ThaiPublica > Native Ad > ตลาดหลักทรัพย์ฯ MOU พันธมิตร สร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน โครงการ “Happy Money สุขเงิน สร้างได้”

ตลาดหลักทรัพย์ฯ MOU พันธมิตร สร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน โครงการ “Happy Money สุขเงิน สร้างได้”

22 เมษายน 2021


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เดินหน้าโครงการ “Happy Money สุขเงิน สร้างได้” ต่อเนื่อง จับมือพันธมิตรสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินแก่ประชาชนทั่วประเทศ

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เดินหน้าโครงการ “Happy Money สุขเงิน สร้างได้” สร้างความรู้ความเข้าใจด้านการวางแผนการเงินให้คนไทยมีสุขภาพการเงินที่ดี โดยคาดปีนี้จะส่งเสริมความรู้ประชาชนครอบคลุม 3 ล้านคนทั่วประเทศ ผ่านการร่วมมือของพันธมิตร ซึ่งได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ(MOU)เดินหน้าส่งเสริมความรู้ทางการเงินกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ร่วมฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงินสำหรับคนไทย

ในงานดังนี้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ฟื้นฟูการเงินภาคครัวเรือนไทย ภารกิจร่วมใจสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงิน (financial literacy)” ว่า สถานการณ์ด้านการเงินของคนไทยเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญและติดตามใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่เพิ่มขึ้น พื้นฐานความรู้ด้านการเงินของคนไทย รวมทั้งการก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์

ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงต้องทำอย่างต่อเนื่องและบูรณาการ ให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุน ที่เน้นให้ความสำคัญใน 5 เรื่อง ได้แก่

    1.การสร้างโครงสร้างและกลไกเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ 2.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้มีทักษะจำเป็นที่สามารถดูแลรับผิดชอบตนเองได้ และหนึ่งในทักษะดังกล่าวคือการเพิ่มพูนความรู้การเงิน การออม
    3.การสร้างการตระหนักรู้ของประชาชนให้เห็นถึงความสำคัญของจัดการความเสี่ยงในชีวิตจากการวางแผนที่ดีและมีข้อมูลความรู้ที่เพียงพอ
    4.การเร่งฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในเชิงบวกต่อเรื่องการเงินและการออม
    5.ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ความรู้ทางการเงิน

ดังนั้น โครงการ “Happy Money สุขเงิน สร้างได้” จึงเป็นโครงการที่เกิดขึ้นในช่วงที่เหมาะสมเพราะการจะฟื้นฟูเศรษฐกิจ ต้องทำควบคู่กับการสร้างศักยภาพของประชาชน โดยร่วมมือกันทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดผลในวงกว้างและรวดเร็ว เพื่อให้คนไทยสามารถบริหารจัดการชีวิตได้อย่างเหมาะสมท่ามกลางสถานการณ์ไม่แน่นอนได้ต่อไป

“SET…Make it Work for Everyone”

ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน หนึ่งในภารกิจสำคัญที่ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องคือการส่งเสริมความรู้ด้านการเงินให้แก่ประชาชน (financial literacy) ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการสร้างความมั่นคงแก่ชีวิต ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินโครงการ “Happy Money สุขเงิน สร้างได้” ตั้งแต่ปี 2552 โดยร่วมกับองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนรวมแล้ว 523 แห่ง สร้างพี่เลี้ยงการเงิน 6,003 คน สร้างพื้นที่เรียนรู้ด้านการออมการวางแผนการเงินให้ทั่วถึงและต่อเนื่อง ครอบคลุมพนักงานในองค์กรต่าง ๆ แล้ว 2.4 ล้านคน และคาดว่า ณ สิ้นปีนี้จะส่งเสริมความรู้ประชาชนรวมกว่า 3 ล้านคนทั่วประเทศ

“โครงการ “Happy Money สุขเงิน สร้างได้” ที่ดำเนินการต่อเนื่องในปีนี้จะมีบทบาทเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการออมและการวางแผนการเงินอย่างเป็นระบบ สนับสนุนองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการให้ส่งต่อความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พัฒนาเนื้อหาและรูปแบบการให้ความรู้ผ่านโมเดลพี่เลี้ยงการเงินที่จะช่วยสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้สามารถบริหารรายได้และค่าใช้จ่ายอย่างเหมาะสม โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะดำเนินการร่วมกับพันธมิตร เพื่อนำความรู้ไปสู่กลุ่มคนต่าง ๆ ทั้งนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน และประชาชนทั่วไป” นายภากรกล่าว

ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ลงนามต่ออายุ MOU ส่งเสริมความรู้ทางการเงินร่วมกับ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ต่อเนื่อง เพื่อผนึกกำลังขยายการทำงานให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น สร้างความมั่นคงทางการเงินแก่ประชาชนทั่วประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

เสริมความรู้ “Happy Money สุขเงิน สร้างได้”

ดร. ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า ภารกิจการดูแลสมาชิก กบข. กว่าล้านคนทั่วประเทศนั้น นอกเหนือจากการนำเงินออมของสมาชิกไปบริหารสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงสำหรับชีวิตในวัยเกษียณแล้ว กบข. ยังดำเนินการควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้สมาชิกมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการออมและการลงทุนอย่างแท้จริง

“ที่ผ่านมา กบข. และ ตลท. ได้ร่วมกันเผยแพร่ความรู้ด้านการวางแผนการเงินให้แก่สมาชิก กบข. อย่างต่อเนื่อง ผ่านการพัฒนาระบบ e-Learning เพื่อให้สมาชิก กบข. ได้เข้าถึงองค์ความรู้ที่เหมาะสม รวมทั้งได้จัดทำคู่มือส่งเสริมความรู้ทางการเงินฉบับสมาชิก กบข. และร่วมบรรยายให้ความรู้สมาชิก กบข. โดยผู้เชี่ยวชาญจากตลาดหลักทรัพย์ฯ สำหรับความร่วมมือในอนาคต กบข. จะประยุกต์องค์ความรู้และสื่อการเรียนรู้ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้เข้ากับบริบทของสมาชิก กบข. มากยิ่งขึ้น เพื่อให้สมาชิกสามารถบริหารเงินออมใน กบข. ได้อย่างเข้าใจ และบรรลุเป้าหมายในการมีเงินออมยามเกษียณที่เพียงพอ” ดร.ศรีกัญญากล่าว

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาด้วยการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษาในลักษณะต่าง ๆ โดยกองทุนได้ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นมา ในการนำองค์ความรู้และสื่อการเรียนรู้ ได้แก่ e-Learning ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดทำมาให้ความรู้แก่กลุ่มนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืม บุคลากรในสถานศึกษา และผู้ที่สนใจได้เรียนรู้การวางแผนการเงิน การลงทุน และความเป็นผู้ประกอบการ ผ่านระบบ SET e-Learning ซึ่งมีหลักสูตรให้เลือกเรียนกว่า 15 หลักสูตร เมื่อนักเรียนนักศึกษาผู้กู้ยืมเรียนจบแต่ละหลักสูตร สามารถนำไปสะสมจำนวนชั่วโมงจิตสาธารณะให้ครบตามหลักเกณฑ์ที่กองทุนกำหนด

ปัจจุบันมีผู้กู้ยืมที่เข้าเรียนหลักสูตร SET e-Learning แล้วจำนวนกว่า 560,000 ราย ทั้งนี้กองทุนคาดว่าหากผู้กู้ยืมเงินมีความรู้ทางการเงิน จะสามารถบริหารจัดการรายได้ ทรัพย์สินและหนี้สินของตนเองได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนสามารถชำระคืนเงินกู้ยืมให้กองทุนตามกำหนด เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้องต่อไป โดยกองทุนจะเป็นหลักประกันของทุกครอบครัว เพื่อให้บุตรหลานและนักเรียน นักศึกษาทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวว่า กอช.
มุ่งเสริมสร้างระบบบำนาญให้แก่ผู้ที่เป็นแรงงานนอกระบบ แรงงานอิสระ พ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร นักเรียน นิสิตและนักศึกษา โดยผู้ที่มีสิทธิสมัครต้องมีอายุ 15-60 ปี เริ่มต้นออมตั้งแต่ 50 บาท สูงสุด 13,200 บาทต่อปี ซึ่งผู้ที่เป็นสมาชิก กอช. จะได้รับเงินสมทบเพิ่มจากรัฐตามช่วงอายุของสมาชิก สูงสุดไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี และเงินออมสะสมสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวน โดยความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการสร้างวินัยการออม การลงทุน รวมถึงการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณอายุได้อย่างมีคุณภาพ ผ่านการออมกับ กอช. ทำให้มีสุขภาพการเงินที่ดี

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังช่วยส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้แก่ประชาชน ภาคีเครือข่าย พนักงาน สมาชิก กอช. และกลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะเป็นสมาชิก กอช. ผ่านองค์ความรู้และสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ อาทิ การจัดอบรม Train the Trainers การพัฒนาเนื้อหาและสื่อการเรียนรู้เพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กอช. เพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของ กอช. การเผยแพร่สื่อออนไลน์สำหรับแรงงานนอกระบบ และนักเรียน นักศึกษา โดยมุ่งหวังให้ กอช. เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวินัยการออมเพื่ออนาคตสำหรับเยาวชนไทย

โดยพิธีเปิดโครงการ “Happy Money สุขเงิน สร้างได้” จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน 2564 เวลา 9.00-12.00 น. พร้อมด้วยเสวนาออนไลน์หัวข้อ “ปฏิบัติการรวมพลัง สร้างคนไทยใส่ใจเรื่องการเงิน” และหัวข้อ “ส่งต่อความรู้การเงินอย่างไร ให้เกิดวินัยยั่งยืน : ต้นแบบองค์กรร่วมขับเคลื่อนและเพิ่มพูนทักษะเรื่องการเงิน” โดยผู้สนใจสามารถรับชมย้อนหลังได้ผ่าน Facebook และ YouTube “SET Thailand” สำหรับองค์กรที่สนใจความรู้ด้านการเงินของตลาดหลักทรัพย์ฯ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่