ThaiPublica > เกาะกระแส > 10 ปี ก่อนที่จะถึงเวลาเที่ยงคืน… การรับมือกับความท้าทายครั้งใหญ่ “ADAPT”

10 ปี ก่อนที่จะถึงเวลาเที่ยงคืน… การรับมือกับความท้าทายครั้งใหญ่ “ADAPT”

7 สิงหาคม 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : amazon.com

เว็บไซต์ strategy-business.com ของ PricewaterhouseCoopers (PwC) รายงานว่า นับจากปี 2020 โลกเราเผชิญกับปัญหาความท้าทายสำคัญ 5 อย่าง เรียกเป็นชื่อย่อว่า ADAPT ที่ประกอบด้วย ความไม่สมดุลของความมั่งคั่ง (asymmetry of wealth) ความชะงักงันจากเทคโนโลยี (disruption) ความแตกต่างด้านอายุของประชากร (age disparities) การแบ่งขั้วในสังคม (polarization) และการสูญเสียความเชื่อมั่นวางใจ (loss of trust) ต่อองค์กรในสังคม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งเป็นตัวเร่งทำให้ปัญหาเหล่านี้รุนแรงยิ่งขึ้น

การท้าทายของ ADAPT

นับจากปี 1950 เป็นต้นมา ประเทศในโลกตะวันตกเห็นพ้องกันถึงแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่จะเอาชนะปัญหาการท้าทาย ที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และการใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาดังกล่าว แต่เมื่อเวลาผ่านมาถึงปัจจุบัน มนุษย์เราก็ล้มเหลวในอันที่จะมองเห็นความท้าทายใหม่ ที่เทคโนโลยีและเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ได้กลายเป็นพลังที่จะเปลี่ยนแปลงต่อระบบที่เราได้สร้างขึ้นมา

ในหนังสือ Ten Years to Midnight (2020) ของ PwC กล่าวว่า ปัญหาท้าทายในปัจจุบัน เรียกชื่อย่อๆ ว่า ADAPT สามารถอธิบายสรุปได้ดังนี้

(1) ความไม่สมดุลเรื่องความมั่งคั่ง

ประเทศต่างๆ กำลังเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งที่เพิ่มมากขึ้น และคนชั้นกลางค่อยๆ สูญหายไป คนไม่ถึง 1% ของประชากรผู้ใหญ่ในโลกเป็นเจ้าของความมั่งคั่งถึง 45% ของโลก ช่วงปี 2008-2018 มหาเศรษฐีมีจำนวนเพิ่มจาก 1,125 คนเป็น 2,754 คน

นับจากปี 1988 กลุ่มคนรายได้ปานกลางมีจำนวนลดลง สาเหตุสำคัญที่ทั้งทำให้ทั้งจำนวนคนยากจนในโลกลดน้อยลง และเกิดช่องว่างของรายได้มากขึ้น มาจากการจ้างงานที่ย้ายจากประเทศรายได้สูงไปยังประเทศรายได้ต่ำ ที่เป็นลักษณะพื้นฐานของกระบวนการโลกาภิวัตน์ แม้แต่ประเทศกำลังพัฒนา ที่ได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ ความมั่งคั่งก็ไม่ได้กระจายอย่างทั่วถึงไปยังกลุ่มคนต่างๆ และระหว่างภูมิภาคทั้งหลาย

ที่มาภาพ: National Geographic Society

(2) ความชะงักงันจากเทคโนโลยี

ความชะงักงันจากเทคโนโลยีมีด้านบวก เหมือนกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หากไม่มีด้านบวกก็จะไม่มีเหตุการณ์ เช่น การแพร่หลายของข้อมูลข่าวสาร หรือโลกที่เล็กลง เพราะการเชื่อมโยงด้วยอินเทอร์เน็ต แต่ผลเสียจากความชะงักงันจากเทคโนโลยีก็มีมาก หากควบคุมได้ไม่ดี ผลเสียจะมีมากกว่าผลดี

ความกังวลที่คนทั่วไปมีมากสุดกับปัญหาความชะงักงันจากเทคโนโลยีคือการจ้างงานที่หายไป เพราะเกิดจากปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และความจริงเสมือน (virtual reality) ที่สร้างจากคอมพิวเตอร์ พลังความชะงักงันจากเทคโนโลยีนี้ยังกัดกร่อนสถาบันและองค์กรที่เป็นรากฐานของสังคม เช่น ระบบการศึกษา บริการของรัฐ หรือสื่อมวลชน สิ่งที่เกิดขึ้นกับสื่อมวลชนเป็นตัวอย่างที่ดี เดิมโมเดลธุรกิจของสื่อมวลชนมีง่ายๆ คนอ่านเป็นสมาชิกสื่อ เจ้าของสื่อมีรายได้เสริมจากโฆษณา นักข่าวมีกฎเกณฑ์ชัดเจนว่าอะไรคือการรายงานข่าวที่ดี แต่อินเทอร์เน็ตส่งผลกระทบทั้งหมดต่อโมเดลแบบเก่า งบโฆษณาย้ายไปที่โชเชียลมีเดีย เพราะเป็นสื่อที่คนเข้าถึง 24/7 และยังสามารถโฆษณาตรงต่อกลุ่มเป้าหมาย และมีการสนองตอบจากคนรับสื่อ

(3) ความต่างของอายุประชากร

ปี 1960 โลกมีประชากร 3 พันล้านคน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 8 พันล้านคน ประเทศต่างๆ ในโลกมีอยู่ 2 กลุ่ม คือประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่ม เช่น 65% ของประชากรอินเดีย มีอายุต่ำกว่า 35 ปี ทำให้อินเดียมีศักยภาพที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต แต่ความสามารถของอินเดียที่จะสร้างงานนับล้านๆ งานก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ส่วนประเทศอีกกลุ่มหนึ่งจะมีจำนวนประชากรลดลง และคนสูงอายุมากขึ้น เช่น สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ทำให้ต้องขยายฐานภาษีคนทำงานมากขึ้น เพื่อนำมาใช้สนับสนุนคนที่เกษียณ และการดูแลสุขภาพของคนอายุ 65 ปีขึ้นไป ความเหลื่อมล้ำจากสาเหตุด้านอายุ จะมีมากขึ้น หากสังคมนั้นไม่สามารถให้บริการสุขภาพคนสูงอายุ หรือไม่สามารถสร้างงานได้พอที่จะรองรับคนวัยทำงาน

ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม นับจากปี 1960 ที่มาภาพ : Ten Years to Midnight

(4) การแบ่งขั้วในสังคม

ความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความชะงักงันจากเทคโนโลยีทำให้เกิดภาวะการแบ่งขั้วและแตกแยกในสังคม ทำให้คนทั่วไปกลายเป็นเหยื่อของนักการเมืองประชานิยม สภาพที่คนทั่วไปจะคิดว่าอนาคตจะเลวร้ายกว่าอดีตทำให้คนเรากลายเป็นเหยื่ออย่างดีต่อความคิดประชานิยมและชาตินิยม

(5) ปัญหาความเชื่อมั่นต่อองค์กรในสังคม

ความไม่เชื่อมั่นต่อองค์กรของสังคม เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก การขาดความน่าเชื่อถือเกิดขึ้นต่อองค์กรรัฐ บริษัท สื่อมวลชน มหาวิทยาลัย และองค์กรทางศาสนา สาเหตุมาจากพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น การเกิดวิกฤติทางการเงิน คอร์รัปชันการเมือง และการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่มีข้อยกเว้นในกรณีของจีนกับอินเดีย การสำรวจความเห็นประชาชนใน 2 ประเทศ พบว่า 2 ใน 3 ของประชากรยังมีความเชื่อมั่นต่อรัฐ สภาพความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ทำให้คนจีนและอินเดียเห็นว่า สถาบันของรัฐทำงานเพื่อความเป็นอยู่ของพวกเขา

หนทางเอาชนะวิกฤติ ADAPT

หนังสือ Ten Years to Midnight กล่าวว่า หลังจากสงครามโลกเป็นต้นมา โมเดลเศรษฐกิจที่สร้างความสำเร็จแก่โลกเราประกอบด้วย การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆ โดยอาศัยกลไกตลาด การใช้ GDP เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ การยึดเป้าหมายธุรกิจเรื่องผลตอบแทนผู้ถือหุ้น การสร้างสถาบันเศรษฐกิจที่สนับสนุนการเติบโตของ GDP การมีนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และพัฒนาผู้นำด้านต่างๆ ที่มีทัศนะและความชำนาญด้านด้านโลกาภิวัตน์

แต่โมเดลดังกล่าว ไม่สามารถเป็นคำตอบต่อวิกฤติ ADAPT หนังสือ Ten Years to Midnight กล่าวว่า การรับมือกับวิกฤติ ADAPT ต้องการความคิดใหม่ๆ เพื่อรับมือกับการท้าทายของศตวรรษที่ 21 และเสนอกลยุทธ์ 4 ด้านด้วยกันดังนี้

ประการแรก โมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ท้องถิ่นมาก่อน กระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน ทำให้เกิดช่องว่างที่โมเดลการพัฒนาแบบใหม่จะสามารถเกิดขึ้นมา เรียกว่า “ท้องถิ่นมาก่อน” โมเดลเศรษฐกิจนี้หมายถึงการปรับปรุงระบบนิเวศทางเศรษฐกิจของท้องถิ่นให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจแก่ทุกคนในชุมชน โดยไม่มีใครตกหล่น

ประการที่ 2 กำหนดนิยามใหม่ของความสำเร็จ การเน้นหนักในเรื่องการเติบโตของ GDP ทำให้หลายประเทศมองข้ามความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และความแตกต่างในมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้เกิดขึ้นทั่วถึงในทุกแห่ง นอกจากนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจก็ไม่ได้สนับสนุนความก้าวหน้าทางสังคมเสมอไป ส่วนการเน้นหนักเรื่องคุณค่าของผู้ถือหุ้น ทำธุรกิจมองข้ามความรับผิดชอบต่อชุมชน ที่เป็นแหล่งที่ตั้งของธุรกิจเอง ดังนั้น จึงต้องกำหนดความหมายใหม่ของความสำเร็จ ว่ามีความหมายของการพึ่งพากันและกัน และคนทุกคนได้อานิสงส์จากการเติบโต

ประการที่ 3 ปรับปรุงบทบาทขององค์กรทางสังคม เราไม่อาจจะพึ่งพาสถาบันการศึกษาเพียงอย่างเดียว เพื่อเตรียมตัวเยาวชนเข้าสู่โลกในอนาคต หรือองค์การระหว่างประเทศ ที่จะทำหน้าที่ประสานงานในโลกที่แยกเป็นภูมิภาคต่างๆ องค์กรและสถาบันต่างๆ ของสังคม จำเป็นต้องชัดเจนในบทบาทหน้าที่ที่มีต่อสังคม เสริมสร้างพันธกรณีต่อสังคม และกำหนดบทบาทของตัวเองในบริบทใหม่

ประการที่ 4 ทำให้เทคโนโลยีเป็นนวัตกรรมทางสังคม ปัญหาที่สร้างจากเทคโนโลยีไม่สามารถแก้ไขได้จากตัวเทคโนโลยีเอง ตัวเทคโนโลยีเองไม่สนใจต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น มีแต่ความคิดของการออกแบบและนวัตกรรมเพื่อสังคมเท่านั้น ที่จะทำให้เทคโนโลยีรับใช้ความต้องการที่กว้างขวางของสังคม

หนังสือ Ten Years to Midnight กล่าวสรุปว่า การแก้ปัญหาความท้าทายของ ADAPT จำเป็นต้องใช้เวลา เราไม่มีเวลา 10 ปีที่จะเริ่มต้น แต่เรามีเวลา 10 ปีเพื่อจะเปลี่ยนแปลงในระดับมูลฐานอย่างเป็นระบบ การเปลี่ยนแปลงในระดับนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แต่โลกเราเคยมีบทเรียนความสำเร็จจากในอดีตมาแล้ว คือโครงการ The Marshall Plan ที่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯ ช่วยเหลือการฟื้นฟูเศรษฐกิจยุโรปตะวันตก มูลค่า 129 พันล้านดอลลาร์ เมื่อคิดเป็นค่าเงินปัจจุบัน

เอกสารประกอบ
Ten Years to Midnight, Blair H. Sheppard, Berrett-Koehler Publisher, Inc. 2020.