KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ “คุณภาพสินเชื่อบ่งชี้ 3 จุดเปราะบางธุรกิจไทย” โดยมองว่า
- ข้อมูลคุณภาพสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจไทยในหลายอุตสาหกรรมที่เริ่มชัดเจนมาตั้งแต่ก่อนวิกฤติโควิด-19
- อุตสาหกรรมการผลิต การค้า และการท่องเที่ยว มีความเปราะบางมาตั้งแต่ก่อนวิกฤติ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก สาเหตุหลักจากปัญหาเชิงโครงสร้างของแต่ละอุตสาหกรรม
- มาตรการเสริมสภาพคล่องทางการเงินในระยะสั้นและมาตรการแบบเหมารวม (one size fits all) อาจไม่เพียงพอในการรับมือกับปัญหาที่ภาคธุรกิจกำลังเผชิญ และจำเป็นต้องควบคู่ไปกับแนวนโยบายที่ชัดเจนในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยและการแก้ปัญหาที่ตรงจุดในแต่ละอุตสาหกรรม
อะไรซ่อนอยู่ภายใต้ข้อมูลสินเชื่อของธนาคาร
KKP Research วิเคราะห์ว่าท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 สิ่งที่น่ากังวลอย่างหนึ่งคือ ความสามารถในการชำระหนี้และปัญหาคุณภาพสินเชื่อภาคธนาคาร จากการที่รายได้ของธุรกิจและครัวเรือนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
อย่างไรก็ตาม ในปี 2020 สัดส่วนการผิดนัดชำระหนี้ 90 วันติดต่อกัน ที่เรียกว่า หนี้เสีย หรือ non-performing loans (NPL) ต่อยอดสินเชื่อคงค้าง (NPL ratio) ทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (รูปที่ 1) โดยมีสาเหตุหลักจากมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ซึ่งช่วยชะลอผลกระทบต่อลูกหนี้และธนาคารพาณิชย์ และทำให้ผลกระทบที่แท้จริงไม่ปรากฎในตัวเลข NPL (อ่านต่อ Box 1: ข้อมูลคุณภาพสินเชื่อภาคธุรกิจในปี 2020 อาจไม่สะท้อนภาพความเป็นจริง)
สำหรับปี 2021 NPL ratio ทั้งระบบอาจเพิ่มขึ้นจากการสิ้นสุดของบางมาตรการให้ความช่วยเหลือ แต่สิ่งหนึ่งที่อาจถูกมองข้าม คือ ข้อมูลคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยสะท้อนให้เห็นปัญหาของภาคธุรกิจไทยในหลายอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้แล้ว
เกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจไทยก่อนโควิด-19
หากย้อนกลับไปดูข้อมูลในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 (2013-2019) จะพบว่าอุตสาหกรรมที่มีความเปราะบางสะสมอยู่ในระดับน่าเป็นห่วงและอาจส่งผลเสียต่อความเสี่ยงในภาพรวมมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมการผลิต และภาคค้าปลีกค้าส่ง เพราะสัดส่วน NPL และสินเชื่อโดยรวมของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์กระจุกตัวในสองอุตสาหกรรมนี้ โดย NPL ของทั้งสองอุตสาหกรรมรวมกันมีสัดส่วนสูงถึง 71% ของ NPL ทั้งระบบ และมีสินเชื่อรวมกันคิดเป็น 55% ของสินเชื่อธุรกิจทั้งระบบ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน)(รูปที่ 2)
ปัญหาคุณภาพสินเชื่อของสองอุตสาหกรรมดังกล่าวเริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่ปี 2015 สะท้อนจากสัดส่วน NPL ratio ที่เร่งตัวขึ้นในปี 2015 และอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนวิกฤติโควิด-19 โดยล่าสุด NPL ratio ของอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งอยู่ที่ 6.1% และอุตสาหกรรมการผลิตอยู่ที่ 5.2% (รูปที่ 3)
ที่น่ากังวลคือ เกือบทั้งหมดของหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นนั้นเกิดจากลูกหนี้ที่ไม่เคยมีประวัติการผิดนัดชำระหนี้มาก่อน (New NPL) (รูปที่ 4) สะท้อนว่าปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ที่ธุรกิจกำลังเผชิญอยู่นี้อาจเป็นผลจากความเสี่ยงทางธุรกิจในระดับอุตสาหกรรม (industry-wide risk) มากกว่าที่จะเป็นผลมาจากพฤติกรรมของลูกหนี้หรือปัญหาความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้แต่ละราย (individual credit risk)
นอกจากสองอุตสาหกรรมดังกล่าว ยังมีธุรกิจโรงแรมและที่พักที่พบสัญญาณความเปราะบางสะสมมาตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 และอาจส่งผลเสียต่อความเสี่ยงในภาพรวม
คำถามสำคัญคือ อะไรคือสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์ของทั้งสามอุตสาหกรรมของไทยเปลี่ยนไปจากอุตสาหกรรมดาวรุ่งกลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง
1. อุตสาหกรรมการผลิต
อุตสาหกรรมการผลิตนับเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในแง่การสร้างมูลค่าเพิ่มและการจ้างงาน ด้วยขนาดที่ใหญ่ถึง 27% ของ GDP (รูปที่ 5) และมีการจ้างงานสูงถึง 14% ของผู้มีงานทำทั้งหมด แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวกลับปรับลดลงต่อเนื่อง (รูปที่ 6) ซึ่งเป็นผลจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกที่กระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก
ส่วนหนึ่งของการชะลอลงของภาคการผลิตไทยเป็นผลของปัจจัยภายนอก ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก ผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกเป็นหลัก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ ปัจจัยภายในจากการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันของไทย จาก
-
(1) สินค้าและระบบโครงสร้างการผลิตที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนไป โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูงที่ไทยไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง และไม่ได้เป็นฐานการผลิตหลักของบริษัทข้ามชาติในธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้น
(2) ต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นจากทั้งจำนวนแรงงานโดยรวมที่ลดลงตามโครงสร้างประชากร และการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการของธุรกิจในอนาคต
(3) เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่ามาโดยตลอดในช่วงที่ผ่านมา จากปัจจัยเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยซึ่งส่งผลลบต่อผู้ส่งออกทั้งการแข็งขันด้านราคาที่ทำได้ยากขึ้นและรายได้ในรูปของเงินบาทที่มีมูลค่าลดลง
ผลกระทบที่ตามมานอกจากรายได้ที่หายไปคือ การปิดกิจการของโรงงาน หรือการย้ายฐานการผลิต (Relocation) ออกจากไทยไปยังประเทศอื่นที่มีความพร้อมมากกว่า เช่น เวียดนาม ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วกับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ใช้แรงงานเข้มข้น และกำลังเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมส่งออกหลักของไทย รวมแล้วคิดเป็น 49% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด แม้ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล่านี้จะมีการปรับตัวอย่างมากเพื่อรับมือกับมรสุมทั้งภายในและภายนอกที่กำลังเผชิญอยู่ เช่น การปรับมาใช้เครื่องจักรเพื่อทดแทนแรงงานในการผลิต แต่การปรับตัวอาจไม่เร็วหรือมากพอที่จะสามารถลดผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงที่จะถูกเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาแทนที่ เนื่องจากการลงทุนของไทยในด้านนี้ยังอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น (รูปที่ 7)
(ดู KKP Research เศรษฐกิจไทย กลับไม่ได้ไปไม่ถึง หากไม่พึ่งเทคโนโลยี, ทศวรรษถัดไปของไทย ธุรกิจโตอย่างไรเมื่อคนไทยกว่า 40% เข้าสู่วัยเกษียณ, ทำไมต่างชาติขายหุ้นไทย (ไม่หยุด))
2. ค้าปลีกค้าส่ง: ปลาใหญ่กินปลาเล็กจริงหรือ?
อุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยรองจากอุตสาหกรรมการผลิต ด้วยขนาดที่ใหญ่ถึง 17% ของ GDP ในปัจจุบันโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในประเทศไทยสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
-
(1) ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ (Modern Trade) ซี่งเป็นผู้เล่นหลักของอุตสาหกรรมในระยะหลัง เช่น ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น
(2) ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งดั้งเดิม (Traditional Trade) ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก เช่น ร้านค้าปลีกค้าส่งทั่วไป ร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง ร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้า และร้านขายของชำ เป็นต้น
NPL ของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2015 โดย 3 ใน 4 เป็น NPL ที่เกิดจากการผิดนัดชำระหนี้ของธุรกิจร้านค้าขนาดเล็ก (รูปที่ 8) ซึ่งมี NPL ratio สูงถึง 7.1% ของสินเชื่อทั้งหมดที่ให้แก่ร้านค้าขนาดเล็ก หรือเกือบ 3 เท่าเมื่อเทียบกับกรณีร้านค้าขนาดใหญ่ (รูปที่ 9) นอกจากนี้ ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของร้านค้าขนาดเล็กที่อยู่ในระดับสูงและสูงขึ้นต่อเนื่องนั้นยังเกิดขึ้นกับร้านค้าในแทบทุกประเภท เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น (รูปที่ 10)
KKP Research มองว่า 3 สาเหตุหลักที่ทำให้ธุรกิจร้านค้าเล็กไม่สามารถแข่งขันหรือปรับตัวได้เทียบทันกับธุรกิจร้านค้าใหญ่ ได้แก่
1. สนามแข่งขันไม่เท่ากัน
รายได้ของร้านค้าขนาดเล็กซึ่งส่วนมากเป็นร้านค้าแบบ Traditional Trade ได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากการเข้ามาแย่งส่วนแบ่งรายได้ของร้านค้า Modern Trade (รูปที่ 11) จาก (1) การขยายสาขาแบบเชิงรุกในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ พร้อมกับการปรับโมเดลธุรกิจให้ตอบโจทย์คนในพื้นที่มากขึ้น เช่น การเพิ่มขึ้นของร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กซึ่งเติบโตอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาและถือเป็นคู่แข่งโดยตรงของร้านค้า Traditional Trade ด้วยคุณลักษณะที่เหมือนกันแทบทุกประการ แต่ต่างกันตรงระบบบริหารจัดการที่ดีและทันสมัยกว่าซึ่งเป็นข้อได้เปรียบหลักในการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ และ (2) การควบรวมกิจการระหว่างผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะการควบรวมกันของกิจการใหญ่ เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้กับกิจการภายหลังการควบรวมแล้ว ยังเป็นการเพิ่มอำนาจตลาดให้กับผู้ประกอบการ ทั้งในส่วนของตลาดจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้บริโภค (Monopoly power) และในตลาดจัดหาสินค้าจากผู้ผลิต (Monopsony power)
2. ขนาดตลาดที่เล็กลง + ขาดโอกาสในการปรับตัว
นอกจากภาวะการแข่งขันในประเทศที่สูงขึ้นแล้ว เศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวชะลอลง โครงสร้างประชากรที่แก่ตัวลงรวดเร็ว ประกอบกับระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ต่างเป็นปัจจัยฉุดรั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศ อาจทำให้รายได้ของธุรกิจได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ลดลง ด้วยสาเหตุนี้ จึงเห็นผู้ค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่หลายราย นอกจากการทำโปรโมชั่นราคาพิเศษเพื่อรักษาส่วนแบ่งรายได้ในประเทศแล้ว ยังพากันกำหนดยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นการขยายสาขาในต่างประเทศเพื่อเพิ่มช่องทางให้กับรายได้ เช่น การขยายสาขาในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CMLV ที่กำลังเติบโตได้ดี (รูปที่ 12)
3. ออฟไลน์ vs. ออนไลน์
คู่แข่งของร้านค้าขนาดเล็กไม่ได้มีแค่การขยายสาขาของธุรกิจขนาดใหญ่อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการขยายตัวของร้านค้าที่ขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือ ธุรกิจ “e-Commerce” ซึ่งเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2020 ตลาด e-Commerce ในประเทศไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 6,814 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2010 ที่ 524 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 29% (รูปที่ 13)
ในระยะข้างหน้า ตลาด e-Commerce ยังมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลจากพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคที่หันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้การเติบโตของ e-Commerce ในไทยเป็นไปอย่างก้าวกระโดด
ส่วนแบ่งรายได้ของร้านค้าขนาดเล็กได้รับผลกระทบอย่างหนักมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 และไม่สามารถแข่งขันด้านราคาเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดภายในประเทศได้ เนื่องจากต้นทุนในการดำเนินงานที่สูงกว่า และขาดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการ อีกทั้งเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะกระโดดไปหาตลาดใหม่ ๆ ในต่างประเทศเช่นเดียวกับธุรกิจรายใหญ่ ส่งผลให้ร้านค้าขนาดเล็กนอกจากจะถูกกดดันจากขนาดของตลาดในประเทศที่เล็กลงและการแข่งขันด้านราคาจากรายใหญ่แล้ว ยังไม่สามารถปรับตัวเพื่อหาโอกาสการเติบโตใหม่ ๆ ในต่างประเทศได้
3. อุตสาหกรรมโรงแรมและที่พัก
นอกจากอุตสาหกรรมการผลิตและค้าส่งค้าปลีกแล้ว อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ส่งสัญญาณปัญหามาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 คือ อุตสาหกรรมโรงแรมและที่พัก ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังส่งผลให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและที่พักที่มีการเปิดใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี ข้อมูลจากศูนย์วิจัยด้านตลาดท่องเที่ยว โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พบว่า ในช่วงปี 2016–2020 มีธุรกิจโรงแรมและที่พักเปิดใหม่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง คือเฉลี่ยปีละประมาณ 3 หมื่นกว่าห้องทุกปี จนล่าสุด ณ สิ้นปี 2020 มีจำนวนสถานประกอบการที่เป็นที่พักแรมทุกประเภทอยู่ที่ 20,559 แห่ง คิดเป็นจำนวนห้องพักทั้งสิ้น 783,407 ห้อง โดยภาคใต้มีจำนวนห้องพักมากที่สุด คิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนห้องพักทั้งหมด (รูปที่ 14) ทั้งนี้ยังไม่รวมผู้ให้บริการที่ไม่จดทะเบียนใบอนุญาตประกอบการอย่างถูกต้องและห้องพักที่ให้บริการบนแพลตฟอร์มจองที่พักออนไลน์ เช่น Airbnb ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะหลัง
ที่พักล้น…คนพักลด
ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจโรงแรมและที่พักเริ่มเห็นสัญญาณมาตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 จากภาวะ “อุปทานล้นตลาด” (oversupply) สะท้อนจากอัตราการเข้าพัก (occupancy rate) ขยายตัวชะลอลง โดยเฉพาะหลังปี 2015 ที่อัตราการเข้าพักของนักท่องเที่ยวขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องจนกระทั่งติดลบในปี 2019 สวนทางกับจำนวนโรงแรมและที่พักที่ยังคงเปิดใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี (รูปที่ 15)
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ การแข่งขันด้านราคา (price war) ระหว่างผู้ให้บริการ โดยเฉพาะการทำโปรโมชั่นราคาพิเศษเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น โรงแรมระดับ 5 ดาว ลงมาแข่งขันกับ 4 ดาว และ 4 ดาวลงมาแข่งขันกับ 3 ดาว เป็นต้น ส่งผลให้ราคาห้องพักโดยเฉลี่ยปรับตัวลดลง กระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ให้บริการด้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่ส่วนใหญ่มีข้อจำกัดด้านต้นทุนการดำเนินงานและปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ข้อมูล NPL ratio ในภาพรวมของธุรกิจโรงแรมและที่พักอาจไม่แสดงให้เห็นถึงความวิกฤตของปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะถูกบดบังด้วยข้อมูลของธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการธุรกิจที่พักขนาดเล็ก แต่หากพิจารณาเฉพาะข้อมูลของผู้ประกอบการ SMEs จะพบว่าปัญหาดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่ปี 2017 สะท้อนจาก NPL ratio ของผู้ประกอบการ SMEs ทุกประเภทธุรกิจ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและอยู่ในระดับสูงกว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมและทวีความน่ากังวลมากขึ้นในปี 2019 ที่ NPL ratio ของธุรกิจขนาดเล็กบางประเภทพุ่งขี้นไปถึง 13% ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าและยังได้รับความช่วยเหลือด้านสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น จนทำให้ NPL ratio ปรับลดลง (รูปที่ 16)
แม้ภาครัฐจะมีการคลายมาตรการ lockdown และมีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ (“เราเที่ยวด้วยกัน”) ซึ่งช่วยให้ธุรกิจโรงแรมและที่พักเริ่มกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง แต่หากไทยยังไม่สามารถเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ สถานการณ์ของธุรกิจโรงแรมโดยรวมอาจจะยิ่งน่าเป็นห่วงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากภาระค่าใช้จ่ายและภาระหนี้ที่ต้องแบกรับมาเกือบหนึ่งปีเต็ม ทั้งนี้ การใช้จ่ายของคนไทยกันเองไม่สามารถชดเชยผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากรายได้ที่สูญเสียไปจากการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติได้หมด เนื่องจากการใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยสูงกว่าการใช้จ่ายเฉลี่ยของไทยเที่ยวไทยกันเองถึงกว่า 2 เท่า และมากกว่าการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยของคนไทยถึง 13 เท่า (ดู KKP Research เศรษฐกิจไทยจะฟื้นท่าไหน หากยังไร้นักท่องเที่ยว)
ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในโลกยุคใหม่
การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะการบริหารจัดการคุณภาพสินเชื่อที่มีแนวโน้มด้อยลงภายหลังการทยอยสิ้นสุดลงของมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบของสถาบันการเงินต่าง ๆ ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชะลอลงจากการระบาดระลอกใหม่ ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้ที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเสี่ยง (รูปที่ 17)
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเชิงโครงสร้างอื่น ๆ ที่ธนาคารพาณิชย์กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งกระทบต่อโครงสร้างรายได้และโมเดลธุรกิจ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ เศรษฐกิจชะลอทั่วโลก ภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน และพฤติกรรมการใช้บริการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะแยกวิเคราะห์ความเสี่ยงและความท้าทายของภาคธนาคารพาณิชย์ไทยในอีกโอกาสหนึ่ง
สภาพคล่องอย่างเดียวไม่ตอบโจทย์
สรุปได้ว่า ข้อมูลสินเชื่อไทยเป็นอีกหนึ่งเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของโครงสร้างธุรกิจไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิต การค้า และการท่องเที่ยว ที่มีสะสมอยู่แล้วก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะที่วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้เป็นเพียงหนึ่งปัจจัยที่มาซ้ำเติมสถานการณ์ของภาคธุรกิจไทยให้ยิ่งแย่ลงกว่าเดิม แม้ในภาพรวม ปัญหาเชิงโครงสร้างจะเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกรายต้องเผชิญ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการแต่ละรายจะแตกต่างกันไป โดยธุรกิจขนาดเล็กมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบหนักกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ จากความเสียเปรียบในการแข่งขันและความสามารถในการปรับตัว ทั้งด้านองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินธุรกิจหรือการปรับตัวในกรณีต่าง ๆ และความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เงินทุน เทคโนโลยี และการเข้าถึงตลาด
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าการช่วยเหลือเยียวยาด้วยมาตรการเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับธุรกิจอาจจำเป็นในการประคับประคองธุรกิจและการจ้างงานในระยะสั้น แต่อาจไม่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ธุรกิจไทยในหลายอุตสาหกรรมเผชิญมาตั้งแต่ก่อนวิกฤติโควิด-19
อีกทั้งมาตรการที่เป็นลักษณะเหมารวมหรือ one size fits all ที่ไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างของปัญหาในแต่ละประเภทอุตสาหกรรม คงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดหรือเป็นทางออกที่ยั่งยืน
สิ่งที่ควรพิจารณาควบคู่ไปด้วยคือแนวนโยบายที่ชัดเจนในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทย การส่งเสริมการยกระดับประสิทธิภาพของภาคการผลิตไทยด้วยการใช้เทคโนโลยีและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะรายเล็กและกลาง ด้วยการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงตลาด เทคโนโลยี และองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการที่ทันสมัย ประกอบกับการปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อลดอุปสรรคต่าง ๆ และลดอำนาจตลาดของรายใหญ่ สร้างสนามแข่งขันที่เท่าเทียมกันและเป็นธรรมมากขึ้น อันจะนำไปสู่การยกระดับของอุตสาหกรรมของประเทศโดยรวมที่กระจายอย่างทั่วถึงมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน