ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ไทยพาณิชย์ได้รับอนุมัติตั้งธนาคารลูกในเมียนมา กัมพูชาเปิดธนาคาร SME

ASEAN Roundup ไทยพาณิชย์ได้รับอนุมัติตั้งธนาคารลูกในเมียนมา กัมพูชาเปิดธนาคาร SME

12 เมษายน 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 5-11 เมษายน 2563

  • ไทยพาณิชย์ได้รับอนุมัติจัดตั้งธนาคารลูกในเมียนมา
  • เมียนมาลดค่าธรรมเนียมดึงการลงทุน
  • เมียนมาประชากรเพิ่ม 10 ล้านคนใน 25 ปี
  • กัมพูชาลดค่าธรรมเนียมดึงจดทะเบียนธุรกิจ
  • กัมพูชาเปิดธนาคาร SME
  • ไทยพาณิชย์ได้รับอนุมัติจัดตั้งธนาคารลูกในเมียนมา

    ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดฉากลุยตลาดเมียนมา ได้รับอนุมัติในการจัดตั้งธนาคารลูก (Subsidiary Bank) ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เตรียมแผนให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้ารายใหญ่ เอสเอ็มอี และรายย่อยครบวงจร ผลักดันให้เมียนมาเป็นประเทศกลยุทธ์ที่จะสร้างการเติบโตให้เครือข่ายธุรกิจต่างประเทศ พร้อมเป็นสะพานเชื่อมโยงการค้าการลงทุนระหว่างไทย-เมียนมา และต่อยอดสู่เครือข่ายการค้าระดับภูมิภาคที่ครอบคลุมกลุ่มประเทศ CLMV+2 รองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในระยะยาว คาดว่าจะตั้งธุรกิจแล้วเสร็จพร้อมให้บริการได้ภายในสิ้นปีนี้ ตั้งเป้า 5 ปีแรกอัดฉีดสินเชื่อ 7,000 ล้านบาท

    นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและธุรกิจอันดับต้นๆ ของภูมิภาคที่นักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลกให้ความสนใจ โดยใน 5 ปีที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวของจีดีพีเฉลี่ยประมาณ 6-7% และมีมูลค่าการลงทุนตรงจากประเทศไทย (FDI) ที่ได้รับการอนุมัติแล้วจนถึงปัจจุบันที่ 11 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นอันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์และจีน นอกจากนั้น ประเทศไทยยังเป็นคู่ค้าในลำดับที่ 2 รองจากจีน โดยมีมูลค่าการค้า 7.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2562

    ด้วยศักยภาพดังกล่าว ธนาคารไทยพาณิชย์จึงมีความตั้งใจที่จะขยายธุรกิจเข้าไปยังเมียนมาอย่างจริงจัง โดยเริ่มต้นให้บริการผ่านสำนักงานผู้แทนธนาคารในเมียนมาตั้งแต่ปี 2555 จนกระทั่งวันนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์จึงมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้รับอนุมัติจากธนาคารกลางเมียนมาให้จัดตั้งธุรกิจแบบจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลตามกฎหมายเมียนมา (subsidiary bank) ทำให้สามารถเปิดธนาคารในรูปแบบบริษัทลูกที่มีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้น 100% และสามารถประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบเสมือนธนาคารท้องถิ่นในเมียนมา

    โดยภายใต้ subsidiary license ทำให้ธนาคารสามารถเปิดสาขาในแหล่งธุรกิจที่สำคัญได้ถึง 10 สาขา ในระยะแรกธนาคารจะมุ่งตอบสนองความต้องการให้กับลูกค้าธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนแล้วและที่ต้องการเข้าไปขยายธุรกิจทั้งด้านการค้าและการลงทุนในเมียนมา ด้วยโซลูชันทางการเงินเพื่อธุรกิจการค้าครบวงจร เช่น สินเชื่อ อัตราแลกเปลี่ยน ธุรกรรมการค้า ซัพพลายเชน และบริหารเงินสด”

    “ด้วยแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในทุกภาคอุตสาหกรรม และจุดเด่นที่ทำให้เมียนมาเป็นที่สนใจของนักลงทุนจากต่างชาติอีกประการหนึ่งคือ ค่าแรงที่อยู่ในระดับไม่สูงมากนักของแรงงานเมียนมา จึงเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยที่จะเข้ามาใช้เมียนมาเป็นฐานการผลิตและส่งออกไปทั่วภูมิภาคได้ ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีลูกค้านักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนที่เมียนมาและมีความสนใจใช้บริการกับธนาคารแล้วกว่า 100 ราย จากกลุ่มอุปโภคบริโภค พลังงาน นิคมอุตสาหกรรม ภาคการผลิต และอุตสาหกรรมการเกษตร โดยธนาคารตั้งเป้าประมาณการวงเงินสินเชื่อ 7,000 ล้านบาท ภายในปี 2567”

    นอกจากนี้ ธนาคารยังได้รับอนุญาตให้บริการทางการเงินสำหรับลูกค้ารายย่อยของเมียนมาได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ซึ่งตลาดลูกค้ารายย่อยของเมียนมานั้นถือว่าเป็นโอกาสที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับธุรกิจธนาคาร ด้วยประชากรกว่า 54 ล้านคน ถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพที่ธนาคารจะพัฒนาการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินขั้นพื้นฐานให้แก่ชาวเมียนมา ทั้งนี้ ธนาคารวางแผนที่จะพิจารณาการให้บริการลูกค้ารายย่อยชาวเมียนมาด้วยผลิตภัณฑ์ทางด้านเงินฝาก สินเชื่อบุคคล ดิจิทัลแบงกิง และกลุ่มลูกค้ามั่งคั่งอีกด้วย

    การได้รับอนุมติในการจัดตั้งธนาคารลูกเพื่อสามารถเข้าทำธุรกิจเมียนมาครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำถึงความพร้อมของธนาคารไทยพาณิชย์ทางด้านเครือข่ายต่างประเทศที่สมบูรณ์ครอบคลุมกลุ่มประเทศ CLMV+2 ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม จีน และสิงคโปร์ และธนาคารไทยพาณิชย์พร้อมเป็นสะพานเชื่อมโยงการลงทุนระหว่างภูมิภาคให้กับนักลงทุนจากทุกชาติที่ต้องการขยายการค้าการลงทุนมายังประเทศไทย เมียนมา ตลอดจนประเทศอื่นในลุ่มแม่น้ำโขง

    เมียนมาลดค่าธรรมเนียมดึงการลงทุน

    คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเมียนมา (Myanmar Investment Commission: MIC) ได้ปรับลดค่าธรรมเนียมสำหรับการยื่นขอลงทุนในเมียนมาลง 50% ทั้งนักลงทุนในและต่างประเทศ

    ค่าธรรมเนียมใหม่นี้จะมีผลในวันที่ 20 เมษายนนี้ และมีผลใช้บังคับจนกว่าจะมีการพิจารณาของคณะกรรมการ

    อู เมียว มิน ผู้อำนวยการ สำนักงาน MIC กล่าวว่า การลดค่าธรรมเนียมมีเป้ามายที่จะส่งเสริมการลงทุนและช่วยให้ธุรกิจประหยัดต้นทุนในช่วงเวลาที่สถานการณ์ไม่ปกติ

    ในสัปดาห์ก่อนกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศได้ยกเลิกการจัดงานส่งเสริมการลงทุนใน 4 จังหวัด คือ ย่างกุ้ง พะโค สะกาย และมัณฑะเลย์ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19

    อู อ่องเนียง อู ปลัดกระทรวงกล่าวว่า การลงทุนอาจจะลดลง 40% หลังจากยกเลิกการจัดงาน เพราะงานมีเป้าหมายเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้พบปะกับธุรกิจท้องถิ่นเพื่อหาแนทางทำธุรกิจร่วมกัน

    ขณะเดียวกัน MIC ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างชาติ 11 ธุรกิจ มูลค่าลงทุนรวม 500 ล้านดอลลาร์ และธุรกิจท้องถิ่นมูลค่าลงทุน 50 พันล้านจ๊าด ซึ่งได้แก่ธุรกิจในภาค อุตสาหกรรม ก่อสร้าง และบริการ นอกเหนือจาก 13 ภาคธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมอยู่แล้ว

    ทั้งนี้คาดว่าเมื่อเริ่มดำเนินการ จะสร้างงานในประเทศได้ถึง 3,234 ตำแหน่ง

    ณ สิ้นเดือนมีนาคม นักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับหนึ่งที่ได้รับการอนุมัติในการลงทุนโดยตรง (FDI) ในเมียนมาคือสิงคโปร์ อันดับสอง จีน และไทย อันดับสาม

    ปัจจุบันมีนักลงทุนจาก 51 ประเทศลงทุนใน 12 ภาคธุรกิจ โดยที่น้ำมันและก๊าซมีสัดส่วนการลงทุนสูงสุด 27% รองลงมาคือพลังงานไฟฟ้า 26.3% และการผลิต 14.2%

    เมียนมาประชากรเพิ่ม 10 ล้านคนใน 25 ปี

    ประชากรเมียนมาเพิ่มขึ้นราว 10 ล้านคนในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา โดย ณ วันที่ 1 เมษายน 2563 มีจำนวนประชากรรวม 54.58 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 43.9 ล้านคนในปี 2548 จากการเปิดเผยของกระทรวงแรงงาน

    กรุงย่างกุ้งมีประชากรมากสุด 8.39 ล้านคน รองลงมาคือมัณฑะเลย์ 6.54 ล้านคน และรัฐฉานอันดับสาม 6.43 ล้านคน แต่เนปิดอว์ที่เป็นเมืองหลวง มีเพียง 1.29 ล้านคน

    เมียนมีประชากรหญิงจำนวน 28.43 ล้านคน มากกว่าประชากรชายที่มีจำนวน 26.15 ล้านคน ซึ่งสัดส่วนนี้เป็นเหมือนกันทุกรัฐและทุกภูมิภาค สำหรับรัฐที่มีประชากรน้อยสุดคือ คะยา และรัฐชิน คือมีจำนวน 330,000 คน และ 520,000 คนตามลำดับ

    กัมพูชาลดค่าธรรมเนียมดึงจดทะเบียนธุรกิจ

    รัฐบาลกัมพูชาได้ลดค่าธรรมเนียมบริการภาครัฐลง 3 ประเภท เพื่อจูงใจให้มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจและดึงการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ จากแถลงการณ์ร่วมของกระทรวงเศรษฐกิจและการเงินกับกระทรวงพาณิชย์

    ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนธุรกิจลดลงเป็น 1,010,000 เรียลหรือ 250 ดอลลาร์จาก 1,680,000 เรียล การจดทะเบียนธุรกิจเป็นเจ้าของคนเดียวหรือเป็นหุ้นส่วนค่าธรรมเนียมลดลงเป็น 180,000 เรียล จาก 300,000 เรียล ส่วนค่าธรรมเนียมเปลี่ยนชื่อบริษัทมีจำนวน 25,000 เรียลลดลงจาก 40,000 เรียล

    ค่าธรรมเนียมใหม่นี้มีผลวันที่ 1 เมษายน 2563

    ในรอบ 11 เดือนของปีก่อนมีธุรกิจจดทะเบียนในกัมพูชาจำนวน 16,208 รายเพิ่มขึ้น 23.54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

    กัมพูชาเปิดธนาคาร SME

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/50709443/government-officially-launches-a-100milion-fund-for-smes/
    กัมพูชาได้เปิดดำเนินการธนาคารเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี (Small and Medium Enterprise Bank of Cambodia: SME Bank)ที่จัดตั้งใหม่เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

    พร้อมกันนี้กระทรวงเศรษฐกิจและการเงินได้เปิดตัวโครงการ SMEs co-financing ซึ่งเป็นโครงการร่วมของเอสเอ็มอีแบงก์กับ 23 ธนาคารพาณิชย์ 2 ธนาคารเฉพาะกิจ 7 ไมโครไฟแนนซ์ (microfinance institutions: MFIs) ซึ่ง MFIs 5 รายเป็นไมโครไฟแนนซ์ที่รับเงินฝากได้

    ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถขอกู้ได้ 200,000 ดอลลาร์เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนและ 300,000 ดอลลาร์เพื่อเป็นเงินลงทุน ในอัตราดอกเบี้ย 7% ต่อปี และมีระยะเวลาการชำระคืน 4 ปี

    สำหรับหลักค้ำประกันนั้นขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ของสถาบันการเงิน และเอสเอ็มอีทุกรายสามารถขอกู้ได้หมด แต่ต้องจดทะเบียนกับกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน

    นอกจากนี้ ธุรกิจเอสเอ็มอีต้องมีรายได้อย่างน้อย 250 ล้านเรียลหรือ 61,500 ดอลลาร์ต่อปี หรือมีการจ้างงาน 10-50 คน ส่วนรายได้ของธุรกิจขนาดกลางอย่างน้อยต้องมีจำนวน 700 ล้านเรียล หรือมีการจ้างงาน 51-100 คน

    เขียว มอม กรรมการ ของ ไล ไล ฟู้ด อินดัสตรี ให้ความเห็นว่า เงินกู้จะมีประโยชน์ต่อเอสเอ็มอีในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการกู้เงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและเพื่อเป็นเงินลงทุน

    เต เต็งปอ ประธานสมาพันธ์ธุรกิจเอสเอ็มอีแห่งกัมพูชา (Federation of Association for Small and Medium Enterprises of Cambodia: Fasmec) ให้ความเห็นว่า สมาชิกสมาพันธ์ 300 รายทั่วประเทศจะได้ประโยชน์จากเงินทุนใหม่นี้ และเตรียมที่จะยื่นขอสินเชื่อในสัปดาห์หน้า

    รายงาน บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation) เดือนสิงหาคมปีก่อน พบว่า ผู้ประกอบการหญิงของกัมพูชายังไม่สามารถขยายธุรกิจได้เพราะเข้าถึงเงินทุนได้ยาก มีเพียง 3% เท่านั้นเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารและไมโครไฟแนนซ์

    ทั้งนี้คาดว่าความต้องการเงินของผู้ประกอบการหญิงมีจำนวนถึง 4.2 พันล้านดอลลาร์หรือราว 63% ของงบประมาณรายจ่ายปีที่แล้วของกัมพูชาที่มีจำนวน 6.7 พันล้านดอลลาร์

    กระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรม ได้ทำการสำรวจธุรกิจ 71 แห่งในประเทศ พบว่าต้องการความช่วยเหลือในการการวิจัยตลาด พัฒนาบริการ บรรจุภัณฑ์ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ทรัพยากรบุคคล การเข้าถึงแรงงาน การเข้าถึงแหล่เงิน การจดทะเบียนธุรกิจ ภาษี และมาตรการสุขอนามัย

    ในเดือนก่อนธนาคารเพื่อการเกษตรและพัฒนาชนบทได้ตั้งเปิดวงเงิน 50 ล้านดอลลาร์เพื่อเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอีในภาคเกษตร

    ป้ายคำ :