ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ขบวนการลักลอบขนแรงงานเมียนมาเข้าไทยด้าน จ.ตาก

ขบวนการลักลอบขนแรงงานเมียนมาเข้าไทยด้าน จ.ตาก

28 เมษายน 2021


รายงานโดย ศรีนาคา เชียงแสน

การลักลอบหลบหนีของแรงงานต่างด้าวมาเข้ามาในประเทศไทยจากชายแดนประเทศเพื่อนบ้านด้านเมียนมายังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุสำคัญเกิดจากสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ในประเทศเมียนมาเป็นหลัก สืบเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังอยู่ในห้วงยุ่งเหยิง และเหตุการณ์รุนแรงจากสถานการณ์ทางการเมืองภายหลังการยึดอำนาจของคณะทหาร จนนำไปสู่การประท้วงต่อต้านจากภาคประชาชนทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดสังคมที่ไร้ระเบียบ มีความวุ่นวาย และความรุนแรงกระจายไปทั่วทุกภูมิภาค ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเมียนมาซึ่งอยู่ในห้วงขาลงและตกต่ำต่อเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคระบาดโควิด-19 มาก่อนแล้ว ต้องมาทรุดหนักลงไปอีก นักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยถอนการลงทุนออกจากประเทศ การนำเข้า–ส่งออกตกต่ำ นำไปสู่การปิดกิจการของบริษัท ห้างร้านต่างๆ ทำให้ประชาชนตกงานเพิ่มมากขึ้น การทำมาหากินยากลำบากมายิ่งขึ้น จึงเกิดกระบวนการพยายามที่จะลักลอบหลบหนีเข้ามาในประเทศไทยเพื่อหางานทำ และแสวงหาโอกาสในชีวิตที่ดีกว่า

แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ด่านพรมแดนถาวรยังปิดอยู่ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การเดินทางเข้ามาขายแรงงานในไทยทำไม่ได้ แม้แต่กลุ่มแรงงานที่เคยเข้ามาทำงานแบบถูกกฎหมายในประเทศไทยแล้วกลับเมียนมาไปหลังการระบาดของโควิด-19 รอบแรก ก็ไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานเหมือนเดิมได้ ทั้งๆ ที่คนกลุ่มนี้มีความพร้อมในด้านต่างๆ และมีความคุ้นชินในการเดินทางเข้ามาทำงานอยู่ในประเทศไทยมากกว่าแรงงานกลุ่มใหม่ๆ ที่ไม่เคยเดินทางเข้ามาทำงานในไทยเลย ทำให้เกิดมีขบวนการลักลอบนำพาคนเข้าประเทศผ่านช่องทางตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ชายแดน และเมืองใหญ่ๆ ที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเข้มข้น ซึ่งมีความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรม การค้า และการบริการ รวมทั้งแรงงานกรรมกรจำนวนมาก เช่น จ.ตาก จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.ระนอง จ.สงขลา รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ทั้งนี้ การนำพาแรงงานต่างด้าวเหล่านี้จะไม่สามารถดำเนินการได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงกลุ่มบุคคลที่หวังผลประโยชน์ จากการนำพาแรงงานต่างด้าวโดยไม่รับผิดชอบต่อสังคม อีกทั้งยังมีการแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนเป็นรายได้ก้อนใหญ่ ให้กับเจ้าหน้าที่บางหน่วยที่มีหน้าที่รับผิดชอบในพื้นที่ จึงเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขปัญหานี้ให้หมดไปได้

“ตาก” ประตูสวรรค์ของขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานเมียนมา

จากการตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐ พบว่าแรงงานชาวเมียนมาร้อยละ 70 เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยผ่านทางพื้นที่ภาคเหนือและในบรรดาจังหวัดต่างๆ ชายแดนไทย-เมียนมา ตั้งแต่เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก โดยพบว่าในพื้นที่ จ.ตาก เป็นจุดที่แรงงานเมียนมาใช้เป็นช่องทางเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากที่สุด ทั้งนี้เพราะพื้นที่ของ จ.ตาก ติดกับเมียนมา ถึง 5 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่สอด, อ.พบพระ, อ.แม่ระมาด ,อ.อุ้มผาง และ อ.ท่าสองยาง

แผนที่ ชายแดน ไทย–เมียนมา ด้าน จ.ตาก

หากพิจารณาจากปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ชายแดนไทย–เมียนมา ด้าน จ.ตาก มีระยะทางเชื่อมต่อกับชายแดนเมียนมาถึง 533 กิโลเมตร (แบ่งเป็นชายแดนทางบก ประมาณ 197 กิโลเมตร และชายแดนทางน้ำ ประมาณ 336 กิโลเมตร) และมีช่องทางธรรมชาติมากมาย ที่เอื้อต่อการลักลอบข้ามแดนของแรงงานเมียนมาเข้ามาในไทยเป็นอย่างมาก ลักษณะทั่วไปของพื้นที่มีลักษณะเป็นพื้นราบในตอนกลาง สลับด้วยแนวเทือกเขาสองข้างโดยทางทิศตะวันออกเป็นเทือกเขาถนนธงชัย ทิศตะวันตกเป็นเทือกเขาดาวน่า ในเขตประเทศเมียนมา

ปัจจุบันยังอยู่ในห้วงเวลานี้ซึ่งด่านพรหมแดนระหว่างประเทศของทั้งสองประเทศ (ด่านสะพานมิตรภาพไทย–เมียนมา แห่งที่ 1 บ้านริมเมย ม.2 ต.ท่าสายหลวด อ.แม่สอด จ.ตาก) ยังปิดต่อเนื่องอยู่นับจากสถานการณ์การแพรระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากพรหมแดนธรรมชาติในพื้นที่ด้านนี้เอื้อต่อการลักลอบข้ามไปมาได้ง่าย เป็นพื้นที่ช่องทางธรรมชาติที่ลักลอบข้ามเข้ามาได้ง่ายดาย กลุ่มขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานเมียนมาจึงนิยมใช้ช่องทางธรรมชาติแทน ในพื้นที่ จ.ตาก มีช่องทางธรรมชาติจำนวน 52 ช่องทาง ผนวกเข้ากับท่าข้ามเฉพาะคราว จำนวน 19 ท่าข้าม รวมทั้งสิน 73 ช่องทาง ในรายงานของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงพบว่ามีช่องทาง/ท่าข้ามที่เป็นจุดสำคัญ ที่พบว่ามีการลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย จำนวน 14 ช่องทาง/ท่าข้าม ประกอบด้วย

รูปแบบและวิธีการ

ที่ผ่านมาทราบว่า กลุ่มแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาที่ต้องการจะเดินทางลักลอบเข้ามาทำงานในไทยจะติดต่อผ่านกลุ่มนายหน้าที่อยู่ในฝั่งเมียนมาก่อน หรือบางกลุ่มติดต่อตรงผ่านเครือข่ายขบวนการลักลอบนำพาในไทยที่ อ.แม่สอด โดยตรงเลย แต่ทั้งหมดจะต้องเดินทางผ่านพื้นที่ชั้นในของเมียนมาเข้ามายัง อ.เมียวดี จ.เมียววดี ด้านตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ก่อน บางส่วนพักอยู่กับเครือญาติ บางส่วนพักอยู่กับเครือข่ายของขบวนการลักลอบนำพา

โดยจุดพักสำคัญที่สุดของแรงงานเหล่านี้คือ พื้นที่บ้านเจ้าตานเก็ก อ.เมียวดี จ. เมียวดี ซึ่งอยู่ตรงข้าม บ้านริมเมย ม.2 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อรอโอกาสและจังหวะในการลักลอบข้ามมาฝั่งประเทศไทย ซึ่งจุดข้ามตรงนี้เป็นช่องทางธรรมชาติ คือแม่น้ำเมย ในส่วนที่ค่อนข้างแคบและตื้นเขิน เมื่อข้ามมาได้แล้วเครือข่ายนายหน้าของขบวนการลักลอบฯ ก็จะมารับช่วงต่อในการพาเข้าสู่พื้นที่ชั้นใน หลายๆ กรณีที่ไม่สามารถเคลียร์เส้นทางตามด่านของเจ้าหน้าที่ได้ หรือเป็นห้วงที่เจ้าหน้าที่เข้มงวดเอาจริงเอาจัง ก็อาจจะต้องใช้คนพื้นที่ที่เป็นชนเผ่าเชื้อสายกะเหรี่ยง หรือม้ง เป็นคนนำพา เดินผ่านลัดเลาะตามเส้นทางที่เป็นป่าเขาด้วยการเดินเท้าให้พ้นจากพื้นที่จุดตรวจ จุดสกัดของเจ้าหน้าที่ไปก่อน จึงจะสามารถใช้รถยนต์ได้

ย้อนกลับไปตอนที่กลุ่มแรงงานชาวเมียนมาสามารถลักลอบข้ามพรหมแดนเข้ามาในประเทศไทยได้แล้ว ก็จะเป็นหน้าที่ของกลุ่มขบวนการลักลอบฯ ที่จะรับช่วงนำพาแรงงานเหล่านี้เข้าสู่พื้นที่ชั้นใน โดยขนส่งผ่านทางรถยนต์เป็นหลัก ซึ่งตามปกติจะใช้เส้นทางหลักในพื้นที่ มีจำนวน 4 เส้นทาง เส้นทางหลัก ได้แก่

  • เส้นทางหมายเลข 12 เชื่อมต่อ อ.เมืองตาก และ อ.แม่สอด
  • เส้นทางหมายเลข 105 เชื่อมต่อ อ.แม่สอด, อ.แม่ระมาด และ อ.ท่าสองยาง
  • เส้นทางหมายเลข 1090 เชื่อมต่อ อ.แม่สอด, อ.พบพระ และ อ.อุ้มผาง
  • เส้นทางหมายเลข 1175 เชื่อมต่อ อ.แม่ระมาด และ อ.บ้านตาก

จากการตรวจสอบติดตามสถานการณ์การจับกุมแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาผิดกฎหมายที่ลักลอบเข้ามาในไทย พบว่ากลุ่มขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานเหล่านี้ยังนิยมใช้เส้นทางสายหลักในการลักลอบเคลื่อนย้ายแรงงานอยู่ โดยบางกลุ่มมีการประสานและขอการอำนวยความสะดวกในการผ่านด่านตรวจของเจ้าหน้าที่เป็นหลัก หากเหตุการณ์ไม่อำนวย มีการตั้งด่านตรวจร่วมกันของเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย หรือไม่อาจเคลียร์เส้นทางได้ ก็จะใช้วิธีการอ้อมผ่านด่านตรวจนั้นๆ ไป

ตัวอย่างเช่น บนเส้นทาง ทางหลวง 105 มีจุดตรวจร่วมที่ตั้งอยู่ที่บนเส้นทางนี้ 2 จุด คือที่จุดตรวจห้วยหินฝน และจุดตรวจร่วมห้วยยะอุ ต.แม่ปะ อ.แม่สอด กลุ่มขบวนการก็จะใช้เส้นทางอ้อม จากเส้นทางเส้นหลักเข้าไปยังเส้นทางอ่างเก็บน้ำห้วยลึก ผ่านเรือนจำเก่า บ้านแม่ปะ วกเข้าเส้นทางหลวงสาย 105 แล้ววกเข้าเส้นทางสายบ้านแม่ละเมา ก่อนออกสู่ทางหลวงสาย 12 เส้นทางตาก–กรุงเทพฯ

บนเส้นทางหลวง 1175 มีจุดตรวจร่วมที่ตั้งอยู่ที่บ้านพะละ อ.แม่ระมาด กลุ่มขบวนการลักลอบนำพาก็จะใช้เส้นทางอ้อมผ่านเข้าทางเส้นทาง บ้านแม่ระมาดน้อย–บ้านตือลือ ออกสู่ทางหลวง 12 เส้นทางตาก–กรุงเทพฯ ในเขตพื้นที่ อ.บ้านตาก เป็นต้น

หากสามารถนำแรงงานเหล่านี้มาถึงพื้นที่ อ.วังเจ้า จ.ตาก หรือ อ.โกสัมพี จ.กำแพงเพชร ได้ ก็จะเท่ากับว่าการเสี่ยงภัยครั้งนั้นๆ ใกล้บรรลุผลแล้ว หรือเพียงการเดินทางโดยรถยนต์เข้าสู่กรุงเทพฯ หรือปริมณฑลเท่านั้น

ทั้งหมดนี้ พบว่าแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาเหล่านี้ต้องจ่ายเงินให้กลุ่มขบวนการลักลอบ ในอัตราเฉลี่ยตั้งแต่ 4,000-15,000 บาท/คน โดยการคิดราคามี 2 ขั้นตอน คือ หากต้องการแค่ข้ามมาทำงานในพื้นที่ จ.ตาก คิดค่านำพาข้ามลำน้ำเมย ในอัตรา 4,000–5,000 บาท /คน แต่หากต้องการเดินทางต่อไปถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีค่าใช้จ่ายตกรายละ 14,000–15,000 บาท ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และความยากง่ายในแต่ละห้วงเวลาด้วย

อย่างไรก็ตาม ราคาค่านายหน้าที่แรงงานเมียนมาต้องจ่ายให้กับชบวนการลักลอบฯ เหล่านี้ ถือว่าถูกและคุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับอนาคตที่รอพวกเขาอยู่ จึงไม่แปลกใจที่มีคนพร้อมจะเข้าใช้บริการเป็นจำนวนมาก สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับขบวนการลักลอบฯ จนอิ่มหมีพีมันกันทั่วหน้า

เครือข่ายขบวนการนำพาแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา

ผลประโยชน์มหาศาลดึงดูดให้มีกลุ่มบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบนำพาแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมาก โดยเราสามารถจำแนกกลุ่มขบวนการที่เข้ามาเกี่ยวข้องแบบคร่าวๆ ได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1) กลุ่มพลเรือน หรือประชาชนทั่วไป
2) กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ (ข้าราชการพลเรือน/ตำรวจ)
3) เจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเครือข่ายทั้งหมดจะร่วมกันจัดหาและอำนวยความสะดวกให้กับแรงงานต่างด้าวในการลักลอบเข้าประเทศไทย ทั้งนี้จากการขยายผลการตรวจสอบข่าวสาร มีตัวละครสำคัญๆในกลุ่มต่างๆ ดังนี้

1. กลุ่มพลเรือน หรือประชาชนทั่วไป สมาชิกกลุ่ม/เครือข่าย จำนวน 9 คน ประกอบด้วย
– นายช.ลูกชาย พล.ต.ท.
– นางว.(เจ้อ้อย/เจ้อ๊อด)
– นายส.(ป๊ะดี)
– นายเสรี
– นายไตรภพ
– นายสุรศักดิ์
– นายอภิชาติ
– นายบุรินทร์
– นายนิกร

2. กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ (ข้าราชการพลเรือน / ตำรวจ) สมาชิกกลุ่ม/เครือข่าย จำนวน 12 คน ประกอบ ร.ต.อ.4 คน ดาบตำรวจ 2 คน
– นายบ. ถูก จนท.จับกุมขณะนำพาคนไทยและชาวต่างชาติหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายที่บริเวณ ท่าข้าม บริเวณ เขตติดต่อ ต.มหาวัน และ ต.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อ 7 ม.ค. 2564
– นายน.
– นายพ. ต.แม่กุ อ.แม่สอด
– นายอ. แม่กุหลวง ต.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก
– นายพ. แม่กุใหม่ท่าซุง ต.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก

3. กลุ่ม เจ้าหน้าที่ทหาร สมาชิกกลุ่ม / เครือข่าย จำนวน 2 คน ประกอบด้วย
– ร.อ.เป็นทหารพราน
– อส.ชื่อย่อ ธ.หรือแจ้

4. กลุ่ม ชกน. ผู้จัดหาแรงงานต่างด้าวในฝั่งเมียนมา
– นายนุ เป็นผู้จัดหาแรงงานต่างด้าวในฝั่งเมียนมา เมื่อ 5 ธ.ค. 2563 กลุ่มเครือข่ายฯ ได้ไปรับแรงงานต่างด้าวจากนายนุคือฯ ที่บริเวณ ช่องทาง/ท่าข้าม บ้านน้าดิบบอนหวาน ม.2 ต.แม่ระมาด อ.แม่ระมาด จว.ต.ก. และได้ใช้เส้นทางผ่านจังหวัดต่างๆ เข้าสู่ กทม. และจัดส่งไปยังผู้ประกอบการที่ต้องการแรงงานต่างด้าว ฯ (นายนุ ถูกศาล จ.ตากออกหมายจับข้อหานำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืน พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 63 เมื่อ 11 มิ.ย. 2556
– นายเบิร์ด เกี่ยวข้องกับขบวนการนำพาแรงงานในพื้นที่ อ.พบพระ จ.ตาก.
– นายชรินทร์ เกี่ยวข้องกับขบวนการนำพาแรงงานในพื้นที่ อ.แม่ระมาด จ.ตาก.

ปัญหาที่ยังไร้ซึ่งทางออก

ปัญหาการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองของแรงงานชาวเมียนมาในปัจจุบัน มักถูกกล่าวขวัญถึงภัยอันตรายที่แฝงมาพร้อมๆ กับการนำโรคติดต่อโควิด-19 ที่ยังคงระบาดหนักอยู่ในเมียนมาติดเข้ามาด้วย ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าปัจจุบัน สถานการณ์ของโควิด-19 ในเมียนมายังมีการระบาดอย่างหนักและต่อเนื่อง และจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเมียนมาในปัจจุบัน ทำให้บุคคลากรทางการแพทย์ไม่สามารถเข้าไปบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ได้เหมือนก่อน การรายงานสถิติผู้เจ็บป่วยจึงหยุดนิ่ง ไม่มีการรายงานตัวเลขอย่างเป็นทางการออกสู่สาธารณะนานแล้วทั้งที่สถานการณ์ยังรุนแรงอยู่ นี่ยังไม่พูดถึงความเสียหายต่อระบบและโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยด้านอื่นๆ ที่ตามมาจากปัญหาแรงงานเถื่อนที่ลักลอบเข้ามาในประเทศ เช่น ภาระและปัญหาต่างๆ ที่สังคมไทยจะต้องแบกรับตามมา เช่น ด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล ปัญหาการแย่งอาชีพจากคนไทย ปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติด การค้ามนุษย์ สิทธิมนุษยชน ฯลฯ

ปัจจุบัน หน่วยงานความมั่นคงของไทยจะมองปัญหาแรงงานเมียนมาที่ลักลอบหลบหนีเข้ามาในประเทศโดยเน้นที่เรื่องขบวนการลักลอบนำพาแรงงานเป็นปัจจัยหลัก ทั้งที่ตามความเป็นจริงแล้ว ขบวนการลักลอบฯ เป็นแค่ปลายเหตุของปัญหาทั้งหมด หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในเมียนมาสงบและดีกว่าที่เป็นอยู่ คนที่คิดจะลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศเราอาจไม่เยอะเท่าเวลานี้ หรือหากปริมาณความต้องการแรงงานภายในประเทศไทยเราไม่มากพอ ไม่ดึงดูดพอ แรงงานชาวเมียนมาเหล่านี้ก็อาจจะไม่เสี่ยงลักลอบเข้ามาเพื่อจะต้องมาตกงานซ้ำในประเทศไทยอีกก็เป็นไปได้

ปัญหาของประเทศไทยเราคือ ที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานใดที่เป็นเจ้าภาพหลักในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่เป็นหน่วยงานหลัก หรือสามารถบูรณาการหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้เกิดเอกภาพได้

ทุกวันนี้แต่ละหน่วยงานก็ทำงานเฉพาะหน้าของตัวเองไป แม้แต่ข้อมูลที่มีที่ใช้ในการบริหารจัดการก็ยังไม่ตรงกัน ไม่มีใครตอบได้ว่าปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาทำงานอยู่ในไทยจำนวนเท่าไหรกันแน่ ที่ทำงานในระบบพอประมาณการได้ แต่ที่อยู่นอกระบบอีกไม่รู้กี่เท่า ไม่มีหน่วยงานไหนมีข้อมูลที่แท้จริงและถูกต้องเพียงพอ

อีกทั้งการบริหารจัดการในระบบก็ไม่มีความชัดเจน ไม่สามารถตอบได้ว่า ปัจจุบัน หรืออนาคตอันใกล้ ภายในประเทศจะมีความต้องการแรงงานต่างด้าวอีกประมาณเท่าไหร่ จะได้มีการวางแผนและหามาตรการรับมือเตรียมการไว้ หรือเปิดช่องทางให้เป็นมาตรฐานสากล เช่น การทำ MOU กับทางราชการของเมียนมา ให้จัดหาแรงงานเข้ามาตามสเปกและความต้องการของภาคแรงงานจริงๆ จะได้ปิดช่องทางผิดกฎหมายอย่างขบวนการลักลอบนำพาแรงงานเถื่อนเหล่านี้ลงไปได้

อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ทุกอย่างทำได้แค่เพียงการตั้งคำถาม ส่วนคำตอบยังล่องลอยอยู่ในสายลม…