วันนี้(13 มกราคม 2563) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดการสัมมนาวิชาการเรื่อง “การเผยแพร่และการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนศึกษา (Human Rights Education) ในสังคมไทย” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งมอบ “หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย” และ “คู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน” ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการสัมมนา ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ
นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของการจัดงานสรุปว่า การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเป็นหลักการสำคัญที่ถูกบรรจุไว้ในพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนทุกฉบับ โดยสหประชาชาติมุ่งหวังให้ประชาคมโลกร่วมกันส่งเสริมการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่ทุกคน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน รวมทั้งกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
กสม. ชุดปัจจุบันจึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานด้านส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนเพื่อพัฒนางานด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา โดยในระหว่างปี 2560 – 2562 คณะอนุกรรมการและคณะทำงานฯ ได้ดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา
โดยได้จัดทำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ได้แก่ บุคลากรภาครัฐ ทั้งในภาคการศึกษาและกระบวนการยุติธรรม ภาคธุรกิจ นักบริหารระดับสูง นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป และจัดทำคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ครูผู้สอนในโรงเรียนทั่วประเทศใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับนักเรียน 5 ช่วงชั้น ได้แก่ ระดับปฐมวัย ประถมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย
การจัดสัมมนาในวันนี้ นอกจากจะเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์หลักสูตรและคู่มือแล้ว ยังเป็นโอกาสในการส่งมอบเอกสารดังกล่าวไปยังทุกภาคส่วนของสังคมซึ่งถือเป็นก้าวแรกของการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนศึกษาให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบในสังคมไทย
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการสัมมนาและกล่าวปาฐกถานำในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชนศึกษา (Human Rights Education) กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในสังคมไทย” มีสาระสำคัญ ดังนี้
สิทธิมนุษยชนว่าเป็นสิทธิของมนุษย์ที่ทุกคนมีมาแต่เกิด โดยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายมารองรับ เป็นสิทธิที่มีคู่กับความเป็นมนุษย์ โดยไม่คำนึงถึงเพศ เชื้อชาติ ศาสนา อาชีพ และความแตกต่างใด ๆ ในทางกายภาพหรือสถานะทางสังคม ไม่ว่าจะยากดีมีจน ซึ่งรัฐมีหน้าที่ต้องส่งเสริมและคุ้มครองบุคคลให้เกิดความเป็นธรรม หากทำให้ทุกคนได้รับทราบและเข้าใจความสำคัญของสิทธิมนุษยชน ทุกคนก็จะเกิดความหวงแหน ไม่ยอมให้ผู้ใดมาพรากเอาไปได้
การจัดทำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง การที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้จัดทำ คู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขึ้นเฉพาะ หากนำเข้าสู่สถาบันการศึกษาซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ ก็จะครอบคลุมถึงนักเรียน 3,000,000 คนและบุคลากรทางการศึกษา 400,000 คน โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นการวางรากฐานสำคัญให้เด็กรู้จักสิทธิ เข้าใจสิทธิ และไม่ละเมิดสิทธิ
สำหรับ หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ทั้งหลักสูตรสำหรับบุคลากรในกระบวนการยุติกรรม หลักสูตรสำหรับภาคธุรกิจ และหลักสูตรสำหรับผู้บริหารระดับสูงนั้น ล้วนมีความสำคัญ เพราะสิทธิมนุษยชนศึกษาเป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (a lifelong process) ของคนทุกคน ที่จำเป็นต้องมีทั้งองค์ความรู้ การนำไปปฏิบัติจริง แล้วจึงจะเกิดปัญญา
นายวิษณุกล่าวว่า หากพิจารณาเป้าหมาย 17 ข้อของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยได้ให้คำมั่นร่วมกันว่าจะก้าวไปให้ถึงเป้าหมายภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ล้วนมีฐานของสิทธิมนุษยชนเกี่ยวข้องอยู่ในทุกเป้าหมายทั้งสิ้น และประเทศไทยยังมีเวลาอีก 10 ปีที่จะมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาจะช่วยให้ประเทศได้บรรลุเป้าหมาย SDGs ได้
ในนามของรัฐบาลและ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ขอขอบคุณคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ได้จัดทำ หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย และ คู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และจัดงานสัมมนาวันนี้ รวมทั้งคณะทูตานุทูต กระทรวงศึกษาธิการ และภาคส่วนต่าง ๆ ที่ให้การสนับสนุนและได้มารับหลักสูตรเพื่อนำไปใช้เผยแพร่ในองค์กรต่อไป และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่กระบวนการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนศึกษาที่จะเริ่มต้นจากระบบการศึกษา ด้วยหวังว่าจะสามารถแผ่ซ่านหลักสิทธิมนุษยชนไปสู่สังคมในทุกภาคส่วน และขยายการมีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อไป เพราะเราทุกคนต่างมีสิทธิและมีหน้าที่ในการเคารพสิทธิมนุษยชนต่อผู้อื่น ซึ่งจะทำให้สังคมได้อยู่ร่วมกันฉันมิตรและมีสันติ เพื่อให้สังคมเกิดความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน
จากนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีส่งมอบหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายและคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม องค์กรภาคประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา สถาบันพระปกเกล้า และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีนายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นสักขีพยาน
จากนั้นมีการเปิดเวทีเสวนาระดมความคิดเห็นเพื่อขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนศึกษาด้วยคู่มือการจัดการเรียนรู้ฯ และหลักสูตรด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ที่ทุกภาคส่วนได้รับมอบ และพิธีมอบเกียรติบัตรให้แก่คณะทำงานจัดทำคู่มือการจัดการเรียนรู้ฯ เพื่อเป็นเกียรติที่ได้ร่วมกันจัดทำเอกสารด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาอันเป็นประโยชน์ต่อระบบการศึกษาของไทย
นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน กล่าวปิดการสัมมนาว่า การจัดงานสัมมนาวิชาการในวันนี้ถือเป็นการส่งสัญญาณอย่างแรงกล้าของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนศึกษาอย่างเป็นระบบในสังคมไทย โดยต่อจากนี้ กสม. จะเร่งขยายผลการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนศึกษาไปสถานศึกษา ครู อาจารย์ รวมถึงเด็กและเยาวชนทั่วประเทศผ่านความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ
โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคของ กสม. ทั้ง 6 แห่ง พร้อมกันนี้ กสม. ได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนไปยังคณะรัฐมนตรีให้สนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำหลักสูตรและคู่มือดังกล่าวไปใช้ประโยชน์เพื่อร่วมกันส่งเสริมการศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนต่อไป