ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > นักวิชาการ ชูวิธี IPM จัดการ ‘แมลงในพิพิธภัณฑ์’ ยั้งความเสียหายทางมรดกวัฒนธรรม

นักวิชาการ ชูวิธี IPM จัดการ ‘แมลงในพิพิธภัณฑ์’ ยั้งความเสียหายทางมรดกวัฒนธรรม

24 เมษายน 2020


มิวเซียมสยาม จัดเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “แมลงศัตรูร้ายในงานอนุรักษ์” ชี้ ‘แมลง’ สร้างความเสียหายระดับกลางต่องานพิพิธภัณฑ์ เสนอวิธี IPM ป้องกัน-กำจัดแมลงแบบผสมผสาน

นายบุรินทร์ สิงห์โตอาจ นักวิจัยประจำห้องคลังโบราณวัตถุและห้องปฏิบัติการ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ กล่าวว่า “แมลง” เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้งานอนุรักษ์และวัตถุพิพิธภัณฑ์เสื่อมสภาพ ถือเป็นศัตรูสำหรับงานอนุรักษ์ วัตถุพิพิธภัณฑ์ และทำลายมรดกทางวัฒนธรรมต่างๆ โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแมลงอยู่ในความเสียหายระดับกลาง

“เทียบความรุนแรงแล้ว ผมมองว่าแมลงอยู่ระดับกลางๆ ความเสียหายรุนแรงสุดเป็นน้ำ ไฟ แต่ปัจจัยความเสียหายจากแมลง 1 ปัจจัย ก่อให้เกิดปัจจัยอื่นๆ ต่อเนื่องกันมา เช่น อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงแล้วแมลงชอบ แมลงจะเข้ามาเป็นปัจจัยด้วย ถ้าเราควบคุมได้ทุกปัจจัยจะเป็นเรื่องดี” นายบุรินทร์กล่าว

ทั้งนี้ 10 ปัจจัยเร่งที่ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพ ได้แก่ การโจรกรรม การถูกทำลายทางกายภาพ การแตกหัก ความชื้น อุณหภูมิ แสงแดด มลพิษทางอากาศ ไฟ น้ำ และสัตว์ทำลาย

นายบุรินทร์กล่าวถึงแมลงว่า แมลงมีประมาณ 30 ล้านชนิด คิดเป็น 75% ของอาณาจักรสัตว์ทั้งหมด เป็นสัตว์ที่มีความหลากหลายที่สุดในโลก เป็นสัตว์ที่ประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิตมากที่สุด เนื่องจากความสามารถในการพรางตัวหลีกเลี่ยงศัตรู กินอาหารได้หลายชนิด ดัดแปลงโครงสร้างให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ปรับตัวให้มีขนาดเล็กลดการแก่งแย่งอาหารและที่อยู่อาศัย และแมลงยังหาแหล่งผสมพันธุ์และแพร่พันธุ์ได้ง่าย

ส่วนแมลงที่ร้ายกาจที่สุด นักวิจัยด้านงานอนุรักษ์ฯ ให้ความเห็นว่าเป็น ‘ปลวก’ เพราะด้วยสภาพแวดล้อมที่ทำให้พบได้บ่อยในประเทศไทย และมีวิธีการกำจัดบางกรณีต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ เช่น กรณีขึ้นอาคาร หรือทำลายวัตถุ

ขณะที่แมลงประเภทอื่นๆ ก็มีลักษณะการทำลายงานอนุรักษ์ที่แตกต่างกัน เช่น ปลวก มอดเจาะไม้ มอดหนังสือ มอดยาสูบ มอดไม้ไผ่ ฯลฯ ชอบกินเซลลูโลสในไม้ กระดาษ เครื่องจักรสาน ใบลาน ผ้าที่ทำจากเส้นใยพืช

ปลวก แมลงสามง่าม แมลงกินไม้ ชอบกินเซลลูโลสและกาว กินกระดาษ ภาพปกและสันหนังสือ แผนที่ ภาพถ่าย ภาพวาด ฟิล์ม

ด้วงขนสัตว์ ด้วงหนังสัตว์ ชอบกินอาหารที่มีโปรตีน เช่น ผ้าไหม ขนสัตว์ ขนสัตว์ปีก หนังสัตว์ เขาสัตว์ สัตว์สตัฟ ซากสัตว์

ส่วนแมลงสาบ เป็นแมลงที่กินวัสดุได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียน ภาพวาด ภาพถ่าย เครื่องจักสาน และยังกินพวกเดียวกันเอง

อย่างไรก็ตาม งานอนุรักษ์ที่ไม่ถูกแมลงทำลาย คือหิน เครื่องปั้นดินเผา เครื่องแก้ว โลหะ ปูน อิฐและพลาสติก

ตัวอย่างการทำรังของแมลง

IPM เครื่องมือกำจัดแมลงสำหรับวัตถุพิพิธภัณฑ์

ปัจจุบันการกำจัดแมลงแบ่งกว้างๆ ได้ 4 ประเภท ได้แก่ วิธีกล การใช้สารเคมีที่มีพิษ วิธีฟิสิกส์ เป็นวิธีกายภาพ ใช้ความร้อน ความเย็น วิธีเคมี จำพวกยาฆ่าแมลง และวิธีชีววิทยา ทำให้แมลงมียีนผิดปกติด้วยการทำให้เป็นหมัน เช่น การใช้รังสี ใช้สารเคมี ใช้จุลินทรีย์ทำลายแมลง แต่สำหรับงานอนุรักษ์และงานวัตถุพิพิธภัณฑ์ จะใช้วิธีที่เรียกว่า IPM (integrated pest management)

ด้านนางสาววรรณวิษา วรวาท นักอนุรักษ์ประจำห้องคลังโบราณวัตถุและห้องปฏิบัติการ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ กล่าวถึง IPM ว่า ถูกใช้เป็นครั้งแรกสำหรับภาคเกษตรกรรม ต่อมาถูกนำมาใช้ในงานอนุรักษ์ เนื่องจากเป็นวิธีการจัดการแมลงแบบผสมผสาน มีความเป็นพิษต่ำ และป้องกันระยะยาว

หลักการจัดการแมลงแบบผสมผสานมี 5 ข้อ ได้แก่

    (1) แมลงไม่ได้ถูกกำจัดให้หมดสิ้นไป แต่ยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้
    (2) การจัดการแมลงต้องพิจารณาทั้งระบบนิเวศ
    (3) ใช้การควบคุมโดยธรรมชาติมากที่สุด
    (4) ตระหนักอยู่เสมอว่า วิธีการควบคุมแมลงวิธีใดก็ตาม ก่อให้เกิดผลเสียได้เสมอ
    (5) การประสานความร่วมมือระหว่างสายงานต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ IPM

IPM จะเน้นการ ‘วิเคราะห์’ จากการศึกษาชนิดของแมลงทั้งทางข้อมูลชีววิทยาและนิเวศวิทยา แล้ว ‘ตรวจสอบ’ สถานที่อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ทราบถึงแนวโน้มการเกิดปัญหาหรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้น จากนั้นศึกษา ‘ทางเลือก’ โดยใช้วิธีผสมผสานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย

นางสาววรรณวิษากล่าวต่อว่า IPM มีข้อดีคือ เป็นวิธีที่ใช้สารเคมีลดน้อยลง ลดความเสี่ยงจากการเสื่อมสภาพของวัตถุ เป็นทางออกสำหรับแมลงดื้อสารเคมี และเป็นเทคนิคที่ได้รับการยอมรับจากสถาบันต่างๆ ส่วนข้อจำกัดคือ IPM ใช้เวลามากกว่าวิธีการใช้สารเคมี และมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการใช้สารเคมีโดยตรง

“การใช้สารเคมีไม่ใช่วิธีที่ไม่ดี แต่ควรเลือกใช้เป็นอันดับท้ายๆ” นักอนุรักษ์กล่าว

การทำ IPM Checklist