ThaiPublica > เกาะกระแส > EXIM BANK หนุนผู้ประกอบการขยายการค้าการลงทุน CLMV พร้อมแนะปรับตัวรับโลกเสี่ยงมากขึ้น

EXIM BANK หนุนผู้ประกอบการขยายการค้าการลงทุน CLMV พร้อมแนะปรับตัวรับโลกเสี่ยงมากขึ้น

17 กุมภาพันธ์ 2020


นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

EXIM BANK เร่งขยายบริการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยปรับตัว รับมือความเสี่ยงการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ดันภาคการส่งออกไทยโตเป็นบวกปี 63

EXIM BANK ชูนโยบายโอกาสครบรอบ 26 ปี ยังคงเคียงข้างธุรกิจส่งออกและลงทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและเอกชนหาโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ ควบคู่กับขยายบริการทางการเงิน ข้อมูลข่าวสาร และอบรมบ่มเพาะให้ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยปรับตัวรับความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ โดยเยียวยาผลกระทบระยะสั้น ควบคู่กับการส่งเสริมการนำเข้าเครื่องจักร เทคโนโลยี เพื่อปรับปรุงสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม บรรเทาการแข็งค่าของเงินบาท ผลักดันให้ภาคการส่งออกของไทยไม่หดตัวในปี 2563

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) แถลงข่าวแก่สื่อมวลชนในโอกาส EXIM BANK เปิดดำเนินการครบรอบ 26 ปี ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า บทบาทของ EXIM Bank ในระยะต่อไปจากนี้ ยังคงยึดยุทธศาสตร์หลักที่เอื้อให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสขยายการลงทุนและเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น

นับตั้งแต่เปิดก่อตั้งและดำเนินการมา ธนาคารเอ็กซิมได้มีบทบาทสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศหลายด้านซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ ด้านการส่งออกของประเทศ ด้านการสนับสนุนนักลงทุนให้ขยายการลงทุนไปในกลุ่มประเทศ CLMV การส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมให้ขยายตลาดส่งออกมากขึ้น และเสริมในจุดที่ธนาคารพาณิชย์ยังเข้าไม่ถึง

EXIM Bank นับว่าเป็นสถาบันการเงินของไทยรายแรกที่ได้ขยายการให้สินเชื่อใน CLMV ตั้งแต่ยังไม่มีการเปิดประเทศ เช่น เขื่อนในลาว ในเมียนมา ในกัมพูชา โดยความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทในการสนับสนุนทางการเงินให้กับประเทศเหล่านี้ เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation) หรือ JBIC

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา EXIM Bank ได้หันมาสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมากขึ้นจากเดิมที่เน้นให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายใหญ่ พร้อมกับปรับยุทธศาสตร์องค์กรใหม่ด้วยการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาต่างชาติได้มาทำการศึกษา เพื่อวางแผนบนพื้นฐานยุทธศาสตร์ชาติและจุดได้เปรียบของธนาคาร

“จำนวนลูกค้าเอสเอ็มอีของเรามากขึ้นมีเกือบ 4,000 รายใน 3-4 ปีที่ผ่านมา และได้ขยายจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาต่อเนื่องจากพันกว่าราย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ส่งออกในต่างประเทศมีไม่มาก ในจำนวนเอสเอ็มอีทั้งประเทศที่มี 3-5 ล้านคน มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีการค้าขายระหว่างประเทศเพียง 20,000-30,000 ราย ซึ่งไม่มาก เพราะคุ้นเคยกับการค้าขายในประเทศ เราจึงมีนโยบายช่วยเหลือ” นายพิศิษฐ์กล่าวและว่า หลังจากนั้นธนาคารได้ตั้งศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการขึ้นมาเพื่อเสริมความรู้ ด้านการจัดการ เพื่อให้ขยายตัวต่อขยายการค้าเนื่องได้

ธนาคารยังคงให้การสนับสนุนผู้ประกอบการให้ขยายการลงทุนในต่างประเทศซึ่งเป็นการดำเนินการที่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญ เช่น ได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่ได้ขยายการลงทุนไปที่ญี่ปุ่น ที่มัลดีฟ

“บทบาทในระยะต่อไป จะผลักดันอย่างต่อเนื่องในการที่จะให้ผู้ประกอบการมีโอกาสที่จะขยายไปใน CLMV หรือในประเทศ New Frontier ตามนโยบายของรัฐบาล ตอนนี้เราดำเนินนโยบาย 3-4 เรื่องหลัก หนึ่งคือ ยังคงสนับสนุนผู้ประกอบการไป CLMV สอง ถ้ามีโอกาสขยายได้ก็ต้องการให้ขยายไป New Frontier ประเทศใหม่ๆ ที่ปริมาณการค้าการลงทุนอาจจะยังไม่มาก ซึ่งธนาคารจะยอมทุ่มเทที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการ ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ซึ่ง New Frontier อาจจะต้องใช้เวลา แต่ที่ประสบความสำเร็จคือการผลักดันให้ผู้ประกอบการขยายไป CLMV” นายพิศิษฐ์กล่าว

สินเชื่อคงค้างทะลุแสนล้าน

ด้านผลการดำเนินงานปี 2562 EXIM BANK มีสินเชื่อคงค้าง 121,868 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เปิดดำเนินการ โดยเพิ่มขึ้น 13,279 ล้านบาทหรือ 12.23% เมื่อเทียบกับปีก่อน แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 38,900 ล้านบาทและสินเชื่อเพื่อการลงทุน 82,968 ล้านบาท ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (business turnover) 197,106 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs เท่ากับ 106,749 ล้านบาท คิดเป็น 54.16% โดยสินเชื่อคงค้าง SMEs เท่ากับ 43,123 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 EXIM BANK มีกำไรสุทธิ 507 ล้านบาท มีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs ratio) อยู่ที่ 4.60% โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพจำนวน 5,606 ล้านบาท และมีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 11,171 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,787 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 7,804 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองพึงกัน 143.15% ทำให้ EXIM BANK ยังคงดำรงฐานะการเงินที่มั่นคง

สำหรับผลการดำเนินงานด้านประกันการส่งออกและการลงทุนของ EXIM BANK ในปี 2562 มีปริมาณธุรกิจสะสมเท่ากับ 121,372 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28,924 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs จำนวน 22,592 ล้านบาท หรือ 18.61% ของปริมาณธุรกิจสะสมรวม

ขณะเดียวกัน การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังต่างประเทศในปี 2562 EXIM BANK มีวงเงินที่ให้การสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 92,367 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อคงค้างจำนวน 47,454 ล้านบาท รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการไทยขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และยังคงเป็นประเทศเป้าหมายหลักของการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการไทย ณ ปี 2562 มีสินเชื่อคงค้างจำนวน 30,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,333 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ สำนักงานผู้แทนในย่างกุ้ง เวียงจันทน์ และพนมเปญ ได้เปิดดำเนินงานและทำงานร่วมกับทีมไทยแลนด์นำโดยเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมการเปิดสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในเวียดนามต่อไป

“ท่ามกลางความไม่สมดุลและความเสี่ยงในมิติต่างๆ ที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องทำคือ รับมือให้ทันและไม่หยุดรุกตลาดการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยมี EXIM BANK อยู่เคียงข้างและคอยสนับสนุนให้ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมั่นคงและไม่สะดุด ขณะเดียวกันผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยต้องวางแผนระยะยาวที่จะแข่งขันให้ได้ในเชิงคุณภาพ โดยใช้โอกาสในภาวะเงินบาทแข็งค่านี้ลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม S-curve และพื้นที่ EEC ที่รัฐบาลให้การส่งเสริมเป็นพิเศษ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างยั่งยืนในตลาดโลกยุคดิจิทัลนี้” นายพิศิษฐ์กล่าวว่าบทบาทหนึ่งจะสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล สนับสนุนผู้ประกอบการภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC และกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ หรือ S-Curve

สนับสนุนผู้ประกอบการไทยปรับตัว

ปี 2563 เป็นปีแห่งการปรับสมดุลของโลก เพื่อลดความเสี่ยงในหลายมิติที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ประกอบด้วย

1) มิติเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสงครามการค้าที่มีต้นตอมาจากความไม่สมดุลของการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมาอย่างยาวนาน จนทำให้สหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ขณะที่จีนก็ตอบโต้โดยการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ยังคงส่งผลกดดันบรรยากาศการค้าของโลกและของไทยในปีนี้ ความผันผวนของค่าเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลกซึ่งเกิดจากสภาพคล่องล้นโลกและนโยบายการเงินกลับทิศทาง และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมัน อยู่ในระดับต่ำเกิดจากความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานน้ำมัน ทำให้ราคาสินค้าหลายชนิดที่เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ

“ในมิติเศรษฐกิจ มี 2-3 เรื่อง คือ หนึ่ง สงครามการค้า ส่งผลกระทบต่อประเทศขนาดเล็กต้องปรับตัวการค้ารุนแรง สอง ค่าเงินที่ผันผวน เกิดจากสภาพคล่องล้นโลก และมีผลให้นโยบายการเงินกลับหลังหัน ต้นปี 2562 แนวโน้มอเมริกาและดอกเบี้ยโลกทำท่าจะผงกหัวขึ้นละขึ้นมาระดับหนึ่งแล้ว ครึ่งปีหลังดอกเบี้ยโลกเริ่มกลับมาลดลง มีความผันผวนมาก ทำให้ดอกเบี้ยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยเฟดปรับ 3 ครั้งเหลือ 1.50% ของไทยเองก็ลดลงมาต่ำสุดในประวัติศาสตร์ สาม ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดบต่ำอยู่ในความไม่สมดุลของอุปสงค์อุปทานน้ำมัน ราคาน้ำมันช่วงหนึ่งสูงเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลล์ ปีที่แล้วลดลงเหลือ 50-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลล์” นายพิศิษฐ์กล่าว

2) มิติการเมืองและสังคม ความขัดแย้งในหลายประเทศล้วนส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ กำลังซื้อของประชาชน และเศรษฐกิจโลกโดยรวม ซึ่งมีทั้งความขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ กับอิหร่าน สหรัฐฯ กับจีน รวมไปถึงมีการประท้วงในฮ่องกง ประท้วงในฝรั่งเศส เวเนซุเอลา มีปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรัง

3) มิติสิ่งแวดล้อม ทั้งภัยธรรมชาติและโรคระบาด ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งการค้าและการลงทุนที่เชื่อมโยงถึงกันทั่วโลก
ซึ่งสิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติ โรคระบาดรุนแรงมากขึ้น climate change ทำให้มีผลกระทบต่อเนื่องในหลายด้าน ทั้งหมดกระทบต่อสายการผลิตทั่วโลก

ขณะที่ประเทศไทยซึ่งเศรษฐกิจเป็นระบบเปิด ขนาดเล็ก พึ่งพาตลาดต่างประเทศในสัดส่วนสูง มีอำนาจต่อรองไม่สูงนัก เผชิญกับภาวะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่แฝงด้วยความไม่ยั่งยืนจากปัญหาความไม่สมดุลเชิงโครงสร้างภาคการค้าระหว่างประเทศ โดยมูลค่าการส่งออกของไทยถูกขับเคลื่อนด้วยปริมาณมากกว่าราคา เนื่องจากสินค้าไทยมีมูลค่าเพิ่มไม่สูง ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภคในอัตราขยายตัวสูงกว่าการนำเข้าสินค้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อการลงทุนอยู่มาก กดดันให้เงินบาทแข็งค่า ผู้ส่งออกไทยจึงมีรายรับในเทอมเงินบาทลดลงและสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขัน เมื่อเทียบกับคู่แข่งชาติอื่น

“ความไม่สมดุลเหล่านี้มีผลกระทบต่อไทยซึ่งเป็นเศรษฐกิจเปิดแต่มีขนาดเล็ก และต้องพึ่งพาภาคต่างประเทศในอัตราสูงพอสมควร แต่รูปแบบจะเปลี่ยน เดิมการส่งออกมีสัดส่วนค่อนข้างมาก ก็กลับลดลง แต่การท่องเที่ยวเพิ่มสัดส่วนขึ้น จากการส่งออกสินค้าเป็นการท่องเที่ยว

การส่งออกมีความไม่สมดุลของราคา ดัชนีราคาส่งออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.7% ใน 10 ปีที่ผ่านมา แต่ปริมาณการส่งออก 2% แสดงว่าจะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพราะเน้นปริมาณมากกว่าราคา ต้องปรับตัวเพิ่มให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม เพราะการส่งออกสินค้าพื้นฐาน เช่น ข้าว ไม่ได้เพิ่มมูลค่ามาก ทำให้อ่อนไหว อำนาจการต่อรองมีไม่มาก เมื่อมีความผันผวนก็รับผลกระทบรุนแรง การนำเข้าก็ไม่สมดุล จากการนำเข้าสินค้าทุนของไทยขยายตัว 3% ต่อปี น้อยว่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคที่ขยาย 6% ต่อปีในช่วง 10 ปีสะท้อนว่าไทยขาดดการลงทุนขนาดใหญ่มานาน เพราะนำเข้าสินค้าทุนน้อยลง” นายพิศิษฐ์กล่าว

จากความเสี่ยงของโลกในมิติเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม และสิ่งแวดล้อม ประกอบกับปัญหาเชิงโครงสร้างภาคการค้าระหว่างประเทศของไทย ทำให้ผู้ประกอบการไทยเผชิญความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ และความยากลำบากในปี 2563 โดย

  • ระยะสั้น EXIM BANK สนับสนุนผู้ประกอบการด้วยเครื่องมือทางการเงิน
  • ทั้งสินเชื่อและประกันความเสี่ยงด้านการค้าและการลงทุน และคุ้มครองความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งโปรแกรมสินเชื่อพิเศษและมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบในระยะสั้นให้แก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทย

  • ระยะยาว EXIM BANK มีบริการทางการเงินที่จะช่วยผู้ประกอบการไทยปรับสมดุลโครงสร้างการส่งออกและนำเข้าของไทย
  • เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทย ตลอดจนสนองนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนการลงทุนใน EEC และพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรม S-curve เพื่อสร้างฐานการผลิตด้านนวัตกรรมของประเทศ ควบคู่กับการให้ข้อมูลข่าวสารและจัดโครงการอบรมบ่มเพาะผู้ประกอบการผ่านศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXAC)

    “เรามีหน้าที่แนะนำต่อผู้ประกอบการให้ติดตามข่าวสารและป้องกันความเสี่ยง เพราะไม่ได้มีความถนัดการเก็งกำไรค่าเงิน แม้มีมาร์จินต่ำแต่ป้องกันความเสี่ยงไว้ดีที่สุด เพื่อร่วมผลักดันให้ภาคการส่งออกของไทยในปี 2563 พลิกกลับมาโตเป็นบวกได้ ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทาย” นายพิศิษฐ์กล่าว