ThaiPublica > คอลัมน์ > ไม่ยอมเป็น “นายกฯ บนสายพาน”

ไม่ยอมเป็น “นายกฯ บนสายพาน”

25 ธันวาคม 2020


วรากรณ์ สามโกเศศ

Yoshihide Suga นายกรัฐมนตรี ญี่ปุ่น ที่มาภาพ : https://www.japantimes.co.jp/news/2020/12/25/business/suga-japan-regional-banks/

ผู้นำคนใหม่ของประเทศพัฒนาแล้วที่เข้าดำรงตำแหน่งอย่างเงียบเชียบในปัจจุบัน คงจะไม่มีใครเกินนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น สื่อต่างประเทศแทบไม่รู้จักเขาเลย ทั้งที่แท้จริงแล้วเขาเป็นสตรองแมนด้านการเมืองและกิจการในประเทศ ที่อยู่เบื้องหลังนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนที่แล้วยาวนานถึง 8 ปี การได้เป็นนายกรัฐมนตรีของเขานั้นน่าสนใจมาก

Shinzo Abe ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนสิงหาคมปีนี้หลังจากดำรงตำแหน่งมายาวนานถึง 8 ปี ซึ่งนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองญี่ปุ่น เนื่องจากป่วยเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ล่าสุดมันอักเสบขึ้นมาอย่างมากจนต้องตัดสินใจลาออก พรรค LDP (Liberal Democrat Party) พรรคใหญ่พรรคเดียวของญี่ปุ่นซึ่งครองอำนาจเกือบตลอดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองได้จัดให้มีการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งก็จะเป็นนายกรัฐมนตรีไปโดยปริยาย Yoshihide Suga ซึ่งเป็น Chief Cabinet Secretary คู่ใจของนายกรัฐมนตรีคนที่ลาออกชนะ จึงได้เป็นแทนเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

Chief Cabinet Secretary ตามชื่อก็คือเลขาธิการคณะรัฐมนตรีของไทย แต่อำนาจและความรับผิดชอบของญี่ปุ่นนั้นใหญ่โตและกว้างขวางมาก เป็นตำแหน่งการเมืองที่รับผิดชอบงานของนายกรัฐมนตรีโดยเฉพาะในเรื่องการเมืองและการทำงานของระบบราชการ Shinzo Abe และนายกรัฐมนตรีอีกหลายคนก็เคยอยู่ในตำแหน่งนี้ก่อนที่จะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

Suga (ออกเสียงว่า ซู่-กา โดยเน้นพยางค์แรก) อายุ 72 ปี เรียนจบปริญญาตรีด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัย Hosei ตั้งแต่เรียนจบก็เป็นผู้ช่วยสมาชิกผู้แทนราษฎรจนสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมือง Yokohama ในปี ค.ศ. 1987 และเป็น ส.ส. ครั้งแรกในปี 1996 ตั้งแต่เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรก็ชอบพอกับ ส.ส. ชื่อ Shinzo Abe เมื่อเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกระหว่าง ปี 2006-2007 Suga ก็ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในประเทศและสื่อสาร และในปี 2012 เมื่อ Abe ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย เขาก็ได้เป็น Chief Cabinet Secretary ร่วมชะตากรรมกันมาตลอด

ระหว่างหาเสียงในพรรคเมื่อเดือนสิงหาคมปีนี้ เขาบอกว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวเพื่อปกป้องสิ่งที่ลูกพี่ได้ทำไว้สัก 1 ปี แล้วพรรคค่อยเลือกนายก “ตัวจริง” หรือหัวหน้าพรรคในเดือนกันยายนปีหน้าหลังจากเลือกตั้งใหญ่ไปแล้ว

อย่างไรก็ดี หลังจากเขาได้เป็นแล้วสื่อวิจารณ์ว่าดูท่าเขาจะไม่เป็นนายกฯ ชั่วคราวเสียแล้ว เพราะมีคณะรัฐมนตรีที่เข้มแข็งและออกนโยบายที่ท้าทาย มีโครงการสำคัญในลำดับสูงถึง 40 โครงการ

ไม่ว่าจะมุ่งมั่นอย่างไรก็ตาม ปัญหาที่รัฐบาลจะต้องเผชิญหน้านั้นไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย มันคุกกรุ่นมาตลอดเวลาหลายปี ส่วนหนึ่งเป็นผลที่ต่อเนื่องมาจากสิ่งที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า The Lost Decades หรือทศวรรษที่สูญเสียไป (ค.ศ. 1990-2010) ซึ่งเกิดจากฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์แตก สถาบันการเงินไม่มั่นคง และผลพวงที่สำคัญยิ่งก็คือผลิตภาพของประเทศที่คงตัวในขณะที่จีนทะยานตัวขึ้นมาอย่างแรง

ปัญหาสำคัญก็คือขนาดของประชากรที่ลดน้อยลง และมีสัดส่วนของคนสูงอายุสูงขึ้น ทำให้ประชากร 127 ล้านคนจะลดลงเหลือ 102 ล้านในปี 2050 แรงขับเคลื่อนที่สร้างการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจซึ่งอาศัยแรงงานจากประชากรก็จะหายไป การระบาดของไวรัสโคโรนาทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวถึงกว่าร้อยละ 6 ในปีนี้ ซึ่งจะซ้ำเติมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่สูงอยู่แล้ว

ญี่ปุ่นได้ใช้การท่องเที่ยวเป็นตัวช่วยผลักดันเศรษฐกิจ โดยในปี 2019 มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ 31.9 ล้านคน เกือบครึ่งคือคนจีนและเกาหลีใต้ การแข่งขันทางการค้ากับจีนที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก และอันดับ 3 คือญี่ปุ่น ทำให้ความสัมพันธ์มิได้ราบรื่นอย่างที่ประสงค์ที่ค่อยยังชั่วก็คือการที่โดนัลด์ ทรัมป์ หลุดไปจากวงโคจรของการเมืองโลก ซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาอยู่บนฐานที่เป็นปกติมากขึ้น

ญี่ปุ่นไม่อาจมีกองทัพป้องกันประเทศได้ภายใต้รัฐธรรมนูญหลังสงครามโลกครั้งที่สองและมีสนธิสัญญากับสหรัฐอเมริกาให้ความคุ้มครองทางทหาร สหรัฐอเมริกามีท่าทีที่จะถอนทหารออกจากฐานทัพในญี่ปุ่นด้วยซ้ำจนทำให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้น

Suga ที่ไม่สันทัดในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ต่างจาก Abe ที่ถนัดด้านนี้และมักปล่อยด้านในประเทศให้ Suga จัดการ มาครั้งนี้ Suga จึงมีรัฐมนตรีต่างประเทศมือเก่าที่เป็นนักต่อรองและเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาในด้านเศรษฐกิจที่ Suga ย้ำว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เขาได้ Taro Aso อดีตนายกรัฐมนตรีมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการคลังเพื่อรับมือกับปัญหาโดยเฉพาะ

ประวัติความเป็นมาและบุคลิกภาพของ Suga อาจช่วยตอบปัญหาได้ว่าเขาจะรับมือกับสารพัดปัญหาได้หรือไม่ Suga ได้ชื่อว่าเป็นคนที่ขยันและทำงานเก่ง หากข้าราชการคนใดทำงานไม่เป็นไปตามเป้าเขาก็ไม่เก็บไว้ เขาเข้าใจกลไกของระบอบราชการและการเมืองดีเพราะมีประสบการณ์สูงจากการเคยทำงานในตำแหน่งสำคัญๆ

เป็นที่รู้กันทั่วว่าเขาเป็นคนที่มีวินัยส่วนตัวสูงมาก ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ เมื่อหมอทักว่าอ้วนไป เขาลดน้ำหนักได้ 14 กิโลกรัมในเวลา 4 เดือน ทุกวันตื่นตีห้า ออกกำลังบริหารหน้าท้อง 100 ครั้ง เดินเร็วอีก 40 นาที อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับสำคัญทุกฉบับ ตอนเย็นบริหารแบบเดิมอีก 100 ครั้ง บ่อยครั้งในวันเสาร์อาทิตย์จะเรียกข้าราชการและนักธุรกิจมาให้ข้อมูลเพื่อเรียนรู้เรื่องราวและปัญหาต่างๆ

Suga ได้ชื่อว่าเป็นคนที่มีชีวิตเดินตามแผนกลยุทธ์ส่วนตัวอย่างละเอียดทุกขั้นตอน ถึงแม้จะเป็น ส.ส. ครั้งแรกเมื่ออายุ 47 ปี ซึ่งถือว่าสายเกินไปก็สามารถไต่ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ด้วยความขยัน บากบั่นมานะ ทำงานหนัก โดยตระหนักว่าตนเองไม่มีแต้มต่อ ไม่ได้จบมหาวิทยาลัยโตเกียว วาเซดะ เคโอะ หรือเกียวโต เหมือนนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นโดยทั่วไป หากจบจาก Hosei ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนมีชื่อด้านกฎหมายและการเมือง (Abe จบจากมหาวิทยาลัย Seikei) เป็นลูกของเกษตรกรปลูกสตรอว์เบอรีในชนบทจากจังหวัด Akita ต้องเรียนมหาวิทยาลัยไปทำงานไป (ทั้ง Abe และ Aso มีปู่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี)

หากจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี “ตัวจริง” หลังจาก 1 ปี ผ่านพ้นไป เขาจะต้องแสดงฝีมือให้ประชาชนเห็นและยอมรับในระดับอย่างน้อยใกล้เคียงที่เขาได้รับอยู่ในตอนนี้คือร้อยละ 74 และชนะเลือกตั้งทั่วไปอย่างประทับใจ ถึงแม้ญี่ปุ่นจะมีปัญหาหนักอกหลายเรื่อง แต่ด้วยคุณภาพของประชาชนโดยพื้นฐานและการนำของนายกรัฐมนตรีที่มีความสามารถ การฟาดฟันเอาชนะได้ในระดับหนึ่งจนได้เป็น “ตัวจริง” ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้

หาก Suga ได้อยู่ต่อเป็น “ตัวจริง” ก็อาจหลุดพ้นจากการเป็นสมาชิกของกลุ่มนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นก่อนหน้า Abe ที่เป็น “นายกฯ บนสายพาน” กล่าวคือมาแล้วก็ไปอย่างรวดเร็วจนประชาชนจำชื่อไม่ได้ ญี่ปุ่นมีนายกรัฐมนตรีถึง 9 คนระหว่าง ค.ศ. 2001–2011 สูงสุดเป็นอยู่ 2 ปีกว่า จนต่ำสุด 266 วัน มีอยู่ 6 คน ที่เป็นประมาณคนละ 1 ปี

ลูกเกษตรกรยูโดสายดำคนนี้ไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน ถึงแม้จะมีอายุน้อยกว่าทรัมป์ 2 ปี และไบเดน 6 ปี แต่ก็มีสุขภาพแข็งแรง มีความมุ่งมั่นทำงานรับใช้ชาติ เรามาช่วยกันเป็นกำลังใจให้ท่านเพราะญี่ปุ่นเป็นทั้งมหามิตรด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของไทยเราในปัจจุบัน

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 22 ธ.ค. 2563