ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้ว่าแบงก์ชาติ ชี้ผลิตภาพถดถอยหลายมิติ หวั่นคุณภาพชีวิตคนไทย(ที่ดี)ในอนาคต

ผู้ว่าแบงก์ชาติ ชี้ผลิตภาพถดถอยหลายมิติ หวั่นคุณภาพชีวิตคนไทย(ที่ดี)ในอนาคต

21 กุมภาพันธ์ 2020


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Productivity หัวใจสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย” ในงานสัมมนา ครบรอบ 25 ปี สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เมื่อวันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563

โดยกล่าวว่า “Productivity” เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะ productivity หรือผลิตภาพ จะเป็นตัวกำหนดศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในอนาคต แท้ที่จริงแล้ว ผลิตภาพไม่ได้สำคัญต่อเฉพาะศักยภาพของระบบเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อความอยู่ดีกินดีของพวกเราทุกคนในอนาคตอีกด้วย

หากพูดง่ายๆ ผลิตภาพก็คือประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรในวิถีการทำงานและวิถีการใช้ชีวิตของเรา ซึ่งทรัพยากรนี้รวมถึงวัตถุดิบ เครื่องจักร ที่ดิน แรงงาน ตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเวลา การเพิ่มผลิตภาพหมายถึงการที่เราสามารถทำงานได้ดีขึ้น เก่งขึ้น หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยใช้ทรัพยากรปริมาณเท่าเดิม การเพิ่มผลิตภาพอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างรายได้ และการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในระยะยาว

“อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยมีปัญหาด้านผลิตภาพในหลายมิติ ผมขอถือโอกาสนี้พูดถึงปัญหาด้านผลิตภาพที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ 5 เรื่อง และนำเสนอแนวทางสำคัญ 5 ด้านที่เราต้องช่วยกันเร่งคิด เร่งหาทางออก เพื่อเพิ่มผลิตภาพของเศรษฐกิจไทยต่อไป”

5 ปัญหาผลิตภาพที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ

ปัญหาประการแรก ผลิตภาพโดยรวม หรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า total factor of productivity (TFP) ของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างต่ำและไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ในขณะที่ประเทศอื่นมีพัฒนาการด้านผลิตภาพไปเร็วกว่าเรามาก ตัวอย่างเช่น

เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ผลิตภาพของไทยอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับมาเลเซีย และอยู่ในระดับสูงกว่าอินเดียประมาณร้อยละ 40 แต่ปัจจุบันผลิตภาพโดยรวมของมาเลเซียเพิ่มสูงขึ้นและสูงกว่าไทยถึงร้อยละ 30 ขณะที่ผลิตภาพของอินเดียปรับมาเทียบเท่าผลิตภาพของไทยแล้ว

ปัญหาประการที่สอง แรงงานจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของแรงงานไทย 38 ล้านคน อยู่ในภาคการเกษตรที่มีผลิตภาพต่ำและเติบโตชะลอลง

ปัจจุบันผลิตภาพในภาคการเกษตรของไทยเพิ่มขึ้นช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน อินโดนีเซีย อินเดีย หรือเวียดนาม

นอกจากนี้ การเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคการเกษตรไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่นที่มีผลิตภาพสูงกว่ายังทำได้ยาก เพราะแรงงานส่วนใหญ่ที่เหลืออยู่ในภาคเกษตรขาดการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับภาคอุตสาหกรรมและบริการ ถ้าเรายังเดินต่อไปแบบนี้ ปัญหาผลิตภาพต่ำของภาคเกษตรจะยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนรุนแรงขึ้น และจะสร้างจุดเปราะบางที่อาจจะนำไปสู่ปัญหาเสถียรภาพทางสังคมได้

ปัญหาประการที่สาม ช่องว่างของผลิตภาพระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบการ SME กว้างขึ้นในหลายอุตสาหกรรม จากการวิเคราะห์ข้อมูลสำมะโนอุตสาหกรรมพบว่า สัดส่วนของผลิตภาพแรงงานในธุรกิจขนาดใหญ่สุดร้อยละ 10 เทียบกับธุรกิจขนาดเล็กสุดร้อยละ 10 เพิ่มขึ้นจาก 3.1 เท่าในปี 2539 เป็น 7.7 เท่าในปี 2554 ความแตกต่างของผลิตภาพระหว่างธุรกิจ SME กับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มากขึ้น ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการ SME ไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ เกิดปรากฏการณ์ปลาใหญ่กินปลาเล็กรุนแรงขึ้น เมื่อธุรกิจ SME ซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจไทยไม่สามารถแข่งขันได้ ค่าจ้างแรงงานจะถูกกดให้อยู่ในระดับต่ำ เป็นอีกสาเหตุที่ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

ปัญหาประการที่สี่ ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับกฎเกณฑ์ข้อบังคับของทางการที่ซ้ำซ้อนหรือล้าสมัย งานวิจัยของ TDRI พบว่า ทุกวันนี้เรามีกฎระเบียบข้อบังคับกว่า 100,000 ฉบับ และกฎระเบียบจำนวนมากไม่สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจในโลกปัจจุบันและโลกใหม่ที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ต้องการประกอบกิจการค้าปลีกอาจต้องขออนุญาตจากหน่วยงานราชการมากถึง 8 แห่ง การปฏิบัติตามกฎระเบียบเหล่านี้เป็นต้นทุนในการประกอบกิจการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่กฎระเบียบมักสร้างภาระให้สูงกว่าธุรกิจรายใหญ่ ยิ่งเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำให้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ กฎระเบียบข้อบังคับที่ไม่จำเป็นบางประการยังเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มผลิตภาพของประเทศ เช่น ความยากลำบากในการนำเข้าเครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D printer) ซึ่งต้องผ่านกระบวนการขออนุญาต ทำให้ธุรกิจไทยไม่สามารถนำอุปกรณ์ดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมได้อย่างเต็มที่ ทั้งที่ 3D printing เป็นเทคโนโลยีที่สำคัญมากสำหรับอนาคต และมีบทบาทในการเปลี่ยนรูปแบบการผลิตในหลายห่วงโซ่อุปทาน ธุรกิจในหลายประเทศใช้ประโยชน์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติในการพัฒนานวัตกรรมและผลิตภาพได้กว้างไกลกว่าเรามาก

ปัญหาประการที่ห้า นโยบายของภาครัฐหลายเรื่องที่สะสมต่อเนื่องมาจากอดีตไม่เอื้อต่อการพัฒนาผลิตภาพของผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ ตัวอย่างเช่น นโยบายที่ไม่ส่งเสริมการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจไทย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผลิตภาพในหลายอุตสาหกรรมอยู่ในระดับต่ำ เพราะผู้ประกอบการที่มีอำนาจผูกขาดไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตหรือคิดค้นนวัตกรรม

ในหลายกรณี การประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจหรือกฎเกณฑ์จากภาครัฐเอง ส่งเสริมให้เกิดการผูกขาด ทำให้ผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายมีอำนาจเหนือตลาด เช่น กฎเกณฑ์กำหนดการลงทุนและกำลังการผลิตขั้นต่ำของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเบียร์ ทำให้โรงเบียร์ขนาดเล็กไม่สามารถจัดตั้งได้

หรือการจำกัดจำนวนใบอนุญาตเปิดโรงรับจำนำในกรุงเทพฯ ทำให้สถานธนานุบาลของรัฐมีกำไรสูงถึงร้อยละ 58 ในปี 2553 และคาดว่าตัวเลขนี้น่าจะสูงขึ้นอีกสำหรับโรงรับจำนำเอกชนที่ได้รับใบอนุญาต ตัวอย่างนโยบายภาครัฐที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาผลิตภาพอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ นโยบายให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าไปเรื่อยๆ ทั้งในภาคเกษตรกรรมและภาคธุรกิจ ที่ไม่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตยกระดับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นหรือเปลี่ยนไปผลิตสินค้าอื่นที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า

งานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ชี้ว่า นโยบายช่วยเหลือเกษตรกรไทยส่วนมากเป็นการช่วยเหลือระยะสั้นและช่วยซ้ำแล้วซ้ำอีก ส่งผลให้เกษตรกรทำเหมือนเดิม ขาดแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตและการบริหารจัดการความเสี่ยงให้ดีขึ้น ในปัจจุบัน มาตรการช่วยเหลือที่มีเป้าหมายในการเพิ่มผลิตภาพการผลิตในระยะยาวเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น นโยบายบางอย่างกลับสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตเน้นเรื่องปริมาณมากกว่าคุณภาพ เช่น นโยบายรับจำนำข้าวแบบไม่จำกัดปริมาณ ส่งผลให้เกษตรกรเลือกปลูกข้าวคุณภาพต่ำที่มีระยะเวลาเก็บเกี่ยวสั้น เพราะได้ปริมาณผลผลิตสูง สามารถนำไปจำนำและรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลได้มากกว่า

3 ความรุนแรงที่ต้องเผชิญ

ปัญหาผลิตภาพต่ำและเพิ่มขึ้นช้าของเศรษฐกิจไทย ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังโดยเร็วแล้ว จะยิ่งส่งผลรุนแรงขึ้นในอนาคต ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการ

(1) การแข่งขันในตลาดโลกจะทวีความรุนแรงขึ้นมาก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วในปัจจุบันเปิดโอกาสให้ประเทศคู่แข่งพัฒนาผลิตภาพอย่างก้าวกระโดด ถ้ามองย้อนกลับไปในอดีต เราเคยมองสิงคโปร์ จีน มาเลเซีย เป็นคู่แข่งสำคัญของเศรษฐกิจไทย แต่วันนี้ประเทศเหล่านั้นก้าวไปไกลกว่าเรามาก แม้แต่เวียดนามก็มีพัฒนาการด้านผลิตภาพหลายเรื่องที่เร็วกว่าเรา การขาดการพัฒนาผลิตภาพอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภาพที่อาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นพื้นฐาน จะยิ่งทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในตลาดโลกลดลงเรื่อยๆ

(2) การเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยได้ทำให้จำนวนคนไทยในวัยทำงานลดลงต่อเนื่องมา 6 ปีแล้ว และจะลดลงเร็วขึ้นอีกในอนาคต หากเราไม่พัฒนาผลิตภาพเพื่อชดเชยกำลังแรงงานที่ลดลง รายได้และคุณภาพชีวิตของคนไทยโดยรวมย่อมลดลงตามไปด้วย เพราะคนไทยทุกคนจะมีภาระในการดูแลผู้สูงอายุทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น การที่แรงงานในวัยทำงานจำนวนมากได้อพยพจากชนบทไปทำงานในเมือง ได้ทำให้ปัญหาสังคมสูงวัยในภาคเกษตรกรรมรุนแรงยิ่งขึ้น ปัญหาแรงงานสูงวัยนี้มีผลต่อเนื่องต่อการพัฒนาผลิตภาพในภาคเกษตร เพราะแรงงานสูงวัยมักมีข้อจำกัดในการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพได้

(3) สภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ความเสี่ยงในการผลิตเพิ่มขึ้น และต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ดังที่เราได้เห็นจากปัญหาน้ำท่วมหรือภัยแล้งที่มีความถี่สูงขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้น ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้มีผลเฉพาะต่อการผลิตในภาคเกษตรเท่านั้น แต่จะส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการด้วย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ตลอดไปจนถึงอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องใช้น้ำสะอาดในปริมาณสูง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้เราขาดแคลนน้ำสะอาด และอาจเกิดโรคติดต่อใหม่ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรคพืช โรคสัตว์ หรือโรคที่อาจมีผลต่อชีวิตพวกเราทุกคน

5แนวทางยกระดับขีดความสามารถ

การเพิ่มผลิตภาพเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้คนไทย ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ลูกจ้าง แรงงาน หรือผู้ประกอบธุรกิจ มีรายได้สูงขึ้น มีเงินออมเพิ่มขึ้น สามารถลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง และรับมือเหตุการณ์หรือภัยพิบัติในอนาคตได้ดีขึ้น

หนทางเดียวที่จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของคนไทยได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวในภาวะที่โลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คือ เราต้องเร่งพัฒนาผลิตภาพในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจไทย ซึ่งผมคิดว่ามีอย่างน้อย 5 แนวทางสำคัญที่มีนัยต่อการเพิ่มผลิตภาพ

แนวทางที่หนึ่ง การเพิ่มผลิตภาพต้องทำอย่างทั่วถึง เน้นผู้ประกอบการรายย่อยและแรงงานทักษะต่ำที่ขาดโอกาสพัฒนาผลิตภาพ เราต้องตระหนักว่าเป้าหมายสูงสุดของการเพิ่มผลิตภาพคือการทำให้ความเป็นอยู่ของคนไทยโดยรวมดีขึ้น เราจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ก็ต่อเมื่อผลิตภาพโดยรวมของประเทศไม่ได้สูงขึ้นจากการเพิ่มผลิตภาพในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ กลุ่มคนที่มีฐานะดี หรือแรงงานทักษะสูงเท่านั้น แต่จะต้องกระจายโอกาสไปสู่ธุรกิจ SME และแรงงานส่วนใหญ่ด้วย

โอกาสในการพัฒนาผลิตภาพของผู้ประกอบการแต่ละรายและแรงงานแต่ละคนแตกต่างกัน ผู้ประกอบการรายใหญ่และแรงงานทักษะสูงมักมีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มผลิตภาพได้ดีกว่าผู้ประกอบการ SME และแรงงานทักษะต่ำ การเพิ่มผลิตภาพโดยไม่คำนึงถึงการกระจายโอกาสอย่างเท่าเทียมกันจะก่อให้เกิดช่องว่างของการกระจายรายได้ที่กว้างขึ้น

แนวทางในการเพิ่มผลิตภาพของประเทศไทยจึงต้องไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะในธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ต้องเน้นการพัฒนาทักษะแรงงานโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีทักษะต่ำ การเพิ่มผลิตภาพในภาคเกษตรและ SME ซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานของคนส่วนใหญ่ของประเทศ รวมทั้งต้องพยายามกระจายประโยชน์ที่ได้รับจากการเพิ่มผลิตภาพในภาคธุรกิจให้ไปถึงแรงงาน ต้องดูแลไม่ให้ผลประโยชน์กระจุกอยู่กับเจ้าของกิจการหรือเจ้าของทุนเท่านั้น การเพิ่มผลิตภาพที่ส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น จะช่วยลดปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ลดปัญหาหนี้ครัวเรือน และสร้างเสถียรภาพทางสังคมในระยะยาว

แนวทางที่สอง ต้องอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นหัวใจของการเพิ่มผลิตภาพ โดยเฉพาะผลิตภาพของภาคเกษตรและผู้ประกอบการ SME ในอดีตเรามักจะเชื่อว่าผู้ประกอบการ SME เสียเปรียบผู้ประกอบการรายใหญ่จากขนาดของกิจการที่เล็กกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่มีต้นทุนคงที่ (fixed cost) สูง แต่การพัฒนา digital platform และการเข้าถึงเทคโนโลยีของประชาชน โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน สามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการ SME ได้หลายด้าน

การซื้อขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) ไม่ว่าจะเป็นการสั่งสินค้าออนไลน์ หรือบริการส่งอาหารถึงบ้านที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ผลิตสามารถขยายตลาดไปสู่ผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นได้อย่างก้าวกระโดด ไม่ถูกจำกัดโดยที่ตั้งหรือพื้นที่หน้าร้าน และไม่ต้องลงทุนสูง ทำให้สามารถเพิ่มการผลิตและลดต้นทุนต่อหน่วยลงได้มาก อาจกล่าวได้ว่า e-commerce กำลังพลิกโฉมรูปแบบการประกอบธุรกิจทั่วโลก และเป็นโอกาสให้ SME ที่ปรับตัวได้เร็วสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด งานวิจัยที่ศึกษาผู้ประกอบการที่ขายสินค้าทางอีคอมเมิร์ซกว่า 7,000 รายในประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่า อีคอมเมิร์ซช่วยให้สามารถขายสินค้าออกไปนอกท้องถิ่นของตนเอง เพิ่มยอดขาย กำไร และประสิทธิภาพของธุรกิจ และทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้มากขึ้น

แพลตฟอร์มดิจิทัลไม่เพียงแต่ช่วยสร้าง “พื้นที่” ให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคมาซื้อขายสินค้าเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นผ่านแพลตฟอร์มการให้กู้ยืมออนไลน์ ช่วยให้ผู้ประกอบการและแรงงานสามารถจับคู่กันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านแพลตฟอร์มหางานออนไลน์ และช่วยให้เกิด sharing economy ที่ผู้ที่มีของเหลือใช้มาเปิดโอกาสให้คนอื่นใช้ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ห้องพักอย่าง Airbnb การแชร์รถยนต์อย่าง Grab Car ไปจนถึงการแชร์ปัจจัยการผลิต เช่น แพลตฟอร์มสำหรับแชร์เครื่องจักรการเกษตร ช่วยให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเช่าเครื่องจักรมาใช้ได้

เทคโนโลยีที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพให้กับ SME เกษตรกร หรือคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่อีคอมเมิร์ซหรือ sharing platforms เท่านั้น ยังมีตัวอย่างอื่นอีกมาก ไม่ว่าจะเป็น e-learning ที่จะช่วยเพิ่มทักษะให้กับผู้ประกอบการและแรงงาน แพลตฟอร์มที่แสดงข้อมูลพยากรณ์อากาศที่จะช่วยวางแผนการผลิตให้เกษตรกร ระบบ IT ที่จะช่วยทำบัญชีและจัดการเอกสารทางการเงินให้ SME ตลอดไปจนถึง cloud storage สำหรับเก็บข้อมูล สามารถทดแทนการลงทุนใน server ที่มีราคาสูงได้

นอกจากการสร้างโอกาสในการเพิ่มผลิตภาพด้วยเทคโนโลยีให้แก่ SME แล้ว เราต้องระวังไม่ให้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการเพิ่มผลิตภาพโดยรวมของประเทศ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่มีลักษณะเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลาง นำไปสู่การผูกขาดกินรวบโดยผู้ประกอบการบางราย โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความสามารถในการเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีได้ดีกว่า เร็วกว่าผู้ประกอบการรายอื่น การเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเป็นธรรม เปิดกว้างในลักษณะที่เป็น open architecture และเชื่อมระบบต่าง ๆ ถึงกันได้ (interoperable) จะช่วยลดการผูกขาดได้ในอนาคต นอกจากนี้ เราจะต้องเร่งพัฒนาทักษะแรงงานให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหา digital divide (ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล) ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยรุนแรงยิ่งขึ้น

แนวทางที่สาม ภาครัฐต้องเร่งลดอุปสรรคต่างๆ เพิ่มผลิตภาพในกระบวนการทำงานของภาครัฐ และส่งเสริมการทำงานของระบบตลาด เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของธุรกิจไทยและการใช้ชีวิตของคนไทยมีผลิตภาพสูงสุดภาครัฐต้องส่งเสริมให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างธุรกิจเอกชนด้วยกันเอง และระหว่างธุรกิจเอกชนกับรัฐวิสาหกิจด้วย รัฐวิสาหกิจมักจะมีผลิตภาพต่ำกว่าธุรกิจเอกชนแต่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ และหลายแห่งมีอำนาจผูกขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสาธารณูปโภค ในปีที่แล้ว โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคของไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 90 จาก 141 ประเทศใน Global Competitiveness Report ต่ำกว่ามาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะระบบการส่งไฟฟ้าและน้ำประปามีสัดส่วนสูญเสียสูง และระบบน้ำประปามีความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับต่ำ รัฐวิสาหกิจที่มีผลิตภาพต่ำไม่ได้ทำให้รัฐวิสาหกิจเหล่านั้นแข่งขันไม่ได้เท่านั้น แต่จะส่งผลให้ต้นทุนในการทำธุรกิจและการใช้ชีวิตของพวกเราทุกคนสูงกว่าที่ควรด้วย

ผลการศึกษาวิจัยจำนวนมากในหลายประเทศแสดงให้เห็นว่า การแข่งขันเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตมีแรงจูงใจในการพัฒนาผลิตภาพ รวมถึงการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ นอกจากนี้ การแข่งขันยังเป็นกระบวนการคัดกรองที่ทำให้ผู้ผลิตที่มีผลิตภาพต่ำไม่สามารถอยู่รอดได้ ทรัพยากรจึงถูกถ่ายโอนไปสู่ผู้ผลิตที่มีผลิตภาพสูงกว่า ทำให้การจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และผลิตภาพโดยรวมของประเทศสูงขึ้นในที่สุด

นอกจากการส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมแล้ว ภาครัฐยังมีบทบาทในการส่งเสริมให้เกิดการประสานประโยชน์ระหว่างผู้ประกอบการภาคเอกชน และเป็นตัวเร่งที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ด้วย เช่น การทำหน้าที่ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ การช่วยส่งเสริมให้เกิด clusters ในภาคธุรกิจ ช่วยผู้ประกอบการ SME เพิ่มผลิตภาพโดยสนับสนุนการรวมกลุ่ม เพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดจากขนาดธุรกิจที่เล็ก ธุรกิจ SME ในเมืองรองของไทยกำลังเผชิญกับอุปสรรคในการทำธุรกิจ การแข่งขัน และการเพิ่มผลิตภาพในหลายด้าน จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างจริงจังและรวดเร็วบทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่งของภาครัฐในด้านการพัฒนาผลิตภาพคือการจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ

ในอดีต เวลาเราพูดถึงโครงสร้างพื้นฐาน เรามักหมายถึงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นถนน สนามบิน หรือสาธารณูปโภคต่างๆ แต่ในโลกของเศรษฐกิจดิจิทัลที่ “ข้อมูล” เป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐานของประเทศต้องหมายรวมถึงระบบนิเวศน์ด้านข้อมูลและเทคโนโลยีที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งข้อมูลของภาครัฐและข้อมูลที่เกิดจากการทำธุรกรรมของประชาชนแต่ละคน

“ผมขอยกตัวอย่างโครงการของกระทรวงเกษตรและสวัสดิการเกษตรกรของอินเดีย ที่ไม่ได้เพียงแต่เผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร แต่ได้เริ่มนำปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) มาช่วยในการพยากรณ์สภาพอากาศ ผลผลิต และราคา ช่วยให้เกษตรกรสามารถเลือกพืชที่นำมาเพาะปลูกได้เหมาะสมมากขึ้น และยังช่วยลดต้นทุนในการจัดหาปัจจัยการผลิตของเกษตรกรอีกด้วย”

การสร้างระบบนิเวศด้านข้อมูลและระบบเศรษฐกิจดิจิทัล จะเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการเพิ่มผลิตภาพของเศรษฐกิจไทย มีตัวอย่างในหลายประเทศที่กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด และมีเทคโนโลยีจำนวนมากที่เราสามารถเลือกใช้ได้โดยไม่ต้องเสียเวลาพัฒนาเอง ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาครัฐจะต้องเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนการเพิ่มผลิตภาพของประเทศ ดังนั้น เราต้องเร่งเพิ่มผลิตภาพในกระบวนการทำงานของภาครัฐด้วย

ในช่วงที่ผ่านมา ภาคราชการของไทยมีขนาดใหญ่ขึ้น เห็นได้จากสัดส่วนงบประมาณที่เป็นรายจ่ายประจำต่อ GDP ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยต่อเนื่อง กระบวนการทำงานของภาครัฐส่วนใหญ่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง ยังยึดกฎเกณฑ์กติกาเป็นหลัก ทำให้หลายครั้งองค์กรภาครัฐไม่คล่องตัว ตัดสินใจไม่ทันการณ์ และไม่สามารถตอบสนองสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการหาคำตอบสำหรับโจทย์ใหม่ๆ ที่มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันหลายมิติมากขึ้น ไม่ได้เป็นโจทย์ของเฉพาะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งอีกต่อไป นอกจากนี้ เราต้องไม่ลืมว่าภาครัฐเป็นแหล่งจ้างงานของคนไทยกว่า 3.5 ล้านคน การเพิ่มผลิตภาพของภาครัฐจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเพิ่มผลิตภาพของแรงงานไทย

แนวทางที่สี่ ภาครัฐจะต้องสร้างระบบแรงจูงใจให้เหมาะสมเพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจและประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับสภาวะของโลกใหม่ และให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพปฏิเสธไม่ได้ว่าในบางครั้งภาครัฐจำเป็นต้องออกมาตรการระยะสั้นเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ภัยแล้ง หรือสถานการณ์โรคติดต่อที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ แต่เราต้องแยกความจำเป็นที่ต้องเยียวยาในระยะสั้นออกจากทิศทางยุทธศาสตร์ที่ต้องส่งเสริมต่อเนื่องในระยะยาว มิเช่นนั้นแล้ว ธุรกิจหรือคนที่ได้รับเงินอุดหนุนจะใช้ชีวิตแบบเดิม ทำแบบเดิม ปัญหาผลิตภาพต่ำจะไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้น ภาครัฐควรหลีกเลี่ยงการออกมาตรการที่ไม่เอื้อต่อการยกระดับผลิตภาพของประเทศโดยไม่จำเป็น หากมีการให้เงินอุดหนุนควรมีเงื่อนไขหรือแรงจูงใจให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทิศทางที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์สำหรับอนาคต โดยเฉพาะการเร่งเพิ่มผลิตภาพ

ตัวอย่างนโยบายหนึ่งที่เป็นที่รู้จักในแวดวงวิชาการและในหมู่ผู้ดำเนินนโยบายสาธารณะ คือ นโยบาย Oportunidades ของประเทศเม็กซิโก ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ ครอบคลุมทั้งประเทศ มุ่งเน้นการลดปัญหาความยากจนโดยการจ่ายเงินช่วยเหลือให้ครอบครัวยากจนกว่า 6 ล้านครัวเรือน โดยมีเงื่อนไขว่าผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาในโรงเรียน ตรวจสุขภาพ และรับสารอาหารเสริม

ผลการวิจัยพบว่า หลังจากที่โครงการได้ดำเนินการไปสิบปี บุตรหลานของครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการมีพัฒนาการทางร่างกาย ทางสติปัญญา และภาษา ดีกว่าบุตรหลานของครอบครัวที่ไม่ได้อยู่ในโครงการ ซึ่งพัฒนาการดังกล่าวนี้ย่อมเป็นผลดีต่อผลิตภาพและการพัฒนาประเทศในอนาคต ในโลกนี้มีตัวอย่างโครงการอีกมากที่ให้ความช่วยเหลือโดยมีเงื่อนไขการจัดแรงจูงใจให้เหมาะสม เราสามารถเรียนรู้จากบทเรียนเหล่านี้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยได้ไม่ยาก

แนวทางสุดท้าย และอาจเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด คือการตระหนักว่าการเพิ่มผลิตภาพสามารถทำได้ในทุกระดับและไม่จำเป็น ต้องเป็นโครงการที่ต้องลงทุนสูงเท่านั้น ในหลายกรณีการเพิ่มผลิตภาพมีต้นทุนต่ำมากหรืออาจจะแทบไม่มีต้นทุนเลยด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่ได้รับ

ผมขอเริ่มจากตัวอย่างนโยบายในระดับประเทศ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศให้ความสำคัญกับการยกเลิกกฎเกณฑ์ของภาครัฐที่ล้าสมัยหรือเป็นอุปสรรค ไม่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลิตภาพของธุรกิจและประชาชน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เกาหลีใต้ใช้เวลาเพียงไม่ถึงปี ทบทวนกฎเกณฑ์ข้อบังคับกว่า 11,000 ชิ้น และยกเลิกกฎเกณฑ์ต่างๆ กว่าครึ่งหนึ่ง มีการประมาณการว่า ผลจากนโยบายดังกล่าวช่วยลดต้นทุนการประกอบธุรกิจลงกว่าร้อยละ 4.4 ของ GDP ใน 10 ปี เพิ่มการจ้างงานมากขึ้นกว่า 1 ล้านตำแหน่ง และดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้นกว่า 36 พันล้านเหรียญสหรัฐใน 5 ปี ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามใช้เวลา 3 ปีในการปรับปรุงและยกเลิกกฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนการประกอบธุรกิจได้ปีละ 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ

จอร์เจียอาจจะถือเป็นประเทศตัวอย่างในเรื่องการปรับปรุงกฎเกณฑ์ของภาครัฐและการจัดการกับคอร์รัปชัน ในปี 2548 จอร์เจียมีกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมายที่ทำให้เกิดต้นทุนที่ไม่จำเป็นต่อธุรกิจ เอื้อให้เกิดการคอร์รัปชันสำหรับผู้ที่ต้องการความสะดวก จอร์เจียถูกจัดอันดับใน Ease of Doing Business Ranking อยู่ลำดับที่ 112 แต่หลังจากการเคลื่อนไหวเพื่อลดปัญหาคอร์รัปชันโดยภาครัฐ กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ไม่จำเป็นกว่า 1,500 ชิ้นถูกยกเลิก อันดับ Ease of Doing Business ของจอร์เจียก็ดีขึ้นมาเรื่อยๆ จนในปัจจุบันจอร์เจียเป็นประเทศอันดับ 7 ที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ และเป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ได้อันดับดีที่สุดในโลก

ในระดับองค์กร การปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการธุรกิจสามารถช่วยเพิ่มผลิตภาพได้มาก งานวิจัยที่สำรวจการบริหารจัดการธุรกิจของบริษัทกว่า 15,000 แห่งจาก 18 ประเทศทั่วโลก พบว่า ธุรกิจสามารถเพิ่มผลิตผลได้มาก เพียงแค่มีการติดตามการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอเพื่อเก็บข้อมูลไปใช้ปรับปรุงธุรกิจ ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน วัดผลให้ถูกต้อง และสร้างแรงจูงใจแก่ลูกจ้างโดยให้ผลตอบแทนตามผลประกอบการของแต่ละคน (performance-based rewards) ซึ่งงานศึกษาพบว่าความแตกต่างของการบริหารจัดการธุรกิจสามารถอธิบายความแตกต่างของผลิตภาพระหว่างบริษัทต่างๆ ได้ถึงร้อยละ 30 ถ้ามองไปในอนาคตแล้ว ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะยิ่งสูงกว่านี้มาก เพราะเทคโนโลยีกำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และเทคโนโลยีหลายอย่างมีต้นทุนถูกลงมาก

สุดท้ายนี้ ในระดับบุคคล เราสามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มผลิตภาพและคุณภาพชีวิตของเราทุกคนได้ เพียงแค่เราเปิดใจ ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิตของเรา และพัฒนาทักษะในการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เพื่อให้แน่ใจว่าเราเท่าทันและสามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่

productivity หรือผลิตภาพ เป็นหัวใจสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ไม่ใช่เพียงแค่ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจเท่านั้น แต่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเราทุกคน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และสร้างเสถียรภาพทางสังคมในระยะยาวอีกด้วย เราจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและความท้าทายด้านผลิตภาพอีกมาก การเร่งพัฒนาผลิตภาพให้เกิดผลอย่างรวดเร็ว เป็นรูปธรรม และสร้างประโยชน์ให้แก่คนส่วนใหญ่ของประเทศ นอกจากจะต้องเป็นยุทธศาสตร์ระดับประเทศแล้ว ยังจะต้องเป็นยุทธศาสตร์ของพวกเราทุกคนที่ทำได้เลย ไม่ต้องรอ ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนในเศรษฐกิจสังคมไทย