ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ดราม่าคำสั่งรัฐยุคโควิด

ดราม่าคำสั่งรัฐยุคโควิด

6 สิงหาคม 2021


สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทย ได้เปลือยให้เห็นการบริหารราชการของรัฐบาล เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์เชิงเหน็บแนม แกมกระทบเปรียบเปรยในวงกว้าง เป็นดราม่าให้สังคมไทยแซะรัฐบาลเกือบทุกเรื่อง

จากดราม่าวัคซีนทิพย์ในเดือนมิถุนายน 2564 มีการแจ้งให้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่าน “หมอพร้อม” แต่พอถึงเวลานัดหมายกลับถูกเท ถูกเลื่อน จนเรื่องแดงออกมาว่า แต่ละแห่งไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนตามที่รับปากไว้

ส่วนใครที่รับปากจัดสรรวัคซีนให้นั้น ถูกโยนกันไปมาระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงว่า กรมควบคุมโรค กระจายวัคซีนตามคำสั่งของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) จากนั้น เป็นหน้าที่ของ กทม. ในการบริหารจำนวนวัคซีน การที่โรงพยาบาลในพื้นที่ กทม. เลื่อนฉีดเพราะไม่ได้รับวัคซีน จะต้องไปสอบถามข้อมูลจากสำนักอนามัยกรุงเทพฯ ว่าจัดสรรไปในแต่ละแห่งอย่างไรบ้าง

ขณะที่ กทม. ออกมาตอบโต้ว่า สธ. แจ้งว่าได้ให้วัคซีน กทม. มาแล้ว 1 ล้านโดส ตามแผนเดือน มิ.ย. 2564 นั้น กทม. ก็จัดไปทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวคแล้ว

สุดท้าย ด้วยความอดรนทนไม่ไหว ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า

“จะบอกตั้งแต่แรกว่า ไม่มี ก็ไม่มี ก็ไม่ว่า อธิบายชัดๆ ไปเลย มีเท่าไหร่ จะฉีดใคร คนเสี่ยงสูงก็ไม่ได้ฉีด สลับไปสลับมา อย่าลืมว่าการเตรียมการฉีดของแต่ละแห่ง ใช้การเตรียมการสถานที่ บุคลากรเท่าไร ต้องดึงจากคนทำงานประจำเท่าใด ถูกด่าอีกต่างหาก ไม่มี ก็ไม่มี ประชาชนรับได้ครับ ไม่ใช่ว่ามีๆ แต่แก้ข่าวเป็นวัน จะเอาอย่างไรก็เอา อย่าลืม ฉีดช้า สายเดลต้า อินเดีย เบต้า แอฟริกา มีในไทยแล้ว อย่าปฏิเสธว่ามีแต่หลักสี่ มีแต่ตากใบ เมื่อมีในชุมชนแม้แต่คนเดียว หมายความว่าแพร่ไปหมดแล้ว”

ขณที่ทีมหมอชนบท ออกมาเฉลยในโพสต์ “ลับลวงพราง วัคซีนโควิด : โกลาหลวัคซีนกรุงเทพฯไม่พอ คนรับผิดชอบไม่ใช่ สธ.นะ โดยระบุว่า ปัญหาการจัดสรรวัคซีนไม่ได้อยู่ที่ สธ. แต่เป็น ศบค. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ

“การตัดสินใจสุดท้ายว่าจะจัดสรรอย่างไร จะจัดแบ่งโควตากันอย่างไร สธ.ไม่ใช่คนตัดสินใจ เมื่อ ศบค.ตัดสินใจแล้วก็สั่งการให้สธ. จัดส่งวัคซีนกระจายต่อไปโรงพยาบาลต่างๆ ตามโผ

ในส่วนของ กทม.คนที่จัดสรรโควตาให้ กทม. ก็คือ ศบค.อีกเช่นกัน สธ.ยิ่งไม่เกี่ยว เป็นเรื่องภายในของ ศบค. และ กทม. รวมถึงโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลเอกชนต่างๆ ที่ตั้งใน กทม. ต้องหารือกันเองว่าจะกระจายอย่างไร และตามยอดจัดสรรรอบที่แล้ว ศบค. มีมติจัดวัคซีนเดือนมิถุนายนให้ กทม. 1 ล้านโดส ซึ่ง สธ.ก็ส่งให้ 5 แสนโดส ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว จึงได้ฉีดกันอย่างกว้างขวาง มีความสุขในพื้นที่กรุงเทพฯ (ซึ่งปัจจุบันคงฉีดจนใกล้จะหมดแล้ว ส่วนอีก 5 แสนโดส ยังต้องรอเพราะยังไม่มีวัคซีนจะให้)”

สุดท้าย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ยกมือไหว้ขอโทษ ระหว่างการแถลงข่าววันที่ 14 มิถุนายน 2564

“ในฐานะโฆษก ศบค. ต้องกราบขออภัยประชาชนเป็นอย่างสูง และยืนยันว่าเราทำงานหนักทุกคนเพราะต้องการหาวัคซีนมาให้โดยเร็ว แต่เมื่อไม่ได้อย่างทันท่วงทีทำให้ขลุกขลักบ้าง จึงขอให้ประชาชนติดตามความคืบหน้าของทุกภาคส่วน”

ถัดจากดราม่าวัคซีนทิพย์ ก็มาต่อที่วัคซีน VVIP เพราะในขณะที่ประชาชนคนเดินดินถูกเท ถูกเลื่อนการฉีดวัคซีน แต่เหล่าดารา เซเลบ ทั้งหลายออกมาโพสต์ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมว่า ได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว เช่น อารยา เอ ฮาร์เก็ต ที่ออกมาเขียนรีวิวการเข้ารับการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม อั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ โพสต์ภาพตนเองและครอบครัว เข้าฉีดวัคซีนที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ตามมาด้วยเหล่าดาราศิลปินที่รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จนถูกแซะว่าได้วัคซีนก่อนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่กลุ่มเสี่ยง และประชาชนทั่วไปกลับเจอปัญหาแอปพลิเคลชันลงทะเบียนล่มบ้าง ถูกเท ถูกเลื่อนบ้าง

สุดท้าย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ต้องออกมาชี้แจงว่า การเชิญชวนศิลปินดาราพร้อมครอบครัวมาฉีดวัคซีน เป็นแคมเปญในการสร้างความมั่นใจให้ประชาชนมาฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ยุติการระบาดของเชื้อ
……
ยัง ยังไม่หมด ล่าสุดเป็นดราม่าที่เกิดกับหมอและบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อจากการใกล้ชิดผู้ป่วย โดยเฉพาะช่วงที่สายพันธุ์เดลตาระบาดหนักในเดือนมิถุนายน ทำให้ยอดติดโควิดกว่า 880 ราย ขณะที่กรมควบคุมโรคระบุว่า ตั้งแต่เดือนเมษายน มีบุคลากรทางแพทย์ติดไปแล้ว 1,047 ราย จึงมีความพยายามเรียกร้องให้มีการฉีดวัคซีน เข็ม 3 อย่างไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้รับมือกับเชื้อสายพันธุ์เดลตาได้ เพราะวัคซีนซิโนแวคที่ฉีดไปก่อนหน้านี้ 2 เข็มมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อเดลตาลดลง

แต่ก่อนที่วัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดสที่สหรัฐฯ บริจาคให้ไทยมาถึง ปรากฏว่ามีเอกสารการประชุมเฉพาะกิจหลุดออกมาว่า มีผู้ไม่เห็นด้วยกับการฉีดไฟเซอร์เป็นวัคซีนเข็ม 3 ให้แพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์ โดยอ้างว่า “ถ้าเอามาฉีดให้บุคลากรด่านหน้าเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จะเป็นการยอมรับว่าซิโนแวคไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น”

พลันที่เอกสารดังกล่าวหลุดออกมา โลกโซเชียลก็ระอุขึ้นทันที มีการติดแฮชแทก #ฉีดไฟเซอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์ จนสุดท้ายจึงมีมติให้แพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์ได้ฉีดไฟเซอร์ และขยายวงไปถึงสัปเหร่อกับจิตอาสาด้วย

อีกหนี่งดราม่าที่เพิ่งออกมาสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (ฉบับที่ 2) ใจความสำคัญระบุว่า

“ให้ผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ และบุคคลกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการป้องกันโรคโควิด-19 โดยการฉีดวัคซีนตามแผน โครงการ หรือกิจกรรมการป้องกันและขจัดโรคติดเชื้อโควิด จากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ ไม่รวมถึงวัคซีนทางเลือกที่ให้บริการโดยสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ซึ่งเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้รับการฉีดวัคซีน เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน จากสถานพยาบาลตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สถานพยาบาล ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2559”

  • สธ.ออกประกาศ ให้ผู้ป่วยโควิด-ฉีดวัคซีนหลัก เป็น“ผู้ป่วยฉุกเฉิน” รักษาฟรี ยกเว้นวัคซีนทางเลือกไม่ฟรี
  • อ่านแค่ข้อความนี้ ก็ต้องมานั่งตีความว่า แปลว่าอะไร เมื่อสืบค้นไปก็พบว่า ประกาศเดิมมีเพียงผู้ติดเชื้อโควิดเท่านั้นที่จะถูกกำหนดให้เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ แต่ประกาศใหม่ได้เพิ่มผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน แล้วมีอาการแพ้หรืออาการไม่พึงประสงค์

    แต่กลับยกเว้นผู้ได้รับการฉีดวัคซีนทางเลือก ซึ่งปัจจุบันวัคซีนหลักมีเพียงซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า ขณะที่ไฟเซอร์ ซิโนฟาร์ม โมเดอร์นา ยังเป็นวัคซีนทางเลือก ขณะที่รัฐบาลได้รับบริจาควัคซีนไฟเซอร์มาจากสหรัฐฯ และเตรียมจะฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย ที่รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ สัปเหร่อ หรือกรณีราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม สภากาชาดไทยจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นา และมีการกระจายฉีดให้คนไทยไปแล้ว

    หากกลุ่มคนเหล่านี้เกิดอาการแพ้ หรืออาการไม่พึงประสงค์ขึ้นมา ก็จะไม่เข้าข่ายการเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลฉุกเฉินไปโดยปริยายหรือไม่

    ขณะที่รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 มาตรา 47 วรรคสอง ระบุว่า บุคคลย่อมมีสิทธิการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

    และมาตรา 55 รัฐต้องดําเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง บริการสาธารณสุขตามวรรคหนึ่ง ต้องครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมและป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพด้วย

    เรื่องวัคซีนยังมีดราม่าอีกเยอะ ทั้งการจัดซื้อวัคซีน วัคซีนไม่มาตามนัด คนไทยแห่ไปฉีดวัคซีนในต่างประเทศ โรงพยาบาลเอกชนดีลตรงกับต่างประเทศเพื่อซื้อวัคซีน แต่ถูกภาครัฐออกมาตีตกจนถอดใจไปหลายราย บางรายกลายเป็นดราม่าร้อน ถึงขั้นสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เรียกสอบเพราะมีผลต่อราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

    แต่ที่แน่ๆ คือคนไทยที่ได้รับการฉีดวัคซีน มีเพียง 17-18% ยังห่างไกลจากเป้าหมายการฉีดวัคซีน 100 ล้านโดสในสิ้นปีนี้

    ……

    อีกตัวอย่างของประเด็นดราม่า คือ คำสั่ง ศบค. ที่ผ่อนปรนให้ซื้ออาหารในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตีมอลล์ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด แต่ห้ามไม่ให้ไปออซื้อกันที่หน้าร้าน ให้ซื้อผ่านระบบออนไลน์หรือเดลิเวอรี ให้มาส่งที่บ้าน หรือโทรสั่งให้มาส่งในที่ที่รับจัดอาหาร เท่านั้น

    พลันที่ออกประกาศมา โลกโซเชียลก็ร้อนเป็นไฟลุก หลายคนไปยืนซื้อเบเกอรีหน้าร้านที่ตั้งในซูเปอร์มาร์เกต แต่พนักงานไม่ขายให้ ลูกค้าต้องโทรศัพท์สั่งซื้อเท่านั้น เพราะถ้าขายให้กลัวจะผิดกฎหมาย ลูกค้าถึงกับเป็นงง ยืนหน้าร้านแต่ซื้อไม่ได้ แต่โทรสั่งซื้อหน้าร้านถึงจะขายให้ ?!?

    ส่วนโลกโซเชียล ต่างโพสต์แซะคำสั่งกันอย่างสนุก

    • ไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ต เจอร้านขายอาหาร ห้ามซื้อกลับ ต้องมาสั่งเดลิเวอรี งง??
    • ยังไงนะ คืออยู่ในห้างแล้ว ก็ต้องสั่งแกรบ ไลน์แมนซื้อแทนเรา แล้วเราไปรอรับในจุดพักคอยของไรเดอร์อีกทีงั้นเหรอ
    • ก็ไม่เห็นแปลก เค้าก็แค่ไม่อยากให้ไปแออัดกันในร้าน เลยให้มาแออัดตรงจุดสั่งอาหารที่ห้างจัดไว้ แล้วก็ยืนรอกันแถวนั้น เยอะๆหน่อย เพื่อรออาหาร สักสิบห้านาทีขึ้นไป แค่นี้ก็จะไม่ไปแออัดตามร้านอาหารแล้ว ก็สมกับเป็นการคิดของรัฐบาลดี

    หรือ บางเพจล้อเลียนด้วยการทำเสื้อเลียนแบบ GRAB ออกมาขาย เพื่อให้คนไปซื้ออาหารในห้างได้เอง ไม่ต้องสั่งผ่านออนไลน์

    บางรายยอมรับเลยว่า ไม่วางใจไรเดอร์ที่มาส่งของตามบ้าน เพราะถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงว่าจะเป็นพาหะแพร่เชื้อโควิดสูงมาก รวมทั้งก่อนหน้านี้มีภาพไรเดอร์จำนวนมากไปแออัดกันหน้าร้านอาหาร โดยเฉพาะในช่วงเที่ยงและเย็นที่เป็นเวลาอาหาร

    ขณะที่ภาครัฐตอบรับปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นด้วยการเรียกประชุม และมีข่าวว่าให้ฝ่ายกฎหมายไปตีความคำนิยามคำว่าฟู้ดเดลิเวอรี ซูเปอร์มาร์เกต ว่าครอบคลุมบริเวณไหนบ้าง เรียกเสียงถอนหายใจด้วยความระอากับวิธีคิดของข้าราชการ

    นี่เป็นเพียงตัวอย่างความวุ่นวายสับสนจากประกาศของหน่วยราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ย้ำสถานการณ์ฉุกเฉิน) จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด ที่ประชาชนต้องมานั่งตีความว่ารัฐกำลังคิดอะไร ทำอะไร ผู้ประกอบการเองที่กำลังตกที่นั่งลำบาก รายได้ลด ต้องมานั่งทำความเข้าใจกับประกาศ เพราะกลัวทำผิดกฎหมาย

    ……

    อีกตัวอย่าง…คำสั่งปิดปากประชาชน ด้วยการออกข้อกำหนดตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามเสนอข่าว ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร โดยภาครัฐอ้างว่ามีการแชร์ข่าวเฟคนิวส์ ทำให้ประชาชนหวาดกลัว

    ผลคือ นอกจากหลายองค์กรออกมาเรียกร้องให้รัฐยกเลิกคำสั่งแล้ว ยังทำให้รัฐบาลกลายเป็นหมู่บ้านกระสุนตกในทันใด หลากเสียงที่ส่งผ่านโซเชี่ยลมีเดีย อาทิ

    จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ พิธีกรรายการทอล์คทางทีวี ได้ทวิตข้อความว่า “พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ มาแล้ว 7 ปี และอาจเป็นต่ออีก 6 ปี” เป็นตัวอย่างที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัวมั้ยคะ

    กรรชัย กำเนิดพลอย ดาราและพิธีกร ตั้งคำถาม กรณีการเสนอข่าว มีผู้เสียชีวิตจากโควิด 2 ศพในบ้าน แล้วมีการติดต่อจากบ่าย จนถึงค่ำ แต่ไม่มีหน่วยงานใดมารับศพ แบบนี้ เรียกว่าเสนอข่าวให้เกิดความหวาดกลัวหรือไม่

    มดดำ คชาภา ตันเจริญ พิธีกรรายการทีวี ออกมาขอให้รัฐสร้างความชัดเจน ว่าอะไรที่เรียกว่าข่าวเฟคนิวส์ อะไรคือข่าวจริง

    และอื่นๆอีกมากมาย…

    สุดท้าย เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ศาลแพ่ง รัชดาภิเษก มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามจำเลย (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.) ดำเนินการบังคับใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

  • ศาลแพ่งสั่งห้ามนายกฯลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อ ชี้สั่งตัดอินเทอร์เน็ต ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  • เป็นคำสั่งหลังจากทนายความภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยตัวแทนสื่อออนไลน์รวม 12 แห่ง ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้ศาลสั่งเพิกถอน ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

    ……

    ยังมีอีก ให้คนได้ยิ้มมุมปาก คือ ข้อแนะนำของกรมอนามัย ที่ออกคำเตือนเรื่องการมีเซ็กส์กับคนแปลกหน้า หลีกเลี่ยงการติดเชื้อโควิด พร้อมทั้งข้อแนะนำหลายข้อ

    บอกได้ว่าแต่ละประเด็น/ประกาศที่ออกมา เหมือนฝนตกห่าใหญ่ ที่กลายเป็นแม่น้ำร้อยสายไหลตรงมาที่รัฐบาลเลยทีเดียว

    จะมีให้ดราม่าอีกไหมจ๊ะ!!!