ThaiPublica > คอลัมน์ > The Brussels business แดนสนธยาในอียู

The Brussels business แดนสนธยาในอียู

15 กรกฎาคม 2016


Hesse004

หลังจากกระแส Brexit ค่อยๆ ซาลงไปพร้อมกับการเริ่มต้นสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของทั้งสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป (EU) ที่ต่างฝ่ายต่างเลือกเส้นทางเดินของตัวเอง อย่างไรก็ดี Brexit ได้จุดกระแสให้อีกหลายประเทศในกลุ่ม EU อย่างเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และอิตาลี ขอโหวต “ประชามติ” ออกจากสหภาพยุโรปบ้าง

น่าสนใจว่า ทั้งฝ่ายหนุน “ให้อยู่” และฝ่ายต้าน “ให้ออก” นั้น ต่างมีจุดยืน เหตุผล และชุดคำอธิบายที่น่ารับฟังด้วยกันทั้งสิ้น

สหภาพยุโรปมีพัฒนาการมายาวนาน โดยถือกำเนิดจากประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป (ECSC) เมื่อปี ค.ศ. 1951 และหลังจากนั้นอีก 7 ปีต่อมา ECSC กลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) จนกระทั่งปี 1993 ภายใต้สนธิสัญญามาสทริชท์ (Maastricht Treaty) จึงเกิดสหภาพยุโรปขึ้นเต็มตัว

ศูนย์กลางของ EU อยู่ที่กรุงบรัสเซลล์ (Brussels) ประเทศเบลเยียม สถาบันสำคัญของ EU มีทั้งคณะกรรมาธิการยุโรป คณะมนตรีสหภาพยุโรป สภายุโรป รวมถึงรัฐสภายุโรป

EU มีสมาชิก 28 ประเทศ โครเอเชียเป็นสมาชิกรายล่าสุดที่เข้า EU เมื่อปี 2013 ขณะที่สหราชอาณาจักรเพิ่งจะมีประชามติถอนตัวออกจาก EU ไปหมาดๆ

ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา เกิดคำถามมากมาย โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า การรวมกลุ่มเป็นสหภาพนั้นมีประโยชน์อย่างไรบ้างกับประชาชนคนธรรมดา หรือใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์จากการรวมกลุ่ม คำถามนี้กลายเป็นที่มาของสารคดีเบลเยียมเรื่องหนึ่งที่สะท้อนภาพการทำงานของ EU ภายใต้คนกลุ่มหนึ่งที่มีส่วนต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนา EU และจัดสรรผลประโยชน์ของผู้คนกว่า 500 ล้านคน

The Brussels Business: Who runs the European Union? เป็นหนึ่งในสารคดีที่มีเนื้อหาตีแผ่ข้อเท็จจริงอีกด้านในการทำงานของ EU สารคดีเรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับของ Friedrich Moser และ Matthieu Lietaert สองผู้กำกับหนุ่มที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับการบริหารงานของ EU ว่าเป็นแดนสนธยา เต็มไปด้วยความคลุมเครือในการบริหารงาน การต่อรองผลประโยชน์ระหว่างนักการเมืองจากประเทศสมาชิก การแสวงหาประโยชน์จากกลุ่มทุนนักธุรกิจจากทั่วทุกมุมโลก และปัจจัยที่ทำให้อำนาจรัฐกับอำนาจทุนมาเจอกัน คือการเชื่อมประสานผ่านตัวกลางที่เรียกว่านักล็อบบี้ หรือ Lobbyist

The Brussels Business: Who runs the European Union? สารคดีที่ตีแผ่เรื่องราวของเหล่านักล็อบบี้ในอียู  ที่มาภาพ : https://www.access-info.org/wp-content/uploads/clip
The Brussels Business: Who runs the European Union? สารคดีที่ตีแผ่เรื่องราวของเหล่านักล็อบบี้ในอียู
ที่มาภาพ : https://www.access-info.org/wp-content/uploads/clip

The Brussels Business เปิดตัวครั้งแรกที่ออสเตรียเมื่อปี 2012 และมีกระแสตอบรับไปในทางที่ดี โดยเฉพาะ Moser และ Lietaert ที่พยายามฉายภาพให้เห็นถึงอิทธิพลของเหล่า Lobbyist หรือที่ในสารคดีใช้ว่า Lobbying industry ในกรุงบรัสเซลล์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการบริหารงานของ EU

ปัจจุบันเฉพาะในบรัสเซลล์ มีนักล็อบบี้อยู่ราวๆ 15,000 คน ธุรกิจล็อบบี้ถูกมองเป็นธุรกิจที่อยู่ในพื้นที่สีเทาๆ (Grey Zone) กล่าวคือ ภาพพจน์ของนักล็อบบี้มักถูกมองไปในทางลบ ว่าเป็นพวกคอยจ้องแสวงหาผลประโยชน์จากความสัมพันธ์โดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมหรือผลกระทบที่จะตามมาต่อสังคม

ทั้งนี้ กลุ่ม Corporate Europe Observatory ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิจัยที่สนใจศึกษาปัญหาเกี่ยวกับนักล็อบบี้ใน EU พบว่า นับตั้งแต่มี EU การขยายตัวของเหล่านักล็อบบี้ในยุโรปก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจำนวนที่เพิ่มขึ้นนี้มีนัยสำคัญต่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง แก้ไข กฎระเบียบต่างๆ ใน EU ด้วยเช่นกัน

การเติบโตของธุรกิจล็อบบี้ใน EU ซึ่งมีฐานที่มั่นหลักในบรัสเซลล์นั้น สะท้อนให้เห็นว่าเหล่านักล็อบบี้ต่างพยายามเข้าถึงศูนย์กลางอำนาจ EU ผ่านทางนักการเมืองที่เป็นตัวแทนของประเทศสมาชิก รวมถึงกรรมาธิการชุดต่างๆ ที่มีอำนาจตัดสินใจกำหนดนโยบายใน EU โดยนักล็อบบี้จะได้ค่าจ้างแสนงามจาก นักธุรกิจต่างถิ่น กลุ่มผลประโยชน์ (Interested group) ที่พยายามผลักดันความต้องการของตนเองเข้าไปในศูนย์กลางของอำนาจการตัดสินใจ

สารคดีเรื่องนี้วางโครงเรื่องไว้น่าสนใจ โดยเล่าถึงชายหนุ่ม 2 คน ที่เติบโตในช่วงที่ EU กำลังเริ่มต้นก่อร่างสร้างสหภาพยุโรป ช่วงต้นศตวรรษที่ 90 โดย Olivier Hoedeman คือ ชายหนุ่มผู้สนใจถึงปัญหาจากผลกระทบของการรวมกลุ่ม EU โดยเฉพาะเขาเริ่มมองเห็นสัญญาณบางอย่างว่า EU อาจไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของคนยุโรปอย่างแท้จริง หากแต่มีกลุ่มผลประโยชน์ นักการเมือง และนักล็อบบี้ ต่างคอยจ้องหาโอกาสจากการรวมกลุ่มเป็นสหภาพยุโรป ด้วยเหตุนี้ Hoedeman จึงผันตัวเองมาเป็น NGO ที่ทำหน้าที่จับตาดูกลุ่มนักล็อบบี้ทั้งหลาย (ในสารคดีใช้ว่าเป็น The EU’s leading lobby watchdog)

อย่างไรก็ดี มีคนวิจารณ์ Hoedeman และ NGO สายต่อต้านการเข้ารวมกลุ่ม EU ว่าเป็นพวก Anti-Globalization หรือพวกต่อต้านโลกาภิวัตน์ ที่มองโลกในแง่ร้าย มองการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในด้านลบตลอดเวลา

ในทางกลับกัน Pascal Kerneis ชายหนุ่มอีกคนกลับเห็นโอกาสของการรวมกลุ่ม เขาเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจเป็นที่ปรึกษา เป็นผู้คอยเจรจาและเป็นตัวแทนคอยช่วยให้บริษัท ธุรกิจต่างๆ ได้เข้าถึงผู้มีอำนาจใน EU ผ่านสายสัมพันธ์ (Connection) รวมทั้งให้คำแนะนำหรือทริค (Trick) ในการทำธุรกิจภายใน EU และภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่สิบปี Kerneis กลายเป็นนักล็อบบี้ชั้นนำ ที่มีบริษัทข้ามชาติกว่า 40 บริษัท เป็นลูกค้า

The Brussels Business ตัดภาพชาย 2 คน สลับกันไปมา Hoedeman ต่อสู้และพยายามเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของการกำหนดนโยบายหรือโครงการต่างๆ ใน EU โดยเฉพาะโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนส่วนใหญ่ เช่น ตัดถนนเส้นทางรถไฟผ่านที่ดินชาวบ้าน ทำลายธรรมชาติสภาพแวดล้อม ซึ่งการต่อสู้แนวนี้แน่นอนว่าย่อมเจ็บตัวเป็นธรรมดา ขณะเดียวกันเขาก็ยังมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่เปิดโปงความไม่ชอบมาพากล จนกระทั่งตีพิมพ์หนังสือที่ชื่อว่า Europe Inc. Regional and Global Restructures and the Rise of Corporate Power1

ส่วน Kerneis นักล็อบบี้มือทอง ยังคงสานต่อขยายธุรกิจของเขาไปเรื่อยๆ หน้าที่ของเขาเพียงแค่ทำให้คน 2 คน มาเจอกัน ทำความรู้จักกัน ซึ่งหากพูดให้ดูดีหน่อย คือ การจัดให้คน 2 คน มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และพยายามช่วยอำนวยความสะดวก เจรจาชักชวนให้คนที่ถืออำนาจรัฐนั้นคล้อยตามและช่วยผลักดันเรื่องที่ลูกค้าเขาต้องการ

นอกจากนี้ ยังมีอีกประเด็นที่สองผู้กำกับ Moser และ Lietaert เปิดออกมาในสารคดีเรื่องนี้ คือ บทบาทของ The European Round Table หรือ ERT ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อการบริหารงานของ EU แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น คือ เบื้องหลังแล้ว ERT เต็มไปด้วยสายสัมพันธ์กับผู้นำกลุ่มทุนภาคธุรกิจสำคัญๆ ในยุโรปที่เข้ามากำหนดนโยบายหลังฉาก ซึ่งประเด็นนี้กลายเป็นอีกคำถามหนึ่งที่ผู้กำกับทั้งสองตั้งข้อสงสัยว่า ตกลงแล้ว EU ตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ใดกันแน่ และใครคือตัวจริงที่ดำเนินการทุกอย่างในสหภาพยุโรป ใช่ผู้แทน ส.ส. จากประเทศสมาชิกหรือเปล่า หรือคนเหล่านี้จะเป็นแค่ “หุ่นเชิด” ให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่และเหล่านักล็อบบี้ที่เข้ามาหาประโยชน์

The Brussels Business เป็นสารคดีอีกเรื่องที่ตั้งใจฉายภาพแดนสนธยาของการเมืองเรื่องผลประโยชน์ภายในสหภาพยุโรป โดยทำให้ Hoedeman กลายเป็นพระเอกที่ต่อสู้กับความไม่ชอบมาพากล ความไม่เป็นธรรม ส่วน Kerneis ดูจะเป็นวายร้าย เป็นนักล็อบบี้ที่กระหายแต่ผลประโยชน์

อย่างไรก็ดี ภาพของทั้ง 2 คน แม้จะดูเป็น “เส้นขนาน” แต่หากพิจารณาลึกลงไปกว่านั้นแล้ว เราจะ เห็นถึงแรงปะทะกันของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ด้านหนึ่ง (ที่แสดงออกผ่านกลุ่มธุรกิจการเมืองแบบหุ่นเชิด และเหล่านักล็อบบี้) กับอีกด้านหนึ่ง คือ แรงต้านโลกาภิวัตน์ (ที่มีตัวแทนจากกลุ่ม NGO) เพราะตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แรงปะทะแบบนี้เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก…ไม่เว้นแม้แต่สหภาพยุโรป

หมายเหตุ : 1. หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2000 และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจนมีการตีพิมพ์อีกครั้งในปี 2003 Europe Inc. เป็นหนังสือที่ว่าด้วยอิทธิพลของบรรษัทข้ามชาติที่ใช้กลุ่มล็อบบี้ยิสต์เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงอำนาจตัดสินใจของ EU ในการกำหนดนโยบายต่าง ๆ เพื่อเอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนตนเอง หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Pluto Press