ThaiPublica > คอลัมน์ > The African Doctor ต้นทุนของทางเลือก

The African Doctor ต้นทุนของทางเลือก

23 มีนาคม 2020


Hesse004

The African Doctor หรือ Bienvenue à Marly-Gomont ผลงานของจูเลียน แรมบัลดิ (Julien Rambaldi) ผู้กำกับมากฝีมือชาวฝรั่งเศส ที่มาภาพ: https://www.justwatch.com/th/movie/the-african-doctor

ช่วงกระแส COVID-19 ออกอาละวาด แน่นอนว่า สงครามที่ต้องต่อสู้กับโรคไวรัสครั้งนี้ อาชีพที่ต้องรับบทหนักมากที่สุด คือ หมอ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข ทุกท่านต้องทำงานกันอย่างเหน็ดเหนื่อยในฐานะ “นักรบเสื้อกาวน์” แนวหน้าของสงครามไวรัสที่ไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่

ในอดีตที่ผ่านมา มีภาพยนตร์จำนวนมากที่นำเสนอเรื่องราวของคุณหมอโดยเฉพาะประเด็นจรรโลงใจที่ชี้ให้เห็นถึงความเสียสละ ความอดทน ความรักความเมตตาต่อคนไข้ เช่น หนัง comedy-drama อย่าง Patch Adam (1998) ผลงานการกำกับของ Tom Shadyac นำแสดงโดย Robin Williams ที่เล่าเรื่องวิธีการรักษา แนวใหม่ “ซ่อม” ความเจ็บป่วยทางจิตใจของคนไข้มากกว่าความป่วยไข้ทางร่างกาย

หนังที่น่าสนใจเกี่ยวกับหมอเรื่องล่าสุด อีกเรื่อง คือ The African Doctor หรือ Bienvenue à Marly-Gomont ผลงานของจูเลียน แรมบัลดิ (Julien Rambaldi) ผู้กำกับมากฝีมือชาวฝรั่งเศสที่หยิบเรื่องราวของคุณพ่อ rapper ของหนุ่มฝรั่งเศสนามว่า Kamini มาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ comedy-drama ที่อบอุ่นและสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนดู

จูเลียน แรมบัลดิ และคามินี ร่วมกันพัฒนาบทภาพยนตร์จากชีวิตวัยเด็กของคามินี ซานโตโก (Kamini Zantoko ซึ่งเล่าเรื่องคุณพ่อของเขาที่เป็นคุณหมอในเมืองชนบทเล็กๆ แห่งหนึ่งทางตอนเหนือของฝรั่งเศส

เรื่องราวอาจดูไม่มีอะไรน่าสนใจนัก ถ้าครอบครัวของคามินีเป็นครอบครัวคนผิวขาวชาวฝรั่งเศส แต่สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้มีความพิเศษคือ ครอบครัวของคามินีเป็นครอบครัวที่อพยพมาจากกรุงกินชาซา (Kinshasa) ประเทศคองโก

คุณหมอเซโยโล เซโยโต (Seyolo Zeyoto) เด็กกำพร้าจากคองโกไต่เต้าจนเป็นแพทย์จบใหม่จากปารีส ตัดสินใจที่จะมาเป็น “หมอบ้านนอก” ทางตอนเหนือของฝรั่งเศสที่เมือง Marly-Gomont เมืองเล็กๆ ที่มีประชากรราวๆ 500 คน

คุณหมอโทรบอกคนในครอบครัวที่กรุงกินชาซาเพื่ออพยพมาอยู่ฝรั่งเศสด้วยกัน… แน่นอนว่า แวบแรกทุกคนดีใจเพราะได้ย้ายไปอยู่ในที่ที่เจริญกว่า ศิวิไลซ์กว่า สะดวกสบายกว่า แม้ว่าจะต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ สภาพอากาศที่หนาวเหน็บ และที่สำคัญคือต้องปรับตัวกับผู้คนพื้นถิ่น

ย้อนกลับไปเมื่อ 45 ปีก่อนในยุคที่เราไม่มีอินเทอร์เน็ต ไร้ซึ่งโซเชียลมีเดีย ไม่มี YouTube ไม่มีความเจริญมากพอที่จะทำให้เรารู้ว่าวัฒนธรรมที่แตกต่างกันนั้นเป็นอย่างไร… สภาพที่ทั้งครอบครัวเซโยโตเผชิญและชาวเมือง Marly-Gomont เห็นนั้นทำให้ต่างฝ่ายต่างเกิด culture shock

The African Doctor อีกภาพการดิ้นรนพิสูจน์ตัวเองของอาชีพหมอกับอคติทางผิวสี
ที่มาภาพ : https://ihavenothingtowatchhome.files.wordpress.com/2019/07/the-african-doctor.jpg

แม้ว่าหมอหนุ่มเซโยโลจะเรียนจบจากปารีส แต่เค้าก็ใช่ว่าจะคุ้นชินกับวิถีชนบทที่จัดว่ายังห่างจากความเจริญของเมืองหลวง เช่นเดียวกับครอบครัวหมอ ไม่ว่าจะเป็นภรรยา ลูกสาว และลูกชาย (คามินี) ต่างก็ต้อง “ช็อก” กับสภาพแวดล้อมใหม่ที่พวกเขาต้องเผชิญ

ขณะที่แขกผู้มาใหม่ต้อง “ช็อก” แล้ว คนพื้นถิ่นเดิมก็ช็อกไม่แพ้กัน กล่าวคือ พวกเขาไม่เคยคิดว่า พวกเขาต้องมารักษาอาการเจ็บป่วยกับหมอแอฟริกันที่เป็นชาว “คองโกลิส” (Congolese)

The African Doctor พยายามสื่อสารให้เห็นถึงทัศนคติของคนผิวขาวที่มองคนผิวสีว่าด้อยกว่า โดยเฉพาะคนผิวสีที่กลายมาเป็นหมอ ซึ่งเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในทุกสังคม… ในช่วงเริ่มต้น ชาวเมือง Marly-Gomont ไม่ต้อนรับคุณหมอเซโยโล ไม่มีใครกล้าเข้าไปในคลินิกแห่งเดียวในเมือง แม้เจ็บป่วยก็ยอมนั่งรถไปหาหมอเมืองอื่น ไม่มีใครอยากเสวนาพูดคุยกับคุณหมอนัก

เช่นเดียวกับลูกๆ ของเขาที่ต้องปรับตัวไม่แพ้กับพ่อ ทุกคนกลายเป็น “ตัวประหลาด” ในสังคมใหม่

แต่ท้ายที่สุด ทุกฝ่ายพร้อมเรียนรู้ที่จะปรับตัว ฝ่ายหนึ่งเดินเข้าหาทำความคุ้นเคย สร้างการยอมรับให้เกิดความไว้วางใจ… อีกฝ่ายหนึ่งค่อยๆ เปิดใจให้โอกาส พร้อมจะเรียนรู้และยอมรับความแตกต่างของผู้มาใหม่

…ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

สาส์นที่ The African Doctor ได้สื่อออกมานั้นยังร่วมสมัยอยู่ ทุกวันนี้ในโลกที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม การดำรงอยู่ เราทุกคนล้วนเป็นคนแปลกหน้าระหว่างกัน แต่ความแปลกหน้านั้นได้ถูกทำให้คุ้นเคยผ่านช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายและรวดเร็ว

ยิ่งมนุษย์พัฒนาไปไกลมากเท่าไร เรายิ่งเรียนรู้ว่าเนื้อแท้แล้วเราแต่ละคนไม่ต่างกัน ความเป็นมิตรเกิดขึ้นได้จากการเปิดใจยอมรับและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

มีเกร็ดเล็กๆ ใน The African Doctor ที่เล่าถึงสภาพเศรษฐกิจการเมืองของคองโกในช่วงทศวรรษที่ 70 โดยก่อนหน้านี้ คองโกเคยเป็นอาณานิคมของเบลเยียม ด้วยความที่คองโกเป็นประเทศใหญ่ มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับสองของทวีปแอฟริกา ทำให้คองโกเป็นที่หมายปองของลัทธิล่าอาณานิคมในยุโรป

คองโกถูกเบลเยียมปกครองมาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ด้วยความที่เป็นดินแดนที่มีทรัพยากรสมบูรณ์ โดยเฉพาะเพชรจากคองโกนั้นนับว่าขึ้นชื่อมาก ดังนั้น จึงเกิดการแย่งชิงทรัพยากรจนกลายเป็นแผ่นดินเดือดที่ลุกเป็นไฟครั้งแล้วครั้งเล่า

ปี ค.ศ. 1965 คองโกเกิดรัฐประหารโดยนายพันหนุ่มนามว่า Joseph-Désiré Mobutu ต่อมาภายหลังเปลี่ยนชื่อ Mobutu Sese Seko และในปี 1971 Mobutu เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นซาอีร์ (Zaire)

Mobutu จัดเป็นเผด็จการทรราชย์สมบูรณ์แบบ เขาปกครองซาอีร์จนกระทั่งปี ค.ศ. 1997 จึงถูกโค่นอำนาจลง ซาอีร์หรือคองโกเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยสงคราม ขาดเสถียรภาพทางการเมือง จัดเป็นรัฐล้มเหลว (failed state) เช่นเดียวกัน Mobutu เป็นผู้นำที่ถูกจัดอันดับว่าขี้ฉ้อมากที่สุดในโลก ปกครองประเทศแบบ kleptocracy หรือ “โจราธิปไตย” ด้วยเหตุนี้ ผู้คนจำนวนมากที่ทนไม่ไหวกับพิษภัยสงครามและการปกครองของ Mobutu จึงอพยพออกจากต่างประเทศไปตายเอาดาบหน้า

กรณีของคุณหมอเซโยโลก็เช่นกัน จริง ๆ แล้วเขาได้รับข้อเสนอจากเพื่อนที่ทำงานใกล้ชิดกับ Mobutu ให้มารับตำแหน่งเป็นแพทย์ประจำประธานาธิบดี Mobutu แต่คุณหมอเลือกที่จะไม่รับตำแหน่งนี้ ทิ้งความก้าวหน้า ทิ้งเงินทอง และที่สำคัญ คือ ทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน

The African Doctor ทำให้เรากลับมาคิดต่อว่า ทุกการตัดสินใจย่อมมีต้นทุนของทางเลือก หากเราอยู่ในสภาพเดียวกับคุณหมอเซโยโลแล้วเลือกกลับบ้านไปเป็นหมอประจำตัวให้ Mobutu เราจะได้ทั้งเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ ตำแหน่ง และอาจเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขในคองโกเพื่อช่วยคนคองโกอีกนับล้านคนได้ แต่ต้นทุนที่เราต้องจ่าย คือ เราต้องอยู่และเป็นส่วนหนึ่งในสภาพแวดล้อมภายใต้บรรยากาศโจราธิปไตยแบบนี้

แต่หากเราเลือกเป็นหมอบ้านนอกใน Marly-Gomont ต่อ เราจะได้สัญชาติฝรั่งเศส ลูกเมียสบาย มีสวัสดิการและสิ่งแวดล้อมในชีวิตที่ดี… แต่ต้นทุนที่เราต้องจ่ายคือ เราต้องปรับตัวครั้งใหญ่ พิสูจน์ตัวเองผ่านอคติของคนกลุ่มใหญ่ รวมถึงถูกมองเป็นพลเมืองชั้นสอง เพื่อให้ได้รับการยอมรับในสังคมใหม่

…ท้ายสุดแล้ว เราจะเลือกทางเลือกแบบไหนดี มีคำตอบอยู่ในหนังเรื่องนี้แล้ว