ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ผลกระทบ SDGs จากวิกฤติโควิด-19และมาตรการรับมือหลังการระบาด

ผลกระทบ SDGs จากวิกฤติโควิด-19และมาตรการรับมือหลังการระบาด

26 เมษายน 2020


แม้เราอาจจะได้ข่าวดีสำหรับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นจากการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการปิดเมืองทั่วโลก แต่นั่นเป็นเพียงข่าวดีระยะสั้นเพราะจากการประเมินขององค์กรสหประชาชาติระบุว่า ในระยะยาวผลกระทบจากโควิด-19 จะทำให้ความมุ่งมั่นเรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายที่ 13 ว่าด้วยการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ในระยะยาว

ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ จะยังส่งผลสะเทือนกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าต้องบรรลุภายในปีค.ศ.2050 โดยในรายงาน Shared Responsibility, Global, Solidarity: Responding to the socio-economic impacts of COVID-19 ขององค์การสหประชาชาติ ประเมินไว้อย่างชัดเจน โดยระบุว่า “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)” ขององค์การสหประชาชาติจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสครั้งใหญ่แห่งศตวรรษเช่นกัน โดยกลุ่มคนที่เปราะบางและได้รับผลกระทบจากวิกฤตรอบนี้หนักที่สุดก็คือ ผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ และแรงงานนอกระบบ

สำหรับด้านสิ่งแวดล้อมนั้น หากมองในระยะสั้น ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะดีขึ้น มลพิษลดลงไปตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่น้อยลง เพราะผู้คนต้องเก็บตัวอยู่กับบ้าน มีการเดินทางน้อยลง หลายอุตสาหกรรมต้องหยุดงานชั่วคราว เช่น การบิน โรงงานอุตสาหกรรม ทำให้มีการปล่อยคาร์บอนน้อยลง แต่ก็เชื่อว่าหากขาดความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้ว มลพิษต่างๆ ก็คงกลับมาเหมือนเดิมเมื่อเศรษฐกิจโลกกลับมาเดินหน้าตามปกติอีกครั้ง

โควิด-19 ส่งผลอย่างไรต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

วิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

  • เป้าหมายที่ 1 การสูญเสียรายได้จะทำให้กลุ่มคนที่มีความเปราะบางในสังคมและหลายบ้านมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน
  • เป้าหมายที่ 2 เกิดปัญหาในการผลิตและการกระจายอาหาร
  • เป้าหมายที่ 3 ผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ
  • เป้าหมายที่ 4 หลายโรงเรียนถูกปิด การเรียนทางไกลอาจทำให้การเรียนมีประสิทธิภาพน้อยลงและนักเรียนบางคนไม่สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้
  • เป้าหมายที่ 5 ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของผู้หญิงจะตกอยู่ในความเสี่ยง ความรุนแรงของผู้หญิงเพิ่มระดับขึ้น และส่วนใหญ่ของคนทำงานสาธารณสุขและสังคมเป็นผู้หญิงจึงมีโอกาสได้รับความเสี่ยงมาก
  • เป้าหมายที่ 6 การเข้าถึงน้ำสะอาดที่ไม่เพียงพอเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อล้างมือซึ่ง เป็นหนึ่งในมาตรการป้องกัย โควิด-19 ที่สำคัญที่สุด
  • เป้าหมายที่ 7 การจัดหาพลังงานและกำลังคนขาดแคลน ทำให้การเข้าถึงไฟฟ้าชะงักลง การตอบสนองของระบบดูแลสุขภาพและสมรรถภาพต่ำลง
  • เป้าหมายที่ 8 กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ได้รับรายได้น้อยลง เวลาทำงานลดลง บางอาชีพตกงาน
  • เป้าหมายที่ 11 ประชากรที่อยู่อาศัยในสลัมต้องเผชิญความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19มากกว่าเพราะความหนาแน่นในพื้นที่และปัญหาเรื่องสุขาภิบาล
  • เป้าหมายที่ 13  ความเข้มแข็งกับการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลดลง แต่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ลดลงจากการผลิตลดลง เนื่องจากปริมาณการผลิตและการขนส่งลดลง
  • เป้าหมายที่ 16 ความขัดแย้งทำให้มาตรการต่อสู้โควิด-19 ไม่มีประสิทธิภาพ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งมีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะเกิดความสูญเสียจากโรค
  • เป้าหมายที่ 17 ซ้ำเติมความเห็นด้านลบต่อโลกาภิวัฒน์ แต่ก็เป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศด้านสาธารณสุข

ทั้งนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเป้าหมาย ที่ 11, เป้าหมายที่ 8,เป้าหมายที่ 5 และเป้าหมายที่ 4 จะส่งผลกระทบอย่างมากกับเป้าหมายที่ 10 ในการลดความเหลื่อมล้ำ

ที่มาภาพ : https://www.un.org

ในรายงานระบุผลกระทบจากเป้าหมายด้านสุขภาพ   ความเป็นอยู่ที่ดี การพัฒนาเมืองและชุมชนยั่งยืน (เป้าหมายที่ 11) การมีน้ำสะอาดและสุขอนามัยที่ดี (เป้าหมายที่6) เพราะการระบาดของโรคส่งผลเสียรุนแรงต่อสุขภาพของคน โดยเฉพาะคนที่อยู่ในสลัมจะต้องเสี่ยงติดเชื้อมากกว่า เพราะพื้นที่อาศัยแออัด มีปัญหาด้านสุขอนามัย ไม่ต่างจากคนที่อยู่ในพื้นที่ขัดแย้งที่มีความเสี่ยงเสียชีวิตจากโรค เพราะความขัดแย้งทำให้มาตรการรับมือโรคไม่มีประสิทธิภาพ ขณะที่คนจำนวนมากที่ไม่มีน้ำสะอาดใช้หรือมีไม่เพียงพอก็ได้รับผลเสียเช่นกัน เพราะน้ำสะอาดเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่ดีที่สุด

ขณะเดียวกัน ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้โอกาสในการบรรลุเป้าหมายด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การมีงานทำ (เป้าหมายที่ 8) การขจัดความยากจน (เป้าหมายที่ 1) และขจัดความหิวโหย (เป้าหมายที่ 2) ความเท่าเทียมทางเพศ (เป้าหมายที่ 5) ลดความไม่เท่าเทียมโดยรวม (เป้าหมายที่10) เพราะการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส ประเทศต่างๆ ได้ตัดสินใจปิดเมือง ปิดประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก คนมีรายได้น้อยลง เวลาทำงานน้อยลง และบางคนก็ตกงานทันทีโดยไม่ได้ตั้งตัว โดยเฉพาะหากเกิดกับคนกลุ่มเปราะบางในสังคม ปัญหาก็จะยิ่งหนักหน่วงกว่าทั่วไป ทำให้หลายครอบครัวมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน และเมื่อพูดถึงงานพบว่า คนทำงานด้านสาธารณสุขและสังคมสงเคราะห์ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ COVID-19 มากกว่าคนอาชีพอื่น อีกทั้งการระบาดของโรคทำให้หลายพื้นที่เกิดปัญหาด้านการผลิตและการกระจายอาหารอีกด้วย

นอกจากนี้ วิกฤติโควิด-19 ยังส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา (เป้าหมายที่ 4) เมื่อสถาบันการศึกษาปิด การเรียนการสอนทางไกลยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และเด็กจำนวนมากก็ขาดอุปกรณ์จำเป็นสำหรับการเรียนทางไกล ส่วนในแง่ของเป้าหมายพลังงานสะอาด (เป้าหมายที่ 7)ในราคาสมเหตุสมผลก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากการขาดแคลนบุคลากรและอุปทานทำให้เกิดปัญหาการเข้าถึงไฟฟ้า ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังระบบดูแลสุขภาพ

อย่างไรก็ตามในวิกฤติครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ได้เห็นว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศมีความจำเป็นอย่างมากที่จะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ ดังจะเห็นได้จากความร่วมมือระหว่างประเทศด้านสาธารณสุขเพื่อแก้วิกฤติใหญ่ของมวลมนุษยชาติ

เราจะก้าวผ่านวิกฤติให้สำเร็จอย่างยั่งยืนได้อย่างไร

มาตรการระดับโลกรับมือวิกฤติ

 การล็อกดาวน์เพื่อสู้วิกฤติ โควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลกทั้งในแง่ของอุปสงค์และอุปทานที่ชะงักงัน รัฐบาลประเทศต่างๆ จึงต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่เพื่อพยุง เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และฟื้นความเชื่อมั่นให้คืนกลับมาในอนาคต นอกจากช่วยเหลือองค์กรธุรกิจทุกขนาดให้ยืนหยัดในวงการได้ต่อไป เพื่อหลีกเลี่ยงการปลดพนักงาน ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความสำคัญและช่วยเหลือซัพพลายเออร์และผู้บริโภคไปพร้อมๆ กันด้วย

มาตรการการเงินการคลังที่ใช้จะต้องช่วยเหลือแรงงานทุกกลุ่ม รวมถึงลูกจ้างรายวัน และแรงงานนอกระบบ เพื่อช่วยให้คนเหล่านี้มีงานทำและมีรายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว มีการชดเชยค่าจ้างอย่างเหมาะสม

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องเน้นการกระจายทรัพยากรไปยังคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางที่สุด พร้อมยกระดับความพร้อมด้านการสาธารณสุขฉุกเฉิน การดูแลทางสังคม มีการลดหย่อนภาษี ช่วยเหลือให้คนเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การประกันสุขภาพ และเงินชดเชยว่างงาน เป็นต้น

ช่วงวิกฤติโควิด-19 จำเป็นต้องผ่อนปรนมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ โดยเฉพาะการขนส่งยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นระหว่างประเทศ ด้วยการลดภาษีนำเข้าหรือการยกเลิกการห้ามขนส่ง เป็นต้น เพื่อให้ทุกประเทศมียาและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสและรักษาผู้ป่วย อีกทั้ง ต้องยกเลิกการคว่ำบาตรประเทศต่างๆ เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นมีอาหาร และเครื่องมืออุปกรณ์จำเป็นสำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดและรักษาผู้ป่วย โควิด-19 เพียงพอกับความต้องการ

นอกจากนี้ ต้องมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้น้อย เช่น ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยตลอดปีนี้ การลดหนี้ การสว็อปหนี้ เป็นต้น รวมถึงการปล่อยเงินกู้แก่ประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งที่ผ่านมา องค์กรระหว่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลก ก็ได้ประกาศปล่อยกู้เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกให้ฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปให้สำเร็จ

ขณะที่บรรดาธนาคารกลางประเทศสำคัญๆ ของโลก และสถาบันการเงินระหว่างประเทศสามารถผนึกกำลังกันเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบการเงิน โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ได้ด้วย

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากการประบาดของไวรัสโควิด-19 ในภูมิภาคต่างๆ ที่มา: UN

มาตรการระดับภูมิภาค…รอดไปด้วยกัน

 ในช่วงวิกฤติ การค้าเสรีสินค้าและบริการภายในภูมิภาคเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าทุกรูปแบบที่จะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าและส่งออกยาและอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ที่จำเป็น รวมถึงต้องมีระบบที่ช่วยให้การขนส่งสินค้าข้ามแดนไปยังประเทศต่างๆ ได้อย่างสะดวก

ส่วนด้านการเงิน ควรมีความร่วมมือกับสถาบันการเงิน ซึ่งรวมบริษัทประกันเพื่อหาโซลูชั่นและแนวทางเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้หลังสถานการณ์คลี่คลายแล้ว

 วิกฤติโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงัก สะท้อนถึงความเปราะบางของซัพพลายเชนและการใช้ทรัพยากรที่ขาดประสิทธิภาพในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นจึงถึงเวลาต้องทบทวนเรื่องเหล่านี้กันใหม่ เพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้กับระบบซัพพลายเชนและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด

เช่น การให้ความสำคัญและนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)ไปปฏิบัติอย่างจริงจัง การมีมาตรการดูแลจัดการสภาพภูมิอากาศ และการยกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศต่างๆ เป็นต้น รวมถึงควรมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมแบบเบ็ดเสร็จเพื่อจัดการประเด็นปัญหาข้ามพรมแดน ที่อาจช่วยป้องกันและลดผลกระทบของโรคระบาดระดับโลกแบบนี้ในอนาคต ควรมีการวางกรอบนโยบายร่วมกัน เช่น กำหนดมาตรฐานสุขอนามัยที่สอดคล้องกัน การแก้ปัญหาภัยคุกคามที่เกี่ยวกับการค้าผิดกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

มาตรการระดับประเทศ… ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

มาตรการการคลังที่มีเป้าหมายชัดเจนเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพื่อช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการแพร่ระบาดของไวรัสครั้งนี้ เพื่อให้พวกเขาได้รับบริการทางการแพทย์อย่างเหมาะสมและใช้ชีวิตต่อไปได้ เช่น การแจกเงินให้ผู้ได้รับผลกระทบ การจัดสวัสดิการสังคม การชดเชยรายได้ระหว่างเจ็บป่วย ส่วนในระดับผู้ประกอบการอาจมีการลดหย่อนภาษีหรือยืดเวลาเสียภาษี สมทบการจ่ายค่าจ้างพนักงานเพื่อทำให้บริษัทดำเนินธุรกิจต่อไปได้และไม่ปลดพนักงานช่วงเกิดวิกฤติ

ขณะเดียวกัน ต้องดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนและไม่เลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะคนกลุ่มเปราะบางของสังคมที่มักได้รับผลกระทบหนักที่สุด เช่น ทุกคนต้องมีสิทธิรับบริการตรวจคัดกรองเชื้อและการรักษากรณีเจ็บป่วยโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ มีการให้ข้อมูลจำเป็นและชัดเจนแก่คนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้พิการและครอบครัว ดูแลคนไร้บ้านและคนกลุ่มเปราะบางอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ และมีการเตรียมมาตรการเปิดเรียนหลังวิกฤติ ตลอดจนมีนโยบายส่งเสริมการจ้างงานในระยะสั้นและระยะยาวให้คนทุกกลุ่มโดยเฉพาะคนรุ่นหนุ่มสาวด้วย

ในส่วนของผู้ประกอบการ SMEs ต้องมีมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนโดยตรงทันที เพื่อช่วยให้ทำธุรกิจต่อไปได้ หน่วยงานราชการอาจมีการจัดซื้อฉุกเฉินเพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีมาตรการลดการจ่ายสมทบประกันสังคมชั่วคราว ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม มีส่วนลดภาษี และอาจมีการอุดหนุนเงินทุนเพื่อให้ SMEs สามารถนำไปใช้จ่ายค่าเช่า ค่าน้ำค่าไฟ จ่ายเงินเดือนพนักงาน และใช้จ่ายจำเป็นอื่นๆ ทั้งนี้ ต้องมีมาตรการเพื่อธุรกิจนอกระบบ ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 80% ของผู้ประกอบการทั่วโลก และโดยทั่วไปคนกลุ่มนี้จะได้รับประโยชน์จากนโยบายภาครัฐ

อีกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤติ โควิด-19 คือ สถาบันการศึกษาที่ต้องปิดทำการ ทำให้นักเรียนนักศึกษาต้องหันไปเรียนทางไกลแทน สำหรับเรื่องนี้ ต้องร่วมมือกันคิดค้นและจัดหาโซลูชั่นการศึกษาทางไกลที่มีประสิทธิภาพ พร้อมช่วยให้ครูและผู้ปกครองคุ้นเคยและบริการจัดการการเรียนที่บ้านได้ดีมากขึ้น ต้องมีนโยบายและแนวทางปฏิบัติต่างๆ ที่ทำให้ทุกคนมีโอกาสเรียนรู้ได้เหมือนกัน โดยไม่ปล่อยให้วิกฤติซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ย่ำแย่ลงไปอีก

นอกจากนี้ ต้องมีมาตรการส่งเสริมการกระชับความสัมพันธ์ทางสังคม หลังจากผู้คนต้องเว้นระยะห่างทางกายเพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของไวรัสมาระยะหนึ่ง ด้วยการเปิดโอกาสให้เข้าถึงแหล่งข้อมูลด้านวัฒนธรรมและการศึกษาได้ฟรี เพื่อช่วยเยียวยาความรู้สึกโดดเดี่ยวทางสังคมของผู้คนลงได้

วิกฤติ โควิด-19 คือ ความท้าทายครั้งสำคัญของมวลมนุษยชาติ ที่จะพลิกโฉมสรรพสิ่งไปตลอดกาล ซึ่งหากมีมาตรการรับมือวิกฤติได้ดีในทุกขั้นตอน และร่วมมือร่วมใจปฏิบัติกันอย่างจริงจัง ก็เชื่อว่า เราจะฝ่าวิกฤติครั้งใหญ่ครั้งนี้ไปได้ และพร้อมจะรับมือวิกฤติอื่นๆ ในอนาคตได้อย่างดีเช่นกัน