ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > IATA คาดการเดินทางส่วนบุคคลกลับมาครึ่งหลังปี’64

IATA คาดการเดินทางส่วนบุคคลกลับมาครึ่งหลังปี’64

13 มีนาคม 2021


ที่มาภาพ: https://www.straitstimes.com/business/economy/personal-travel-will-return-from-2nd-half-of-2021-iata-chief

การเดินทางส่วนบุคคลและการเดินทางเพื่อพักผ่อนจะกลับมาตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2021

การเดินทางส่วนบุคคลและการพักผ่อนจะกลับมาในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากการเปิดพรมแดนให้นักท่องเที่ยวที่รอคอยมานานสามารถเดินทางได้อย่างอิสระ รวมทั้งเพื่อกลับมารวมตัวกับครอบครัว และเพื่อน ๆ อีกครั้ง จากความเห็นของผู้อำนวยการสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ International Air Transport Association (IATA)ในการให้สัมภาษณ์กับ The Straits Times

นายอเล็กซานเดอร์ เดอ จูนิแอค กล่าวว่า การฟื้นตัวของการเดินทางเพื่อธุรกิจจะช้ากว่า และปริมาณการเดินทางที่แท้จริงภายในสิ้นปีจะยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ในปี 2019

“เราน่าจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์การเดินทางทางอากาศหลังเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนปีนี้” นาย เดอ จูนิแอคกล่าว “พวกเราที่ IATA กำลังทำงานร่วมกับรัฐในกำหนดแนวปฏิบัติ รวมทั้งโรดแมปสำหรับการเปิดพรมแดนอีกครั้ง”

ประเด็นหลักของแนวปฏิบัติเหล่านี้คือ Travel Pass ของ IATA ซึ่งเป็นแอปตรวจสอบสุขภาพบนมือถือ ที่บันทึกประวัติการฉีดวัคซีนของผู้เดินทางและผลการทดสอบโควิด-19 ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการตรวจสอบความปลอดภัยข้ามพรมแดน

สิงคโปร์แอร์ไลน์เป็นรายแรกที่ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะเริ่มทดสอบ IATA Travel Pass ในเที่ยวบินจากสิงคโปร์ไปยังลอนดอน

ตั้งแต่วันจันทร์เป็นต้นไป ผู้โดยสารในเส้นทางที่ใช้โทรศัพท์ซึ่งรองรับระบบปฏิบัติการ iOS ของแอปเปิล จะสามารถดาวน์โหลดแอป Travel Pass และสร้างบัตรประจำตัวดิจิทัล พร้อมข้อมูลภาพถ่ายและหนังสือเดินทาง

ตลอดจนสามารถส่งข้อมูลเที่ยวบินและจองการทดสอบโควิด-19 ได้ จาก 1 ใน 7 คลินิกที่เข้าร่วมในสิงคโปร์ หลังจากนั้นสามารถตรวจสอบผลการทดสอบได้โดยตรงบนแอป จากนั้นเจ้าหน้าที่เช็คอินที่สนามบินชางงีจะสามารถตรวจสอบสถานะผ่านแอปได้ซึ่งจะช่วยเร่งกระบวนการเช็คอินให้เร็วขึ้น

แต่เนื่องจากกฎข้อบังคับในปัจจุบัน ผู้เดินทางยังคงต้องพกสำเนาใบรับรองสุขภาพที่ออกโดยคลินิกทดสอบติดตัวไปด้วย

จีนเพิ่งประกาศเปิดตัวใช้ใบรับรองการฉีดวัคซีน หรือ vaccine passport ในขณะที่เยอรมนี และสหรัฐอเมริกาพร้อมที่จะประกาศใช้ใบรับรองการฉีดวัคซีนของตัวเองในเร็ว ๆ นี้

นายเดอ จูนิแอค ซึ่งจะเกษียณอายุจากการดำรงตำแหน่งที่ครบวาระ 5 ปีในเดือนหน้า และส่งมอบให้กับนายวิลลี วอลช์แห่ง IAG (ซึ่งเป็นบริษัทแม่บริติชแอร์เวย์) กล่าวว่า IATA ตั้งเป้าที่จะทำงานร่วมกับ 33 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลกในการเปิดพรมแดนและเที่ยวบินระหว่างประเทศ

ความต้องการที่จะเดินทางทางอากาศอั้นมานาน นายเดอ จูนิแอคระบุ และมองว่า การพักผ่อนและการเดินทางส่วนบุคคลกลับมาเร็วกว่าการเดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจ

“การเดินทางส่วนบุคคลจะกลับมาแน่นอน แต่การเดินทางเพื่อธุรกิจจะต้องใช้เวลาอีก 12 ถึง 18 เดือนในการฟื้นตัว” นาย เดอ จูนิแอคกล่าวโดยอ้างถึงการที่หลายบริษัท ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในปีที่ผ่านมาเพื่อเชื่อมต่อและดำเนินธุรกิจต่อไป

แต่ถึงแม้จะมีการเปิดพรมแดนอย่างค่อยเป็นค่อยไป นายเดอ จูนิแอคกล่าวว่า ปริมาณการจราจรของผู้โดยสารทางอากาศภายในสิ้นปีนี้จะยังคงค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ในปี 2019 แม้ว่าจะดีกว่าในช่วงกลางปี ​​2020

“รัฐบาลในหลายประเทศระมัดระวังและยังคงใช้สถานการณ์ฉุกเฉินท่ามกลางการเกิดของโควิดสายพันธุ์ใหม่” นายเดอ จูนิแอคกล่าว “ รัฐบาลต้องจัดการสถานการณ์ภายในประเทศก่อน”

แต่ IATA ซึ่งมีสมาชิกสายการบินทั่วโลก 290 รายหรือมีสัดส่วน 82% ของการเดินทางทั่วโลกและองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จะเร่งดำเนินการตามระเบียบการเพื่อให้การเดินทางทางอากาศมีความปลอดภัย “เรากำลังทำงานร่วมกับพันธมิตรของเราในการฉีดวัคซีน การทดสอบ และวางมาตรการการเดินทางทางอากาศที่ปลอดภัย” นายเดอ จูนิแอคกล่าว

ขณะเดียวกัน คาดว่า ICAO ซึ่งเมื่อปีที่แล้วได้ออกแนวทางต่างๆ เช่น หน้ากาก ประกาศเกี่ยวกับสุขภาพ และเว้นที่นั่งตรงกลางในเครื่องบิน จะประกาศแนวปฏิบัติล่าสุดสำหรับหลักเกณฑ์ด้านสุขภาพและความปลอดภัยภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

โฉมใหม่ของการบินในยุคนิวนอร์มอล

“ในระยะสั้นและระยะปานกลางจะมีสายการบินไม่กี่ราย และใช้เครื่องบินขนาดเล็ก สายการบินที่รอดพ้นจากวิกฤตนี้จะมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น โดยมีการลดต้นทุนและลดขนาดลงอย่างมาก”

“เราจะยังคงมีกลุ่มที่ให้บริการเต็มรูปแบบและต้นทุนต่ำ แต่ในกลุ่มผู้ให้บริการเต็มรูปแบบจะยังไม่เห็นการเดินทางเพื่อธุรกิจและการเดินทางระยะไกลกลับมาอีกระยะหนึ่ง”

แต่นายเดอ จูนิแอค ไม่คาดว่าจะการรวมกิจการในอุตสาหกรรมการบินมากนักเช่นกัน “เนื่องจากการขาดแคลนเงินสดอย่างรุนแรงในอุตสาหกรรมสายการบิน จะทำให้ไม่สามารถออกไปซื้อคู่แข่งได้ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อรัฐได้นำเงินของผู้เสียภาษีไปช่วยเหลือสายการบินแล้ว สานยการบินก็ไม่น่าจะขายทิ้งได้เลย”

และยังมองว่า วิกฤตครั้งนี้นำมาซึ่งบทเรียนที่สำคัญนั่นคือ อุตสาหกรรมจำเป็นต้องเสริมสร้างการจัดการทางการเงินให้เข้มแข็ง

แม้สายการบินที่แข็งแกร่งที่สุดก่อนเกิดวิกฤตจะรอดมาได้ แต่อุตสาหกรรมส่วนใหญ่กำลังดิ้นรนพร้อมกับอัตรากำไรขั้นต้นที่บางและงบดุล “ไม่สมดุล”

การที่รับมือกับวิกฤติสุขภาพก่อนหน้าเช่น โรคซาร์ส และอีโบลา สายการบินต่างก็เตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตนี้อย่างดีที่สุด และมีเครื่องมือ

“แต่วิกฤตการณ์ทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนแสดงให้เห็นว่า เราไม่ได้เตรียมพร้อมเพียงพอ เราต้องการความร่วมมือและการทำงานร่วมกันระหว่างพันธมิตรต่างๆ รวมทั้งรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแล” นายเดอ จูนิแอคกล่าว

ในทางภูมิศาสตร์ เอเชียแปซิฟิกจะเป็นภูมิภาคที่แข็งแกร่งที่สุดสำหรับการจราจรทางอากาศทั่วโลก นายเดอ จูนิแอคประเมิน

“เราเห็นการปรับตัวสูงขึ้นก่อนที่โควิดระบาด และตลาดจีนเป็นอันดับ 1 อยู่แล้ว และนำหน้าสหรัฐฯ แนวโน้มนี้จะเร่งตัวขึ้น”

แต่การเติบโตอาจไม่สม่ำเสมอ”ปัจจัยสำคัญ คือการที่แต่ละประเทศ และเขตปกครองเปิดพรมแดนของตนอย่างไร ขณะที่เริ่มมีการฉีดวัคซีนแล้วและเร่งการทดสอบให้มากขึ้น”