ThaiPublica > เกาะกระแส > ประธานสมาคมธนาคารไทยยืนยันทุกธนาคารปฏิบัติตาม ปปง.อย่างเคร่งครัด

ประธานสมาคมธนาคารไทยยืนยันทุกธนาคารปฏิบัติตาม ปปง.อย่างเคร่งครัด

23 กันยายน 2020


นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย

ประธานสมาคมธนาคารไทยยืนยันทุกธนาคารปฏิบัติตาม ปปง.อย่างเคร่งครัด ด้าน EXIM BANK เผยตรวจสอบไม่พบรายการต้องห้าม ยึดหลักกม.ฟอกเงิน

จากกระแสข่าวเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 21 กันยายน 2563 สำนักข่าว ICIJ รายงาน(Global banks defy U.S. crackdowns by serving oligarchs, criminals and terrorists)โดยอ้างข้อมูลเอกสารของเครือข่ายปราบปรามอาชญากรรมทางการเงินสหรัฐฯ หรือ FinCen (US Financial Crimes Enforcement Network) ว่า ธนาคารหลายแห่งทั่วโลก ได้ปล่อยให้เกิดการโยกย้ายเงินที่เข้าข่ายผิดกฎหมายมาเป็นระยะเวลานานกว่า 20 ปี (ในช่วงปี 2542-2560) รวมมูลค่าการโอนเงินกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมีชื่อธนาคารไทย 4 แห่ง ติดอยู่ด้วย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพจำนวนเงินโอนที่ต้องสงสัยราว 28.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ธนาคารกรุงไทย 16.65 ล้านดอลลาร์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) 2.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และธนาคารกสิกรไทย 8.35 แสนดอลลาร์สหรัฐ

วันที่ 24 กันยายน 2563 นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกให้ความสำคัญในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติของกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด ทุกธนาคารได้มีการกำหนดนโยบายและวิธีปฏิบัติที่เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานสากล ซึ่งมีกระบวนการรับลูกค้าและพิสูจน์ทราบตัวตน การตรวจสอบรายชื่อลูกค้าและรายชื่อประเทศที่ห้ามทำธุรกรรม (Sanction) มาตรการบริหารความเสี่ยง ตลอดจนการตรวจสอบการทำธุรกรรมของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการรายงานธุรกรรมที่ผิดปกติหรือที่มีเหตุอันควรสงสัย ไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

นอกจากนี้ สมาคมธนาคารไทยได้ให้ความสำคัญในการสร้างมาตรฐานการทำงานของระบบธนาคารตามประกาศ Industry Code of Conduct เพื่อให้ทุกธนาคารนำไปปรับใช้ ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวรวมถึงการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

สำหรับกรณีดังกล่าว ทางสมาคมธนาคารไทย ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ปปง. อย่างใกล้ชิด ในการตรวจสอบข้อมูลที่มีการอ้างถึงที่ยังไม่สามารถทราบความถูกต้องและรายละเอียดของเอกสารข้อมูลที่ชัดเจน เพียงแต่สันนิษฐานได้ว่าหากเป็นข้อมูลที่ได้จาก FinCen ก็น่าจะเป็นการรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยของสถาบันการเงินสหรัฐอเมริกา ภายใต้กฎหมายของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกระบวนการดำเนินงานปกติ และไม่ได้หมายความว่าธุรกรรมที่ถูกรายงานจะเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายเสมอไป ตามที่ธปท.ได้ให้รายละเอียดไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

ส่วนธนาคารกสิกรไทย โดยฝ่ายสื่อสารองค์กรได้กล่าวสั้นๆเพียงว่า ธนาคารได้มีการประสานงานกับธปท. และปปง. อยู่ตลอดเวลา และพร้อมให้ความร่วมมือในการตรวจสอบกับหน่วยงานทางการ

ธปท.ยันสถาบันการเงินไทยรายงานปปง.เข้ม

วันที่ 23 กันยายน 2563 ธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.) ระบุสถาบันการเงินไทยมีการรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยตามกฎหมาย ปปง. อย่างเคร่งครัด โดยนายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่า ธปท. ได้กำกับดูแลและตรวจสอบสถาบันการเงินให้มีกระบวนการป้องกันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย รวมถึงการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (AML/CPTF) ตั้งแต่ขั้นตอนการทำความรู้จักตัวตนลูกค้า (KYC/CDD) การตรวจสอบและการรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กำหนดอย่างเคร่งครัด โดย ธปท. และ ปปง. ประสานงานกันเพื่อกำกับดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด

เมื่อสถาบันการเงินพบธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยตามหลักเกณฑ์ที่ ปปง. กำหนด ก็มีหน้าที่ต้องรายงานต่อ ปปง. ซึ่งเรียกว่ารายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย (Suspicious Transaction Report: STR) ซึ่ง ปปง. จะนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์และตรวจสอบ เพื่อดูว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าทุกธุรกรรมที่ถูกรายงานใน STR จะเป็นธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายเสมอไป จึงต้องตรวจสอบก่อนที่จะสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่

สำหรับกรณีมีข่าวสถาบันการเงินของไทย 4 แห่ง มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมการโอนเงินที่น่าสงสัย โดยใช้ข้อมูลจากรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยที่รั่วไหลจากหน่วยงานเครือข่ายปราบปรามอาชญากรรมทางการเงินแห่งสหรัฐอเมริกา (US Financial Crimes Enforcement Network หรือ FinCEN) นั้น ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่สถาบันการเงินภายใต้กฎหมายของสหรัฐอเมริกามีหน้าที่ต้องรายงานธุรกรรมที่น่าสงสัยต่อ FinCEN เป็นปกติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอยู่แล้ว และไม่ได้หมายความว่าธุรกรรมที่ถูกรายงานจะเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายเสมอไป แต่เนื่องจากข้อกล่าวหาที่เป็นข่าวอยู่นั้น ไม่ได้มาจาก FinCEN หรือหน่วยงานทางการใดๆ เรื่องนี้จึงขอให้รอการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน

เมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่ผ่านมา ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เป็นรายแรกที่ออกมาชี้แจงเรื่องที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกรรมโอนเงินต้องสงสัย ว่า ธุรกรรมดังกล่าวเป็นกระบวนการทำงานปกติ ซึ่งธนาคารได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว และไม่พบรายการต้องห้าม ทั้งยังได้ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างครบถ้วน จึงได้ดำเนินธุรกรรมตามขั้นตอน “ปกติ”

หมายเหตุ:แก้ไขล่าสุด 24 กันยายน 2563 เวลา 19.00 น.