ThaiPublica > คอลัมน์ > การเปลี่ยนความเชื่อในเรื่องของความจน ช่วยลดความเหลื่อมล้ำลงได้

การเปลี่ยนความเชื่อในเรื่องของความจน ช่วยลดความเหลื่อมล้ำลงได้

26 มิถุนายน 2020


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี www.powdthavee.co.uk

ถ้าความเหลื่อมล้ำเป็นภัยอันตรายของสังคม และถ้าคนเราส่วนใหญ่ไม่ชอบความเหลื่อมล้ำ ทำไมความเหลื่อมล้ำถึงยังมีอยู่ได้

สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่คนเรามองว่าความจนนั้นมันมาจากไหน ทำไมคนจนถึงจน

จากงานวิจัยของ Paul K. Piff และเพื่อนร่วมงาน พบว่า คนเราแบ่งสาเหตุของความจนออกมาเป็นสองแบบ

1. จนเพราะขี้เกียจ ความจนประเภทนี้เป็นความจนที่คนเราสามารถควบคุมได้ (controllable situational causes of poverty) และ

2. จนเพราะโชคชะตาเล่นตลก เช่น โชคไม่ดีที่เกิดมาในครอบครัวที่ยากจน หรือโชคไม่เข้าข้างที่ไม่มี access to education ในตอนที่ยังเป็นเด็กอยู่ ความจนประเภทนี้เป็นความจนที่คนเราไม่สามารถควบคุมได้ (uncontrollable situational causes of poverty)

ในความเป็นจริงแล้ว ต้นเหตุของความจนจะเป็นอะไรที่ปนกันระหว่างสาเหตุ 1 และ 2 ซึ่งจะแยกออกจากกันค่อนข้างยาก

แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา ปัญหาก็คือคนเราส่วนใหญ่มี perception หรือความเชื่อว่าทำไมคนถึงจนที่อาจจะไม่ตรงกันกับความเป็นจริงที่ค่อนข้างจะเป็นสีเทา

พูดง่ายๆ ก็คือ คนเราส่วนใหญ่มักจะเห็นต้นเหตุของความจนเป็นขาวและดำมากกว่าความเป็นสีเทา

และถ้าคนเราเอนเอียงไปกับความเชื่อที่ว่าคนจนเพราะขี้เกียจมากกว่าคนจนเพราะโชคชะตา คนคนนั้นก็มักจะคิดว่าความเหลื่อมล้ำเป็นอะไรที่ยอมรับได้ และเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำอะไรในการยกระดับคนจนให้ดีขึ้นมาเท่ากับเราได้

ในทางกลับกัน ถ้าคนเราเอนเอียงไปกับความเชื่อที่ว่าคนจนเพราะโชคชะตามากกว่าคนจนเพราะขี้เกียจ คนคนนั้นก็มักจะมีความคิดที่ว่าเราควรจะขจัดความเหลื่อมล้ำให้มันหมดไปจากสังคมของเรา

แต่ถ้าความเชื่อของคนเรานั้นมันไม่ตรงกับความเป็นจริง เราสามารถเปลี่ยนความเชื่อของคนเราได้ไหม

งานวิจัยของ Paul K. Piff และเพื่อนๆ พบว่า “ได้” โดยพวกเขาได้พิสูจน์ในการทดลองของเขาว่า แค่การ prime หรือการทำกระตุ้นจิตใต้สำนึกของคนให้คนเราลองพยายามอธิบายว่า “ทำไมคนบางคนถึงจนและทำไมเขาไม่ควรที่จะจน” สามารถทำให้คนส่วนใหญ่ที่ถูก prime มีความคิดว่าคนเราจนเพราะโชคไม่ดีมากกว่าเพราะขี้เกียจ

และหลังจากที่พวกเขาถูก prime เรียบร้อยแล้วนั้น พวกเขาก็ได้รับเงินไปคนละ $25 โดยที่เขาจะเก็บเงินไปทั้งหมดเลยก็ได้ หรือนำเงินบางส่วนไปบริจาคให้กองทุนที่พยายามจะลดความเหลื่อมล้ำให้ลดน้อยลงในสังคม

พวกเขาพบว่า เปรียบเทียบกันกับกลุ่มที่ไม่ถูก prime คนที่ถูกทำให้คิดว่าความจนเป็นอะไรที่เลือกไม่ได้บริจาคเงินที่เขาได้รับให้กับกองทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำมากกว่ากันเยอะเลย

สรุปก็คือถ้าเราอยากจะลดความเหลื่อมล้ำให้น้อยลงในสังคมของเรา การสอนคนให้เข้าใจว่าคนจนจนเพราะอะไรเป็นอะไรที่สำคัญมากนะครับ

แล้วสำหรับสังคมไทยที่เป็นพุทธของเรา พวกเราอธิบายสาเหตุของความจนยังไงกันบ้างครับ

อ่านเพิ่มเติม

Piff, P.K., Wiwad, D., Robinson, A.R., Aknin, L.B., Mercier, B. and Shariff, A., 2020. Shifting attributions for poverty motivates opposition to inequality and enhances egalitarianism. Nature Human Behaviour, 4(5), pp.496-505.