ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > ธุรกิจชั้นนำระดับโลกผนึกกำลังมุ่งสู่การปล่อย “คาร์บอนเป็นศูนย์”

ธุรกิจชั้นนำระดับโลกผนึกกำลังมุ่งสู่การปล่อย “คาร์บอนเป็นศูนย์”

16 มิถุนายน 2021


วันที่ 15–16 มิถุนายน 2564 ได้มีการประชุมสุดยอดผู้นำระดับโลกด้านความยั่งยืน ประจำปี 2564” หรือ “UN Global Compact Leaders Summit 2021” โดยมีผู้นำด้านความยั่งยืนจากภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐ และนักวิชาการจากทั่วโลกกว่า 25,000 คน เข้าร่วมการประชุมที่จัดแบบเสมือนจริงเนื่องจากอยู่ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19

การประชุมได้มีการเสวนาภายใต้หัวข้อ “Light the Way to Glasgow and Net Zero: Credible Climate Action for a 1.5 °C World” หรือ “มุ่งหน้าสู่การประชุม COP26 Glasgow และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์: แนวทางปฏิบัติเพื่อควบคุมภาวะโลกร้อนให้อยู่ในขอบเขต 1.5 องศาเซลเซียส”

โดยมีนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี, นางสาวดามิลโอลา โอกันบียี ซีอีโอจากองค์กร Sustainable Energy for All (SEforALL) และอีกตำแหน่งคือผู้แทนพิเศษเลขาสหประชาชาติด้านพลังงานความยั่งยืนใน UN-Energy, นายคีท แอนเดอร์สัน ซีอีโอจากบริษัทพลังงาน Scottish Power ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะที่ปรึกษาด้านการค้าการลงทุนของรัฐบาลสหราชอาณาจักร, นางสาวกราเซียลา ชาลูป โดส ซานโตส มาลูเชลลี COO & Executive Vice President Operations, Supply & Quality, Novozymes จากเดนมาร์กเข้าร่วม และมีนายพอล ซิมป์สัน Chief Executive Officer, CDP เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายกอนซาโล มูนโญส Chile COP25 High Level Climate Champion และนายไนเจล ทอปปิง UN’s High-Level Climate Action Champion แชมเปียนในเรื่อง Climate Change ระดับโลก

ก่อนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นายกอนซาโล มูนโญส Chile COP25 High Level Climate Champion และนายไนเจล ทอปปิง (Nigel Topping) UN’s High-Level Climate Action Champion ซึ่งเป็นแชมเปียนในเรื่อง Climate Change ได้ร่วมให้ข้อมูล

นายกอนซาโล มูนโญส Chile COP25 High Level Climate Champion กล่าวว่า แม้ปีนี้โลกได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด-19 แต่มีการให้ความสำคัญต่อปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับสูงมากเป็นประวัติการณ์ เห็นได้ชัดจากผู้ที่ร่วมแคมเปญปฏิบัติการ Race to Zero กว่า 4,500 ราย จาก 90 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งองค์กรธุรกิจกว่า 3,000 แห่ง นับเป็น 15% ของระบบเศรษฐกิจโลก และยังพบว่าองค์กรด้านเฮลท์แคร์ให้ความสำคัญเร่งด่วนกับแนวปฏิบัติด้านสภาพภูมิอากาศ โดย 37% ของภาคเฮลท์แคร์ที่ครอบคลุมโรงพยาบาลกว่า 3,000 แห่งได้ลงนามเพื่อเร่งการลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ เพื่อสร้างโลกที่ดีกว่าและมีคุณภาพให้กับคนรุ่นต่อไป

นายไนเจล ทอปปิง UN’s High-Level Climate Action Champion กล่าวถึงความท้าทายของ 10 ปีข้างหน้าสู่การที่ผู้นำด้านความยั่งยืนจากทุกภาคส่วนจะต้องลงมือทำ คือการร่วมกันลดภาวะโลกร้อนด้วยการตั้งเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงครึ่งหนึ่งให้ได้ในปี 2030 โดยการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับเป็นความท้าทายที่เชื่อมโยงทั้งในมิติด้านของการสื่อสาร การเมือง รวมไปถึงความท้าทายทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ทุกภาคส่วนจะต้องเร่งร่วมมือกันลงมือปฏิบัติการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน

ซีพีมุ่งสู่องค์กรคาร์บอนเป็นศูนย์

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ระบุว่า เครือซีพีมีความมุ่งมั่นสู่การนำธุรกิจในเครือฯ บรรลุสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2030 สอดคล้องกับเป้าหมายของโลกทั้งการประชุมผู้นำโลก COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ จะมีขึ้นในเดือน พ.ย. 2564 ที่จะเจรจาเรื่องลดโลกร้อน พิธีสารเกียวโต และความตกลงปารีส (Paris Agreement) รวมถึงแคมเปญระดับโลก Race to Zero ปฏิบัติการแข่งขันเพื่อคาร์บอนเป็นศูนย์ ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันคือการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

“เครือซีพีได้ตั้งเป้าหมายว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2030 ซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมกันของทั้งองค์กรที่มีพนักงานรวมกันกว่า 450,000 คน นอกจากนี้ยังได้ตั้งเป้าว่า ภายในอีกสิบปีข้างหน้าจะผลิตพลังงาน 1,600 เมกะวัตต์จากพลังงานหมุนเวียน โดยใช้เงินลงทุน 2.5 พันล้านดอลลาร์”

นายศุภชัยกล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกถือเป็นประเด็นสำคัญ และในฐานะซีพี ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเกษตรและอาหาร มีห่วงโซ่อุปทานที่ต้องทำงานกับคู่ค้า เกษตรกร และผู้มีส่วนได้เสียมากมายหลากหลายกลุ่ม รวมถึงพนักงานกว่า 450,000 จากทั่วโลก ในการนี้ทุกคนได้รวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดโลกร้อน โดยมีเทคโนโลยีทั้ง IOT, บล็อกเชน, GPS และ ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ หรือ Traceability เข้ามาใช้เพื่อนำไปสู่เป้าหมายร่วมกัน และเชื่อมั่นว่าการสร้างระบบอาหารและเกษตรที่ยั่งยืนจะเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้สำเร็จ

ในส่วนของเครือซีพีนั้น มีนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าด้วยการลงมือปลูกต้นไม้ให้เพิ่มขึ้นเพื่อช่วยลดอุณหภูมิของโลก เพื่อให้ครอบคลุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมของเรา ขณะเดียวกัน ซีพียังขับเคลื่อนเป้าหมายความยั่งยืนร่วมกับเกษตรกรกว่า 1 ล้านคน และคู่ค้าอีกนับแสนราย ทั้งยังมีการส่งเสริมให้เกษตรกรฟื้นฟูป่าในพื้นที่เขาหัวโล้นในภาคเหนือของไทย และหันมาทำเกษตรแบบผสมผสานรวมทั้งปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่ให้ป่าอย่างต่อเนื่อง

โดยทั้งหมดนี้เพื่อบรรลุสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ อีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญของเครือซีพีคือ การวางระบบเพื่อประหยัดพลังงานและใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ โดยจะลงทุนในพลังงานหมุนเวียน การลงทุนนี้ถือเป็นโอกาสไม่ใช่ต้นทุนทางธุรกิจ พร้อมกันนี้ได้เสนอให้ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกออกกฎเกณฑ์ กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และภาคเอกชนทั่วโลกภายใต้การกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์ของประเทศนั้นๆ กำหนดเป้าหมายและมีการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานด้านการจัดการคาร์บอนฯ เพื่อทำให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญ ซึ่งจะผลักดันส่งเสริมผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้ปฏิบัติตามก็จะทำให้โลกบรรลุเป้าหมายลดโลกร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อีกประเด็นสำคัญที่ซีอีโอ เครือซีพี กล่าวบนเวทีระดับโลก เพื่อนำสู่เป้าหมายลดโลกร้อนคือ “สิ่งสำคัญที่จะทำให้โลกยั่งยืนได้คือการสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมา เราต้องยกระดับการศึกษาให้ไปไกลกว่า 4.0 ไม่ใช่แค่ให้ความรู้ทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเท่านั้น แต่ต้องให้การศึกษาและความรู้เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ยังเยาว์วัยจะทำให้การมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายลดโลกร้อนสำเร็จได้ เพราะคนรุ่นใหม่จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้” ซีอีโอเครือซีพีกล่าว

Scottish Power ใช้พลังงานหมุนเวียนเต็มร้อย

นายคีท แอนเดอร์สัน ซีอีโอจากบริษัทพลังงาน Scottish Power

นายคีท แอนเดอร์สัน กล่าวว่า กลาสโกว์ตั้งเป้าและมุ่งมั่นที่จะเป็นเมืองปลอดคาร์บอนแห่งแรกของสหราชอาณาจักรภายในปี 2030 โดยมีการวางหลักเกณฑ์แนวปฏิบัติต่างๆ ซึ่งค่อนข้างยากสำหรับกลาสโกว์ เพราะ 8% ของประชากรพร้อมจัดงบประมาณจำนวนเงิน 10 พันล้านปอนด์สำหรับช่วงนี้จนถึงปี 2025 เพื่อเดินหน้าสู่เมืองปลอดคาร์บอน ด้วยการลงทุนในโครงข่ายไฟฟ้า ปรับระบบการขนส่ง รวมทั้งระบบการผลิตไฟฟ้า

นายคีทกล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานจากถ่านหินมาสู่พลังงานหมุนเวียนของ Scottish Power เริ่มขึ้นตั้งแต่ 25-30 ปีที่ผ่านมา โดยบริษัทได้ปิดโรงไฟฟ้าใช้ถ่านหินทั้งหมดทั่วทั้งสกอตแลนด์ และเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“การปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดทำให้ลดการปล่อยคาร์บอนลงโดยปริยาย”

ในปีนี้สกอตแลนด์บรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนถึง 97% ทุกกิจกรรมไม่ว่าจะป็นการขนส่งและการใช้พลังงานในอาคารจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“บริษัทฯ ยังดำเนินการต่อเนื่องโดยตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนตามแนวทางของ science based target การสร้างความตระหนักรู้และปรับ เปลี่ยนพฤติกรรมทั่วทั้งองค์กร รวมทั้งดูแลลงลึกไปทั้งห่วงโซ่อุปทานของบริษัท เพื่อให้มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยคาร์บอน”

Novozymes อยู่บนเส้นทาง Zero Carbon

นางสาวกราเซียลา ชาลูป โดส ซานโตส มาลูเชลลี่ COO & Executive Vice President Operations, Supply & Quality, Novozymes

นางสาวกราเซียลากล่าวว่า Novozymes เป็นบริษัทไบโอไซเอนส์และไบโอเทคโนโลยีชั้นนำของโลก และยังเป็นบริษัทแรกๆ ที่ร่วมการจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิไม่ให้เกิด 1.5 องศาเซลเซียส รวมทั้งเป็นบริษัทรายแรกที่ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ บริษัทฯ ผลักดันด้านสภาพภูมิอากาศโดยพนักงานกว่า 6,000 คนมีส่วนร่วมผ่านการกระตุ้น การส่งเสริมการมีส่วนร่วม

นางสาวกราเซียลากล่าวว่า การดำเนินการด้านการลดการปล่อยคาร์บอนของบริษัทฯ อยู่บนพื้นฐานความเข้าใจเรื่องพลังงาน เพราะการใช้พลังงานเป็นการปล่อยคาร์บอนในทุกๆ ที่ที่มีการทำธุรกิจ ดังนั้นแบบอย่างที่สำคัญต้องมาจากสำนักงานใหญ่ โดยปัจจุบันมีการลดการปล่อยก๊าซลง 70% แล้ว รวมทั้งเลิกใช้พลังงานเชื้อพลิงฟอสซิล เลิกใช้ถ่านหินอย่างสิ้นเชิง ส่วนหนึ่งเพราะมีพันธมิตรที่มีส่วนช่วยเหลือ และหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนตั้งแต่ปี 2011

“ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการลงมือทำอย่างจริงจัง ในทุกที่ที่บริษัทมีฐานธุรกิจ ทั้งจีน สหรัฐฯ เรามีฐานพลังงานโซลาร์ในการผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ เรามีความโปร่งใสในการลดการปล่อยคาร์บอน นอกจากนี้เรามีแนวปฏิบัติแบบเดียวกันกับลูกค้า เราสามารถประหยัดพลังงานได้ 49 ล้านตันจากการที่มีโซลูชันด้านชีวภาพ อีกทั้งยังทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม”

นางสาวดามิลโอลา โอกันบียี ซีอีโอจากองค์กร Sustainable Energy for All

นางสาวดามิลโอลา โอกันบียี กล่าวว่า ขณะนี้ทุกภาคส่วนสนับสนุนให้มีการเจรจาเรื่องการจัดการด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทรัพยากรด้านพลังงานเป็นสิ่งที่จะต้องดำเนินการไปควบคู่กัน และจะต้องให้ความสำคัญในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา สนับสนุนให้ประเทศเหล่านี้บริหารจัดการพลังงานไปสู่การสร้างพลังงานสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นายอโลก ชาร์มา ประธาน COP 26

นายอโลก ชาร์มา ประธาน COP 26 กล่าวปิดสรุปการเสวนาว่า ในปี 2015 เป็นปีที่สำคัญเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้ทำข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกำหนดเป้าหมายลดอุณหภูมิโลก 1.5 องศาเซลเซียส เพราะหากโลกเข้าสู่ภาวะโลกร้อนแตะถึง 2 องศา ผู้คนกว่า 100 ล้านคนจะได้รับผลกระทบ พืชและสัตว์หลายชนิดจะสูญพันธุ์ ในการประชุมสุดยอดผู้นำระดับโลกด้านความยั่งยืนครั้งนี้ ขอขอบคุณ UNGC ที่ขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจให้คำมั่นในข้อตกปารีส และขอเชิญชวนผู้นำองค์กรทุกภาคส่วนเข้าร่วมแคมเปญ Race to ZERO ซึ่งจะเป็นการแสดงให้เป็นที่ประจักษ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นที่ภาคธุรกิจรวมพลังลุกขึ้นมาให้ความสำคัญกับปัญหาภาวะโลกร้อน