ThaiPublica > เกาะกระแส > Krungthai COMPASS ชวนรู้จัก… “บริษัทบริหารสินทรัพย์ – มาตรการโกดังพักหนี้ ”

Krungthai COMPASS ชวนรู้จัก… “บริษัทบริหารสินทรัพย์ – มาตรการโกดังพักหนี้ ”

23 พฤศจิกายน 2020


Krungthai COMPASS ชวนทำความรู้จัก: “บริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC)” และ “มาตรการโกดังพักหนี้ (Warehousing)”

Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย วิเคราะห์ “ชวนทำความรู้จัก บริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) และมาตรการโกดังพักหนี้ (Warehousing)” โดยมองว่า

  • ธปท. กำลังเตรียมมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ และธนาคารพาณิชย์ที่ต้องรับมือกับระดับหนี้เสีย (NPL) ที่อาจสูงขึ้นจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 หนึ่งในทางเลือกที่ธปท. พิจารณาคือ “การจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เพื่อมาดูแล NPL ที่อาจเพิ่มขึ้น โดยมีแนวคิดจะดำเนินการเป็น Assets Warehousing” โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะเข้าช่วยเหลือคือผู้ประกอบการโรงแรมคุณภาพดีที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19
  • AMC คือ บริษัทหรือหน่วยงานที่มักถูกจัดตั้งโดยภาครัฐ สถาบันการเงิน หรือภาคเอกชนอื่น ๆ เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหา NPL ให้กับสถาบันการเงินผ่านการซื้อ NPL ออกจากงบแสดงฐานะการเงินของสถาบันการเงิน
  • Warehousing คือ มาตรการที่ให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมคุณภาพดีแต่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 สามารถนำโรงแรมมาพัก (ขาย) ไว้ที่ AMC พร้อมให้สถาบันการเงินช่วยปรับโครงสร้างหนี้จนกว่าภาคท่องเที่ยวจะกลับมาปกติ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมสามารถซื้อโรงแรมคืนได้เมื่อมีฐานะทางการเงินที่พร้อม ทั้งนี้ จากดีมานด์การท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มอ่อนแอในปี 2021 คาดว่าธุรกิจโรงแรมต้องนำจำนวนห้องพักออกจากตลาดเป็นการชั่วคราวราว 20-30% ถึงจะทำให้ธุรกิจโรงแรมโดยรวมสามารถเปิดดำเนินการในระดับคุ้มทุนได้

เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา ธปท. ได้เผยว่ากำลังเตรียมมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ และธนาคารพาณิชย์ที่ต้องรับมือกับระดับหนี้เสีย (Non-Performing Loan: NPL) ที่อาจสูงขึ้นจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยหนึ่งในทางเลือกที่ ธปท. กำลังพิจารณาคือ “การจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (Asset Management Company: AMC) เพื่อมาดูแล NPL ที่อาจเพิ่มขึ้น โดยมีแนวคิดจะดำเนินการเป็น Assets Warehousing” แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนของมาตรการ (Assets) Warehousing ออกมา แต่อย่างไรก็ดี เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมได้ทำความเข้าใจในเบื้องต้นกับมาตรการช่วยเหลือที่ ธปท. กำลังเตรียมการ ในบทความนี้ Krungthai COMPASS จะชวนมาทำความรู้จักกับคำว่า “AMC” และ “Warehousing” ว่ามีความหมาย และมีกลไกในการทำงานอย่างไร?

ทำความรู้จัก AMC

AMC คือ บริษัทหรือหน่วยงานที่มักถูกจัดตั้งโดยภาครัฐ สถาบันการเงิน หรือภาคเอกชนอื่น ๆ เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหา NPL ให้กับสถาบันการเงินผ่านการซื้อ NPL ออกจากงบแสดงฐานะการเงินของสถาบันการเงิน ทั้งนี้ AMC แต่ละแห่งอาจมีวิธีการประเมินมูลค่า NPL ที่แตกต่างกัน เช่น ใช้การเปรียบเทียบกับมูลค่าของสินทรัพย์ใกล้เคียง การทำข้อตกลงเปิดเผยข้อมูล (Due Diligence) เพื่อร่วมกันประเมินมูลค่าสินทรัพย์กับทางสถาบันการเงิน หรืออย่างในกรณีของ AMC จากเกาหลีใต้ที่ชื่อว่า “KAMCO” ก็เลือกที่จะประเมินจากมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสด (Present Value of Cash Flow) ที่คาดว่าสินทรัพย์ดังกล่าวจะสามารถสร้างได้ในอนาคต เป็นหลัก

เมื่อ AMC ได้ถือกรรมสิทธิ์ของ NPL แทนสถาบันการเงินแล้ว AMC จะเข้าเจรจาประนอมหนี้กับลูกหนี้ โดยการปรับโครงสร้างหนี้จะมีทั้งการชำระด้วยเงินสด การโอนหลักประกัน หรือใช้ทรัพย์ชำระหนี้ ไปจนถึงการแปลงหนี้เป็นทุน อย่างไรก็ดี หากการประนอมหนี้ไม่สำเร็จก็จะต้องพึ่งกระบวนการทางศาลต่อไป (รูปที่ 1) สำหรับผู้ประกอบการน่าจะเคยได้ยิน หรือรู้จักกับ AMC ของไทย เช่น บริษัท บริหารสินทรัพย์แห่งชาติ (TAMC) และบริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา NPL ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง (พ.ศ. 2540) กันมาบ้าง

ประโยชน์ของ AMC ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือการโอน NPL ออกจากธนาคาร ซึ่งจะทำให้ระบบธนาคารมีความสามารถในการปล่อยสินเชื่อเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจได้มากขึ้น นอกจากนี้ ในกรณีของต่างประเทศ ยังเป็นข้อสังเกตว่าการเข้าซื้อ NPL ของ AMC อาจมีส่วนในการช่วยชะลอการลดลงอย่างรวดเร็วของมูลค่าสินทรัพย์ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่มักมีการยึดทรัพย์ และขายทอดตลาดกันมากกว่าปกติ (Fire Sale) ยกตัวอย่างในช่วงที่ภาคอสังหาฯ ของสวีเดนเกิดภาวะฟองสบู่แตกจนนำมาสู่ Financial Crisis ราคาที่อยู่อาศัยในสวีเดนปรับตัวลงแรงถึง 11.4% และ 15.7% ในปี 1992-1993 แต่เมื่อรัฐบาลสวีเดนจัดตั้ง AMC ที่ชื่อ Securum ให้มารับโอน NPL ในภาคอสังหาฯ ไปบริหาร ผลคือราคาที่อยู่อาศัยที่เคยดิ่งหนักก็กลับมาอยู่ในระดับทรงตัวในช่วงปี 1994-1996 (รูปที่ 2)

จากวิกฤติ COVID-19 ในครั้งนี้ หลายประเทศเริ่มมีแนวคิดที่จะใช้ AMC เข้ามาช่วยจัดการกับ NPL เพื่อที่จะได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของตนอีกครั้ง ยกตัวอย่างในกรณีของ EU ก็ได้เริ่มมีการประชุมระหว่างคณะกรรมธิการยุโรป สถาบันการเงิน ผู้เชี่ยวชาญของแต่ละอุตสาหกรรม และผู้เชี่ยวชาญในการบริหาร NPL ถึงความเป็นไปได้ที่จะนำ AMC เข้ามาจัดการกับ NPL เช่นเดียวกับไทยที่ทางธปท. ก็เริ่มมีแนวคิดที่จะจัดตั้ง AMC ให้เข้ามาช่วยเหลือธุรกิจโรงแรมผ่านมาตรการ Warehousing ในส่วนถัดไปเราจึงจะมาวิเคราะห์กันว่าทำไมการช่วยเหลือต้องเริ่มที่กลุ่มธุรกิจโรงแรมก่อน? แล้วมาตรการ Warehousing มีแนวคิดและหลักการทำงานอย่างไร?

ทำไมการช่วยเหลือต้องเริ่มจากกลุ่มโรงแรม?

สำหรับคำถามว่าทำไมการตั้ง AMC ให้มาช่วยเหลือภาคธุรกิจต้องเริ่มจากกลุ่มโรงแรม? นั่นเป็นเพราะธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างหนัก การ Lockdown ไม่ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย ส่งผลให้อัตราเข้าพัก (Occupancy Rate: OR) ของธุรกิจโรงแรมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2020 อยู่ในระดับต่ำที่ 28.6% น้อยกว่า OR ณ จุดคุ้มทุนของผู้ประกอบการที่ 40-45% อย่างเห็นได้ชัด (รูปที่ 3)

ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมโดยส่วนใหญ่ในปีนี้จึงมีโอกาสอย่างมากที่จะประสบปัญหาขาดทุนสะท้อนจากผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2020 ที่มีรายได้ลดลงถึง 48-70%YoY (รูปที่ 4) และมีกำไรสุทธิที่ติดลบกันเกือบทุกบริษัท (รูปที่ 5)

หากผู้ประกอบการยังแข่งกันเปิดโรงแรมต่อไป (จำนวนห้องพักไม่ลดลง) เราคาดว่าด้วยแนวโน้มดีมานด์การท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนักในปี 2021 (Krungthai COMPASS ประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวไทยในปี 2021 ที่ 7.6 ล้านคน และ 151.4 ล้านคน-ครั้ง ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าปี 2019 ที่ 39.8 ล้านคน และ 166 ล้านคน-ครั้ง) จะส่งผลให้ OR ของธุรกิจโรงแรมจะเท่ากับ 32.9% (รูปที่ 6) ต่ำกว่าจุดคุ้มทุนต่อไป ผู้ประกอบการที่มีเงินทุนไม่มากพอก็จะไม่สามารถชำระหนี้ และกลายเป็น NPL สุดท้ายสินทรัพย์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอาคารโรงแรมจะถูกยึดซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเพราะหากสามารถอดทนรออีก 2-3 ปีให้วัคซีนถูกผลิต และกระจายอย่างทั่วถึง ภาคการท่องเที่ยวของไทยก็มีโอกาสจะกลับมาฟื้นตัวได้เต็มที่อีกครั้ง

ดังนั้น หนึ่งในทางออกของธุรกิจโรงแรมในเวลานี้จึงอาจเป็นการยอมลดจำนวนห้องพักลงชั่วคราวเพื่อให้สอดรับกับดีมานด์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดย เราประเมินว่าหากธุรกิจโรงแรมสามารถลดจำนวนห้องพักได้ราว 20-30% ค่า OR ในปี 2021 ก็มีโอกาสขึ้นมาอยู่ในระดับคุ้มทุนที่ 41.2-41.7% ได้ (รูปที่ 6)

แนวคิดของมาตรการ Warehousing

ด้วยความจำเป็นของธุรกิจโรงแรมที่ควรปรับลดจำนวนห้องพักเป็นการชั่วคราว ธปท. จึงมีแนวคิดที่จะจัดตั้ง AMC ขึ้นมาเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่คุณภาพดีแต่ต้องประสบปัญหาไม่มีลูกค้าเพราะ COVID-19 ได้นำโรงแรมมาพัก (ขาย) ไว้ที่ AMC พร้อมให้สถาบันการเงินช่วยปรับโครงสร้างหนี้จนกว่าภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาอยู่ในสถานการณ์ปกติ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมสามารถซื้อสินทรัพย์ หรือโรงแรมของตนคืนจาก AMC ได้เมื่อพร้อม แนวคิดของกระบวนการช่วยเหลือในลักษณะนี้ถูกนิยามว่ามาตรการโกดังเก็บหนี้ หรือ Warehousing

ทั้งนี้ แม้รูปแบบของมาตรการ Warehousing ของไทยในปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่เรามองว่าอาจสามารถแบ่งออกเป็น 2 วิธีใหญ่ๆ ด้วยกันดังแสดงในรูปที่ 7 คือ 1) ให้สถาบันการเงินขายพอร์ตสินเชื่อให้กับ AMC ไปบริหารต่อ วิธีนี้จะคล้ายกับการซื้อขาย NPL ระหว่างสถาบันการเงิน และ AMC ในอดีต แตกต่างกันตรงสินเชื่อที่ AMC จะเข้าซื้อในครั้งนี้ยังไม่กลายเป็น NPL และ 2) ให้สถาบันการเงินช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้กับผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อรอการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดย AMC จะเข้ามาช่วยชำระดอกเบี้ย หรือเงินต้นบางส่วน (ขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างสถาบันการเงิน กับผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม และ AMC) ให้กับผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ทั้งนี้ ผลตอบแทนที่ AMC จะได้รับจากการช่วยเหลืออาจอยู่ในรูปแบบหุ้น (เสมือนการแปลงหนี้เป็นทุน)

ตัวอย่างของการแปลงหนี้เป็นทุนจากมาตรการ Warehousing (รูปที่ 8) เช่น สมมติให้ในสถานการณ์ปกติผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมต้องจ่ายดอกเบี้ยให้สถาบันการเงินปีละ 1,000,000 บาท และมีเงินต้นที่ต้องชำระให้กับสถาบันการเงินที่ 10,000,000 ล้านบาท ภายใต้ระยะเวลา 3 ปี ที่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมเข้าร่วมมาตรการ Warehousing สถาบันการเงินอาจพิจารณาลดดอกเบี้ยลง (สมมติให้เหลือปีละ 250,000 บาท) และยืดระยะเวลาชำระเงินต้นออกไป และ AMC จะเข้ามาช่วยชำระดอกเบี้ยในส่วนที่เกินความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม เช่น หากผู้ประกอบการจ่ายได้ 50,000 บาทต่อปี AMC จะเข้ามาช่วยจ่ายส่วนต่างที่ 200,000 บาทต่อปี เมื่อครบ 3 ปี เท่ากับว่าเงินที่ AMC เข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการรายนี้จะมีมูลค่าเท่ากับ 600,000 บาท

หากสมมติให้ธุรกิจโรงแรมแห่งนี้มีส่วนของทุน (Equity) เท่ากับ 6,000,000 บาท ก็จะเปรียบเสมือนว่าเงินที่ AMC ได้ช่วยจ่ายดอกเบี้ยจะมีมูลค่าเท่ากับ 10% ของส่วนของทุน ผู้ประกอบการก็สามารถนำหุ้นจำนวน 10% ของตนเองให้กับ AMC ได้ และเมื่อระยะเวลาผ่านไป สถานการณ์ของ COVID-19 คลี่คลายลง ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมมีฐานะทางการเงินที่แข็งแรงขึ้น ก็สามารถขอซื้อหุ้น 10% คืนจาก AMC ได้

สุดท้ายนี้ อย่างที่ผู้เขียนได้ย้ำในบทความว่า “มาตรการ Warehousing ของ ธปท. ในครั้งนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน และยังไม่มีรายละเอียดออกมาอย่างเป็นทางการ” ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่มีความสนใจจะเข้าร่วมมาตรการจึงต้องติดตามความคืบหน้า และรายละเอียดเชิงลึกของมาตรการกันต่อไป

อย่างไรก็ดี Krungthai COMPASS มองว่าความสำเร็จของมาตรการ Warehousing ยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกหลายประการตั้งแต่ 1) การเลือกวิธีระดมทุน (Funding) ว่าจะเป็นเงินจากภาครัฐทั้งหมด ภาคเอกชนทั้งหมด หรือเป็นส่วนผสมระหว่างภาครัฐและเอกชน 2) การคัดเลือกผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ควรมีหลักเกณฑ์อย่างไร (Classify) นอกจากนี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือของธปท. ไม่ได้หยุดลงที่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม และสถาบันการเงิน หนึ่งในความท้าทายที่สำคัญที่สุด คือ 3) การมีมาตรการอื่น ๆ มาควบคู่กับการทำ Warehousing ไปด้วยเพื่อเป็นการดูแลแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมเลือกที่จะเข้าร่วมมาตรการนี้

ผู้เขียน: กณิศ อ่ำสกุล ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS