เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิกา จัดการสัมมนา เรื่อง “ปรับสมดุลตลาดแรงงานไทยยุคหลังโควิด-19 สู่ความยั่งยืน” ในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Webex ให้กับบุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาและภาควิชาการ รวมถึงผู้ที่สนใจทั่วไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดแรงงานในโลกยุคหลังโควิด-19 และรับฟังความคิดเห็น มุมมอง ข้อเสนอแนะในประเด็นด้านการพัฒนาศักยภาพแรงงานของไทยเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการการพัฒนาตลาดแรงงานให้เกิดความยั่งยืนทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2563 ได้ชี้ให้เห็นสภาพปัญหาของตลาดแรงงานไทยในหลายมิติ ประการแรก ความด้อยประสิทธิภาพของนโยบายและมาตรการบริหารจัดการข้ามชาติที่ส่งผลให้เกิดการลักลอบเข้า เมืองอย่างผิดกฎหมายของแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งความไม่สมดุลในตลาดแรงงานด้อยทักษะที่ส่งผลให้ ผู้ประกอบการต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงมิติความมั่นคงทางสังคมและความ มั่นคงด้านสุขภาพ ประการที่ 2 ความเปราะบางของตลาดแรงงานและการจ้างงาน ภาวะชะงักงันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ได้ส่งผล ต่อเนื่องให้เกิดการเลิกจ้างและการลดชั่วโมงการทำงาน จึงมีแนวโน้มว่าประเทศไทยจะเผชิญกับภาวะการว่างงาน ในอัตราที่สูงสุดในรอบประมาณ 30 ปี
ผลการศึกษาโดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และผลวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ พบว่าโครงสร้างตลาดแรงงานไทยมีการเปลี่ยนแปลงไป ผลิตภาพของแรงงานขยายตัวในทิศทางเดียวกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่กำลังแรงงานลดลงต่อเนื่อง อีกทั้งตลาดแรงงานไทยยังเผชิญกับแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมสมัยใหม่ทั้งในภาคผลิต ภาคบริการและภาคการเกษตร ซึ่งแรงงานต้องเร่งพัฒนาทักษะใหม่ให้สอดรับการเปลี่ยนแปลง
การเสวนาในหัวข้อ “การขับเคลื่อนความร่วมมือพัฒนาตลาดแรงไทยหลังยุคโควิด-19 สู่ความยั่งยืน” มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายวุฒิศักดิ์ ปฐมศาสตร์ หัวหน้าศูนย์ทะเบียนข้อมูลตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และ นางพูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
โควิด-19 สะท้อน เศรษฐกิจไทยฉุดตลาดแรงงาน
ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า จากผลการศึกษา คาดว่าช่วงระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เข้ามาในประเทศไทย เศรษฐกิจไทยเสียหายประมาณ 11.44 ล้านล้านบาท ทั้งผลกระทบท่องเที่ยว นำเข้า ส่งออก และหนี้ของประชาชนที่สูงขึ้น 1.15 ล้านล้านบาทตั้งแต่ไตรมาส 1/64
“เศรษฐกิจที่เสียไป 11.44 ล้านล้านมันหนักมาก เราไปดูเรื่องจีดีพีอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องดูว่าเงินที่มันหายไปจากกระเป๋าชาวบ้านมันรุนแรงมาก… ตลาดแรงงานกับเศรษฐกิจเป็นปาท่องโก๋กัน ถ้าเศรษฐกิจดี ตลาดแรงงานก็ดีตามไปด้วย ตอนนี้เศรษฐกิจทรุดก็มีปัญหากับตลาดแรงงาน”
ดร.ธนิตกล่าวถึงภาพรวมตลาดแรงงานว่า เหตุผลที่ประเทศไทยแก้ปัญหาแรงงานไม่ได้ เนื่องมาจาก ‘การแก้ปัญหาไม่ตรงจุด’ เพราะมีทั้งการขาดแรงงานและว่างงานในเวลาเดียวกัน ส่วนแรงงานทักษะหายากและอยู่ไม่ได้นาน โดยปัญหาทั้งสอง 2 ส่วนนำไปสู่ (1) ประเทศไทยต้องการแรงงานระดับล่างที่ขาดแคลนมากๆ จนต้องไปเอาแรงงานต่างด้าวมา 2-3 ล้านคน (2) ประเทศไทยขาดแรงงานระดับสูง เพราะผลิตเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้
“ตั้งแต่มี Eastern Sea Board มีการจ้างงาน 5 แสนคน แต่ EEC จะจ้างอีก 4 แสนคน ผมถึงถามว่าคุณจะไปหาคนมาจากไหน เป็นการชักเย่อกันระหว่างแรงงาน 2.0 กับธุรกิจที่จะไป 4.0 เราไม่ยอมรับความจริงว่าเรายังลงทุนใหม่กับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากๆ กระทรวงพาณิชย์ก็ยังตื่นเต้นกับการส่งออกข้าว-ยางพาราเป็นตันๆ ส่งออกวัตถุดิบอ้อย ปลากระป๋อง เราก็ยังแฮปปี้”
ดร.ธนิตกล่าวว่า ตามนิยามของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)การว่างงานมีจำนวนอยู่ที่เกือบ 9 แสนคน แต่นอกจากนี้ยังมีหลายนิยามที่ไม่ได้ครอบคลุมประชากรที่ว่างงานทั้งหมด โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ราว 5 แสนคนในปี 2564 ซึ่งอาจจะไม่ถูกนับว่าว่างงาน ดังนั้นประเทศไทยจึงมีแรงงาน ‘ว่างงานแฝง’ ในช่วงวิกฤติอีกจำนวนมาก
ดร.ธนิตกล่าวต่อว่า ตลาดแรงงานจะฟื้นตัวได้ถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัว ขณะที่ภาคการส่งออกเริ่มฟื้นตัวก็สามารถช่วยแรงงานได้ระดับหนึ่ง โดยคาดว่าในปี 2564 ภาคการส่งออกจะทำรายได้ 7.7 ล้านล้านบาท เท่ากับว่าเศรษฐกิจไทยภาคการส่งออกจะเติบโตเท่ากับก่อนโควิด-19 อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินจำนวนนี้จะลงไปที่ทุนเป็นหลัก ค่าจ้างอยู่ที่ประมาณ 10-12% ที่สำคัญแรงงานในภาคการส่งออกไม่ได้เคลื่อนย้ายไปอุตสาหกรรมอื่นๆ
นี่เป็นภาพสะท้อนว่าต่อให้ภาคการส่งออกเติบโตดี แต่เม็ดเงินไม่ได้ถึงมือประชาชนเท่าที่ควร
“ท่องเที่ยว 3 ล้านล้าน แต่มันลงไปข้างล่างหมดเลย สนามบิน แท็กซี่ โรงแรม บ๋อย กินริมหาดทราย แม่ค้าแผงลอย ไปถึงหมู่เกาะ คนก็ได้ แม้ว กะเหรี่ยงได้หมด”
ขณะเดียวกัน ดร.ธนิตมองว่า ‘วัคซีน’ เป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ตลาดแรงงานกลับมาฟื้นตัวได้ เพราะจะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการลงทุนและการจ้างงาน แต่ถ้าไม่มีวัคซีนตลาดแรงงานจะทรุด เมื่อคนไม่มีอำนาจการซื้อจะไปกระทบถึงการจ้างงาน
ตลาดแรงงานโตแต่ปริมาณไร้คุณภาพ
“ประมาณ 15 ปีก่อน ธนาคารโลกทำเซอร์เวย์ บอกว่ามีสถานประกอบการ 39% ขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือมากถึง 39% คือ 100 แห่งมี 39 แห่งที่หาไม่ได้เลย ปัญหาเรารุนแรงกว่าคนอื่นสามเท่าในอดีต” ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว
ดร.เกียรติอนันต์กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานในปัจจุบันว่า ประเทศไทยมีคนเรียนหนังสือขั้นสูงมากขึ้น แต่ความสามารถดึงเอาความรู้หรือศักยภาพมีน้อยลง ส่วนเรื่องความสามารถในการจ้างงาน โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นเมือง เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต เมื่อเทียบระหว่างแรงงานทักษะที่มีและไม่มีทักษะจะเห็นว่ามีความห่างกันของทักษะมาก เนื่องจากประเทศไทยมีโครงสร้างเศรษฐกิจผสม 2.0 และ 3.0 ทำให้มีอุปสรรคในการเดินทางไปสู่ 4.0 เพราะปัญหาคน
ดร.เกียรติอนันต์ยกตัวอย่างพื้นที่ EEC ซึ่งต้องการแรงงานมากถึง 4 แสนคน และเป็นแรงงานทักษะสูง แต่ความเป็นจริงคือประเทศไทยไม่ได้มีแรงงานทักษะสูงจำนวนมาก และเมื่อ EEC นำแรงงานทักษะต่ำเข้ามาจึงแก้ปัญหาได้แค่จำนวน แต่ไม่สามารถแก้ศักยภาพของคนได้
“ประเทศของเราอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลกมาก พอเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เราเปลี่ยนตัวเองไปผลิตสินค้าอื่นที่มีมูลค่าไม่ได้ สุดท้ายเราเป็นหนึ่งในบรรดาสินค้าทั้งหลายที่ตั้งราคาไม่ได้ การส่งออกก็ชะลอตัว การท่องเที่ยวเป็นกำลังหลักก็จริง แต่มันเป็นการเติบโตแบบขยายไซซ์โดยไม่ได้เปลี่ยน business model พอนักท่องเที่ยวมาก็เพิ่มจำนวนห้องพัก จ้างคนเพิ่ม เราเติบโตด้วยการจ้างคนให้ใหญ่ขึ้น แต่ไม่เคยสร้าง business model ใหม่ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยช่วง 25 ปีแทบไม่เปลี่ยนเลย”
“หลังปี 40 เราก็ยังใช้วิธีเดิม ทำให้เศรษฐกิจโตโดยการทำงานหนัก เมื่อโครงสร้างทั้งภาพใหญ่ไม่เปลี่ยน ปัญหาความสามารถการแข่งขัน ความเหลื่อมล้ำและการกระจายความเจริญมันก็ถูกแช่เหมือนเดิม เราโตจริง แต่ตัวเลขมันหลอกความเก่ง โตแบบเดิม ไม่ยั่งยืน”
ดร.เกียรติอนันต์กล่าวถึงงานวิจัยที่ได้ทำร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาว่า ได้เข้าไปศึกษาการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ จากการตั้งคำถามช่วงปี 2558-2562 และดูดัชนีจังหวัด พบว่า ในภาคการเกษตรไม่มีจังหวัดใดที่เปลี่ยนแปลง ภาคการผลิตมีหนองคาย อุทัยธานี ที่ขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ยิ่งกว่านั้น ทุกภาคอุตสาหกรรมไม่มีการปรับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ดร.เกียรติอนันต์กล่าวว่า องค์กรที่จะไปรอดคือองค์กรที่ปรับโมเดลธุรกิจ ประกอบด้วย 3 ปัจจัย ได้แก่ ใช้คนให้น้อยลง ทำต้นทุนคงที่ให้ต่ำที่สุด และทำให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด ธุรกิจจะต้องมองไปข้างหน้าปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ธุรกิจต้องเข้าใจรอบด้านและมีทักษะ มีความสามารถในการแปลงตัวเองให้เก่ง
แต่ ดร.เกียรติอนันต์มองว่า ปัญหาที่จะขัดขวางไม่ให้ธุรกิจเติบโตคือประเทศไทยไม่มีระบบสร้างทักษะให้แรงงานในภาคธุรกิจได้ ไม่ได้มีการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีมาใช้ให้คนเก่งขึ้น
แรงงานถูกเลิกจ้างเพิ่มช่วงวิกฤติ
นายวุฒิศักดิ์ ปฐมศาสตร์ หัวหน้าศูนย์ทะเบียนข้อมูลตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตำแหน่งงานที่ว่างและเปิดรับสมัคร กับจำนวนผู้สมัครงานและผู้ประกันตนกรณีว่างงานไม่สอดคล้องกัน โดยพบว่า 3 อุตสาหกรรมที่แรงงานว่างงานมากที่สุด ได้แก่ ภาคการผลิต ภาคการขายส่งและขายปลีก และกิจกรรมทางการเงินและประกันภัย ส่วนอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานคือภาคเทคโนโลยี
จากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ระบุว่า แรงงานเข้าเกณฑ์เป็นผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเดือนพฤษภาคม 2564 มีจำนวน 303,984 ราย แบ่งเป็น ลาออก 201,689 ราย เลิกจ้าง 91,794 ราย และสิ้นสุดสัญญาจ้าง 10,501 ราย โดยพบว่าช่วงวิกฤติโควิด-19 มีกรณี ‘เลิกจ้าง’ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ
นายวุฒิศักดิ์กล่าวต่อว่า จากวิกฤติโควิด-19 แรงงานเริ่มไปทำงานต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าช่วงเดือนมกราคม–พฤษภาคม จำนวนแรงงานที่ไปต่างประเทศจะลดลง 15,911 คน หรือ 12.42% เมื่อเทียบกับ 5 เดือนของปีก่อน แต่ทั้งหมดยังมีสัญญาณว่าแรงงานกำลังมองหาลู่ทางงานต่างประเทศ
นายวุฒิศักดิ์ให้ข้อมูลว่า 5 อันดับประเทศที่แรงงานไทยทำงานมากที่สุด คือ (1) ไต้หวัน 57,756 คน (2) อิสราเอล 19,687 คน (3) เกาหลี 16,469 คน (4) ญี่ปุ่น 4,742 คน และ (5) สิงคโปร์ 1,222 คน
“หลายคนก็เริ่มเห็นว่าการเป็นลูกจ้างไม่ตอบโจทย์ มีหลายคนลุกขึ้นมาเป็นสตาร์ตอัพ ทำอาชีพอิสระ หรือการมีมากกว่าหนึ่งอาชีพจะเป็นรูปแบบใหม่ของคนรุ่นใหม่ มีหลายๆ ที่เข้ามา มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และทักษะจะเป็นจุดเปลี่ยนโลก การจบปริญญาที่ไม่สอดคล้องกับการทำงานจะเปลี่ยนไป ทักษะจะเป็นตัวมีบทบาท เหมือนตอนนี้เราจะมองเรื่องคุณสมบัติ มากกว่าที่คุณจบมา”
“สิ่งที่เขาเรียกร้องมากที่สุดที่อยากได้จากกระทรวงแรงงานคือ บุคลิกส่วนตัว หรือเรียกว่า soft skill เรื่องแบบนี้นายจ้าง-สถานประกอบการต้องการมากขึ้น เพราะฝีมือฝึกได้ ผมมองต่อว่าปัจจัยแวดล้อมจะเข้ามาเปลี่ยนตลาดแรงงาน โมเดลหลายๆ อย่างที่ภาคการศึกษาและธุรกิจเริ่มจับมือกันคือ EEC เขาก็ใช้โมเดลไทป์เอไทป์บี คือการทำหลักสูตรระยะยาว จับคู่ระหว่างสถานประกอบการกับสถานศึกษา”
”การเรียนรู้ตลอดชีวิตทำให้เราเห็นว่า พอวิกฤติเข้ามา ความรู้หรือเทคโนโลยีเดิมๆ มันไม่สามารถเอาตัวรอดต่อไปในอนาคต”
แรงงานนอกระบบ กลุ่มตกสำรวจจากภาครัฐ
นางพูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวว่า สถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าปี 2563 ประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบ 20.4 ล้านคน คิดเป็น 53.8% ของแรงงานทั้งหมด โดยจำนวนนี้เป็นเพศชาย 11.2 ล้านคน เพศหญิง 9.2 ล้านคน การศึกษาระดับประถม 57.2% และกว่า 50% มีอายุ 40-59 ปี อีก 20% อายุมากกว่า 60 ปี
“คนทำงานทุกคนคือแรงงาน ควรได้รับสิทธิและสวัสดิการทางสังคมเหมือนกัน เราอยากเป็นประเทศที่พัฒนา แต่เราไม่สามารถทำให้แรงงานพัฒนาได้ ความจริงเรามีอะไรที่ก้าวหน้าเยอะกว่าประเทศอื่น เช่น เรามีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรามีประกันสังคมมาตรา 40 สำหรับแรงงานนอกระบบ เรามีศูนย์เด็กและผู้สูงอายุ แต่เรายังมีปัญหาอยู่”
นางพูลทรัพย์กล่าวต่อว่า โควิด-19 ทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำว่าแรงงานนอกระบบไม่มีความมั่นคงทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นหาบเร่ แผงลอย ตัดเย็บเสื้อผ้า ฯลฯ คนกลุ่มนี้ก็ไม่มีเงินเก็บ ขณะเดียวกันระบบประกันสังคมไทยก็ไม่ใช่รูปแบบถ้วนหน้า
ปัจจัยถัดมาคือประเทศไทยขาดการคิดในระยะยาว โดยเฉพาะการฟื้นฟูระยะกลางและระยะยาว ทำให้ในสถานการณ์วิกฤติแรงงานต้องช่วยเหลือตนเอง ไม่สามารถพึ่งพาภาครัฐได้
“โควิดคนตกงานมากขึ้น แรงงานนอกระบบจะมากขึ้น ถ้าถามว่าอาชีพอะไรที่จะไปทำ ไม่ทำการค้าขายของออนไลน์ หาบเร่แผงลอย ก็ไปขับแกร็บหรือขนส่งสาธารณะ เราจะพบว่าแรงงานนอกระบบในภาคบริการและการผลิตปรับตัวยากมาก เพราะการศึกษาน้อย เขาไม่ได้อยากเป็นหาบเร่ แต่มันไม่มีทางเลือก”
นอกจากนี้ นางพูลทรัพย์ยังขยายความว่า แรงงานนอกระบบยังมีทักษะการใช้เทคโนโลยีที่ไม่เพียงพอต่อการปรับตัว นำมาสู่คำถามว่าทำอย่างไรให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงเทคโนโลยีและมีทักษะการใช้งานที่เพียงพอต่อการปรับตัว
อีกทั้งทิศทางของธุรกิจในอนาคตที่จะเน้นไปทาง BCG แต่แรงงานนอกระบบจะได้รับการพัฒนาอย่างไรจึงจะร่วมขบวนนี้ไปได้
นางพูลทรัพย์กล่าวถึงข้อเสนอ 7 ข้อ ดังนี้
- เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่าแรงงานไม่ใช่ภาระ แต่คือหุ้นส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงต้องเน้นไปที่การส่งเสริม ไม่ใช่การควบคุม
- การรวมตัวกันของแรงงานจะนำมาสู่การพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพการทำงาน รัฐต้องส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวของแรงงานนอกระบบ
- ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สร้างแผนการพัฒนาที่ครอบคลุม เช่น พัฒนาทักษะความรู้ด้านดิจิทัล ส่งเสริมความรู้เรื่อง BCG ตลาดเขียว พลังงานทางเลือก สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สมุนไพร และเชื่อมโยงคนเก็บขยะกับการเก็บขยะในระบบ
- ไม่ไปซ้ำเติมด้วยกฎระเบียบ และนโยบาย เช่นเรื่องหาบเร่แผงลอย มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ฯลฯ
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของแรงงานนอกระบบ
- พัฒนาฐานการคุ้มครองทางสังคม (social protection floor) และการประกันสังคม (social insurance) โดยยึดหลักการถ้วนหน้า
- ส่งเสริมการเชื่อมโยงธุรกิจ สร้างข้อต่อเพื่อเป็นตัวช่วยและตัวเชื่อมระหว่างกลุ่มแรงงานนอกระบบกับภาคธุรกิจ
“อย่าไปคิดแต่ว่าเขาจะเรียกร้องสิทธิ แต่นี่คือจุดตายของประเทศไทยที่ไม่พัฒนา เพราะเราไม่คิดว่าพลังของคนเล็กคนน้อยคือพลัง”
ดูเพิ่มเติม…