระยะ รวม 4,089 หน่วย ขนาดพื้นที่ 33 ตารางเมตร และ 27 ตารางเมตร ต่อหน่วยที่พักอาศัย มีศูนย์ดูแลสุขภาพ พื้นที่ส่วนกลางและพื้นที่จัดกิจกรรม คลีนิกอายุรกรรม ศูนย์สุขภาพ เป็นต้น โดยจะคิดอัตราค่าเช่า ประมาณ 2,500 – 3,000 บาท

ดร.รัชดากล่าวต่อว่า เมื่อการเคหะฯ เสนอรายงานต่อ ครม. ในโอกาสหน้า จะได้มีการพิจารณาเรื่องการนำทรัพย์สินโครงการบ้านเอื้ออาทรที่ขายไม่ได้หรือสร้างไม่เสร็จมาปรับปรุงและพัฒนาเป็นบ้านเคหะสุขเกษมเพื่อผู้สูงอายุต่อไป ตามความเหมาะสมของพื้นที่และความต้องการของประชาชน

ผ่านร่าง กม.ป้องกันนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ทำผิดซ้ำ

ดร.รัชดากล่าวต่อว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. อนุมัติร่างพระราชบัญญัติเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำซ้อนของผู้พ้นโทษคดีอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง สำหรับคดีอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง เช่น คดีฆาตกรรม ข่มขืนกระทำชำเราเด็ก ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมพบว่าผู้ที่พ้นโทษและมีคดีอุกฉกรรจ์รุนแรงแบบนี้ เมื่อพ้นโทษมาแล้วในช่วงระยะเวลา 3 ปี มีการกระทำผิดซ้ำซ้อนมากกว่าร้อยละ 50 ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ และเพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง กระทรวงยุติธรรมจึงได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำซ้อนของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง ซึ่งสาระหลักของร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำซ้อนของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง ก็จะมีการกำหนดนิยาม คำว่า “ความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง” หมายถึงความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต, ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี, ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น , ความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ส่วน “ผู้กระทำคามผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง” หมายถึง ผู้ที่กระทำความผิดมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เป็นต้น

ส่วนประเด็นที่เป็นสาระสำคัญที่ระบุเพิ่มเติมในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้กำหนดมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเฉพาะราย คือ เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำเลย ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรงแล้ว ให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้ใช้มาตรการฟื้นฟูเพื่อผู้กระทำความผิดเฉพาะรายได้ด้วย และมีมาตรการการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ โดยก่อนที่กรมราชทัณฑ์จะปล่อยตัวนักโทษที่กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง ให้กรมคุมประพฤติจัดทำสำนวนการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษสำหรับนักโทษเด็ดขาดคนนี้ก่อน และทำความเห็นว่าสมควรจะเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาด ภายหลังพ้นโทษหรือไม่ จากนั้นให้นำเสนอพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลสั่งให้มีการเฝ้าระวังภายหลังการพ้นโทษ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กลับมากระทำความผิดอีก

อีกมาตรการ คือ การคุมขังฉุกเฉิน ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ถูกเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ แสดงพฤติการณ์ใกล้ที่จะกระทำความผิดอุกฉกรรจ์อีกครั้ง และไม่มีมาตรการอะไรที่จะไปยับยั้งผู้กระทำผิดได้ ให้พนักงานคุมประพฤติ หรือพนักงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบร้องต่อศาล เพื่อออกคำสั่งคุมขังฉุกเฉินได้ด้วย

เห็นชอบร่างแถลงร่วมกลุ่มมิตรประเทศ-หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง

ดร.รัชดากล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมกลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ซึ่งกลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง (Friends of the Mekong หรือ FOM) เป็นกลไกความร่วมมือภายใต้หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong-U.S. Partnership หรือ MUSP) (สมาชิก MUSP ประกอบด้วยไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม สหรัฐฯ) ซึ่งรวมตัวกับอีก 8 ประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ เครือรัฐออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลี สหภาพยุโรป (EU) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ธนาคารโลก (World Bank) สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขง (MRCS) และอยู่ในกระบวนการเชิญอินเดียเข้าร่วมด้วย โดยเป็นการรวมตัวของประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สำหรับร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ฉบับนี้ จะมีการรับรองในการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง ที่จะจัดขึ้นวันที่ 5 สิงหาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประธาน ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

    1. การย้ำความสำคัญกับหลักการของความร่วมมือ เช่น ความเปิดกว้าง ธรรมาภิบาล ความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน พหุภาคีนิยม ความเท่าเทียม ความเคารพ ความไว้เนื้อเชื่อใจ และผลประโยชน์ร่วมกัน
    2. การส่งเสริมระหว่างกันของกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคฯ เช่น หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ/กลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Cha Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy หรือ ACMECS) คณะกรรมาธิการแม่โขงและอาเซียน (MRC) และอาเซียน
    3. ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาดิจิทัล และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
    4. ประเด็นและกิจกรรมที่สมาชิกกลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง ให้ความสำคัญซึ่งรวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและการรับมือกับความท้าทายข้ามพรมแดน
    5. การสนับสนุนบทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงและความร่วมมือข้ามพรมแดน

ดร.รัชดากล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการตามถ้อยแถลงร่วมฯ นี้ สอดคล้องกับนโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทย ในการส่งเสริมและกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาค และการลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนา ซึ่งเป็นการพัฒนาที่เชื่อมโยงในทุกมิติทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

จัดงบกลาง 407 ล้าน มอบ อว.ฝึกอบรมอาชีพแรงงานกลับบ้าน

ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. วันนี้ อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น กรอบวงเงิน 407 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการอบรมและส่งเสริมการพัฒนา ยกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ โดยอว.ระบุว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้ประชาชนในภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งทางเครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นจะดำเนินการรวบรวมกลุ่มสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และต้องการกลับสู่ถิ่นฐานเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาการเกษตรของชุมชน มาเข้าสู่โครงการอบรมฯ นี้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ เครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นภาคเหนือ 9 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคกลาง 21 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ภาคตะวันตก 5 จังหวัด และภาคใต้ 14 จังหวัด รวม 2,574 กลุ่ม จำนวน 25,740 ราย

สำหรับโครงการอบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรมนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่ออบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์ ด้านประมง สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) พืชและเห็ดเศรษฐกิจ หมอดิน New Normal และพืชสมุนไพร รวมทั้งเพื่อรองรับแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นทักษะอาชีพด้านการเกษตรด้วยศาสตร์พระราชา เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตโควิด-19 เพื่อเป็นทางรอดและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน และเพื่อสร้างต้นแบบศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี และส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม และคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้รวม 514.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นรายได้เฉลี่ย 200,000 บาท/ปี/ครัวเรือนหรือต่อเครือข่าย

อนุมัติงบฯ 181 ล้าน หนุนเด็ก จว.ชายแดนใต้ เรียนต่อ “ปวช.-ปวส.”

น.ส.ไตรศุลีกล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบในหลักการโครงการทุนอุดหนุนนักเรียนเรียนดีมีความสามารถในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมเห็นชอบกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564-2572 ในกรอบวงเงิน 181.5 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักเรียนเรียนดี มีความสามารถในจังหวัดชายแดนใต้ที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้เข้าศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จนสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และเมื่อจบแล้วมีงานทำ

สำหรับโครงการนี้ได้ตั้งเป้าหมายนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้ศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับ ปวช. จำนวน 1,800 คน และ ปวส. จำนวน 600 คน รวมทั้งสิ้น 2,400 คน ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยระดับ ปวช. จะได้ทุนละ 30,000 บาท/คน/ปี และระดับ ปวส. จะได้ทุนละ 40,000 บาท/คน/ปี

ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการได้ระบุว่า โครงการทุนอุดหนุนนักเรียนเรียนดีมีความสามารถในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 จนถึงปี 2563 มีผู้รับทุนไปแล้วประมาณ 3,900 คน โดยได้สร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนนักศึกษาในโครงการ ซึ่งเป็นนักเรียนที่มีความเสี่ยงที่อาจจะออกนอกระบบการศึกษา เนื่องจากประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ เพราะอยู่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อย มีปัญหาทางสังคม ดังนั้นการสนับสนุนให้นักเรียนเข้ามาอยู่ในความดูแลของสถานศึกษา มีอาหาร มีที่พักอย่างเพียงพอ จะช่วยลดภาระทางเศรษฐกิจของครอบครัวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ นอกจากนี้การรับนักเรียน นักศึกษาเข้ามาพักประจำ สถานศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนด้านวิชาการพร้อมทั้งปลูกฝัง คุณธรรม จริยธรรมควบคู่กัน ส่งผลให้นักเรียน นักศึกษา เติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพ ไม่เป็นปัญหาของสังคมในระยะยาว

โยกบิ๊กมหาดไทย 28 ตำแหน่ง ดัน “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” นั่งปลัดฯ

น.ส.ไตรศุลีกล่าวต่อว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ หรือเห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง ดังนี้

1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
ที่ประชุม ครม. มีมติแต่งตั้ง นางสาวชุติมา ศรีปราชญ์ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการบริหารเหรียญกษาปณ์และทรัพย์สินมีค่า (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมธนารักษ์ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอ ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่สำนักงบประมาณเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

    1. นางสาวกนกรัตน์ ขุนทอง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณเชี่ยวชาญ) สำนักงบประมาณ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สำนักงบประมาณ ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564

    2. นางดรงรัตน์ กล้าหาญ ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณเชี่ยวชาญ) สำนักงบประมาณ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สำนักงบประมาณ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2564

    3. นางสาวรัชนี เครือรัตน์ ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณเชี่ยวชาญ) สำนักงบประมาณ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สำนักงบประมาณ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2564

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

3. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)
ที่ประชุม ครม. มีมติแต่งตั้ง นายมงคลชัย สมอุดร ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

4. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง กระทรวงมหาดไทย
ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ แต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง กระทรวงมหาดไทย จำนวน 28 ราย ดังนี้

    1. ให้นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ พ้นจากตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมการพัฒนาชุมชน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง

    2. ให้นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดปทุมธานี และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง

    3. ให้นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ พ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษาด้านกฎหมาย (นิติกร ระดับทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง

    4. ให้นายสมคิด จันทมฤก พ้นจากตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมการพัฒนาชุมชน

    5. ให้นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดกระบี่

    6. ให้นายรังสรรค์ ตันเจริญ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดพิจิตร และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดชัยนาท

    7. ให้นายไกรสร กองฉลาด พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดนครพนม และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดชัยภูมิ

    8. ให้นายภาสกร บุญญลักษม์ พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดเชียงราย

    9. ให้นายประจญ ปรัชญ์สกุล พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดเชียงราย และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดเชียงใหม่

    10. ให้นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสิงห์บุรี และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดตราด

    11. ให้นายชาธิป รุจนเสรี พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดนครพนม

    12. ให้นายวิเชียร จันทรโณทัย พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดชัยภูมิ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดนครราชสีมา

    13. ให้นายชยันต์ ศิริมาศ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดร้อยเอ็ด และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดนครสวรรค์

    14. ให้นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดลำปาง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดปทุมธานี

    15. ให้นายเสถียร เจริญเหรียญ พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

    16. ให้นายนิพันธ์ บุญหลวง พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดน่าน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดปัตตานี

    17. ให้นายวีระชัย นาคมาศ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดมุกดาหาร และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

    18. ให้นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดพิจิตร

    19. ให้นายเฉลิมพล มั่งคั่ง พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดมุกดาหาร

    20. ให้นายภิรมย์ นิลทยา พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดยะลา

    21. ให้นายภูสิต สมจิตต์ พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดร้อยเอ็ด

    22. ให้นายสิทธิชัย จินดาหลวง พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดแม่ฮ่องสอน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดลำปาง

    23. ให้นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสกลนคร

    24. ให้นายเจษฎา จิตรัตน์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดนราธิวาส และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสงขลา

    25. ให้นายปริญญา โพธิสัตย์ พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสระแก้ว

    26. ให้นายชัยชาญ สิทธิวิรัชธรรม พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสิงห์บุรี

    27. ให้นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสกลนคร และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดหนองคาย

    28. ให้นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดตาก และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดอุบลราชธานี

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

ต่ออายุเลขาฯ BOI อีก 1 ปี

5. เรื่อง การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (ครั้งที่ 1)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเสนอการต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบ 4 ปี ในวันที่ 30 กันยายน 2564 ต่อไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565

6. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

นอกจากนี้ที่ประชุม ครม. ยังมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายสุนทร ชัยยินดีภูมิ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

7. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร

ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ แต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร จำนวน 1 ราย คือ นายจุลพันธ์ ทับทิม (ผู้แทนสถาบันเกษตรกร) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

8. เรื่อง ขอความเห็นชอบแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญานำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาชุดใหม่ ดังต่อไปนี้

    1. พลตำรวจตรี นายแพทย์ สุพล จงพาณิชย์กุลธร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์

    2. นางบุษบา ศักรางกูร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมสงเคราะห์

    3. นางจันทร์ชม จินตยานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

    4. นายชนะพล มหาวงษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

    5. นายโฆสิต สุวินิจจิต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 3 สิงหาคม 2564เพิ่มเติม