ThaiPublica > เกาะกระแส > เลขาฯ ยูเอ็น เชิญประชุมฉุกเฉิน ทั่วโลกต้องมี “แผนยุทธศาสตร์ร่วม” ด้านสุขภาพ-ฟื้นศก.รับวิกฤติโควิด-19

เลขาฯ ยูเอ็น เชิญประชุมฉุกเฉิน ทั่วโลกต้องมี “แผนยุทธศาสตร์ร่วม” ด้านสุขภาพ-ฟื้นศก.รับวิกฤติโควิด-19

24 มีนาคม 2020


อังตอนียู กูแตรึช เลขาธิการใหญ่ องค์การสหประชาชาติ แถลงข่าวผ่านระบบบรอดคาสต์ของ UN เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

เลขาฯ ยูเอ็น เชิญสมาชิกทั่วโลกประชุมฉุกเฉินรับมือวิกฤติโควิด-19 สัปดาห์หน้าเรียกร้องทั่วโลกต้องมี “แผนยุทธศาสตร์ร่วม” ด้านสุขภาพและฟื้นเศรษฐกิจ

รายงานข่าวจากสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ในฐานะเครือข่ายท้องถิ่น ของโครงการสำคัญในระดับโลกขององค์การสหประชาชาติ UN Global Compact ระบุว่า เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 นายอังตอนียู กูแตรึช  เลขาธิการใหญ่ องค์การสหประชาชาติ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวจากสำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติว่า “วิกฤติ COVID-19” ถือเป็นวิกฤติที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งองค์การสหประชาชาติมา 75 ปี  และเชิญประเทศสมาชิกทั่วโลกประชุมในสัปดาห์หน้า และเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกหาแนวทางฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจร่วมกันโดยใช้นวัตกรรมเชิงนโยบาย และให้สถาบันการเงินระหว่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน เพื่อร่วมกันบรรเทาผลกระทบ และมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

นายอังตอนียู กูแตรึช(Mr.Antonio Guterres) เลขาธิการใหญ่ องค์การสหประชาชาติ เปิดเผยว่า การเผชิญกับ COVID-19 เป็นวิกฤติสุขภาพระดับโลกที่ไม่มีเหตุการณ์ใดในประวัติศาสตร์ 75 ปีของสหประชาชาติจะเทียบได้  และ “ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก” ซึ่งอาจทำลายทุกสถิติที่ผ่านมา ใกล้จะเป็นจริงแล้ว การตอบสนองระดับประเทศในปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขปัญหาระดับโลกและความซับซ้อนของวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ได้ และเรียกร้องให้เกิดการปฏิบัติตามนโยบายที่ผ่านการประสานงานจากทั่วโลก มีความเด็ดขาด และสร้างนวัตกรรมได้ดีจากกลุ่มเศรษฐกิจชั้นนำทั่วโลก เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายอันยิ่งใหญ่ที่เกิดจากการระบาดของ COVID-19

“เราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่สามารถใช้กฎปกติได้อีกต่อไป เราไม่สามารถใช้เครื่องมือปกติในเวลาที่ผิดปกติเช่นนี้ ถ้าเราปล่อยให้ไวรัสแพร่กระจายเหมือนไฟป่า  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงมากที่สุดของโลก มันจะฆ่าผู้คนนับล้านคน”

เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติยังเน้นย้ำการลงมือทำใน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ โดยมุ่งเน้นที่ผลกระทบทางสังคม  สอง คือ การตอบสนองทางเศรษฐกิจและการฟื้นฟู  และประการที่สาม คือ ความรับผิดชอบในการ “ฟื้นฟูให้ดีขึ้น” พร้อมทั้งกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ เปลี่ยนสถานการณ์จากการปฏิบัติตามกลยุทธ์ด้านสุขภาพของแต่ละประเทศด้วยตนเองให้เป็น “แผนยุทธศาสตร์ร่วม” ที่ทำให้มั่นใจได้ว่าจะได้รับการตอบสนองจากทั่วโลกอย่างโปร่งใส  กลยุทธ์เหล่านี้รวมถึงการสนับสนุนค่าจ้าง การประกัน การคุ้มครองทางสังคม การป้องกันการล้มละลาย และการสูญเสียงาน เช่นเดียวกับการออกแบบการตอบสนองทางการคลังและการเงิน เพื่อให้มั่นใจว่าภาระไม่ตกอยู่กับผู้ที่มีกำลังจ่ายน้อยที่สุด

จากข้อสังเกตว่าเด็กกว่า 800 ล้านคนไม่ได้เข้าเรียนในตอนนี้ เลขาธิการใหญ่ องค์การสหประชาชาติกล่าวว่า “เราต้องรับประกันให้มั่นใจว่า เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารและเข้าถึงการเรียนรู้อย่างเท่าเทียมกัน เชื่อมเส้นแบ่งดิจิทัลและลดต้นทุนการเชื่อมโยงระบบสื่อสารต่อกัน”

 “เรามีความรับผิดชอบในการ “ฟื้นฟูให้ดีกว่านี้” และเพื่อให้แน่ใจว่า พวกเราได้รับบทเรียนแล้ว และตระหนักว่าวิกฤติครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญยิ่ง สำหรับการเตรียมความพร้อมในกรณีฉุกเฉินด้านสุขภาพ การลงทุนของภาครัฐในศตวรรษที่ 21 และการส่งมอบสินค้าสาธารณะทั่วโลก”

ด้านสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ Global Compact Network Thailand: GCNT  ในฐานะเครือข่ายท้องถิ่นในไทย ขององค์การสหประชาชาติ เปิดข้อมูล “5 SDGs Mega Trend 2020” แนวโน้มสำคัญด้านความยั่งยืนที่กำลังเกิดขึ้นในโลก ท่ามกลางวิกฤติสิ่งแวดล้อมและวิกฤติสังคม  โดยชี้ว่าเป็นความท้าทายใหม่ของธุรกิจในไทยที่ต้องเตรียมรับมือสำหรับอนาคต หลังวิกฤติ COVID-19

นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย  เปิดเผยว่า สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ในฐานะเครือข่ายท้องถิ่นของโครงการสำคัญในระดับโลกขององค์การสหประชาชาติ UN Global Compact มีพันธกิจสำคัญในการสนับสนุนภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายภาคส่วน เพื่อช่วยสร้างให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง  ใน 4 ด้านที่สำคัญ คือ สิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต  เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งองค์การสหประชาชาติในระดับโลกร่วมกันภายในปี ค.ศ. 2030

ทั้งนี้ได้จัดทำข้อมูล “5 แนวโน้มสำคัญเพื่อจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2563” หรือ “5 SDGs Mega Trend 2020” ซึ่งเป็นแนวโน้มสำคัญด้านความยั่งยืนที่กำลังเกิดขึ้นในโลก เพื่อจะช่วยให้ธุรกิจเข้าใจพลวัตและการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก และเป็นปัจจัยสำคัญกำหนดเป็นทิศทางขององค์กรธุรกิจในการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน ท่ามกลางวิกฤติซึ่งส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางทั่วโลก

 “การนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ  SDGs มากำหนดเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์และเป้าหมายทางธุรกิจ  จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้กับกิจการ  เช่น  การใช้พลังงานสะอาด หรือเทคโนโลยีที่สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน  ผมเห็นว่า การบรรลุ SDGs จึงเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสทางธุรกิจ และที่สำคัญที่สุด ภารกิจนี้เป็นความรับผิดชอบของทุกคน” นายศุภชัยกล่าว