ThaiPublica > คอลัมน์ > โควิดนอมิกส์: จะพ้นวิกฤตินี้ได้ต้องใช้ข้อมูล

โควิดนอมิกส์: จะพ้นวิกฤตินี้ได้ต้องใช้ข้อมูล

8 เมษายน 2020


ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Founder & CEO Siametrics Consulting

ความเป็นไปได้ที่จะมีผู้เสียชีวิตจากโคโรนาไวรัสหลายล้านคนทั่วโลก เป็นเรื่องหนักจิตใจเหลือเกินท่ามกลางฝันร้ายอันยาวนานของปี 2020 ตั้งแต่เรื่องฝุ่น แป้ง กราดยิงในห้าง หน้ากากหาย ไปจนถึง ไฟป่า เป็นฝันร้ายที่บัดนี้ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะจบสิ้น

ไม่มีใครรู้ว่ามันจะจบเมื่อใด และไม่มีใครรู้ว่าจะมีวิกฤติอะไรอีกบ้างที่ยังรอเราอยู่ในปีนี้

เรารู้แต่เพียงว่า COVID-19 ได้กลายเป็นชนวนวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ทั่วโลกไปเรียบร้อยแล้ว

เพียงไม่กี่อาทิตย์หลังจากที่มีการแพร่ระบาดครั้งแรกในประเทศจีน มูลค่าตลาดหุ้นทั่วโลกก็อันตรธานไปราว 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 20 เปอร์เซ็นต์แล้ว

หากเราเชื่อในทฤษฎีที่ตลาดทุนสะท้อนถึงอนาคต ไม่ต้องเป็นกูรูการเงินก็พอจะรู้สึกได้ว่า ตอนนี้อนาคตดูไม่ค่อยดีนัก

และดูไม่ค่อยดีในระดับประวัติการณ์เลยก็ว่าได้

ล่าสุดตัวเลขรายงานจำนวนผู้ที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงาน (Initial Jobless Claims) ของสหรัฐฯ พุ่งสูงถึง 6.6 ล้านรายในวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา แปลว่าภายในไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา มีคนในสหรัฐฯ เศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก ตกงานไปแล้วเกิน 10 ล้านคน มากกว่าในวิกฤติเศรษฐกิจครั้งก่อนๆ ที่สหรัฐฯ เคยเผชิญมากว่า 10 เท่าตัว และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอีกเนื่องจากนี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น อย่างที่นางเจเนต เยลเลน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมากล่าวว่า GDP สหรัฐฯ ในไตรมาสสองนี้อาจหดตัวลงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ได้ และตัวเลขการว่างงานน่าจะอยู่ที่ราว 13 เปอร์เซ็นต์แล้วด้วยซ้ำ

เศรษฐกิจอันแข็งแกร่งของสิงคโปร์เพื่อนบ้านเราก็เพิ่งจะมีการอัดฉีดรอบที่ 3 ในรอบสองเดือนที่ผ่านมา หรือคิดเป็นกว่า 12 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ประเทศ จีนเองแม้จะเริ่มรีสตาร์ทเศรษฐกิจแล้วแต่ทุกอย่างก็ยังคงต้องใช้เวลากว่า foot traffic จะกลับมาเหมือนเดิม

แม้ว่าสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทยขณะนี้จะยังไม่ย่ำแย่เท่ากับที่เราเห็นในอิตาลี สเปน สหราชอาณาจักร หรือสหรัฐฯ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเปราะบางมากต่อวิกฤติครั้งนี้ และจะมีผู้คนจำนวนมากที่จะตกที่นั่งลำบาก จนไม่สามารถดำรงชีพด้วยตัวเองได้

This time is different

วิกฤติครั้งนี้มีความแตกต่างจากวิกฤติที่แล้วๆ มาในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมาใน 3 จุดสำคัญ

จุดแรก คือ วิกฤติครั้งนี้เกิดใน real economy

มันเริ่มต้นจาก production shock ที่ทำให้การผลิตสินค้าและบริการโดยธุรกิจเสื่อมสมรรถภาพหรือหยุดไปดื้อๆ เนื่องจากแรงงานมนุษย์และสินค้านำเข้าที่ต้องนำมาใช้ในการผลิตถูกจำกัดอย่างกระทันหัน

เมื่อผลิตไม่ได้ ยอดขายก็ถูกกระทบ แต่รายจ่ายพนักงานเท่าเดิม จึงเกิดเป็นแรงกดดันที่ทำให้ผู้ประกอบการอาจจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลงเพื่อป้องกันไม่ให้ล้มละลาย

และผลเสียเหล่านี้สามารถนำไปสู่ demand shock ได้ง่ายๆ (และน่าจะเกิดขึ้นแล้ว) เนื่องจากรายได้ของผู้คนลดลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะลูกค้าหายไปหรือเพราะว่าผู้คนตกงาน

production shock และ demand shock ครั้งนี้สาหัสนักสำหรับประเทศไทยที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวเป็นสัดส่วนของ GDP ราว 20 เปอร์เซ็นต์ มีจำนวนผู้ประกอบการรายย่อยอันมหาศาลที่มี liquidity และ access ต่อทุนน้อยกว่าธุรกิจใหญ่ อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ก็ยังจำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมาก (labor intensive) และอาชีพที่สามารถทำงานจากที่บ้านได้สะดวกก็ไม่ได้มีมากนัก

วิกฤติรอบก่อนๆ เรากังวลว่าไฟจากภาคการเงินจะลามมาถึง real sector แต่สำหรับวิกฤตินี้ มันมาถึงเรียบร้อยแล้ว

จุดที่สอง คือ ระวังบาดแผลที่กว้าง ลึก และลุกลามเร็วเป็นพิเศษ

ผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจโควิดแผ่เป็นวงกว้างเนื่องจากวงจรเศรษฐกิจยุคใหม่ที่อาศัยพลังของความเชื่อมต่อระหว่างระบบเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ แปลว่าแม้ไม่มีผู้ติดเชื่อสักคนในพื้นที่ ระบบเศรษฐกิจเล็กๆ ในพื้นที่นั้นก็สามารถพังทลายได้

วิกฤตินี้ลึกและลุกลามเร็ว ในเชิงที่มันสามารถกระทบไปถึงปากท้องผู้คนได้ภายในไม่กี่วัน และสร้างแผลลึกให้กับหลายครอบครัว

เมื่อย้อนดูวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่ปะทุขึ้นมาจากภาคการเงินแล้วทำให้คนตกงานจำนวนมาก (ซึ่งก็ยังน้อยกว่าคราวนี้หลายเท่า) เราต้องใช้เวลานานเกือบสิบปีกว่าอัตราว่างงานทั่วโลกจะกลับมาเป็นปกติ อีกทั้งครั้งนี้มีโอกาสเกิดแผลเป็น เนื่องจากการหางานใหม่หลังจากตกงานมานานๆ ไม่ได้ทำได้ง่ายนัก และดูท่าทีงานที่เกี่ยวกับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดคงจะยังไม่กลับมาอีกนาน

จากสมัยที่เราถกเถียงกันอย่างดุเดือดเรื่องการใช้เงินรัฐเพื่อกอบกู้ อุ้มภาคการเงินทั่วโลก ณ จุดนี้ เรากำลังพูดถึงการอุ้มและเยียวยาคนเป็นล้านๆ คน และธุรกิจจำนวนมหาศาลในแทบทุกอุตสาหกรรม ทั้งประเทศ ทั้งทวีป หรือทั้งโลก พร้อมๆ กันทั้งหมดในเวลาเดียวกัน

จุดที่สาม คือ วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้เราสร้างเอง

รัฐทั่วโลกถูกสถานการณ์ไวรัสบังคับให้ก่อวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้กับตัวเอง (เราออกมาตรการ social distancing หรือปิดเมือง ปิดประเทศ) ซึ่งแม้จะเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเพื่อลดอัตราการแพร่ของเชื้อ มิให้สถานการณ์ไวรัสแย่ลงและยาวนานขึ้นแบบทวีคูณ แต่แน่นอน มันนำมาซึ่งต้นทุนเศรษฐกิจอันมหาศาลและเป็นไปไม่ได้ที่คนทั่วไปจะทนการปิดตายแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าวัคซีนจะถูกทยอยนำออกมาใช้ (อาจใช้เวลาเกินหนึ่งปีเต็ม) เมื่อเศรษฐกิจแย่ลงถึงระดับหนึ่ง ปัญหาปากท้องผู้คนที่ดูเผินๆ ไม่ถึงตาย ก็จะค่อยๆ กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขและถึง (อด) ตายได้เหมือนกัน

ทางออกอยู่ที่วิธีรีสตาร์ท และ target นโยบายให้ถูกที่ถูกเวลา

ข้อดีเพียงไม่กี่จุดที่แตกต่างเกี่ยวกับวิกฤติครั้งนี้ก็คือ ถ้าเราสร้างมันเองได้ เรายังพอจะควบคุมจังหวะของมันได้ ตราบใดที่โรคยังไม่ทำให้ระบบสาธารณสุขของเราล้ม

โจทย์สำคัญ ณ เวลานี้ คือ เราควรเดินหมากเศรษฐกิจต่อไปอย่างไร เพื่อสมานแผล ห้ามเลือด และคืนสภาวะเศรษฐกิจไทย ด้วยทรัพยากรอันจำกัด โดยต้องไม่ทำให้เกิดการระบาดของเชื้ออีกหลายระลอก

จะเรียกว่ามันคือการทำ cost-benefit analysis ครั้งที่สำคัญที่สุดในรอบทศวรรษนี้เลยก็เป็นได้ ว่าเราจะหาจุดสมดุลระหว่างการทำ social distancing แบบสุดขั้ว ซึ่งจะสร้างต้นทุนทางเศรษฐกิจและปากท้องอันมหาศาล กับการทำตัวแบบ business-as-usual โดยไม่ทำ social distancing เลยได้หรือไม่

ความท้าทายของการรีสตาร์ทเศรษฐกิจและการเปิดกิจการครั้งนี้คือความไม่แน่นอน

หนึ่ง คือ เราไม่รู้แน่ชัดว่าเชื้อจะหยุดระบาดเมื่อไหร่ วัคซีนจะพร้อมเมื่อไร ไวรัสกลายพันธุ์ไปกี่รอบแล้ว ความรู้เกี่ยวกับไวรัสใหม่นี้ยังน้อยนักเมื่อเทียบกับไวรัสหรือโรคร้ายอื่น

สอง คือ ทุกวันนี้ยังไม่มีมุมมองที่ชัดเจนและหนึ่งเดียว ว่า capacity ของระบบสาธารณสุขไทย ที่จริงแล้วอยู่ในระดับไหน และตรงไหนกำลังขาดแคลนที่สุดเมื่อเทียบกับความเสี่ยงแพร่เชื้อ

หรือแม้กระทั่งข้อมูลพื้นฐานว่าตอนนี้มีคนไทยกี่คนที่ติดเชื้อแล้วจริงๆ (ไม่ว่าจะถูกทดสอบแล้วหรือไม่) เนื่องจากเรามีชุดทดสอบไม่พอ เราจึงไม่ควรนิ่งนอนใจหรืออิงกับตัวเลขที่ทดสอบเจอได้เต็มที่ อัตราการทดสอบของเราเพิ่มขึ้นเป็นเส้นตรง ในขณะที่เชื้อแพร่ด้วยอัตราเติบโตแบบ exponential

และด้วยความที่เราเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเปิดขนาดเล็ก (small open economy) ที่เคยพึ่งพิงการส่งออกและการท่องเที่ยว เมื่อเรามองออกไปนอกประเทศแล้ว จะพบความไม่แน่นอนอีกร้อยแปด เพราะเราไม่รู้เลยว่าคู่ค้าเราจะกลับมาเป็นปกติอีกทีเมื่อไหร่ และถึงแม้วันหนึ่งเขาดูดีขึ้น เราก็ไม่รู้อยู่ดีว่า จะมีการแพร่ระบาดอีกรอบหรือไม่

ความไม่แน่นอนในหลากมิตินี้ทำให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมีความท้าทายและเสี่ยงในการออกนโยบายมาผิดทางมากเป็นพิเศษ

ในเวลาแบบนี้ เราไม่ได้สนใจความสมบูรณ์แบบของนโยบายนัก อย่างที่เราเห็นได้ชัดว่า นโยบายจำพวกแจกเงิน (universal basic income) หรือ ‘helicopter money’ ที่เคยเป็นประเด็นอ่อนไหวในสังคมและในวงการวิชาการ บัดนี้ได้กลายเป็นนโยบายที่จำเป็นในบางประเทศไปเรียบร้อยแล้ว

ทว่า เมื่อดูจากความกว้าง ความลึก และความเร็วในการลุกลามของบาดแผลเศรษฐกิจครั้งนี้แล้ว นโยบายแนว one size fits all ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดแน่นอน

ณ เวลานี้ นโยบายเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีการพุ่งเป้าไปให้ถูกที่ ถูกเวลา ไม่ต่างจากแนวทางของมาตรการสาธารณสุข เนื่องจากทรัพยากร กำลังคน และเงิน มีจำกัด โดยเฉพาะ ‘เวลา’ ในการรอให้มาตรการออกเดินทางจากประกาศไปสู่กระเป๋าสตางค์ประชาชน

วิกฤตินี้เจ็บปวดไม่เท่ากัน

อันที่จริง แม้ GDP จะหล่นฮวบฮาบ หากความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจนี้ถูกแชร์เท่ากันทุกคน ผลกระทบต่อแต่ละคนคงไม่เท่าไรนัก การถือโอกาสปรับอัตราภาษีใหม่ เป็นเรื่องที่ควรคำนึงถึง

ปัญหาคือแต่ละคนจะเจ็บปวดไม่เท่ากันในวิกฤตินี้

เราอาจจะเคยได้ยินบางคนเปรียบสถานการณ์ COVID-19 เหมือนกับเครื่องเตือนใจว่า ที่จริงแล้วพวกเรานั้นเท่าเทียมกันหมด เพราะไวรัสร้ายไม่เลือกคนที่เชื้อชาติ สีผิว หรือฐานะ จะเป็นดารา เป็นเศรษฐี เป็นผู้นำประเทศ ก็ติดไวรัสได้

ทว่าในสังคมทุนนิยมนี้ คนที่มีทุนเดิมมากกว่า คนที่มีสิ่งที่ตลาดต้องการมากกว่า จะมีโอกาสอยู่รอดปลอดภัยมากกว่าคนทั่วไป

เริ่มมีนักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อคนแต่ละกลุ่ม ในบทวิจัยหนึ่งแบ่งแรงงานออกเป็น 4 กลุ่ม ตามความยืดหยุ่นของการทำงาน และงานจำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเพียงไหน

    1. ยืดหยุ่นทำงานที่บ้านได้ และไม่จำเป็นต้องเจอคนมากนัก เช่น วิศวกรซอฟต์แวร์และสถาปนิก
    2. ยืดหยุ่นทำงานที่บ้านได้ แต่เป็นงานที่ต้องเจอคน เช่น คนจัดอีเวนต์หรือนักวิจัยที่ลงพื้นที่
    3. ทำงานที่บ้านไม่ได้ และไม่จำเป็นต้องเจอคนมากนัก เช่น ช่างซ่อมรถ คนขุดเหมือง
    4. ทำงานที่บ้านไม่ได้ และเป็นงานที่ต้องเจอคน เช่น พนักงานขาย พนักงานเสิร์ฟอาหาร

การทำแบบจำลองพบว่ากลุ่มที่ 4 ซึ่งทำงานที่บ้านไม่ได้และเป็นงานที่ต้องเจอคน จะเสียหายมากสุด โดยรายได้อาจหายไปได้ราวๆ โดยเฉลี่ย 27% และการบริโภคหายไปกว่า 12%

ไม่ใช่ความผิดของทุนนิยม แต่เป็นธรรมชาติของมันที่สังคมควรคำนึงถึง เพราะเหนือกว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ ก็คือชีวิตและสุขภาพที่มีโอกาสถูกทำลายแบบถาวรในประชากรบางกลุ่ม

บางทีการเกิดเป็นคนคนเดียวกันนี้ แค่เกิดมาในคนละจังหวัด เกิดมาในคนละครอบครัว ก็มี ‘ชีวิตหลังวิกฤติโควิด’ ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงแล้ว ด้วยความพร้อมของสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน แม้กระทั่งการมีบ้านให้อยู่เพื่อ social distancing ก็ไม่ได้ทำได้ทุกคน

ด้วยแต่เดิมประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง เราอาจมองว่า COVID-19 คือการล้างไพ่ เหมือนมันเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ณ จุดสูงสุดของยอดกองเงินกองทอง แต่หากคำนึงถึงความไม่เท่าเทียมกันของการแบกภาระนี้ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่ามันเป็นเรื่องบวกเช่นนั้นเสมอไป

“ข้อมูล” คือกุญแจสำคัญในการก้าวพ้นวิกฤตินี้

ในหลายสิบปีที่ผ่านมา นโยบายสาธารณะในประเทศไทยมักถูกออกแบบและขับเคลื่อนโดยมิได้ยึดกับหลักฐานเชิงข้อมูล

วิกฤติหนักครั้งนี้ ผู้เขียนขอเป็นโอกาสให้ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจทุกเหล่าฝ่าย ลองสวมหมวกนักวิทยาศาสตร์ ศรัทธาในข้อมูล แล้วรอดไปด้วยกัน

สถาบัน AEI ได้มีการจัดทำแบบแผนและข้อแนะนำในการคืนชีพจรเศรษฐกิจที่ดีมาก ทว่าเราจะทำตามได้ยากหากเราไม่มีหรือไม่ใช้ข้อมูลให้ถูก

ข้อมูลอันดับแรกที่จำเป็นที่สุด คือ ข้อมูลผู้ติดเชื้อในทุกที่ ทุกห้วงเวลา

ขณะนี้เราเป็นเหมือนนักตกปลาที่บอกว่ามีปลาอยู่ในบ่อ 10 ตัว ทั้งๆ ที่เคยออกไปตกปลาเพียงไม่กี่ครั้ง เราจำเป็นต้องเร่งหาวิธีทดสอบเชื้อไวรัสให้ได้ในวงกว้างและด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด

หนึ่ง คือ เพื่อลดความไม่แน่นอนในการทำนโยบายทั้งหมดที่จะต้องทำในอนาคตอันใกล้ ข้อมูลนี้จะเป็นตัวชี้วัดว่า ตอนนี้เราแย่หรือดีแค่ไหน จะผ่อนหรือจะแรง และเราพร้อมรีสตาร์ทกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้วหรือยัง ไปถึงขั้นที่ว่าเมื่อเรารีสตาร์ทแล้ว ได้ทำให้เกิดการแพร่ระบาดขึ้นอีกไหม ที่ไหนและเมื่อไหร่

สอง คือ เพื่อตรวจวัดว่าใครสมควรกลับมาทำงาน ยังไงจะต้องมีวันที่ผู้คนบางกลุ่มต้องกลับมาทำงาน พบเจอผู้คนได้ มิเช่นนั้นวิกฤตินี้จะยิ่งบานปลาย แต่หากเราไม่มีเครื่องมือวัดว่าใคร immune ไม่ immune ใครป่วยไม่ป่วย จะทำเช่นนี้ไม่ได้เลย

ในขณะที่เรายังไม่มีทางออกแน่ชัดเรื่องการเพิ่มอัตราการทดสอบโรค เราจำเป็นที่จะต้องหาเครื่องมือในการเฝ้าระวังให้กับผู้นำสาธารณสุขแม้เราไม่สามารถสังเกตเห็นข้อมูลผู้ติดเชื้อที่แท้จริงได้ เพื่อที่นโยบายจะได้ไม่เป็นฝ่ายตามเชื้อโรคอย่างเดียว

หนึ่งในหนทางที่พอจะทุเลาข้อจำกัดนี้คือสิ่งที่บริษัทสยามเมทริกซ์ คอนซัลติ้ง ของผู้เขียน (Siametrics) กำลังร่วมมือกับบริษัท เอเวอร์ เมดิคอล เทคโนโลยี (Ever Medical Technologies) ซึ่งเป็นบริษัทบริหารบล็อกเชนข้อมูลสุขภาพของเครือโรงพยาบาลในหลายจังหวัด เพื่อสร้าง real-time epidemilolgy dashboards จากข้อมูลอาการ การวินิจฉัยโรค และ health transactions อื่นๆ ภายใต้แผนขององค์การสหประชาชาติ UN I-DAIR ในทำให้ข้อมูลสุขภาพทั่วโลกถูกเก็บอย่างมีมาตรฐาน ปลอดภัย และมีความเป็นเจ้าของอย่างโปร่งใส เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำมันมาใช้แก้ไขปัญหาสาธารณสุข อย่างที่มันกำลังคุกคามมนุษยชาติในกรณีนี้

เป้าหมายคือการเฝ้าระวังคนไข้กลุ่มที่มีอาการสอดคล้องกับ COVID-19 ที่เข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลในแต่ะละท้องที่ด้วยอัลกอริทึม Coronavirus Risk Score บวกกับสร้างระบบประเมินท้องที่ที่มีประชากรกลุ่มเสี่ยง (ดูจากโรคประจำตัวและอายุ) เพื่อเฝ้าระวังมิให้เกิดภาวะ overcapacity ในโรงพยาบาล และ เพื่อสนับสนุนมาตรการทางไกล เช่น telemedicine หรือ การแจ้งเตือนมิให้ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาลที่มีความเสี่ยงหากไม่จำเป็น

เพื่อที่ว่า เมื่อเราเริ่มผ่อนคลายมาตรการ social distancing เพื่อรีสตาร์ทเศรษฐกิจ จะได้ยังมีการเฝ้าระวังอย่างมีระบบ มิให้เกิดการระบาดอีกหลายระลอกโดยที่เราไม่ทราบ

อันดับที่สอง คือ ใช้ข้อมูลเพื่อช่วยในการวางแผน กำหนด และดำเนินนโยบายเพื่อบรรเทาวิกฤตินี้

การทำมาตรการแบบ targeted ให้ถูกที่ถูกเวลา จะขาดไม่ได้เลยว่าใครที่ไหนต้องการมาตรการแบบใดมากที่สุด ใครกำลังจะถูกพักงาน ธุรกิจไหนกำลังจะขาดเงินหมุนเวียน คนชราที่มีโรคประจำตัวคือใคร ไปจนถึง ลูกหนี้ทั้งในและนอกระบบอยู่ตรงไหน จะเปิดร้านค้า ตลาด ห้าง ก็ต้องดูว่าทำเลนั้นมีความเสี่ยงต่อการระบาดอีกรอบเพียงใด พูดง่ายๆ ก็คือมีปัจจัยจำนวนมากที่เราไม่ควรมโนขึ้นมาเอง

ทีมเฉพาะกิจของผู้เขียนกำลังพัฒนาแผนที่ดัชนีความเปราะบางต่อวิกฤติ COVID-19 (รูปด้านบนแสดงถึงความเปราะบางเชิงเศรษฐกิจและปากท้อง) เพื่อช่วยให้การเตรียมและกระจายทรัพยากร การเยียวยาปากท้อง และการเฝ้าระวังการแพร่ระบาด ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงทีมากขึ้น ก่อนที่อุปกรณ์การแพทย์และปัจจัยในการรักษาอื่นๆ จะไม่พอใช้ และเกิดความแตกแยกอย่างที่เราเห็นในสหรัฐฯ

ดัชนีนี้แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ

1. Health Vulnerability Index ใช้ชี้วัดความเปราะบางในเชิงสาธารณสุข ว่าหากสถานการณ์แย่ลง แต่ละพื้นที่จะมีความลำบากในการดูแลคุณภาพของระบบสาธารณสุขและการรักษามากน้อยเพียงใด ยิ่งค่าสูง ยิ่งเปราะบาง

2. Economic Vulnerability Index ชี้วัดความเปราะบางในเชิงเศรษฐกิจและปากท้องประชาชน ว่าหากสถานการณ์แย่ลง แต่ละพื้นที่จะมีความต้องการในการเยียวยาและดูแลปากท้องของประชาชนมากน้อยเพียงใด ยิ่งค่าสูง ยิ่งเปราะบาง

จะเห็นได้ว่ามีความหลากหลายในความพร้อมพอสมควรระหว่างพื้นที่ บางพื้นที่ทรัพยากรมาก แต่ยังไม่ติดเชื้อ บางพื้นที่ทรัพยากรต่อประชากรน้อยแถมติดเชื้อแล้วจำนวนมาก ซ้ำร้ายคือบางพื้นที่ก็เปราะบางเชิงเศรษฐกิจด้วย

เราโชคดีที่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญจากหลากสาขาอาชีพ ตั้งแต่นักระบาดวิทยา นักเศรษฐศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์ และวิศวกรคอมพิวเตอร์หลายสิบคน เพื่อวางพื้นฐานของการสร้างดัชนีเหล่านี้บนองค์ความรู้และหลักการในแต่ละสาขา และปรับมันเข้ากับข้อมูลจริง เช่น ข้อมูลทรัพยากรโรงพยาบาล ข้อมูลความหนาแน่นประชากร ข้อมูลตำแหน่งและประเภทของธุรกิจ ข้อมูลความยากจน ข้อมูล mobility ระหว่างพื้นที่ ฯลฯ

วิกฤติเศรษฐกิจโควิดนี้มีทางออก แต่จะออกได้ถูกจังหวะ สวยงาม และไม่ถังแตก เราต้องมีข้อมูล ต้องใช้ข้อมูลให้ถูกต้อง

และที่สำคัญที่สุด เวลานี้เราควรเลิกทำงานและตัดสินใจแบบแยกเป็นไซโล ไม่ใช่ว่านโยบายเศรษฐกิจต้องออกมาจากนักเศรษฐศาสตร์เท่านั้น หรือนโยบายการควบคุมโรคควรมาจากนักระบาดวิทยาเท่านั้น

เวลานี้เป็นเวลาที่เราควรมองข้ามขอบเขตสาขาความรู้ ขอบเขตความเป็นคู่แข่ง มาสู่ความสามัคคีหนึ่งเดียว

เพราะวิกฤตินี้มีความน่าสะพรึงกลัวนัก อย่างที่เราได้เห็นมันแสดงอิทธิฤทธิ์แล้วในหลายประเทศที่แข็งแกร่งกว่าเราแทบทุกด้าน