ThaiPublica > Native Ad > Advertorial > “3 ทศวรรษ” โครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ เพื่อเด็กไทยทั่วประเทศ

“3 ทศวรรษ” โครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ เพื่อเด็กไทยทั่วประเทศ

17 ธันวาคม 2019


“เยาวชนเหล่านี้ควรจะได้บริโภคอาหารอย่างถูกหลักโภชนาการ โดยโรงเรียนจัดให้มีการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ขึ้นภายในโรงเรียนหรือสถานที่ใกล้เคียง เพื่อให้โรงเรียนมีรายได้จากการประกอบกิจกรรมดังกล่าว และนำมาเป็นค่าอาหารกลางวันนักเรียนตลอดไป” พระราชดำรัส สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยปัญหาการขาดสารอาหารของเด็กในชนบทและในถิ่นทุรกันดาร

โดยนับตั้งแต่ปี 2523 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้ดำเนินงานโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชน ทรงทดลอง “โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน “ เป็นโครงการแรก เพื่อให้เยาวชนในถิ่นทุรกันดารมีอาหารเพียงพอ และมีโภชนาการที่ดี ควบคู่กับโอกาสเรียนรู้ทักษะจัดการอาชีพเกษตร เพื่อเป็นพื้นฐานรองรับสัมมาอาชีวะต่อไป

ด้วยตระหนักถึงความสำคัญในการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและมีโภชนาการที่ดี รวมทั้งมีส่วนร่วมบรรเทาปัญหาทุพโภชนาการของเด็กและเยาวชน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน ) หรือซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร จึงได้ร่วมกับมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท น้อมนำจึงน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในการส่งเสริมภาวะโภชนาการแก่เด็กนักเรียนในถิ่นทุรกันดาร มาดำเนินโครงการ “เลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน”

ตลอด 30 ปีที่ซีพีเอฟและมูลนิธิฯ มุ่งมั่นร่วมบรรเทาปัญหาทุพโภชนาการของเด็กและเยาวชนไทย ด้วยการรับสมัครโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ ปัจจุบันมีโรงเรียน 778 แห่ง ครอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศ ส่งผลโดยตรงต่อเด็กและเยาวชน 154,000 คน เข้าถึงอาหารโปรตีนคุณภาพอย่างไข่ไก่อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะในโรงเรียนที่เด็กนักเรียนมีปัญหาทุพโภชนาการ เด็กอ้วน เตี้ย หรือผอม เกินกว่าเกณฑ์ที่กรมอนามัยกำหนด

สำหรับโรงเรียน 778 แห่งที่เข้าร่วมโครงการฯ แยกเป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 619 โรงเรียน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 134 โรงเรียน สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ 12 โรงเรียน องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) 6 โรงเรียน และอื่นๆ เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ. เทศบาล)

แต่ละโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟและมูลนิธิฯ ประกอบด้วย 1. งบประมาณก่อสร้างโรงเรือนตามแบบมาตรฐานที่กำหนด 2. อุปกรณ์กรงตับ และอุปกรณ์ให้น้ำพร้อมติดตั้ง 3. พันธุ์สัตว์ หรือพันธุ์ไก่ 4.อาหารสัตว์ตลอดระยะเวลาการเลี้ยง 1 รุ่น หรือ 60 สัปดาห์ 5.การอบรมให้ความรู้ด้านการเลี้ยง การจัดการฟาร์ม การจัดการผลผลิต การตลาด การทำบัญชี เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการฯได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุตามเป้าหมาย คือ นักเรียนได้บริโภคไข่ไก่ที่สดและสะอาดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 มื้อ หรือ 120 ฟองต่อคนต่อปีการศึกษา ได้เรียนรู้การผลิตอาหารปลอดภัยด้วยตนเอง และนำผลผลิตไข่สดที่ได้มาแบ่งปันบริโภคภายในโรงเรียนผ่านระบบสหกรณ์ เพื่อให้การดำเนินโครงการมีความต่อเนื่องและยั่งยืน

ปี 2562 นี้ ซีพีเอฟและมูลนิธิฯคัดเลือกโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 46 แห่ง เข้าร่วมโครงการฯ ทำให้มีโรงเรียนซึ่งซีพีเอฟติดตามดูแลทั้งสิ้น 824 โรงเรียน โดยในวันที่ 23 ธันวาคม 2562 จะมีการจัดพิธีส่งมอบโครงการฯให้โรงเรียนลำดับที่ 779 ที่โรงเรียนบ้านดู่(สหราษฎร์พัฒนาคาร) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

“อภัยชนม์ วัชรสินธุ์” กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิฯ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนและเกษตรกรในชนบทห่างไกลทั่วประเทศ ซึ่งโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เป็นอีกโครงการหนึ่งที่มีเป้าหมายร่วมบรรเทาปัญหาขาดแคลนโปรตีน สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโต ทั้งทางร่างกายและสมองของเด็กและเยาวชนในชนบท ซึ่งนับจากเริ่มโครงการ มูลนิธิฯได้รับงบประมาณสนับสนุนจากซีพีเอฟทำให้โครงการสำเร็จ เยาวชนได้เข้าถึงอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ เป็นแหล่งอาหารมั่นคงของโรงเรียนและชุมชน ที่สำคัญคือ มีองค์ความรู้ให้ครูและนักเรียนสามารถบริหารจัดการได้่อย่างเป็นระบบ โรงเรียนมีกองทุนหมุนเวียน สามารถดำเนินโครงการได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นแหล่งเรียนรู้อาชีพให้แก่คนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน

“นางอังคณา จาดดำ” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านพรหมมาสามัคคี ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ฯและได้รับรางวัลโครงการอาหารกลางวันดีเด่นระดับประเทศ ปี 2560 กล่าวว่า โรงเรียนเข้าร่วม โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน จนถึงปัจจุบันเลี้ยงไก่ไข่เป็นรุ่นที่ 3 แล้ว เด็กๆได้เรียนรู้วิธีการเลี้ยงไก่ไข่ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีผลผลิตไข่ไก่ที่ผลิตได้เอง ไม่ต้องซื้อจากข้างนอก ทำให้เด็กนักเรียนได้บริโภคไข่ที่สด สะอาด และปลอดภัย

โรงเรียนบ้านบ่อหลวง อำเภอนาเกลือ จังหวัดน่าน เป็นอีกโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกจากสพฐ. ให้เป็นโรงเรียนต้นแบบอาหารกลางวันระดับประเทศ ระดับดีเด่นในปีนี้ และเป็นโรงเรียนที่ร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ

“นางสุจิตรา ยาวิไชย” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบ่อหลวง กล่าวว่า นอกจากโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนจะทำให้นักเรียนได้บริโภคไข่ไก่อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 มื้อ ยังเป็นห้องเรียนด้านการจัดการอาชีพเกษตรเชิงธุรกิจ ถึงแม้ว่าในปีแรกของการดำเนินโครงการ โรงเรียนจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างโรงเรือน อุปกรณ์กรงตับ และอุปกรณ์ให้น้ำพร้อมติดตั้ง พันธุ์ไก่ อาหารสัตว์ตลอดระยะเวลาการเลี้ยง 1 รุ่น แต่ในปีต่อๆไป โรงเรียนต้องมีการบริหารจัดการเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตเอง ทำให้นักเรียนมีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพราะต้องมีการบริหารจัดการผลผลิตไข่ไก่ผ่านระบบสหกรณ์ของโรงเรียน และเรียนรู้การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย

โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน สร้างแหล่งอาหารที่มั่นคงของโรงเรียนและชุมชน นอกจากเกิดประโยชน์ด้านโภชนาการต่อเด็กและเยาวชนไทยแล้ว ยังเป็นการเพิ่มทักษะอาชีพด้านการเกษตรให้เด็กๆสามารถนำไปใช้เป็นอาชีพได้ในอนาคต