ThaiPublica > เกาะกระแส > คลัง สั่งแบงก์รัฐ ต่อมาตรการพักหนี้อีกปี – เติมสภาพคล่อง อุ้มเอสเอ็มอี 6.5 ล้านราย

คลัง สั่งแบงก์รัฐ ต่อมาตรการพักหนี้อีกปี – เติมสภาพคล่อง อุ้มเอสเอ็มอี 6.5 ล้านราย

23 ตุลาคม 2020


รมว.คลัง สั่งแบงก์รัฐต่อมาตรการพักหนี้ถึงปีหน้าและให้สภาพคล่องเพิ่ม อุัมเอสเอ็มอี-รายย่อย 6.5 ล้านราย ยอดหนี้รวม 2.89 ล้านล้านบาท สกัดลูกหนี้ตกชั้นเอ็นพีแอล พร้อมลดดอกเบี้ยลูกหนี้ดี ยันแบงก์รัฐแข็งแกร่งเงินกองทุนเกินเกณฑ์ธปท.

วันที่ 22 ตุลาคม 2563 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงข่าวมาตรการทางการเงินให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยหรือเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากการสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยมีผู้บริหารจากสถาบันการเงินของรัฐเข้าร่วม

นายอาคม เปิดเผยว่า ลูกหนี้ที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้ทั้งระบบสถาบันการเงิน ตามพ.ร.ก. ซอฟต์โลนมีจำนวน 12.12 ล้านราย ยอดคงค้างสินเชื่อทั้งสิ้น 6.9 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) จำนวน 7 แห่ง มีลูกหนี้ที่เข้าได้มาตรการพักชำระหนี้จำนวน 6.57 ล้านราย ยอดหนี้คงค้างจำนวน 2.89 ล้านล้านบาท

มาตรการที่ช่วยเหลือลูกหนี้เหล่านี้ได้สิ้นสุดลงในวันนี้ และขณะนี้ให้ธนาคารรัฐหารือกับลูกหนี้แต่ละรายเพื่อกำหนดการช่วยเหลือที่สอดรับกับสถาน การณ์ของลูกหนี้แต่ละราย (tailor-made) ตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

โดยธปท. ได้ให้กรอบการจัดกลุ่มลูกหนี้ SMEs 3 กลุ่ม ดังนี้

1)กลุ่มลูกหนี้สีแดง คือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบสูง และยังไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้หรือมีรายได้ไม่แน่นอน สถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถขยายระยะเวลาการชะลอการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 6 เดือนนับจากสิ้นปี 2563 เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวมีสถานะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ( NPLs) และสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย

2)กลุ่มลูกหนี้เหลือง คือ SMEs ที่เริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจได้แต่ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวเนื่องจากยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สถาบันการเงินเฉพาะกิจจะเร่งปรับโครงสร้างหนี้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เพื่อให้เงื่อนไขการจ่ายหนี้เหมาะสมกับสถานการณ์ของลูกหนี้และลดภาระของลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวในระยะยาว

3) กลุ่มลูกหนี้สีเขียว หรือ SMEs ที่มีความพร้อมและสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ สถาบันการเงินเฉพาะกิจจะรับชำระหนี้ตามปกติ เพื่อลดภาระของลูกหนี้ตลอดระยะเวลาสัญญาเนื่องจากลูกหนี้ยังต้องรับภาระดอกเบี้ยในช่วงที่ได้รับการพักชำระหนี้

สำหรับขั้นตอนการช่วยเหลือ มี 4 ขั้นตอน ได้แก่

1)ขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้กลุ่มลูกหนี้ที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจหรือมีรายได้ไม่แน่นอน เช่น การพักชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยนะระยะเวลาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ลูกหนี้แต่ละราย แต่ไม่ควรเกิน 6 เดือนนับจากสิ้นปี 2563 และให้ติดตามลูกหนี้อย่างใกล้ชิดและคำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกหนี้ในระยะยาวด้วย

2) ปรับโครงสร้างหนี้ให้เอสเอ็มอีหรือรายย่อย เพื่อให้ลูกหนี้ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยให้คำปรึกษาทางการเงินแก่ลูกหนี้ เช่น ลดค่างวด ยืดหนี้ หรือให้เข้าโครงการปรับโครงการ DR BIZ สำหรับเอสเอ็มอีที่มีเจ้าหนี้หลายราย

3)สร้างภูมิคุ้มกันให้เอสเอ็มอี เป็นการให้ความรู้และทักษะในการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจหลังโควิดที่เปลี่ยนแปลงไป

4)การให้สินเชื่อเพิ่มเติม หรือ Soft Loan เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและเป็นแหล่งเงินทุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อใช้ปรับโครงสร้างธุรกิจให้เหมาะสมกับแต่ละอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลง

5) ให้ธนาคารรัฐให้แรงจูงใจแก่ลูกหนี้ที่มีศักยภาพกลับมาชำระหนี้ตามปกติ เพื่อช่วยลดภาระหนี้ตลอดระยะเวลาสัญญาและปัองกันการเกิดปัญหาวินัยทางเงิน (Moral Hazard) เช่น การลดดอกเบี้ย 0.5-1% หรือ 2% และการคืนเงินบางส่วนเป็นรางวัลลูกหนี้ที่มีประวัติชำระหนี้ดี ออกหนังสือรับรองสถานะเป็นลูกหนี้ที่ดี เพื่อจะได้รับการดูและเป็นพิเศษในระยะข้างหน้า

“ลูกหนี้เอสเอ็มอีของแบงก์รัฐ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการายย่อยเล็กกว่าเอสเอ็มอีของธนาคารพาณิชย์ ซึ่ง 4 แบงก์รัฐจะเป็นรายย่อยเยอะมากไม่ว่าจะเป็นออมสิน ธอส. ธ.ก.ส. และเอสเอ็มอีแบงก์ ซึ่งแบงก์รัฐจะต้องทำ 2 ปรับ คือ ปรับโครงสร้างหนี้ และปรับโครงสร้างธุรกิจ เพื่อให้สามารถรักษาธุรกิจให้อยู่รอดต่อไป โดยเมื่อมีการพักหนี้ให้ผู้ประกอบการแล้ว ก็ต้องมีการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจะต้องการเงินลงทุนเพิ่ม จึงให้แบงก์รัฐดูเรื่องการใส่เงินเพิ่มด้วย เพื่อให้มีสภาพคล่องช่วยรักษาการจ้างงานด้วย ” นายอาคมกล่าว

สำหรับการต่อมาตรการของแต่ละธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ มีดังนี้

  • ธนาคารออมสิน ได้ขยายระยะเวลาชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563 ให้แก่ลูกหนี้ที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 100 ล้านบาท จำนวน 3 ล้านราย
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ขยายระยะเวลาพักชำระหนี้อีก 1 ปีหลังสิ้นสุดมาตรการเดิมของลูกหนี้
  • ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย จนถึง สิ้นมกราคม 2564
  • ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พักชำระหนี้เงินต้นอีก 6 เดือนจนถึงสิ้นมีนาคม 2564
  • ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ขยายระยะเวลาพักชำระหนี้อีก 2 ปีตามประเภทธุรกิจที่มีความเสี่ยง
  • ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ผ่อนปรนช่วยเหลือลูกหนี้รายบุคคล ตั้งแต่ ตุลาคม2563-มิถุนายน 2564
  • บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมพักชำระค่างวด 6 เดือน โดยเอสเอ็มอีสามารถยื่นคำร้องได้ถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563

สำหรับปัญหาหนี้เสียหรือเอ็นพีแอล (หนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไป) ของธนาคารรัฐนั้น นายอาคม กล่าวว่า ขณะนี้ยังประเมินไม่ได้ เนื่องจากลูกหนี้ยังอยู่ในมาตรการช่วยเหลือ ทำให้ยังไม่เห็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ธนาคารรัฐก็จะต้องตั้งสำรองตามเกณฑ์อยู่แล้ว ซึ่งจะมีทั้งส่วนตั้งสำรองชั้นหนี้ที่เกิดขึ้นจริง และส่วนที่ตั้งสำรองเผื่อไว้ในอนาคต ขณะเดียวกันมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS) แข็งแรง

โดยข้อมูล ณ สิ้นมิถุนายน 2563 ธนาคารออมสินมีงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง 15.4% และตั้งสำรองตามชั้นหนี้สัดส่วน 1.2 เท่าของเอ็นพีแอล ธ.ก.ส.เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง 12.5% และตั้งสำรอง 5.6 เท่า ส่วนธอส.งินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง 15.3% และตั้งสำรองฯ 1.6 เท่า

“ได้สั่งการให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ดูแลไม่ให้ลูกหนี้ที่ยังมีความสามารถในการชำระหนี้ที่แม้ชำระไม่สม่ำเสมออยู่บ้าง ให้เขาไม่ตกชั้นกลายเป็นลูกหนี้เอ็นพีแอล” รมว.คลังกล่าว

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า ลูกหนี้ที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้ของธนาคารมีจำนวนทั้งสิ้น 3 ล้านราย วงเงินรวม 1.7 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น เอสเอ็มอีจำนวน 40,000 บัญชี ยอดสินเชื่อคงค้าง 70,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นรายย่อย ยอดสินเชื่อคงค้าง 1 ล้านล้านบาท

“ต่อไปธนาคารจะเข้าไปช่วยเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติมให้ และก่อนที่จะสิ้นสุดมาตรการในเดือนธันวาคมนี้ ธนาคารจะเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ลดดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาการพักเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับกลุ่มลูกค้าที่เปราะบาง คือกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการชำระหนี้ที่มีสัดส่วน 10% ของพอร์ต” นายวิทัยกล่าว

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธอส. ออก 10 มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้แล้ว ซึ่งที่ผ่านมามีลูกหนี้เข้ามาตรการจำนวน 680,000 ราย ยอดสินเชื่อคงค้างรวม 570,000 ล้านบาท ธนาคารได้ขยายระยะเวลามาตรการต่างๆออกไปถึงสิ้นมกราคม และเมษายน 2564 ขณะนี้มีลูกค้าที่มาขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการแล้วจำนวน 600,000 ล้านบาท และเหลือลูกค้าที่มีวงเงินอีก 240,000 ล้านบาท ยังไม่ได้แจ้งความประสงค์ ซึ่งธนาคารจะมีการติดต่อลูกค้ากลุ่มนี้ต่อไป

ธอส.เตรียมที่จะเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้าที่ไม่มีความสามารถชำระหนี้ หลังมาตรการสิ้นสุดลง โดยจะเป็นการลดดอกเบี้ยเหลือ 1.99-3.99%

ทั้งนี้ ลูกค้าที่อยู่ในมาตรการพักหนี้ของธอส. ประกอบด้วยลูกค้ากลุ่มสีเขียวสัดส่วน 67% ของพอร์ต ส่วนกลุ่มสีเหลืองสัดส่วน 27% และกลุ่มสีแดงสัดส่วน 4.9%

นายสุรชัย รัศมี รองผู้จัดการ รักษาการผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวว่า ธนาคารได้พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้ลูกค้าแล้ว 3.25 ล้านราย วงเงินสินเชื่อคงค้างกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยขณะนี้ธนาคารเตรียมจะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบความสามารถการชำระหนี้ของลูกค้าต่อไป ซึ่งหากพบลูกค้าที่ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคารจะปรับโครงสร้างหนี้และเพิ่มสภาพคล่องให้ลูกค้าต่อไป