ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > “ป่าไทยไม่ไร้เสือ” (ตอน 1) ไทยหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อนุรักษ์เสือโคร่งสำเร็จ

“ป่าไทยไม่ไร้เสือ” (ตอน 1) ไทยหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อนุรักษ์เสือโคร่งสำเร็จ

10 สิงหาคม 2020


ในวันนี้ ประเทศไทยมีเสือโคร่งวัยรุ่นหลายตัว ที่กำลังออกเดินทางจากป่าทุ่งใหญ่ฯ-ห้วยขาแข้ง ไปยังป่าอนุรักษ์ใกล้เคียงในผืนป่าตะวันตก เช่น อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และประเทศเมียนมา อันเป็นผลจากความสำเร็จในการอนุรักษ์เสือโคร่ง

ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเพิ่มประชากรเสือโคร่งสายพันธุ์อินโดจีนได้มากกว่า 50% แสดงให้เห็นว่าผืนป่าไทยเป็นบ้านของเสือโคร่ง ซึ่งมีการกระจายตัวของเสือโคร่งออกไปในอุทยานแก่งกระจาน ทุ่งใหญ่

ป่าไทยไม่ไร้เสือประชากรเพิ่มเป็น 160 ตัว

ปัจจุบันในปี 2563 เรามีประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติประมาณ 160 ตัว เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 60-80 ตัว เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาทั่วโลกว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ทีมนักวิจัย จากองค์กรที่เกี่ยวข้อง ความทุ่มเทในการทำงานได้ประสบผลสำเร็จไปอีกขั้นหนึ่ง เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่เกินความคาดหมาย และจะต้องสำเร็จผลเพิ่มมากขึ้นต่อไปใอนาคต” นายพงศ์บุณย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานงานวันเสือโคร่งโลกประจำปี 2563 กล่าวในการเปิดงานวันเสือโคร่งโลกประจำปี 2563

นายพงศ์บุณย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การอนุรักษ์เสือโคร่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2553 และดีขึ้นตลอด ไทยได้บรรลุเป้าหมายที่จะเพิ่มประชากรเสือโคร่งขึ้น 50% ภายในปี 2565 แล้ว ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีเสือโคร่งในห้วยขาแข้ง และแนวป่าแม่วงก์ แต่ระยะหลังได้กระจายออกไปที่คลองลาน กำแพงเพชร เพราะมีแหล่งอาหารและถิ่นอาศัยที่สมบูรณ์ขึ้น ส่วนแถวเขาใหญ่เสือได้หายไป แต่ตอนนี้เริ่มพบแล้วที่ทับลาน

นายพงศ์บุณย์กล่าวว่า รัฐบาลไทยตระหนักถึงคุณค่าของเสือโคร่งที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างยิ่ง ซึ่งในยุทธศาสตร์แห่งชาติในยุทธศาสตร์ที่ 5 ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่สำคัญ ทั้งช้างเสือ กระทิง จนถึงพืชพรรณต่างๆ และในแผนปฏิรูปก็ให้ความสำคัญโดยกำหนดตัวชี้วัดสำหรับหน่วยงานจัดทำแผนปฏิบัติการ

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พื้นที่และการอนุรักษ์เสือโคร่ง โดยกำหนดแนวทางสำคัญไว้ 4 ด้าน ประกอบด้วย

1. การอนุรักษ์พื้นที่ป่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กระทรวงทรัพย์ฯ) ตระหนักดีว่า พื้นที่ป่าเป็นแหล่งสำคัญของต้นน้ำลำธาร แหล่งความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม และแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญ ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดของงานนโยบายการอนุรักษ์ธรรมชาติและป่าไม้

ทั้งนี้พื้นที่ป่าของไทยมีการสูญเสียอย่างมาก ปัจจุบันเหลือพื้นที่ป่าราว 102 ล้านไร่ ไม่ถึง 35% ของเนื้อที่ประเทศ ซึ่งกระทรวงทรัพย์ฯ มีเป้าหมายที่จะรักษาพื้นที่ป่าไว้ โดยใน 20 ปีนี้จะต้องเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 35% นอกจากนี้พื้นที่ป่าก็กระจัดกระจายทั่วประเทศ ทั้งพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ซึ่งกรมอุทยานฯ ดูแลราว 19 ผืนป่า

ในด้านการจัดการหากมีแหล่งที่อยู่มากเท่าไรก็จะดีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และโดยที่พื้นที่ป่ากระจายตัว กรมอุทยานฯ พยายามที่จะเชื่อมต่อผืนป่า สภาพระบบนิเวศ เพิ่มศักยภาพทั้งรองรับป่าไม้

2. คนอยู่กับป่า รัฐบาลและกระทรวงให้ความสำคัญ โดยพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ให้ความสำคัญเรื่องนี้และเปิดโอกาสให้ชุมชน ประชาชนสามารถอยู่กับป่าได้ โดยเฉพาะในพื้นที่กันชนจะใช้แนวคิดนี้

“แนวคิดพื้นที่กันชนหรือ buffer zone คือ ป่าอยู่ได้คนอยู่ได้ คนที่อยู่ในป่าก็ต้องอยู่ภายใต้วิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรกับป่า อยู่แบบพอเพียง อยู่แบบพอดีและมีส่วนร่วม” นายพงศ์บุณย์กล่าว

3. การค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย ซึ่งตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ได้มีการเพิ่มโทษทั้งโทษจำและโทษปรับเป็นระดับล้านบาทในการป้องปรามการนำเข้า ส่งออก และนำผ่าน รวมทั้งการกระทำผิดการค้าสัตว์ป่าทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการกำกับควบคุมสัตว์ป่าที่อยู่ในกรง ซึ่งรวมทั้งเสือด้วย หากกำกับไม่ดีอาจจะเกิดปัญหา มีผลกระทบต่อการยอมรับของสังคม ภาพลักษณ์ของประเทศและสุขภาพอนามัยของประชาชน

4. ความร่วมมือในทุกระดับ โดยระดับระหว่างประเทศประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจนเกิดปฏิญญาหัวหินเป็นฉบับแรก ประเทศไทยเป็นแหล่งสำคัญของเสือโคร่งในภูมิภาคอินโดจีน ความร่วมมือของภูมิภาคมีความสำคัญในการขยายผืนป่าให้มีการเชื่อมโยงไม่เฉพาะในประเทศไทยแต่ทั้งภูมิภาคอินโดจีน

สำหรับความร่วมมือภายในประเทศก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องระหว่างหน่วยงาน โดยเฉพาะกรมอุทยานฯ ทำงานร่วมกับองค์กรทั้งภายในและนอกประเทศ ตั้งแต่การลาดตระเวนป้องกันภายใต้ smart patrol การอนุรักษ์และฟื้นฟูถิ่นที่อยู่อาศัย การมีส่วนร่วม และการวิจัยและพัฒนาข้อมูล

“ผมอยากจะเน้นย้ำตรงการวิจัยและพัฒนาข้อมูลว่าเป็นเรื่องสำคัญ ต้องมีการพัฒนาบุคคลากรซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องต่อเนื่อง ต้องสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพราะงานนี้ต้องใช้ข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์”

ไทยอนุรักษ์เสือหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2553 ที่ไทยได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งที่ประชุมได้ประกาศปฏิญญาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เป็นแนวทางการอนุรักษ์เสือโคร่งไปจนถึงปี 2565 นั้น ประเทศไทยได้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ประชากรเสือโคร่งในระดับชาติ โดยมีแผนและเป้าหมายที่จะเพิ่มประชากรเสือโคร่งในพื้นที่เป้าหมายให้เพิ่มขึ้น 50% ภายในปี 2565

นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

“ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรเสือโคร่ง 160 ตัวอาศัยอยู่ในผืนป่าสำคัญ ได้แก่ ผืนป่าดงพญาเย็น เขาใหญ่ และผืนป่าตะวันตกแนวเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งจากการติดตามการศึกษา วิจัย ของกรมอุทยานฯ โดยได้รับการสนับสนุนภาคเอกชน ทางด้านวิชาการ งบประมาณและเครื่องมือที่ทันสมัย ทำให้ทราบว่าผืนป่าไทยมีจำนวนประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูเสือโคร่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเป็นหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ” นายประกิตกล่าว

นายประกิตกล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2563 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช ร่วมกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาติประเทศไทย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ประเทศไทย, องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประเทศไทย, สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society: WCS) ประเทศไทย, มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร, มูลนิธิฟรีแลนด์ และแพนเทอรา (Panthera) ประเทศไทย จัดงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2563 (Global Tiger Day 2020) ภายใต้แนวคิด “ป่าไทยไม่ไร้เสือ – Roar for Thai Tigers” และยังเป็นโอกาสครบรอบ 10 ปีของการประชุมสุดยอดผู้นำด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งด้วย

กรมอุทยานฯ จัดงานวันเสือโคร่งโลกประจำปี 2563 เพื่อให้วันที่ 29 กรกฎาคม ปี 2563 เป็นวันที่ประชาชนทุกหมู่เหล่าจะได้ร่วมรณรงค์และสร้างความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของเสือโคร่งที่มีต่อระบบนิเวศ รวมทั้งเชิญชวนให้ทุกคนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์เสือโคร่ง และร่วมภาคภูมิใจในความสำเร็จ ด้านการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งของไทย

วันเสือโคร่งโลก ถือกำเนิดขึ้นจากการประชุมสุดยอดผู้นำด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย ในปี 2553 โดยที่ประชุมมีมติให้มีการรณรงค์อนุรักษ์เสือโคร่งทุกวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี และในปีเดียวกันนี้ ประเทศไทยได้จัดการประชุมระดับรัฐมนตรีในทวีปเอเชียด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ครั้งที่ 1 ที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีผู้เแทนจากประเทศที่เป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่งจำนวน 13 ประเทศเข้าร่วมประชุมได้แก่ รัสเซีย จีน อินเดีย เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ เมียนมา ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

ในการประชุมดังกล่าว ทั้ง 13 ประเทศต่างประกาศเจตนารมณ์ที่จะปฏิบัติตามปฏิญญาหัวหิน เรื่องการอนุรักษ์เสือโคร่ง ซึ่งเป็นแผนฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งในพื้นที่ให้มากขึ้นเป็น 2 เท่าภายในปี 2565

“การจัดงานวันเสือโคร่งโลกในปีนี้ กรมอุทยานฯ และองค์กรพันธมิตรหวังให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงคุณค่าของเสือโคร่ง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ของโลก และต้องการประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงการอนุรักษ์เสือโคร่งในประเทศไทย ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ร่วมมือกับองค์กรต่างๆ พัฒนาแนวทางการดำเนินงานด้านนี้ขึ้น ทั้งงานด้านวิชาการ งานป้องกันปรามปราม งบประมาณ ศักยภาพของเจ้าหน้าที่และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนต้องการที่จะหาแนวร่วมจากคนรุ่นใหม่เพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งรวมถึงทรัพยากรธรรมชาติอื่นให้ยั่งยืนสืบไป” นายประกิตกล่าว

ไทยความหวังของโลกฐานข้อมูลใหญ่

กิจกรรมงานวันเสือโคร่งโลกประจำปี 2563 นอกจากนิทรรศการ 6 เรื่อง ได้แก่ หัวใจแห่งการเรียนรู้เสือโคร่ง, หัวใจแห่งการปกป้องเสือโคร่ง, หัวใจแห่งการเพิ่มจำนวนเสือโคร่ง, หัวใจแห่งการกำหนดทิศทางการอนุรักษ์เสือโคร่ง, หัวใจแห่งการสนับสนุนงานอนุรักษ์เสือโคร่ง และหัวใจแห่งการอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างยั่งยืน แล้วยังมีการเสวนาเรื่อง “ป่าไทยไม่ไร้เสือ – Roar for Thai Tigers โดยนายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ประเทศไทย และ ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยเสือโคร่ง

นายประกิตกล่าวว่า…

เสือเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ ถ้ามีเสือแสดงว่าป่ามีระบบนิเวศที่ดี เพราะเหยื่อของเสือบริโภคหญ้า พืชในป่า เป็นการหมุนเวียนการบริโภคอาหาร ห่วงโซ่อาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นป่าที่เสืออยู่ได้ก็เป็นตัวชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าและความหลากหลายในระบบนิเวศ

นโยบายของกรมอุทยานฯ ในการอนุรักษ์ ลำดับแรกคือ การป้องกัน ซึ่งมีความสำคัญสุด ถ้าสามารถป้องกันบ้านที่เป็นถิ่นที่อยู่ของเสือ ซึ่งก็คือป่า ถ้าสามารถรักษาป่าเอาไว้ให้เป็นผืนใหญ่พอสมควร ก็จะเป็นการป้องกัน

ด้านที่สอง การลาดตระเวน โดยให้ความสำคัญกับการลาดตระเวนที่ครอบคลุม ซึ่งปัจจุบันการลาดตระเวนหรือที่เรียกว่า smart patrol เป็นการเดินสำรวจ และวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ สามารถสำรวจได้ตามที่กำหนดไว้ 70% ของพื้นที่ ในทุกจุดที่ติดตาม มีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ เดินสำรวจ

เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ ป่าถูกแบ่งถูกแยกออกเป็นกลุ่มก้อน ด้วยส่วนหนึ่งจากปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจุบันเขาใหญ่ได้มีการยกระดับ มีการสร้างอุโมงค์เพื่อให้ป่าเชื่อมโยงกัน ทั้งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานทับลาน ทำให้พบว่ามีการเคลื่อนย้ายของสัตว์ป่า เสือโคร่งจากเขาใหญ่ไปยังพื้นที่อื่น

“อันนี้เป็นการสร้างระเบียงหรือ corridor เพื่อเชื่อมโยงผืนป่าให้ใหญ่ขึ้น เป็นการอนุรักษ์สัตว์ป่าและระบบนิเวศ”นายประกิตกล่าว

ด้านที่สาม นโยบายของรัฐบาลโดยเฉพาะด้านการวางยุทธศาสตร์และการปฏิรูปประเทศ ที่สนับสนุนการดำเนินการและการวิจัย

ด้านที่สี่ ความร่วมมือเป็นหัวใจของความสำเร็จในการอนุรักษ์สัตว์ป่า ผืนป่า ซึ่งผืนป่าจะอยู่ได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาชนและเอกชน

จากซ้าย นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ประเทศไทย

ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ กล่าวว่า การวิจัยเสือโคร่งในประเทศไทยเริ่มขึ้นด้วยนักวิจัยก่อนที่จะมีการประชุมประชุมสุดยอดผู้นำด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธ์รัฐรัสเซีย ในปี 2553 เสียอีก จึงมีความรู้เกี่ยวกับเสือโคร่ง มีฐานข้อมูลเสือโคร่งมากมายผ่านการติดวิทยุติดตามตัวว่า จึงมีความเข้าใจเสือโคร่งดีขึ้นจาก 20 ปีที่แล้ว

“จุดเริ่มต้นอยู่ที่ประเทศไทย โดยรัฐบาลในสมัยนั้นเห็นถึงความสำคัญจึงได้ชักชวนรัฐมนตรีของต่างประเทศมาประชุม และในที่สุดได้มีการออกเป็นปฏิญญารัสเซีย ประเทศไทยมีความรู้ มีข้อมูลจากการวิจัยการติดตามประชากรเสือโคร่ง ด้วยการติดวิทยุเสือโคร่งมาตั้งแต่ปี 2548 ทำให้ได้ความรู้เรื่องเสือโคร่งมากมายและเข้าใจเสือโคร่งมากกว่า 20 ปีที่แล้ว” ดร.ศักดิ์สิทธิ์กล่าว

จากการวิจัยพบว่าไทยไม่มีพื้นที่ป่าให้เสือโคร่งเพราะป่ามีขนาดเล็ก เสือโคร่งตัวผู้ 1 ตัวใช้พื้นที่ 300 ตารางกิโลเมตร ตัวเมียใช้พื้นที่ 60-80 ตารางกิโลเมตร พื้นที่เล็กทำให้ยากที่จะรักษาเสือโคร่ง อีกทั้งเสือโคร่งจะกินสัตว์ขนาดใหญ่ในสัดส่วน 85% ของอาหาร จะกินกวาง กินกระทิง เก้ง ดังนั้นพื้นที่ผืนใหญ่แต่ไม่มีสัตว์พวกนี้เสือก็อยู่ไม่ได้ ข้อมูลพวกนี้ทำให้เข้าใจว่าพื้นที่มีความสำคัญต่อการรักษาเสือโคร่ง ทั้งป่าตะวันตก ดงพญาเย็น โดยเฉพาะเสือโคร่งอินโดจีน

เมืองไทยเป็นที่เดียวที่มีเสือโคร่งอินโดจีน มากสุด ที่เมียนมาอาจจะมีไม่ถึง 20 ตัว ไทยจึงเป็นความหวังของโลก ในการรักษาเสือโคร่ง เนื่องจากเสือโคร่งที่อื่นๆ สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว และหากว่าเสือโคร่งจะสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ ก็ต้องให้เสือโคร่งในไทยสูญพันธุ์ไปหมดก่อน

“เราต้องมีพื้นที่ใหญ่ แต่การขยายป่าเป็นไปไม่ได้ ปัจจุบันมีกระทิงแดงเพียง 31% ของผืนป่าตะวันตก เสือโคร่ง 2.4-2.5 ตัวใช้พื้นที่ 100 ตารางกิโลเมตร แต่จากการประเมินผืนป่าตะวันตกราว 1 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร จะมีเสือราว 180-200 ตัว อันนี้น้อยที่สุดหากสามารถรักษาผืนป่าได้ เรามีเสือเพียงพอ แต่ดูแลเสือให้มีการขยายพันธุ์ อยากให้มีเพียงพอกับพื้นที่และดูแลให้ดี” ดร.ศักดิ์สิทธิ์กล่าว

ดร.ศักดิ์สิทธิ์กล่าวว่า การจะรักษาเสือได้ หนึ่ง ต้องมีผืนป่า สอง ต้องมีเหยื่อ สาม ต้องมีระบบป้องกันที่ดี จึงจะรักษาเสือไม่ให้สูญพันธุ์ แนวทางการวิจัยที่ทำมาคือมีการติดวิทยุติดตามที่ตัวเสือ พร้อมกับการติดตั้งกล้องในผืนป่าเพื่อติดตามพฤติกรรม โดยมีจุดวางกลอง 1,200 จุดภายในหนึ่งปี เจ้าหน้าที่ต้องแบกกล้องอุปกรณ์ติดตัวไปเดินเท้าตลอดพื้นที่ การตั้งกล้อง 1 จุด เก็บข้อมูล 1 เดือน ครอบคลุมพื้นที่ดงพญาเย็น เขาใหญ่ รวมกัน 6,000 ตารางกิโลเมตร เพื่อดูว่ามีเสือข้ามเขาใหญ่หรือไม่

สำหรับประชากรเสือโคร่งของไทย นับตั้งแต่ตัวแรกที่เริ่มทำการวิจัยปี 2537 จนถึงปัจจุบันไทยมีเสือโคร่งรุ่นที่ 5 แล้ว เสือหนึ่งตัวมีอายุเฉลี่ย 15 ปี เสือตัวเมียหนึ่งตัวออกลูกได้ 4 ตัว ความถี่ 2-3 ปีต่อ 1 ตัว แต่อัตราการอยู่รอด 40% หากแม่เสือเลี้ยงไม่ดี ประกอบกับตัวผู้ซึ่งเป็นจ่าฝูงจะเปลี่ยนไป เพราะมีตัวที่แข็งแกร่งกว่ามาแทน บางตัวครองพื้นที่ได้ 2-3 ปีจนกว่าจะมีตัวอื่นมาแทน

ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า WCS เป็นองค์กรระหว่างประเทศ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์ก ทำงานด้านสัตว์ป่าของโลก มีอายุกว่า 130 ปี ที่สมาคมมีผู้เชี่ยวชาญเสือโคร่งที่เป็นรู้จักของโลก 3-4 คน ซึ่ง NGO ในระดับโลกจะมีความแตกต่างตรงที่ทำงานลงลึกในด้านเทคนิค ไม่ใช่เพียงแค่จัดกิจกรรมรณรงค์หรือเป็นนักเคลื่อนไหวอย่างเดียว แต่จะช่วยรัฐบาล เช่น ช้างแอฟริกาที่ถูกล่าอย่างหนัก NGO เป็นคนระดมเงิน พัฒนาเทคนิค ทำงานช่วยรัฐบาลอย่างใกล้ชิด NGO วางตัวเป็นคนสอดส่อง หรือ watchdog อย่างเดียวไม่ได้

ดร.อนรรฆกล่าวในฐานะตัวแทนองค์กรอีก 6 แห่งที่ร่วมในโครงการอนุรักษ์เสือโคร่งว่า 15 ปีที่เริ่มฟื้นฟูเสือโคร่งในประเทศไทย ในแผนฟื้นฟู ต้องการที่จะให้ทุกคนตระหนักว่า พื้นที่ที่เหลือเสือโคร่งฟื้นฟูได้ อยู่ในป่าตะวันตกกับทับลานเล็กน้อย แม้มีพื้นที่ให้ฟื้นฟูเสือโคร่งได้จริง แต่มีขนาดเพียง 3% ของพื้นที่ประเทศ และอาจจะน้อยกว่านี้อีก ดังนั้นจึงต้องตระหนักว่ามีโอกาสอยู่บ้างแต่ไม่มาก

“การที่หลายคนบอกว่ารักษาเสือโคร่งคือ การรักษาพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ฝั่งป่าตะวันตก ในระดับโลกไม่ได้มองเฉพาะเนื้อที่ในไทยแต่มองไปถึงเมียนมา ลงไปถึง แก่งกระจาน กุยบุรี ทั้งหมดนี้มีพื้นที่ใหญ่มากรวมกันกว่า 30 ล้านไร่ เป็นความหมายว่าเรารักษาเสือโคร่งเป็นดัชนีของผืนป่าด้วย”

ดร.อนรรฆกล่าวว่า องค์กรที่ร่วมโครงการได้ดำเนินการ ด้วยการสนับสนุนของ UNDP กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก จนปัจจุบันห้วยขาแข้งเป็นสถานที่ฝึกการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดร.อนรรรฆกล่าวว่า การที่อนุรักษ์เสือโคร่งได้ จะเป็นการฟื้นฟูสัตว์อื่นทั้งระบบด้วย ที่เห็นชัด คือ วัวแดง สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ของโลก และตรงจุดนี้เป็นการฟื้นฟูสัตว์ทั้งระบบ เสือโคร่งหมดเพราะไม่มีอาหารกิน ป่าทางภาคเหนือแทบจะไม่เหลือ กวาง เสือถึงหมดด้วย วัวแดงเหลือพื้นที่ให้ฟื้นฟูแค่ 1% ของพื้นที่ประเทศไทย กระทิงกับกวางประมาณ 7%

ดร.อนรรฆกล่าวอีกว่า ระบบที่สำคัญคือต้องดูแลให้เข้มแข็งในระดับโลก เพราะเสือโคร่งเป็น protection dependent specie หรือสัตว์ป่าที่อยู่รอดได้ด้วยระบบป้องกันที่ดีเท่านั้น ไม่มีปัจจัยอื่นที่จะทำให้เสือโคร่งในป่าอยู่รอดได้ นอกจากจะมีระบบป้องกันที่ดี ยกตัวอย่างที่ชัดเจน คือที่เขาใหญ่ เสือโคร่งหายไปตั้งแต่ประมาณ 20 ปีมาแล้ว แม้ยังมีป่าที่ดูดี แต่กระทิง ช้าง เสือสูญพันธุ์ไปแล้ว ตอนนี้เหลือที่ทับลานประมาณ 20 ตัว พยายามจะฟื้นฟูกลับขึ้นมา

ดร.อนรรฆกล่าวต่อว่า งานอนุรักษ์เสือโคร่งได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ ทำให้สามารถจัดทำฐานข้อมูลประชากรเสือโคร่งที่ลงลึกไปถึงลายหนังเสือโคร่งที่เปรียบเสมือนลายนิ้วมือคนที่ติดตัวไปตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งช่วยให้สามารถตรวจสอบได้ในกรณีที่มีการจับกุมการลักลอบล่าและจำหน่ายหนังเสือ ว่าเป็นหนังเสือมาจากที่ไหน ว่าเป็นเสือจากแม่สอด หรือจากห้วยขาแข้ง

“ปัจจุบันไทยมีฐานข้อมูลใหญ่ ต่อไปนี้หากจับหนังเสือที่ไหนได้ ก็นำมาเปรียบเทียบลายในฐานข้อมูลได้ ระบบตรงนี้สำคัญเพราะเป็นระบบติดตามประชากรเสือโคร่งต่อเนื่อง” ดร.อนรรฆกล่าว