ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดชี้ผลวิจัยกองทุนชั้นนำโลก ไทยติดเรดาร์น่าลงทุน แนะเร่งเครื่อง หวั่นพลาดเป้า SDGs ปี 2573

สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดชี้ผลวิจัยกองทุนชั้นนำโลก ไทยติดเรดาร์น่าลงทุน แนะเร่งเครื่อง หวั่นพลาดเป้า SDGs ปี 2573

26 พฤศจิกายน 2020


https://events.economist.com/events-conferences/asia/webinar-50-trillion-dollar-question

สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดชี้ผลวิจัยล่าสุด ไทยติดเรดาร์น่าลงทุน แนะเร่งเครื่อง หวั่นพลาดเป้า SDGs ปี 2573

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นกองทุนชั้นนำของโลก 300 แห่ง ซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการรวมกันมากกว่า 50 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ผลการสำรวจพบว่า

  • ร้อยละ 20 ไม่ตระหนักถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals : SDGs)
  • มีเพียงร้อยละ 13 ของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการมูลค่า 50 ล้านล้านเหรียญที่เกี่ยวข้องกับ SDGs
  • ร้อยละ 64 ของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการลงทุนอยู่ในภูมิภาคยุโรป และอเมริกาเหนือ โดยร้อยละ 22 อยู่ในภูมิภาคเอเชียซึ่งมีตลาดพัฒนาแล้วรวมอยู่ด้วย
  • ช่องว่างการลงทุนที่มีอยู่ในตลาดประเทศเกิดใหม่สะท้อนให้เห็นว่า การจะทำให้ได้ตามเป้าหมายของ SDGs ที่กำหนดไว้ในปี 2573 เป็นที่น่ากังวลยิ่ง
  • สำหรับกองทุนที่ได้ลงทุนในตลาดเกิดใหม่ในอาเซียนแล้ว (เวียดนาม, อินโดนีเซีย, ไทย, ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย) ร้อยละ 39 บอกว่ามีแนวโน้มจะเพิ่มการลงทุนในอนาคต
  • ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยร้อยละ 45 ของกองทุนที่มีการเติบโตสูง วางประเทศไทยในกลยุทธ์การลงทุนในตลาดเกิดใหม่
  • ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เปิดเผยรายงานฉบับล่าสุด ชี้ประเทศไทยและประเทศเกิดใหม่ในภูมิภาคอาเซียน ยังขาดการลงทุนที่เพียงพอจะทำให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals : SDGs)

    รายงาน The $50 Trillion Question ทำการศึกษาลักษณะการลงทุนของกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการรวมกันกว่า 50 ล้านล้านเหรียญ ท่ามกลางช่วงเวลาที่สำคัญเช่นปัจจุบันที่มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของโลก

    ยังขาดเงินลงทุนที่เชื่อมโยงกับเป้าหมาย SDGs

    รายงานฉบับนี้สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองด้านความยั่งยืนซึ่งกำลังเป็นที่สนใจมากยิ่งขึ้น โดยร้อยละ 81 ของกองทุนเหล่านี้ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ยังไม่ได้รับการส่งผ่านไปยังการลงทุนที่ตอบโจทย์เป้าหมาย SDGs โดยมีเพียงร้อยละ 13 ของสินทรัพย์ที่บริหารจัดการโดยผู้ตอบแบบสำรวจเท่านั้นที่เป็นการลงทุนที่เชื่อมโยงกับเป้าหมาย SDGs

    ร้อยละ 55 ให้ความเห็นว่าเป้าหมาย SDGs ไม่สอดคล้องกับการลงทุนหลักของกองทุน ในขณะที่ร้อยละ 47 บอกว่าการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ SDGs วัดผลได้ยาก อย่างไรก็ตาม หนึ่งในห้าของผู้ตอบแบบสำรวจยอมรับว่าพวกเขายังไม่ได้ตระหนักดีถึงเป้าหมาย SDGs

    ผู้ตอบแบบสำรวจให้ความเห็นว่าปัจจัย 5 ประการที่จะทำให้การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมาย SDGs มีมากขึ้น คือ การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ, สิทธิประโยชน์ทางภาษี, หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงผลตอบแทนที่สูงกว่า, ข้อมูลที่ชัดเจนกว่าในปัจจุบันในด้านการวัดผลกระทบ และความสนใจที่เพิ่มขึ้นจากนักลงทุนรายย่อย

    ประเทศเกิดใหม่ขาดการลงทุนอย่างมหาศาล

    รายงานพบว่า เกือบสองในสาม (ร้อยละ 64) ของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการลงทุนอยู่ในตลาดพัฒนาแล้วในภูมิภาคยุโรป และอเมริกาเหนือ ส่วนภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีตลาดพัฒนาแล้วรวมอยู่ด้วยหลายแห่ง มีสัดส่วนการลงทุนอยู่ที่ร้อยละ 22 ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 2 ลงทุนอยู่ในตะวันออกกลาง ร้อยละ 3 ในแอฟริกา และร้อยละ 5 ในอเมริกาใต้ ตามลำดับ

    ตัวเลขการลงทุนในระดับต่ำนี้ ขัดแย้งกับผู้จัดการกองทุนที่ตอบแบบสำรวจร้อยละ 88 ซึ่งบอกว่าการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ให้ผลตอบแทนเท่ากับหรือดีกว่าผลตอบแทนจากตลาดพัฒนาแล้วในช่วงสามปีที่ผ่านมา

    ความเสี่ยงในประเทศเกิดใหม่เป็นปัจจัยสำคัญที่ถ่วงน้ำหนักการลงทุน โดยมากกว่าสองในสามของผู้ตอบแบบสำรวจเชื่อว่าประเทศเกิดใหม่เป็นตลาดที่มีความเสี่ยงสูง ในขณะที่ร้อยละ 42 เห็นว่าความเสี่ยงอยู่ในระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว

    อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสำรวจที่ได้ลงทุนในตลาดเกิดใหม่อาเซียนอยู่แล้ว มีมุมมองที่เป็นบวกต่อภูมิภาคนี้ โดยร้อยละ 39 คาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในช่วง 3 ปีข้างหน้า เป็นไปในทิศทางเดียวกับร้อยละ 68 ของบริษัทขนาดใหญ่ 10 อันดับแรก ที่คาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในภูมิภาคนี้

    ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยร้อยละ 45 ของผู้จัดการกองทุนที่มีการเติบโตสูง วางประเทศไทยในกลยุทธ์การลงทุนในตลาดเกิดใหม่

    นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด -19 อาจส่งผลให้การลงทุนมายังประเทศเกิดใหม่ยากขึ้น โดยร้อยละ 70 ของผู้ตอบแบบสำรวจเชื่อว่าโรคระบาดในครั้งนี้ได้ขยายช่องว่างเงินทุนให้ถ่างออกไปอีก

    นายไซม่อน คูเปอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงาน Corporate, Commercial and Institutional Banking ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวว่า “ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีพัฒนาการในการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องเป้าหมาย SDGs อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความจำเป็นที่ต้องเร่งตัวขึ้น การจะบรรลุเป้าหมาย SDGs ตามที่ตั้งเป้าไว้ในปี 257 จำเป็นต้องมีการลงทุนจากภาคเอกชนมูลค่ามหาศาลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ผนวกกับการลงทุนของภาครัฐและพันธกิจร่วมกันที่จะปิดช่องว่างนี้ และก้าวไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน

    นายพลากร หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)

    นายพลากร หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า “ไม่มีคำตอบใดที่ตอบโจทย์คำถามมูลค่า 50 ล้านล้านเหรียญสหรัฐนี้ได้อย่างครบถ้วน แต่สิ่งที่แน่ชัดคือ นักลงทุนจำเป็นต้องมองไปให้ไกลกว่าตลาดพัฒนาแล้ว ภูมิภาคเกิดใหม่อย่างอาเซียน และประเทศเกิดใหม่อื่นๆ โดยรวมแล้วมีโอกาสเฉพาะตัวที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน นั่นคือ ผลตอบแทนดี และโอกาสในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่มีนัยสำคัญ ตอนนี้ถึงเวลาที่จะคว้าโอกาสนั้นแล้ว”

    ผลสำรวจ $50 Trillion Question เป็นการศึกษาล่าสุดต่อยอดจากรายงาน Opportunity2030 The Standard Chartered SDG Investment Map ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสมูลค่าหลายล้านล้านเหรียญสหรัฐสำหรับนักลงทุนภาคเอกชนที่สามารถช่วยผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย SDGs ในตลาดเกิดใหม่

    กลุ่มนักลงทุนผู้ตอบแบบสำรวจ $50 Trillion Question ประกอบไปด้วยผู้จัดการกองทุนจากบริษัทจัดการกองทุนชั้นนำของโลก 300 แห่ง ซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการรวมกันกว่า 50 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับครึ่งหนึ่งของจีดีพีโลก โดยวิธีการเลือกลงทุนของผู้จัดการกองทุนที่ตอบแบบสอบถามจะมีผลต่อความสามารถของมนุษยชาติในการแก้ปัญหาความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดในโลก บทสำรวจนี้มาจากการสัมภาษณ์เชิงลึก โดยจัดทำในระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม พ.ศ. 2563

    ตารางด้านล่างแสดงให้เห็นถึงสัดส่วนของผู้ตอบแบบสอบถามแยกตามมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ หน้าที่ และภูมิภาคที่อาศัย โดยเป็นตัวแทนของผู้จัดการกองทุนชั้นนำของโลก 300 ราย

    ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในรายงาน Standard Chartered $50 Trillion Question ฉบับเต็มได้ที่
    https://www.sc.com/en/insights/50-trillion-question/

    ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเป็นกลุ่มธนาคารสากลชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจใน 60 ตลาดที่มีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว และให้บริการลูกค้าในอีก 85 ตลาด โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการค้า การลงทุนและการสร้างความมั่งคั่ง หลักการที่สืบทอดมาและค่านิยมองค์กรของเราสะท้อนอยู่ในพันธกิจของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดที่ว่า Here for good

    ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดจำกัด มหาชน ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในลอนดอนและฮ่องกง นอกจากนี้ยังได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์บอมเบย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งชาติในประเทศอินเดียอีกด้วย