ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > “อ็อกแฟม” ชี้ผลกระทบโควิด-19 ต่อแรงงาน ผู้ผลิตรายย่อยในห่วงโซ่อาหารทะเล

“อ็อกแฟม” ชี้ผลกระทบโควิด-19 ต่อแรงงาน ผู้ผลิตรายย่อยในห่วงโซ่อาหารทะเล

7 กรกฎาคม 2020


การระบาดของโควิด-19 และการตอบสนองอย่างทันท่วงทีของรัฐบาลไทยมีผลกระทบอย่างมากต่อแรงงานและผู้ผลิตรายเล็กในธุรกิจอาหารทะเล ทั้งนี้จากรายงาน Impacts of the COVID-19 pandemic on small-scale producers and workers มุมมองจากห่วงโซ่อาหารทะเลของไทย Perspectives from Thailand’s seafood supply chain โดยภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน และองค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย ได้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงานและผู้ผลิตรายย่อย

รายงานจัดทำขึ้นผ่านการสัมภาษณ์แรงงาน ผู้ผลิตรายย่อย และบริษัทผู้ส่งออกอาหารทะเลไทยในภาคใต้ คือ สงขลา ปัตตานี และชุมพร ส่วนภาคกลาง คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมทั้งมีข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหาการคุ้มครองแรงงานและการสนับสนุนผู้ผลิตรายย่อยที่ยังไม่มากพอ ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงกว้างในธุรกิจอาหารทะเลและธุรกิจประมง ซึ่งรวมทั้งผู้ส่งออกอาหารทะเล เจ้าของเรือและผู้ซื้อทั่วโลก

สถานการณ์ปัจจุบันจากภาคีเครือข่ายในแนวหน้า

การระบาดของโควิด-19 และมาตรการป้องกันไวรัสของรัฐบาลไทยมีผลกระทบอย่างมากต่อแรงงานและผู้ผลิตรายย่อยในธุรกิจอาหารทะเล ปัจจุบันสินค้าจากผู้ผลิตรายย่อยไม่สามารถเข้าถึงตลาดหลักๆ ได้ เช่น ตลาดสี่มุมเมืองและตลาดไท ซึ่งรองรับคนในเมือง นอกจากนี้ความต้องการอาหารสดของประชาชนมีน้อย แต่เน้นอาหารแห้งหรืออาหารที่ไม่เน่าเสียง่าย พ่อค้าคนกลางได้หยุดการซื้อสินค้าจากผู้ผลิต การปิดตลาดย่อยหลายแห่งทำให้ผู้ผลิตรายย่อยต้องหาตลาดในพื้นที่ของตนเอง บางคนปรับตัวโดยการหันไปแปรรูปอาหารสดเป็นอาหารที่ไม่เน่าเสียง่าย

ชาวประมงท้องถิ่นเล่าว่า ลูกค้าประจำของพวกเขาไม่ได้ซื้อสินค้านานหลายสัปดาห์ เนื่องจากความต้องการของตลาดลดลง ผู้ซื้อรายใหญ่ เช่น โรงแรมหรือร้านอาหาร ได้หยุดดำเนินการชั่วคราว และราคาอาหารทะเลที่ลดลง ส่งผลให้การจับปลาไม่ทำเงิน ชาวประมงท้องถิ่นปรับตัวโดยการขับรถไปยังชุมชนใกล้เคียงเพื่อขายสินค้า รวมทั้งโฆษณาขายทั้งอาหารทะเลหรืออาหารทะเแปรรูปผ่านระบบออนไลน์ เช่น ผ่านกลุ่ม Facebook เพื่อตัดพ่อค้าคนกลางออก ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำแม้ชาวประมงท้องถิ่นสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันได้ แต่การปิดตลาดสำคัญหลายแห่งทำให้รายได้ลดลง หากมีการแพร่ระบาดเป็นเวลานาน ผลกระทบอาจกลายเป็นความเสียหายที่มากขึ้น

การระบาดใหญ่ส่งผลกระทบต่อคนงานในหลายภาคส่วนรวมถึงการท่องเที่ยว การบริการและการก่อสร้าง คนงานจำนวนมากถูกปลดออกหรือถูกปลดโดยไม่ได้รับค่าจ้าง และหลายคนกำลังประสบปัญหาทางการเงิน เมื่อได้ยินว่าจะปิดพรมแดน แรงงานอพยพบางคนเลือกที่จะกลับไปยังประเทศบ้านเกิดของตน “แม่ของแรงงานข้ามชาติคนหนึ่งโทรหาลูกและบอกให้ลูกของเธอกลับบ้านเนื่องจากเธอไม่ต้องการให้เขาตายในประเทศไทย” จากการเปิดเผยของสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Rights:MWRN)

อย่างไรก็ตาม แรงงานบางส่วนในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากโรงงานส่วนใหญ่ยังคงดำเนินการตามปกติ

แม้โรงงานขนาดใหญ่มักจะปฏิบัติตามมาตรฐานที่เข้มงวดกว่าโรงงานขนาดเล็ก แต่โรงงานแปรรูปอาหารทะเลส่วนใหญ่ปฏิบัติตามมาตรฐานทั่วไปด้านความสะอาด เนื่องจากพนักงานต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลในสายการผลิตอาหารอยู่แล้ว ทำให้คนงานส่วนใหญ่รู้สึกว่าไม่เปลี่ยนแปลงมากนักในการตอบสนองต่อไวรัส

แต่แรงงานจำนวนมากไม่สามารถอยู่รอดได้อีกต่อไปเนื่องจากรายได้ลดลง เพราะความต้องการสินค้าอาหารทะเลลดลงและต้องออกจากงานเนื่องจากค่าล่วงเวลาและค่าแรงแบบจูงใจเป็นส่วนสำคัญของรายได้ทั้งหมด

จากการสัมภาษณ์พบว่า ยังมีความไม่ชัดเจนในระดับปฏิบัติการของบางบริษัท ที่เกี่ยวเนื่องกับเงื่อนไขที่กำหนดจากผู้ซื้อต่างประเทศ โดยเรียกร้องให้หยุดการผลิตในกรณีที่คนงานติดโควิด-19

ความกดดันที่เกิดจากเงื่อนไขดังกล่าวอาจทำให้ผู้จัดการโรงงานปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงของการติดโควิด-19 ในกลุ่มพนักงานโรงงานต่อสาธารณะ แต่ข้อมูลดังกล่าวมีความสำคัญต่อความพยายามในการควบคุมการแพร่กระจายของไวรัสโดยเฉพาะในที่ทำงาน ปัจจุบันพนักงานโรงงานได้รับการสนับสนุนให้เดินทางไปทำงานด้วยการขนส่งที่โรงงานจัดให้ เพื่อป้องกันความแออัดของยานพาหนะ โรงงานได้จัดให้มีรถปิกอัปและรอบส่งเสริม พนักงานต้องผ่านการฆ่าเชื้อและใส่อุปกรณ์ป้องกันก่อนเข้าโรงงาน

ผู้ที่ทำงานในเรือประมงส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่าการทำงานได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ชาวประมงมีแนวโน้มที่จะทำงานและใช้ชีวิตต่อไปตามปกติ แม้จะมีแรงงานหลายคนทำงานในจังหวัดที่มีความเสี่ยง เช่น สงขลา หรือปัตตานี ความเสี่ยงที่สำคัญของชาวประมงคือ การขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการแพร่กระจายของไวรัส ในช่วงเวลาของการเขียนรายงานนี้ หลายคนดูเหมือนจะไม่กังวลเกี่ยวกับอันตรายของโควิด-19 และยังคงอยู่ด้วยกันอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ใกล้ๆ กันบนเรือประมง โดยไม่สวมอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม แสดงให้เห็นว่าภาครัฐและเอกชนไม่ได้พยายามอย่างเพียงพอที่จะให้ข้อมูลคนงานในเรือเกี่ยวกับไวรัสและ/หรือบังคับใช้มาตรการด้านปลอดภัย

นอกเหนือจากนี้ ครอบครัวของชาวประมงมีแนวโน้มที่จะอยู่ในสภาพคับแคบ บ่อยครั้งพบว่าอยู่ในห้องเดียวกัน สิ่งนี้จะเป็นความท้าทายที่สำคัญในกรณีที่เกิดการระบาดในชุมชนเหล่านี้ หากไวรัสแพร่กระจายภายในชุมชนชาวประมงและการประมงหยุดชะงักลง ชาวประมงจำนวนมากจะได้รับผลกระทบเนื่องจากเงื่อนไขห้ามมิให้พวกเขาหางานประเภทอื่น

ชาวประมงจำนวนมากยังไม่ได้รับการคุ้มครองโดยระบบประกันสังคม ทำให้พวกเขาไม่มีสิทธิ์ได้รับผลประโยชน์หรือค่าชดเชยหากพวกเขาได้รับผลกระทบจากโควิด-19

การดูแลแรงงานและเกษตรกรของรัฐไม่เพียงพอ

การดำเนินการตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการใช้เคอร์ฟิวของรัฐบาล ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ตัวอย่างเช่น ชาวประมงยังคงสามารถทำงานได้ตามปกติ ส่วนกลไกการชดเชยสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะเมื่อใช้กับผู้ผลิตรายย่อยนั้นไม่เพียงพอ รัฐบาลไทยได้ออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอนุญาตให้กระทรวงการคลังกู้เงินได้มากถึง 1 ล้านล้านบาท เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยที่ 6 แสนล้านบาท ใช้ในมาตรการด้านการสาธารณสุขและมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งรวมถึงชาวประมงท้องถิ่นและแรงงานอื่นๆ

วันที่ 28 เมษายน 2563 คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้จ่ายเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือนให้กับเกษตรกรเช่นกัน โดยลงทะเบียนออนไลน์กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งการให้ลงทะเบียนออนไลน์เพียงอย่างเดียวนั้นสร้างความลำบากให้กับผู้ผลิตรายย่อยที่อาจจะไม่คุ้นเคยกับแพลตฟอร์มออนไลน์และอินเทอร์เน็ต อีกทั้งต้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจสอบความถูกต้อง ซึ่งระยะเวลายังไม่กำหนดชัดเจน

รัฐบาลยืนยันว่า ผู้ที่ทำงานบนเรือประมงหรือในโรงงานแปรรูปอาหาร สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ประกันสังคมที่เกี่ยวข้องกับการว่างงานหรือถูกให้ออกจากงาน ตามกฎหมายประกันสังคม อย่างไรก็ตาม แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายในการใช้สิทธิเหล่านี้ เนื่องจากผู้ที่ถูกปลดออกในช่วงเวลานี้ยังคงถูกผูกมัดตามกฎหมายการจัดการแรงงานข้ามชาติ โดยต้องหานายจ้างใหม่ภายใน 15 วัน และต้องยื่นคำร้องเพื่อรับผลประโยชน์ ในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้เลยที่แรงงานข้ามชาติจะหานายจ้างใหม่และยื่นเรื่องขอผลประโยชน์ในช่วงเวลาที่กำหนดไปพร้อมกัน นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องยากสำหรับแรงงานข้ามชาติที่จะยื่นคำร้องดังกล่าวผ่านระบบออนไลน์ เนื่องจากไม่มีบริการในภาษาของแรงงานต่างด้าว

ข้อมูลที่ได้ยังชี้ให้เห็นว่ามีการขาดความเข้าใจในหมู่คนงานในโรงงานและคนงานประมง เกี่ยวกับการแพร่กระจายของไวรัสซึ่งมีความเสี่ยงที่สำคัญ ในขณะที่คนงานยังคงอาศัยอยู่ในที่พักใกล้ๆ บนเรือประมงโดยไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม ยิ่งกว่านั้นแรงงานข้ามชาติต้องเผชิญกับอุปสรรคในการใช้สิทธิเพื่อสิทธิประโยชน์ประกันสังคม โดยเฉพาะผู้ที่ว่างงานหรือออกจากงานโดยไม่ได้จ่ายเงินเนื่องจากอุปสรรคด้านภาษาและนโยบายที่คลุมเครือ

นอกจากนี้ เจ้าของเรือ/นายจ้างส่วนใหญ่เลือกใช้บริการประกันสุขภาพเอกชนแทนประกันสังคมของรัฐ ดังนั้น คนงานประมงจำนวนมากยังไม่ได้รับการคุ้มครองโดยระบบประกันสังคม ทำให้พวกเขาไม่มีสิทธิ์ได้รับผลประโยชน์หรือค่าชดเชย หากได้รับผลกระทบจากโควิด-19

การดำเนินการของภาคเอกชน

ภาคีเครือข่ายฯ ได้พบปะและหารือกับ 3 บริษัท คือ กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี, บมจ.ซีเฟรช อินดัสตรี และกลุ่มไทยยูเนียน มาตั้งแต่ปี 2018 ในสิทธิแรงงาน 3 ประเด็น ได้แก่ 1) การจ้างงานที่รับผิดชอบ 2) กลไกการร้องทุกข์ เสรีภาพในการสมาคมและการต่อรองร่วม และ 3) อาชีวอนามัยและความปลอดภัย

ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั้ง 3 บริษัทได้ให้ข้อมูลรายละเอียด กับอ็อกแฟมซึ่งเป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายฯ ถึงแนวนโยบายการดำเนินการต่อสถานการณ์ไวรัสของแต่ละบริษัท รวมทั้งความท้าทาย ช่องว่างของนโยบาย และแนวทางในระยะต่อไป

  • แนวทางการตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 ของ 3 บริษัท
    บริษัททั้ง 3 แห่งได้ดำเนินการมาตรการป้องกันและการตอบสนองต่อการระบาดในหลายด้าน ประกอบด้วย

    หน้ากากอนามัย: ทั้ง 3 บริษัทได้จัดหาหน้ากากอนามัยนอกเหนือจากชุดป้องกันส่วนบุคคลที่พนักงานต้องสวมใส่อยู่แล้วในสายการผลิตอาหาร

    บริษัทซีพีเอฟและบริษัทซีเฟรชแจกหน้ากากที่ทำความสะอาดได้ 2 ชิ้นแก่พนักงานทุกคนในโรงงานทั้งหมดเพื่อใช้ภายในและภายนอกโรงงาน ส่วนไทยยูเนียนแจกหน้ากากที่ล้างทำความสะอาดได้ฟรีและเฟซชีลด์ให้กับคนงานทุกคนในโรงงานทั้งหมด

    อย่างไรก็ตาม ภาคีเครือข่ายฯ ที่อยู่แนวหน้ายังคงสะท้อนให้เห็นว่าโรงงานบางแห่ง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในทั้ง 3 บริษัท ไม่ได้แจกอุปกรณ์ป้องกันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แรงงานต้องจัดหาอุปกรณ์ด้วยตัวเองเพื่อปฏิบัติตามกฎระเบียบของรัฐ ในประเด็นนี้ สุธาสินีย้ำว่า “โรงงานบางแห่งแจกหน้ากากให้กับพนักงานเพียงครั้งเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นคนงานจะต้องจัดหาและซื้อหน้ากากด้วยตนเอง ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าโรงงาน”

    จุดวางเจลล้างมือและแอลกอฮอล์: ทั้ง 3 บริษัทได้จัดจุดวางเจลล้างมือและแอลกอฮอล์ (ซึ่งเป็นแอลกอฮอลล์ 70% ขึ้นไป) ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโรงงาน

    โปรแกรมการตระหนักรู้เกี่ยวกับโควิด-19: ทั้ง 3 บริษัท ได้จัดให้มีโปรแกรมการตระหนักรู้เกี่ยวกับโควิด-19 ให้กับคนงาน โดยใช้โปสเตอร์และ/หรือการบันทึกเสียงและวิดีโอในภาษาของคนงานเอง นอกจากนี้จะมีพนักงานทำการวัดอุณหภูมิของคนงานก่อนที่จะเข้าไปในโรงงานของ บริษัทไทยยูเนียนยังแบ่งปันสื่อความรู้ เช่น วิดีโอ ให้กับตัวแทนจัดหาแรงงานข้ามชาติและองค์กร NGO พันธมิตรที่สามารถเผยแพร่ข้อมูลให้กับแรงงานในเครือข่าย บริษัทซีเฟรช ร่วมกับสถาบันอิสรา ผลิตข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ในภาษาของคนงาน

    มาตรการรักษาระยะห่างภายในโรงงาน: ทั้ง 3 บริษัทได้ใช้มาตรการรักษาระยะห่างทางกายภาพในโรงงาน เช่น รักษาระยะห่าง 1.5-2 เมตรระหว่างกันตลอดเวลา นี่เป็นมาตรการสำคัญหลักในโรงอาหารและพื้นที่รอระหว่างอาหารกลางวัน

    มาตรการรักษาระยะห่างในการขนส่งคนงาน: ทั้ง 3 บริษัทยังใช้มาตรการรักษาระยะห่างทางกายภาพด้วยการเพิ่มจำนวนและความถี่ของการเดินทางขนส่งระหว่างหอพัก (พื้นที่อยู่อาศัย) และโรงงาน เพื่อลดจำนวนผู้โดยสารต่อเที่ยว บริษัทซีเฟรชได้ร่วมกับบริการรถรับส่งเพื่อทำความสะอาดรถและติดป้าย เพื่อให้คนงานรู้ว่าปลอดภัยในการใช้บริการรถ

    จากภาคีเครือข่ายฯ ในแนวหน้าและการสัมภาษณ์แรงงาน ถึงการตอบสนองต่อการระบาดของโรค พบว่าโรงงานนายจ้างได้จัดให้มีการขนส่งถี่มากขึ้นสำหรับแรงงาน เพื่อหลีกเลี่ยงความแออัดยัดเยียด และมีการแจกอุปกรณ์ป้องกัน รวมทั้งออกข้อบังคับให้แรงงานสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเมื่ออยู่ภายในโรงงาน อย่างไรก็ตามมีการสะท้อนจากแรงงานว่า มาตรการที่เข้มงวดในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่เป็นความท้าทายที่เพิ่มขึ้นสำหรับแรงงาน เนื่องจากขณะนี้พวกเขาต้องรับผิดชอบในการจัดหาและซื้ออุปกรณ์ป้องกันของตนเอง เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถเข้าทำงานและเดินทางไปทำงานได้

  • ขั้นตอนที่นอกเหนือจากการอำนวยความสะดวกของบริษัท
    ทั้ง 3 บริษัท ได้ขยายมาตรการรักษาระยะห่างให้ครอบคลุมหอพักคนงาน โดยซีพีเอฟได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดให้ความรู้แก่คนงานในหอพักเกี่ยวกับวิธีการป้องกันไวรัส โดยเน้นถึงความสำคัญของมาตรการทำความสะอาด ในทำนองเดียวกัน บริษัทซีเฟรชได้ขยายมาตรการป้องกันไปยังหอพักคนงาน โดยเน้นการทำความสะอาด และจัดเรียงระยะห่างระหว่างคนงาน 6 คนในห้องขนาด 24 ตารางเมตร

    ทั้ง 3 บริษัทยังสนับสนุนให้คนงานที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ให้อยู่ในสถานที่ของบริษัท เพื่อลดโอกาสในการแพร่กระจายไวรัส และในกรณีนี้คนงานจะได้ห้องพักฟรี สำหรับคนที่อยู่ในหอพักของโรงงาน ได้ส่งเสริมให้คนงานในสายการผลิตเดียวกันพักอยู่ในหอพักด้วยกัน เพื่อให้ติดตามได้ง่ายขึ้นหากมีการแพร่กระจาย และมีการรายงานผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19

    อย่างไรก็ตาม ความคิดริเริ่มนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับมากนักจากคนงาน ซึ่งส่วนใหญ่ชอบอยู่กับเพื่อนหรือญาติในกลุ่มที่ไม่ได้จัดหมวดหมู่ตามสายการผลิต

    สำหรับไทยยูเนียน ได้ส่งเสริมมาตรการรักษาระยะห่างภายในหอพักคนงาน และใช้มาตรการด้านสุขอนามัยเพิ่มเติม โดยร่วมมือกับเจ้าของหอพัก ภายในที่พัก บริษัทฯ ได้จัดให้มีอาคารแยกเป็นพื้นที่กักกันคนงานที่ถูกระบุว่ามีความเสี่ยงสูง และจำเป็นต้องแยกตัวออกจากผู้ที่อาศัยด้วยกัน รวมทั้งตรวจสอบสภาพสุขภาพของคนงานอย่างใกล้ชิด

  • การแก้ปัญหาความท้าทายของประกันสังคม
    การสนับสนุนของบริษัทแก่คนงาน (จากแผนกทรัพยากรบุคคล) ในการเข้าถึงโครงการสวัสดิการของรัฐมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากคนงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถเขียนหรืออ่านภาษาไทยได้ หากไม่มีการสนับสนุนจากนายจ้าง จะเป็นไปไม่ได้เลยที่แรงงานข้ามชาติจะเข้าถึงแผนการตอบสนองโควิด-19 ของรัฐบาล

    แผนกทรัพยากรบุคคลของบริษัทซีเฟรช ขยายการสนับสนุนไปยังคนงานที่อาจจำเป็นต้องยื่นใช้สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม หรือยื่นในนามของคนงานหากจำเป็น ในขณะที่กำลังจัดทำรายงานฉบับนี้ คนงานที่ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์พื้นฐาน พวกเขาได้รับการร้องขอให้กักกันตัวเอง 14 วัน ก็ยังไม่ได้รับเงินจากสำนักงานประกันสังคม แต่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลได้ช่วยในการติดตามผลการยื่น

    ด้านซีพีเอฟ กรณีที่คนงานได้รับการร้องขอจากแพทย์หรือบริษัทให้กักกันตัวเอง คนงานจะได้รับค่าจ้างตามปกติและได้รับการปฏิบัติเหมือนทำงานที่บ้าน อีกทั้งบริษัทยังจัดหาอาหารและสิ่งของจำเป็นอื่นๆ ให้กับคนงานที่หอพักในระหว่างการกักกัน

    ในท้ายสุดของการหารือกับทั้ง 3 บริษัทไม่สามารถระบุการกระทำหรือความริเริ่มที่ชัดเจนจากสมาคมอาหารทะเลทั่วโลกเพื่อรับมือกับความท้าทายที่คนงานแปรรูปอาหารทะเลหรือคนงานบนเรือประมงจับต้องได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทแห่งหนึ่งที่ได้ให้สัมภาษณ์ระบุว่า มีความคิดริเริ่มที่ซูเปอร์มาร์เกตในสหราชอาณาจักรได้ร่วมมือกันจัดสัมมนาเกี่ยวกับการจัดการโควิด-19 ผ่านเว็บไซต์ ซึ่งมีซัพพลายเออร์ทั้งในสหราชอาณาจักรและทั่วโลก เพื่อให้คำแนะนำและการสนับสนุนเพื่อปกป้องแรงงานในช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงนี้

    “เราขอเรียกร้องให้สมาคมอุตสาหกรรมและเวทีอาหารทะเลระหว่างประเทศ จัดทำแผนตอบสนองโควิด-19 เพื่อให้มั่นใจว่ามีการใช้แผนบรรเทาความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่อุปทาน”

    จากการสัมภาษณ์พบว่า ผู้ส่งออกอาหารทะเลของประเทศได้กำหนดมาตรการป้องกันหลายด้านเพื่อตอบสนองต่อโควิด-19 บางบริษัทได้ดำเนินการมากกว่าสิ่งอำนวยความสะดวกที่มี เพื่อสนับสนุนและป้องกันความเสี่ยงของการระบาดในครัวเรือนและชุมชนของคนงาน อย่างไรก็ตาม ขณะที่บางบริษัทได้แบ่งปันข้อมูลชุดความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 ให้กับซัพพลายเออร์บางส่วน ขยายการสนับสนุนเพิ่มเติมไปยังสิ่งอำนวยความสะดวกหรือเรือของซัพพลายเออร์ในสิ่งที่ยังขาดอยู่ และคนงานที่เสี่ยงต่อการระบาดเนื่องจากขาดมาตรการป้องกันที่เหมาะสม

    ภาคเครือข่ายในแนวหน้าในไทยได้สะท้อนว่า การป้องกันและการสนับสนุนที่ให้กับชาวประมงได้พิสูจน์แล้วว่าไม่เพียงพอ อาจเป็นเพราะความจริงที่ว่าการระบาดยังไม่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่พวกเขาอาศัยและทำงาน ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2563 ไม่มีการรายการติดเชื้อโควิด-19 ยืนยันเป็นทางการในหมู่คนงานในโรงงานหรือชาวประมง แม้อาจจะเป็นเพราะการทดสอบหาเชื้อไม่มากพอในประชากรเหล่านี้ แรงงานอพยพบางคนเชื่อว่าพวกเขาจะถูกรังเกียจหากติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นความกลัวที่อาจทำให้ใครก็ตามที่ติดเชื้อปกปิดข้อมูลไว้

    จากข้อมูลที่ได้ ภาคีเครือข่ายในไทยจึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอาหารทะเลและประมง รวมถึงผู้ส่งออกอาหารทะเลของไทย เจ้าของเรือและผู้ซื้อทั่วโลก คำแนะนำชุดนี้ไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาทั้งหมดที่คนงานและผู้ผลิตอาหารเผชิญ แต่บ่งชี้ความท้าทายที่ได้จากการหาข้อมูล

    ข้อเสนอแนะต่อบริษัท

  • ข้อเสนอแนะต่อผู้ส่งออกอาหารทะเลของไทย เจ้าของเรือ

  • 1) นายจ้างต้องรับประกันว่าสถานที่ทำงานมีความปลอดภัยและจัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมสุขภาพความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของคนงานขณะทำงาน ระหว่างการขนส่งและในชุมชนของคนงาน รวมถึง

  • ปรับปรุงโปรแกรมการฝึกอบรมเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโควิด-19 และจัดให้มีการเข้าถึงการดูแลสุขภาพและผลประโยชน์ของรัฐหากพนักงานและครอบครัวไม่สบายเพราะเจ็บป่วยด้วยโรคโควิด-19
  • จัดหาอุปกรณ์ป้องกันที่เพียงพอและดำเนินการตามมาตรการรักษาระยะห่างทางกายภาพตามคำแนะนำของหน่วยงานด้านสุขภาพ เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือ ที่กั้น (ถ้ามี) และการตรวจวัดอุณหภูมิ
  • จัดให้มีการสนับสนุนเพิ่มเติมจากแผนกทรัพยากรบุคคลให้กับพนักงาน เพื่อช่วยในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของรัฐและเพื่อให้มั่นใจว่าการสนับสนุนนั้นพร้อมที่จะปฏิบัติในทุกโรงงานผ่านการดำเนินงานของบริษัท

    2) ผู้ส่งออกอาหารทะเลและเจ้าของเรือควรมีส่วนร่วมโดยตรงกับคนงานและผู้ผลิต เพื่อเรียนรู้ถึงความท้าทายในการทำงานในแต่ละวัน โดยพื้นฐานแล้วแรงงานควรได้รับการจัดระเบียบกันเองและเจรจากับนายจ้างโดยไม่กลัวการตอบโต้ การให้คำปรึกษาและการมีส่วนร่วมประเภทนี้หมายความว่านายจ้างจะอยู่ในสถานะที่ดีขึ้น เพื่อสนับสนุนแรงงานในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้และป้องกันความเสี่ยงของการระบาดที่อาจเกิดขึ้นและการหยุดชะงักทางธุรกิจ

    3) นายจ้างต้องทำมากขึ้น เพื่อปกป้องสุขภาพและความปลอดภัย สิทธิของแรงงานข้ามชาติที่เปราะบางต่อความเสี่ยงที่เกิดจากการระบาดใหญ่โดยเฉพาะ และเพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่สำคัญที่แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญในประเทศไทยนายจ้างควรสร้างความมั่นใจว่า

  • แรงงานข้ามชาติทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพและการป้องกันในภาษาของตนเองและสามารถขอการสนับสนุนเพิ่มเติมจากแผนกทรัพยากรบุคคลของบริษัท และกลุ่มประชาสังคมภายนอก ที่ให้อำนาจและคำนึงถึงความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงานอพยพ
  • แรงงานข้ามชาติทุกคนควรได้รับอนุญาตให้ลาป่วยและได้รับอาหารและที่พักที่จำเป็นหากไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางหรือไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เนื่องจากการระบาดใหญ่
  • แรงงานข้ามชาติทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรมและโปร่งใสในกรณีที่มีการเลิกจ้างและ/หรือถูกพักงาน พวกเขาควรได้รับการสนับสนุนด้วยความช่วยเหลือทางกฎหมายและควรได้รับการชดเชยด้วยค่าแรงที่ยังไม่ได้รับ คนงานที่จ่ายค่าจัดหางานควรได้รับการเยียวยาจากนายจ้าง

     

    4) ซัพพลายเออร์และเจ้าของเรือควรเปิดเผยและแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกรณีติดโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรประชาสังคมท้องถิ่นอย่างโปร่งใสและในแนวทางเดียวกัน สิ่งนี้จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าสามารถป้องกันการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้นและคนงานที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการสนับสนุนในทันการณ์

  • ข้อเสนอแนะนำสำหรับผู้ซื้อและผู้ค้าปลีกทั่วโลกรวมถึงเวทีอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง เช่น Global Seafood Task Force และ Alliance Ethics Action Alliance มีดังนี้

    1) กำหนดแนวทางที่ชัดเจนเพื่อจัดการกับความเสี่ยงและความท้าทายที่คนงานแปรรูปอาหารทะเลหรือคนงานประมงต้องเผชิญ ผู้ซื้อและผู้ค้าปลีกจะต้องทำมากขึ้น เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและตรวจสอบย้อนกลับของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ขั้นตอนแรกที่สำคัญ คือ การดำเนินการด้านมาตรการการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนที่เข้มงวดยิ่งขึ้นในห่วงโซ่อุปทานที่มีความเสี่ยงสูง

    2) ผู้ซื้อทั่วโลกจะต้องสนับสนุนซัพพลายเออร์ ด้วยความต่อเนื่องทางธุรกิจและส่งเสริมความโปร่งใสในการตอบสนองและการจัดการโควิด-19 ในซัพพลายเชนของพวกเขา นอกจากนี้ผู้ซื้อควรกำหนดให้ซัพพลายเออร์ทั้งหมดส่งเสริมเสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรองร่วมกันระหว่างคนงานและเกษตรกรในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก รวมทั้งสนับสนุนการมีส่วนร่วมโดยตรงกับสหภาพการค้าท้องถิ่นและองค์กรสิทธิแรงงานเพื่อสนับสนุนแรงงานของพวกเขา

    3) ในกรณีแรก ผู้ซื้อทั่วโลกควรหลีกเลี่ยงการตัดและเรียกใช้ซัพพลายเออร์หากพบกรณีการติดเชื้อโควิด-19 หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนในโซ่อุปทาน แต่ควรให้มีทั้งการแจ้งเตือนและการสนับสนุนในการทำงานกับซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขสถานการณ์เร่งด่วน โดยอิงการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสียในท้องถิ่น สิ่งนี้จะช่วยให้ซัพพลายเออร์มีความโปร่งใสและแบ่งปันข้อมูลกับผู้ซื้อและผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ

    4) ผู้ซื้อทั่วโลกควรกำหนดให้ซัพพลายเออร์ปฏิบัติต่อทั้งแรงงานในประเทศและแรงงานข้ามชาติอย่างต่อเนื่องในด้านความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน อุปกรณ์ป้องกัน การลาป่วยที่ได้รับค่าจ้าง และการมีส่วนร่วมของแรงงาน แรงงานข้ามชาติในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกมีความเปราะบางและความกังวลของพวกเขาจะต้องไม่ถูกมองข้าม โดยเฉพาะเมื่อกฎหมายของประเทศอ่อนแอลงและครอบคลุมไม่ทั่วถึง คนงานทุกคนจะต้องสามารถเข้าถึงความคุ้มครองด้านสุขภาพและการลาป่วยอย่างน้อย 30 วันโดยไม่คำนึงถึงสถานภาพและขนาดของสถานที่ทำงาน ตลอดจนไม่คำนึงถึงสถานะการย้ายถิ่นของพวกเขา

    5) ผู้ซื้อทั่วโลกควรอัปเดตจรรยาบรรณซัพพลายเออร์และสัญญาของพวกเขาอย่างเร่งด่วน เพื่อสะท้อนความเสี่ยงและความท้าทายที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ในซัพพลายเออร์ทั่วโลก

    6) มาตรการสนับสนุนในที่นี้เพื่อปกป้องสุขภาพความปลอดภัยและวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมของคนงานในระดับผู้ผลิตและธุรกิจแปรรูปจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอย่างปฏิเสธไม่ได้ และค่าใช้จ่ายเหล่านั้นไม่ควรเกิดขึ้นโดยซัพพลายเออร์เพียงอย่างเดียว

    แบรนด์อาหารและธุรกิจค้าปลีกทั่วโลกจะต้องรับส่วนแบ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้เพื่อให้มั่นใจว่าคนงานที่พวกเขาพึ่งพาในการผลิตและแปรรูปสินค้าที่พวกเขาขายสามารถมีงานทำต่อไปได้