ThaiPublica > เกาะกระแส > “ธาริษา วัฒนเกส” อดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติ หนุนธปท.เล่นบทเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้

“ธาริษา วัฒนเกส” อดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติ หนุนธปท.เล่นบทเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้

11 เมษายน 2020


ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการ ธปท.

จากกรณีดร.วีระพงษ์ รามางกูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกลุ่มนักธุรกิจการเงิน ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.)ไม่เห็นด้วยในบทบาทของธปท. ต่อประเด็นร่างพระราชกำหนดการสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตราสารหนี้ภาคเอกชน พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.ก. BSF) สำหรับเพิ่มสภาพคล่องและรักษาเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนและระบบการเงิน โดย ร่าง พ.ร.ก. ฉบับนี้ กำหนดให้จัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund: BSF)และให้ ธปท. สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว เพื่อสนับสนุนให้การระดมทุนโดยการออกตราสารหนี้ในตลาดแรกให้ทำงานได้เป็นปกติ (Market functioning) โดยกองทุนจะเข้าไปซื้อตราสารหนี้เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องแก่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ที่มีคุณภาพ แต่ประสบปัญหาสภาพคล่องชั่วคราว (Temporary liquidity shortage) จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้บริษัทสามารถ rollover หุ้นกู้ต่อไปได้ ทั้งนี้ ธปท. สามารถซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนดังกล่าวได้ไม่เกิน 400,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังให้อำนาจ ธปท. ในการซื้อขายตราสารหนี้ภาคเอกชนในตลาดรองในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อการรักษาเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนและระบบการเงิน

  • ดร.โกร่ง ผนึกนักการเงินชื่อดัง ส่งจม.เปิดผนึกถึง ‘บิ๊กตู่’ จี้เบรก ‘ธปท.’ ควัก 4 แสนล้าน ซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชน
  • รัฐเยียวยาโควิด-19 เฟส 3 ใช้เงินกู้-ซอฟท์โลน อุ้ม 1.9 ล้านล้าน
  • ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2563 นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ออกมาตอบคำถามประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันว่า

    “จากข้อมูลที่ได้ออกมาสู่สาธารณะและจากธปท. ดิฉันขอไขข้อข้องใจในเรื่องที่ธปท. จะให้การสนับสนุนสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนในบางประเด็นดังนี้”

    Q. ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน เป็นเรื่องของตลาดทุน ไม่เกี่ยวกับบทบาทของธปท.ในการทำนโยบายการเงิน ทำไมธปท.จึงจะเข้าไปสนับสนุนสภาพคล่องของตลาดนี้

    A. ธนาคารกลางต้องดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงิน (Financial stability) นี่เป็นบทเรียนสำคัญของธนาคารกลางทั่วโลกจากวิกฤติเศรษกิจเอเซียในปี 1997และเศรษฐกิจโลกในปี 2008 ในวิกฤติทั้งสองครั้งนั้นไม่มีปัญหาเงินเฟ้อหรือปัญหาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารกลางดูแลอยู่แล้วตามบทบาทดั้งเดิม แต่ไม่ได้ดูแลเรื่องของเสถียรภาพของระบบ การสนับสนุนสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ในครั้งนี้เป็นมาตรการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงิน เป็นมาตรการป้องกันซึ่งจะทำได้ง่ายกว่าและถูกกว่าการปล่อยให้เกิดปัญหาแล้วค่อยเข้าไปแก้ไขในภายหลังมาก

    Q. การขาดสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนจะทำให้เกิดปัญหา เสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินอย่างไร

    A. ตลาดตราสารหนี้เอกชนของเราในขณะนี้โตประมาณร้อยละ 20 ของจีดีพีโตขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะเป็นช่องทางการลงทุนที่ให้ดอกผลมากกว่าเงินฝากธนาคาร หากเกิดปัญหาในตลาดนี้ก็จะไม่เพียงกระทบผู้ถือตราสารหนี้ภาคเอกชนจำนวนมากแต่ยังกระทบถึงผู้ถือกองทุนรวมประเภทต่างๆที่มักมีการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนด้วย และอาจมีผลไปถึงธนาคารที่มีการปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทผู้ออกตราสารหนี้เหล่านี้ด้วย ผลกระทบจึงอาจเกิดขึ้นในวงกว้างทั้งระบบ

    Q. การลงทุนมีความเสี่ยงเมื่อเกิดปัญหาผู้ลงทุนก็ควรจะรับความเสี่ยงนั้นไม่ใช่หรือ

    A. ปัญหาการขาดสภาพคล่องเป็นผลจากวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้ตลาดไม่ทำงานตามภาวะปกติเพราะนักลงทุนไม่มั่นใจจากความไม่แน่นอนของโรคไวรัสอุบัติใหม่นี้ ไม่ใช่เพราะการขาดความรับผิดชอบของนักลงทุนหรือบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ ธปท.จะตีกรอบการช่วยเหลือสภาพคล่องเฉพาะตราสารหนี้ที่มีคุณภาพและเงื่อนไขตามที่กำหนดเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิด moral hazard หรือทำให้ทั้งผู้ออกตราสารหนี้ และผู้ลงทุนขาดความระมัดระวังขาดวินัยในการบริหารทางการเงินต่อไป

    Q. ธปท.จะถูกแทรกแซงหรือเกิดความเสียหายจากการเข้าไปสนับสนุนในครั้งนี้หรือไม่

    A. ตามร่างพ. ร. ก. การสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงานและกำกับดูแลการทำงาน ต้องกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง การมีกฏเกณฑ์และเงื่อนไขขั้นต่ำที่ชัดเจนโปร่งใสจะเป็นเกราะป้องกันธปท.ได้ อีกทั้งพ. ร. ก. นี้ก็จะมีอายุเพียง 5 ปี จึงเป็นเรื่องของมาตรการชั่วคราวที่รองรับวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้เท่านั้น

    สำหรับการป้องกันความเสียหายนั้น ทราบว่าธปท.จะกำหนดให้ผู้ออกตราสารหนี้ที่จะขอรับการสนับสนุนหาแหล่งเงินจากที่อื่นก่อนอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ซึ่งธนาคารพาณิชย์ผู้ให้สินเชื่อก็จะต้องพิจารณาความเป็นไปได้ของบริษัทผู้ขอกู้อยู่แล้ว เป็นการเพิ่มความรอบคอบในการประเมินบริษัทผู้ขอการสนับสนุนอีกแรงหนึ่ง รวมทั้งจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้สูงกว่าตลาด ทั้งหมดนี้เพื่อให้มั่นใจว่าธปท.จะเป็นเพียงผู้ให้กู้แหล่งสุดท้าย (Lender of last resort) และมีความรัดกุมในการพิจารณาให้การสนับสนุนด้านสภาพคล่องเพื่อลดโอกาสของความเสียหาย

    “สรุปแล้วดิฉันมีความเห็นว่ามาตรการสนับสนุนสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนนี้สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของธนาคารกลางในการดูแลเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน และธปท.เห็นความสำคัญในการดำเนินการอย่างรัดกุมระมัดระวังไม่ให้เกิด moral hazard และ ไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ธปท. ทราบมาว่ามาตรการนี้ธปทเป็นผู้เสนอเองกับภาครัฐ จึงขอแสดงความชื่นชมกับ ธปท.ที่ทำงานอย่างมืออาชีพ มองการณ์ไปล่วงหน้า และเตรียมการรับมือแต่เนิ่นๆ” นางธาริษากล่าว

    อย่างไรก็ตามหลังจากที่ได้โพสต์ข่าวนี้ไปแล้วยังมีคำถามเพิ่มเติม นางธาริษาจึงได้ตอบคำถามดังนี้

    Q. ผมไม่รู้เรื่องนะครับ แต่ได้อ่านจดหมายของ อ. โกร่ง(ดร.วีระพงษ์ รามางกูร) ย่อหน้าสุดท้าย เหมือน อ.โกร่งแกก็เห็นด้วยในการสนับสนุนสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้เอกชนของ ธปท แต่ไม่ควรทำเองโดยตรง แต่ควรจะทำผ่านสถาบันการเงินของรัฐนะครับ

    A. ถ้าถามว่าสามารถทำผ่านสถาบันการเงินของรัฐได้หรือไม่ ปกติ บริษัทผู้ออกตราสารหนี้ไม่ได้เป็นลูกค้าของสถาบันการเงินกลุ่มนี้ จึงไม่น่าจะมีความถนัดหรือความรวดเร็วที่จะให้พิจารณาสินเชื่อแก่ลูกค้ากลุ่มนี้ แต่ถ้าถามว่า ธปท. สามารถให้ผ่านธนาคารพาณิชย์ทั้งของรัฐและเอกชนได้หรือไม่ คำตอบคือได้ เพราะเป็นกลุ่มลูกค้าของเขาและมีความชำนาญอยู่แล้ว

    “แต่ก็ต้องอธิบายต่อว่าแล้วมีประเด็นอะไร ธปท. จึงไม่ทำผ่านธนาคารพาณิชย์ ประเด็นสำคัญคือ เงินจากธปท.ต้องเป็นเงิน last resort ต้องมีดอกเบี้ยแพงกว่าตลาด ผู้ออกตราสารหนี้ต้องไปกู้จากแหล่งอื่น เช่น ธนาคารพาณิชย์หรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่มาก่อนอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ถ้า ธปท. ให้ผ่านธนาคารพาณิชย์ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ เป็นsoft loan ตามที่คุณวีรพงษ์ เสนอ จะเป็นการอุ้มบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ เป็นจริยภัย (moral hazard) ไม่ใช่เป็นการให้กู้เพื่อดูแลเสถียรภาพของระบบ และไม่ใช่เงินlast resort เพราะดอกเบี้ยถูกใครๆก็อยากได้เป็นลำดับแรก

    ถ้า ธปท. ทำผ่านธนาคารพาณิชย์ด้วยอัตราดอกเบี้ยเท่าตลาด ก็ไม่ได้เป็นเงิน last resort อีก เป็นเพียงการให้สภาพคล่องแก่ธนาคารพาณิชย์มากขึ้นในการปล่อย ซึ่งขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ถ้าจะปล่อยในอัตราแพงกว่าตลาดผ่านธนาคารพาณิชย์ก็ต้องเป็นคนละก้อนกับที่เขาปล่อยอยู่ดี ดูเหมือนว่าธนาคารพาณิชย์ปล่อยสองก้อน ในอัตราดอกเบี้ยต่างกัน

    สรุปแล้วถ้าให้แบงก์ชาติดูแลการให้สินเชื่อ แต่ไม่ได้ทำคนเดียว มีคณะกรรมการมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินร่วมพิจารณาต่อยอดจากการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ จึงน่าจะเป็นทางออกที่รัดกุมที่สุด จะได้กำหนดกติกาได้ชัดเจนว่านี่เป็นแหล่งเงินกู้ลำดับท้ายสุดจริงๆ

    “มีประเด็นความกังวลที่กลัวว่า ธปท. จะสูญเสียความเป็นกลาง อาจจะถูกสั่งให้เข้าไปช่วยรายโน้นนี้ หรือเลือกที่รักมักที่ชัง ดิฉันเชื่อว่าคนทำงานในคณะกรรมการไม่ว่าจะมาจากธปท. หรือตัวแทนอื่นหรือผู้เชี่ยวชาญเขากลัวติดคุกเพราะเห็นตัวอย่างจากกรณีอดีตผู้บริหารธนาคารของรัฐแห่งหนึ่งที่มีพฤติกรรมปล่อยสินเชื่อตามใบสั่ง นอกจากนี้รัฐจะชดเชยความเสียหายให้ธปท.ในวงเงินหนึ่งซึ่งก็ต้องมีการตรวจสอบก่อนจะชดเชยอยู่แล้ว ถ้าไม่ทำให้ชัดเจนโปร่งใสจะเป็นงานที่เสี่ยงมาก จึงคิดว่าคณะกรรมการต้องป้องกันตัวเองโดยวางกฏเกณฑ์กติกาที่ชัดเจนมีความโปร่งใสอยู่แล้ว”

    Q. ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องที่ธนาคารกลางต้องดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทำอย่างไรคะ ช่วยอธิบายเพิ่มเติม

    A. ในอดีตธนาคารกลางจะดูแลภาวะเงินเฟ้อและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งก็เป็นเรื่องเดียวกัน ปกติถ้าเศรษฐกิจเฟื่องฟูร้อนแรง เงินเฟ้อก็จะสูง ธนาคารกลางก็ทำนโยบายการเงินโดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงและเงินเฟ้อ แต่ถ้ามีภาคใดภาคหนึ่งเช่นภาคอสังหาริมทรัพย์มีภาวะร้อนแรงจนถึงขั้นเกิดฟองสบู่ แนวคิดเดิมก็คือ ธนาคารกลางไม่ต้องไปยุ่ง ปล่อยให้กลไกตลาดจัดการเอง เพราะในที่สุดฟองสบู่ก็แตกเอง ถึงตอนนั้นถ้าจำเป็น ธนาคารกลางค่อยเข้าไปทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ

    แต่จากวิกฤติใหญ่ในเอเชียและทั่วโลกที่ผ่านมา ธนาคารกลางได้บทเรียนว่าการปล่อยให้เศรษฐกิจขาดเสถียรภาพเหวี่ยงตัวขึ้นไปที่จุดสูงสุดก่อนดิ่งลงเหว แล้วธนาคารกลางค่อยเข้าไปทำนโยบายการเงินแบบเดิมๆ นั้น มีความเจ็บปวดและต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงมาก จึงเป็นแนวคิดใหม่หลังจากนั้นว่า ธนาคารกลางต้องมีหน้าที่เข้าไปดูแลและป้องกันการขาดเสถียรภาพของระบบตั้งแต่เนิ่นๆ อย่างเช่นกรณีเมื่อเห็นความเสี่ยงของฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อาจขยายเป็นปัญหาของทั้งระบบได้ก็ต้องเข้าป้องกันไว้ก่อน โดยอาจกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเงินดาวน์เพิ่มเติมจากผู้ขอกู้สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ เป็นการช่วยลดความร้อนแรงที่ต้นตอก่อนที่จะขยายวงออกไป

    “ถ้าเป็นสมัยก่อน การทำแบบนี้ก็จะถูกโจมตีว่าเป็นการไปยุ่งกับตลาด และเลือกที่รักมักที่ชังเลือกมีมาตรการกำกับเพิ่มเติมเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น แน่นอนมาตรการลักษณะนี้ ธปท.ต้องทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งอยู่แล้วเพื่อไม่ให้มีข้อครหาดังกล่าว กรณีที่ธปท.จะให้กู้สภาพคล่องกับตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนในครั้งนี้ก็เป็นแนวคิดทำนองเดียวกันในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เพียงแต่ทิศทางกลับกัน กรณีนี้ไม่ควรเสี่ยงปล่อยให้เศรษฐกิจลงเหวก่อนแล้วค่อยไปดึงมันขึ้น แต่มีมาตรการป้องกันแต่แรกไม่ให้มันลงเหว”

    หมายเหตุ : แก้ไขเพิ่มเติม ล่าสุด วันที่ 12 เมษายน 2563