ThaiPublica > เกาะกระแส > พลังคนไทย รัฐ-เอกชน-ประชาชน สู้วิกฤติ Covid-19

พลังคนไทย รัฐ-เอกชน-ประชาชน สู้วิกฤติ Covid-19

3 มีนาคม 2020


Covid-19 โรคอุบัติใหม่ที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์อย่างที่ไม่มีใครคาดคิด

เนื่องด้วยไวรัสโควิด 19 เป็นโรคติดต่อจาก ‘คน’ สู่ ‘คน’ ที่รุนแรงจนทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประเมินความเสี่ยงโรคโควิด 19 ที่ระดับ ‘สูงสุด’ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563

  • องค์การอนามัยโลกเตือนทุกประเทศเตรียมพร้อมรับมือ “Pandemic” ไวรัสโควิด-19 ระบาดใหญ่
  • จำนวนผู้ป่วยทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 1,000 รายต่อวัน ในจำนวนนี้เป็นผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 100 รายต่อวัน และพบอัตราการเสียชีวิตจากโรคประมาณร้อยละ 2 ซึ่งร้อยละ 26.4 ของผู้เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุ โดยผู้ที่เป็นโรคหัวใจมีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุด ร้อยละ 10.5 รองลงมาคือ โรคเบาหวาน ร้อยละ 7.3 และ โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ร้อยละ 6.3

    ประเทศไทยเองได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ โดยจัดให้โควิด 19 เป็น ‘โรคติดต่ออันตราย’ ลำดับที่ 14

    รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 จำนวนยอดผู้ป่วยสะสมของไทยตั้งแต่เกิดวิกฤตจนถึงวันที่ 3 มีนาคม 2563 อยู่ที่ 43 ราย เป็นผู้ป่วยติดเชื้อและรักษาในโรงพยาบาล 11 ราย กลับบ้านแล้ว 31 ราย และเสียชีวิตเพียง 1 ราย

    แม้ประเทศไทยจะถูกเพ่งเล็งจากนานาประเทศไทย เนื่องจากเป็น ‘เมืองท่องเที่ยว’ ที่มีชาวจีนจำนวนมาก โดยปี 2562 มีนักท่องเที่ยวจีนเกือบ 11 ล้านคน จากนักท่องเที่ยวทั้งหมด 39.7 ล้านคน แต่ด้วยระบบสาธารณสุขของไทยที่เข้มแข็งทำให้สามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของโลกจนทำให้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อของไทยอยู่ลำดับที่ 15 ของโลก แม้จะเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อประเทศลำดับต้นๆในช่วงแรก

    เช่นเดียวกับรายงานจากมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ ที่จัดอันดับให้ประเทศไทยติดท็อป 10 ของโลก และอันดับ 1 ในเอเชียสำหรับประเทศที่มีความพร้อมในการเตรียมตัวรับมือโรคระบาดดีที่สุดในโลก

    “ผมเชื่อในความร่วมมือของคนไทย ทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ทุกท่าน และอีกหลายคนที่ผมเอ่ยชื่อไม่หมด” นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าว

    แม้มีหลายฝ่ายที่ไม่เชื่อมั่นในระบบการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขของไทย พยายามที่จะให้รัฐประกาศระดับความเสี่ยงสูงสุด เช่นออกกฏหมายเพื่อไม่ให้คนเดินทางออกนอกประเทศและห้ามประเทศเสี่ยงเข้ามา เพราะนั่นหมายถึงเศรษฐกิจจะย่ำแย่หนัก ซึ่งผู้อำนาจสั่งการของกระทรวงสาธารณสุขยืนยันหนักแน่นถึงมาตรการรับมือที่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก พร้อมรณรงค์ให้คนไทยทุกคนมีจิตสำนึกต่อส่วนรวมและปฏิบัติตามข้อแนะนำในการป้องกันตนเอง เพราะวิธีนี้เป็นการป้องกันที่ดีที่สุด ก็จะทำให้คนไทยรับมือและผ่านวิกฤตินี้ไปได้ร่วมกัน

    เพราะ ‘ความร่วมมือ’ ของทุกภาคส่วนที่รับมือตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่เข้าสู่การแพร่ระบาดระดับ 3

    ต้นน้ำ – คัดกรองคนเดินทางเข้าประเทศ

    ด้วยมาตรการเชิงรุกที่เข้มแข็งของระบบสาธารณสุขไทย ด่านแรกที่เชื้อโรคจะเดินทางเข้าประเทศคือการคัดกรองผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม ถึง 1 มีนาคม 2563 รวมทั้งสิ้น 19,760 เที่ยวบิน คัดกรองไปทั้งสิ้น 2,884,717 ราย พบผู้ป่วยที่มีอาการตามนิยาม 95 ราย

    การคัดกรองทางเรือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 1 มีนาคม 2563 มียอดการคัดกรองรวมสะสม 531 ลำ ยอดผู้คัดกรองสะสม 102,098 ราย พบผู้ป่วยที่มีอาการตามนิยาม 95 ราย

    ส่วนการคัดกรองผ่านพรมแดนทางบกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึง 1 มีนาคม 2563 ยอดผู้คัดกรองสะสม 708,565 ราย

    และคัดกรองผู้มาต่ออายุหนังสือเดินทางตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2562 ถึง 2 มีนาคม 2563 รวมคัดกรองทั้งสิ้น 72,027 ราย

    การตรวจคัดกรองผู้โดยสารเป็นไปอย่างเข้มข้นมากขึ้น หลังวันที่ 22 มกราคม 2563 ซึ่งกรมควบคุมโรค ยกระดับศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินเป็นระดับ 3 เพื่อติดตามสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเพิ่มการเฝ้าระวังจุดคัดกรองไข้ตามท่าอากาศยาน 6 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และกระบี่

    โดยเจ้าพนักงานอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 สำหรับพนักงานควบคุมโรคติดต่อ อาศัยมาตรา 34 และ 45 ส่วนเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ อาศัยมาตรา 39, 42 และมาตรา 45

    กระทรวงสาธารณสุขแจกหน้ากากอนามัย

    ขณะเดียวกันกรมควบคุมโรค ได้แจ้งให้สถานพยาบาลทำการคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ร่วมกับมีอาการระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ และมีประวัติการเดินทางจากประเทศจีน มาเก๊า ฮ่องกง ไต้หวัน หรือพื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง ภายใน 14 วัน เสริมกับการเฝ้าระวังในชุมชน

    นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยังแจกหน้ากากอนามัยวันละ 100,000 ชิ้น ตั้งแต่วันที่ 2-3 มีนาคม 2563 โดยแจกหน้ากากอนามัยให้คนละ 3 ชิ้น ซึ่งประชาชนสามารถมารับได้ที่กระทรวงสาธารณสุข

    กลางน้ำ – เอกชน ชูมาตรการร่วม “อย่างเข้ม”

    ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ภาคเอกชน’ คือหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค แม้ในแง่หนึ่งภาคเอกชนดำเนินมาตรการป้องกันเพราะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าก็ตาม แต่หลายมาตรการเป็นมาตรการที่เข้มงวดอย่างกรณี บริษัททีพีไอ โพลีน กรณีที่ห้ามพนักงานเดินทางต่างประเทศ หากไม่ปฏิบัติคือไล่ออก หรืออื่นๆที่มีการลงโทษทางวินัย

    มาตรการป้องกันCovid-19 ธนาคารไทยพาณิชย์

    เริ่มที่ธนาคารพาณิชย์ อย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ขอความร่วมมือให้พนักงานงดเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยง 11 ประเทศ รวมถึงเพิ่มความยืดหยุ่นให้พนักงานหรือบุคคลที่พักอาศัยเดียวกับคนที่เดินทางไปต่างประเทศสามารถ Work at Home ได้ รวมไปถึงเพิ่มเครื่อง Thermo Scan รวมทั้งหมด 9 เครื่อง ณ อาคารสำนักงานใหญ่เพื่อตรวจวัดอุณหภูมิของพนักงาน อีกทั้งยังเพิ่มรอบการทำความสะอาดราวบันไดเลื่อน ปุ่มลิฟท์ พ่นยาฆ่าเชื้อบริเวณโถงลิฟท์ รวมทั้งจัดหาเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ บริเวณหน้าลิฟท์ และประตูทางเข้าอาคาร

    มาตรการป้องกันCovid-19 ธนาคารกสิกรไทย

    ธนาคารกสิกรไทย ติดตั้งจุดคัดกรองด้วยเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย (Thermoscan) เพื่อดูแลผู้ที่เข้า 5 อาคารขนาดใหญ่ของธนาคาร ได้แก่ อาคารราษฎร์บูรณะ อาคารพหลโยธิน อาคารแจ้งวัฒนะ อาคาร KBTG และอาคารสีลม ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป สำหรับพนักงานที่ปฏิบัติงานในสาขาได้มีการจัดเตรียมหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ พร้อมทั้งเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดพื้นที่โดยรอบการใช้งานมากขึ้น และธนาคารมีการกำหนดแนวทางดูแลพนักงานและข้อปฏิบัติที่เข้มงวดที่พนักงานต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

    ธุรกิจโทรคมนาคม มีแนวทางที่ใกล้เคียงกันคือ ปรับการทำงานให้ยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อลดช่วงเวลาแออัดจากการเดินทาง สามารถ Work at Home ได้ในบางกรณี และกำหนดให้พนักงานประจำสาขาสวมหน้ากากและมีการจัดเตรียมเจลล้างมือให้ลูกค้า

    มาตรการป้องกัน Covid-19 ของ AIS

    โดยบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS สั่งพนักงานงดการเดินทางไปต่างประเทศโดยเด็ดขาด ส่วนพนักงานประจำสาขาจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา พร้อมมีการตรวจวัดไข้วันละ 2 ครั้ง และเพิ่มบริการแอลกอฮอล์เจลสำหรับล้างมือ และฉีดพ่นฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ปฏิบัติงาน

    ส่วน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ TRUE ให้พนักงานสวมหน้ากากตลอดเวลา และได้จัดเตรียมเจลล้างมือทุกสาขาทั้งทรูช้อป 424 สาขา ทรูคอฟฟี่ 140 สาขา ทรูแบรนด์ดิ้งช้อปและทรูสเฟียร์ 16 สาขา รวม 580 สาขาทั่วประเทศ และเพิ่มความถี่ในการความทำความสะอาดจุดสัมผัสสาธารณะในทุกช้อปทุก 1 ชั่วโมง

    ธุรกิจค้าปลีก (Retail) อย่างเครือเซ็นทรัล นำโดย CPN ได้ออกมาตรการให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ และผู้ให้บริการทั้งในส่วนศูนย์การค้าและร้านค้าผู้เช่า ได้จัดให้ตรวจคัดกรอง และวัดอุณหภูมิร่างกายพนักงานร้านค้าทุกวัน พร้อมทั้งให้พนักงานทุกคนสวมถุงมือและหน้ากากอนามัยในจุดที่ให้บริการใกล้ชิดลูกค้า รวมถึงบริการเจลล้างมือและหน้ากากอนามัยแก่ผู้ใช้บริการ

    ขณะที่ MBK ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าหลักคือชาวจีน ได้รับผลกระทืบจากโควิด 19 ไปเต็มๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อค้าแม่ค้า สิ่งที่ศูนย์การค้าออกมาทำคือลดค่าเช่า 10-20% ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึง 31 สิงหาคม 2563 รวมทั้งสิ้น 6 เดือน

    ด้าน King Power เตรียมมาตรการจัดเตรียมพื้นที่ให้บริการ และฆ่าเชื้อโรคพื้นที่ให้บริการทุกจุด ทั้งในคอมเพล็กซ์ ในท่าอากาศยาน โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ และตึก คิง เพาเวอร์ มหานคร โดยมีการฉีดและอบโอโซนฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนา และ H1N1 ทุกสาขา ตั้งแต่คืนวันที่ 25 มกราคม และดำเนินการต่อเนื่องด้วยการทำซ้ำทุก 2 สัปดาห์ ตลอดจนเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดห้องน้ำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ รวมถึงจุดที่มีลูกค้าใช้บริการจำนวนมาก (2) ให้พนักงานสวมหน้ากาก N95 และเพิ่มจุดให้บริการเจลล้างมือ

    ด้านการขนส่งผู้โดยสาร MRT นอกจากให้พนักงานสวมหน้ากากอนามัยและบริการจุดเจลล้างมือแล้ว ยังได้แจกหน้ากากให้แก่ผู้ใช้บริการ MRT สายสีน้ำเงินที่สถานีสวนจตุจักร สถานีสุขุมวิท และสถานีสีลม และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ที่สถานีตลาดบางใหญ่ และสถานีเตาปูน ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2563 รวมถึง เพิ่มความถี่การทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ตั้งแต่เครื่องออกบัตรโดยสาร ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร ราวจับบันได บันไดเลื่อน ราวกันตก ประตูเก็บค่าโดยสาร เก้าอี้นั่งและลิฟต์โดยสาร

    บริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน)เพิ่มมาตรการเพื่อความปลอดภัยอย่างเข้มข้นในทุกเที่ยวบิน เพื่อสร้างความมั่นใจให้พนักงานและผู้โดยสารดังนี้ 1. ทำการอบพ่นสเปรย์ฆ่าเชื้อโรคในอากาศยาน และทำความสะอาด 36 จุดสัมผัสร่วม ในทุกเที่ยวบินที่ทำการบินกลับมาจากประเทศจีนทั้งหมด นอกเหนือจากพ่นฆ่าเชื้อเที่ยวบินหลังจากบินกลับจากจีนแล้ว บริษัทฯ ยังทำการพ่นฆ่าเชื้อในทุกเที่ยวบินที่เสร็จสิ้นภารกิจประจำวัน ด้วยบริษัทฯ มีความห่วงใยผู้โดยสารและพนักงานทุกคน 2. จัดเตรียมเครื่องวัดอุณหภูมิ (Infrared Thermo) เพื่อวัดอุณหภูมิร่างกายผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่องบินในทุกเที่ยวบิน กรณีพบผู้โดยสารที่มีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37.5 องศา จะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่และปฏิเสธการเดินทาง ยกเว้นมีเอกสารยืนยันการเดินทางจากแพทย์ว่าสามารถเดินทางได้ 3. ให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินสวมใส่หน้ากากอนามัย และใส่ถุงมือขณะให้บริการในทุกเที่ยวบิน

    ด้านการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ควบคุมให้เจ้าหน้าที่สวมหน้ากากอนามัยทุกกรณี และจัดให้มีเจลล้างมือ รวมถึงเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดผ่าน 3 มาตรการ ได้แก่ (1) มาตรการด้านสถานี (2) มาตรการด้านขบวนรถ และ(3) มาตรการเฝ้าระวังและป้องกันเป็นกรณีพิเศษ เริ่มจาก สถานีรถไฟที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศ ได้แก่ สถานีหนองคาย สถานีด่านพรมแดนบ้านคลองลึก สถานีอรัญประเทศ และสถานีปาดังเบซาร์ โดยส่งเจ้าหน้าที่ตั้งจุดตรวจคัดกรองผู้โดยสารและนักท่องเที่ยว

    ส่วนการขนส่งพัสดุ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ออกมาตรการสกัดกั้น COVID – 19 ในช่องทางไปรษณีย์ไทยพร้อมมาตรการหลักเพื่อป้องกันไวรัส COVID – 19 ในเส้นทางขนส่ง – โลจิสติกส์

    บริษัทไปรษณีย์ไทยฉีดพ่นฆ่าเชื้อไรษณียภัณฑ์ขาเข้าจากต่างประเทศ

    สถานศึกษา ปล่อยมาตรการเชิงรุกและรับ

    กระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกมาตรการ Big Cleaning ทำความสะอาดหน่วยงานทุกพื้นที่และโรงเรียน โดยยกระดับมาตรการควบคุมและป้องกันโรคร่วมกับ 19 หน่วยงานในสังกัด ประกอบกับให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แจ้งโรงเรียนในสังกัดเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

    แม้ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้จะพบนักเรียนโรงเรียนพระหฤทัยดอนเมืองติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ซึ่งได้รับเชื้อหลังจากปู่ของเด็กเดินทางกลับมาจากประเทศญี่ปุ่น ทำให้ในเวลาต่อมาสำนักงานดอนเมือง และกรมควบคุมโรค ลงพื้นที่ไปพบกลุ่มเสี่ยง และได้ให้กองควบคุมโรคติดต่อและสำนักงานอนามัยทำความสะอาดพื้นที่ภายในโรงเรียน อีกทั้งมีคำสั่งปิดโรงเรียน 14 วัน ตั้งแต่ 26 กุมภาพันธ์ ถึง 9 มีนาคม 2563

    เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่กำชับให้อาจารย์ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเพื่อป้องกันเชื้อโรค และสั่ง ‘งด’ ไม่ให้บุคลากรและนักศึกษาเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยง และงดทำกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก

    คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ออกมาตรการในห้องสอบ โดยให้ผู้คุมสอบและนิสิตต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา รวมถึงเตรียมหน้ากากสำรองให้นิสิตกลุ่มเสี่ยงด้วย

    มหาวิทยาลัยหอการค้า ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 เรื่องขอความร่วมมือในกรณีที่นักศึกษาเดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง โดยให้นักศึกษากักตัวอยู่บ้านและไม่ถือเป็นการขาดเรียน

    นักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม มหาวิทยาลัยนครพนม จ.นครพนม มีนักศึกษาชั้นปีที่ 2-3 ลงพื้นที่ให้ความรู้เรื่องไวรัสกับประชาชน อาทิ สอนวิธีการใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกวิธี การล้างมือ พร้อมตอบคำถามของประชาชนเกี่ยวกับเชื้อไวรัส และประชาชนก็ให้ความสนใจในการให้ความรู้ และให้ความร่วมมือ การเดินรณรงค์ส่วนใหญ่เน้นบริเวณพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีผู้คนหนาแน่น เช่น บริเวณจุดชมวิวริมน้ำโขง ตลาดอินโดจีน ตลาดโต้รุ่ง ตลาดนัด และสถานีขนส่งผู้โดยสาร

    ปลายน้ำ – พลังประชาชน

    นอกจากการเตรียมพร้อมเรื่อง ‘หน้ากากอนามัย’ และ ‘เจลล้างมือ’ การหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนแออัดก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค

    อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรค ได้วางแนวทางไว้ 3 ด้าน ได้แก่

      (1) กักตัวเอง 14 วัน พร้อมทั้งแจ้งสถานพยาบาลใกล้บ้านหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กรณีมีประวัติเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง

      (2) หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย

      (3) ประชาชนทั่วไปให้กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และสวมหน้ากากป้องกันโรค

    ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ยังกำหนดโทษเรื่องการ ‘ปกปิด’ ข้อมูล ไม่แจ้งแก่เจ้าหน้าที่จะมีโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    เมื่อประชาชนพบเห็นเบาะแสหรือเห็นความปกติก็สามารถโทรไปที่สายด่วน 1422 เพื่อติดต่อกรมควบคุมโรคได้โดยตรง