วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงภาวะสังคมไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 ว่าสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสามปี 2562 มีมูลค่า 13.24 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.5 ชะลอลงจากร้อยละ 5.8 ในไตรมาสก่อน โดยเป็นผลจากการชะลอตัวของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและยานยนต์เป็นหลัก ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 79.1 สูงสุดในรอบ 11 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2560 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัวเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน โดยหนี้ครัวเรือนที่มาจากผู้ปล่อยสินเชื่อในกลุ่มสถาบันรับฝากเงินปรับตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อน ตามการชะลอลงในกลุ่มสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ธนาคารพาณิชย์ และสหกรณ์ ตามลำดับ
ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อยังคงอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสสี่ ปี 2562 มีมูลค่า 140,573 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.90 ต่อสินเชื่อรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.81 ในไตรมาสก่อน ความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในระดับที่ต้องติดตาม โดยสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยต่อยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยเท่ากับร้อยละ 3.71 และสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อรถยนต์ต่อยอดคงค้างสินเชื่อรถยนต์อยู่ที่ร้อยละ 1.86 อย่างไรก็ดี สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อบัตรเครดิตต่อยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิต และสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นๆ ต่อยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นปรับตัวลดลง
แนวโน้มหนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 คาดว่าจะชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น
ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนทั้งช่วงก่อนเป็นหนี้ ขณะเป็นหนี้ และหลังเป็นหนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในมิติการกำกับดูแลให้สถาบันการเงินปล่อยกู้โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้กู้ในการผ่อนชำระหนี้โดยไม่กระทบชีวิตความเป็นอยู่ (Affordability) มิติการเสริมสร้างความรู้และวินัยทางการเงินเพื่อให้ครัวเรือนสามารถก่อหนี้ได้อย่างเหมาะสม และมิติการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้กู้ โดยมาตรการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา อาทิ
1) การกำกับดูแลสินเชื่อบัตรเครดิต (ปี 2560)
2) การกำกับดูแลสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ (ปี 2560)
3) สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (ปี 2562) ถูกนำเข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย
4) สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยกำหนดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan to Value: LTV ratio)
5) โครงการคลินิกแก้หนี้ ระยะที่ 3 (ปี 2563)
ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างกำหนดมาตรการผลักดันเพื่อดูแลปัญหาหนี้สินครัวเรือนของไทย อาทิ การกำหนดมาตรฐานวิธีการคำนวณสัดส่วนภาระหนี้ที่ผู้กู้มีทั้งหมดต่อรายได้ หรือ Debt Service Ratio (มาตรฐานกลาง DSR) และการผลักดันให้สถาบันการเงินให้สินเชื่อรายย่อยอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม มาตรการส่วนใหญ่ยังคงเป็นมาตรการในระยะสั้น ขณะที่ในระยะยาวควรมีแนวทางรองรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น และให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบเฉพาะกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เช่น กลุ่มอาชีพครู และเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลการบริหารจัดการของกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมถึงการปลูกฝังแนวคิดหรือค่านิยมการสร้างรายได้ที่มาจากการลงทุนและเก็บออมทางการเงิน ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ให้แก่ครัวเรือน
จ้างงานทรุดหนักหดตัว 3 ไตรมาสติด แม้ว่างงานยังต่ำ
ขณะที่การจ้างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง โดย
การจ้างงานในไตรมาส 4 ปี 2562 มีผู้มีงานทำ 37.5 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.1 ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน
การจ้างงานภาคเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 1.6 และการจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลงร้อยละ 0.9 ชั่วโมงการทำงานรวมเท่ากับ 43.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงร้อยละ 2.4 และชั่วโมงการทำงานภาคเอกชนเท่ากับ 46.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงร้อยละ 1.6 และจำนวนแรงงานภาคเอกชนนอกภาคเกษตรที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงถึงร้อยละ 14.0 เป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ โดยผู้ว่างงานมีจำนวน 3.7 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.04 ค่าจ้างแรงงานรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 และค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ขณะที่เงินเฟ้อในไตรมาส 4 เท่ากับร้อยละ 0.4 ทำให้ค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนเฉลี่ยที่แท้จริงเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ด้านผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.7 จากการขยายตัวของผลิตภาพแรงงานในภาคบริการและภาคการผลิต
สำหรับภาพรวมการจ้างงานปี 2562 ลดลงร้อยละ 0.7 ตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ โดยการส่งออกที่ลดลงและค่าเงินบาทที่แข็งค่าส่งผลให้การจ้างงานในภาคการผลิตลดลงร้อยละ 2.1 ด้านการจ้างงานภาคเกษตรลดลงร้อยละ 2.9 จากผลกระทบภัยแล้งตั้งแต่ต้นปีและปัญหาอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ส่วนการจ้างงานในภาคบริการยังคงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการจ้างงานในสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากนี้ การจ้างงานในสาขาก่อสร้าง และการขนส่งยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 และ 3.7 ตามลำดับ จากการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐ การค้าออนไลน์และการสั่งสินค้าผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งสนับสนุนให้การขนส่งมีการขยายตัว
อัตราการว่างงานปี 2562 ยังอยู่ในระดับต่ำ เท่ากับร้อยละ 0.99 คิดเป็นผู้ว่างงาน 3.7 แสนคนค่าจ้างแรงงานโดยรวม และค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 2.3 และ 3.3 ตามลำดับ ขณะที่ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ทั้งนี้ ในภาพรวมปี 2562 ตลาดแรงงานไทยได้รับผลกระทบทั้งเชิงวัฏจักร โดยการชะลอตัวทางเศรษฐกิจซึ่งส่งผลต่อการจ้างงานผ่านการผลิตและการส่งออกที่ลดลง และผลกระทบ
ในเชิงโครงสร้างที่มาจากปัญหาโครงสร้างตลาดแรงงานที่แรงงานส่วนใหญ่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และส่วนใหญ่มีการศึกษาต่ำกว่ามัธยมต้น ซึ่งอาจมีข้อจำกัดในการพัฒนาทักษะ โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของประชากรที่มีมากขึ้นทำให้การเข้าสูตลาดแรงงานช้าลง และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
แนวโน้มสถานการณ์ด้านแรงงานปี 2563 มีปัจจัยเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะกระทบต่อตลาดแรงงานและการจ้างงาน ได้แก่
-
1.ภาวะภัยแล้งในปี 2563 ซึ่งจะส่งผลต่อการจ้างงานในภาคเกษตรและรายได้ของเกษตรกร โดยกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าภัยแล้งในปี 2563 มีความรุนแรงที่สุดในรอบ 60 ปี และจากข้อมูลปริมาณน้ำใช้ได้จริงในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำรวมทั้งประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม อยู่ที่ 18,359 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.9 ของความจุระดับน้ำเก็บกักรวม นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี
2.ผลกระทบจากการระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อโควิด-19 (COVID-19) ต่อการจ้างงานในภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยโดยตรง ทั้งนี้ หากยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในสาขาบริการหลัก 3 สาขา คือ สาขาการค้าส่งและค้าปลีก สาขาการขนส่ง และสาขาโรงแรมภัตตาคาร และอาจจะเกี่ยวเนื่องไปถึงการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม
3.แนวโน้มการส่งออกและการผันผวนของค่าเงินบาท จากประมาณการของ สศช. การส่งออกในปี 2563 จะขยายตัวได้ร้อยละ 1.4 และค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มผันผวน จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรมส่งออก
4.ความล่าช้าของงบประมาณปี 2563 ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 2562–มกราคม 2563) มีการเบิกจ่ายงบลงทุนคิดเป็นร้อยละ 6.3 จากวงเงินลงทุนทั้งหมด ซึ่งความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณโดยเฉพาะงบลงทุนในโครงการใหม่ จะส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2563 ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการจ้างงานโดยเฉพาะในสาขาการก่อสร้าง