ThaiPublica > เกาะกระแส > ระบบฝึกงานอาชีวศึกษาของเยอรมัน โมเดลของอินเดียในโครงการ Skill India Program

ระบบฝึกงานอาชีวศึกษาของเยอรมัน โมเดลของอินเดียในโครงการ Skill India Program

20 พฤศจิกายน 2019


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรี เยอรมัน และ นายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรี อินเดีย ที่มาภาพ :https://asia.nikkei.com/Politics/International-relations/India-seeks-to-emulate-German-vocational-training-system

บทความของ asia.nikkei.com ชื่อ India seeks to emulate German vocational training system รายงานข่าวว่า ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมของเยอรมัน อย่างเช่น Siemens กำลังมองหาลู่ทางที่จะมีส่วนในการฝึกอบรมนักศึกษาด้านอาชีวะของอินเดีย จำนวน 5 แสนคน ภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงระหว่างเยอรมันกับอินเดีย

Siemens มีโรงงาน 13 แห่งอยู่ในอินเดีย นับจากปี 2015 เป็นต้นมา ก็ได้ดำเนินโครงการ “อาชีวศึกษาและการฝึกอบรม” (VET — Vocational Education and Training) ขึ้นที่นครมุมไบ โดยสามารถให้การฝึกอบรมแก่นักเรียนอาชีวะของอินเดียได้ปีหนึ่ง 13,000 คน

ส่วนบริษัท Bosch ของเยอรมัน ก็มีโรงงาน 18 แห่งในอินเดีย โดยนับจากต้นปีนี้เป็นต้นมา Bosch ได้เร่งดำเนินโครงการฝึกงานด้านอาชีวศึกษาในอินเดีย โดยการเปิดศูนย์พัฒนาทักษะขึ้นที่เมืองบังกาลอร์ ศูนย์ที่บังกาลอร์จะมีห้องทดลองผลิตภัณฑ์สมัยใหม่ และการพัฒนาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

อิวานก้า ทรัมป์ ไปเยี่ยมชมศูนย์ฝึกงานของ Siemens ที่มาภาพ: dw.comm

ใช้โมเดลระบบฝึกงานของเยอรมัน

บทความของ asia.nikkei.com กล่าวว่า อินเดียต้องการจะเลียนแบบระบบอาชีวศึกษาและการฝึกงานของเยอรมัน โดยนักศึกษาจะใช้เวลา 80% ฝึกงานที่บริษัท ภายใต้การดูแลจากครูฝึกของบริษัทดังกล่าว ส่วนเวลาอีก 20% นักศึกษาจะเรียนด้านทฤษฎีในวิทยาลัยอาชีวศึกษา เมื่อนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมัน เดินทางไปเยือนอินเดีย เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2019 ได้มีการลงนามสัญญา 5 ฉบับกับอินเดียในเรื่องอาชีวศึกษาและการฝึกอบรม

ผู้บริหารคนหนึ่งของบริษัทจัดหาแรงงานชื่อ Roedl & Partner กล่าวว่า อินเดียขาดแคลนมากในด้านแรงงานที่มีทักษะสูงในระดับที่ต่ำกว่าปริญญา ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายของนายกรัฐมนตรี นาเรนทรา โมดิ ที่จะยกระดับคุณภาพของอินเดียในเรื่องปลายทางการลงทุน นักลงทุนมักจะบ่นว่า ไม่สามารถติดตั้งอุปกรณ์การผลิตที่ซับซ้อนสูง เพราะคนที่จบด้านวิศวกรรมในอินเดียไม่สามารถทำงานกับอุปกรณ์การผลิตดังกล่าว และระบบการฝึกงานแบบเยอรมันก็ยังไม่มีในอินเดีย

ในปี 2015 รัฐบาลอินเดียเริ่ม “โครงการทักษะอินเดีย” (Skill India Program) ที่มีเป้าหมายว่า เมื่อถึงปี 2022 จะฝึกอบรมแรงงานอินเดียจำนวน 400 ล้านคนในอุตสาหกรรมด้านต่างๆ กระทรวงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Ministry of Economic Cooperation and Development) ของเยอรมัน เป็นที่ปรึกษาให้แก่รัฐบาลอินเดียเรื่องการฝึกอบรมแรงงานในอุตสาหกรรม 6 กลุ่ม ที่ประกอบด้วยกลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์ ตั้งขึ้นที่เมืองออรันกาบัด กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่บังกาลอร์ กลุ่มพลังงานที่เมืองบิวันดี กลุ่มอีคอมเมิร์ซที่นครมุมไบ กลุ่มพลังงานแสงแดดที่เมืองปุน และกลุ่มเภสัชที่เมืองไฮเดอราบัด ส่วนรัฐบาลอินเดียเองมีแผนที่จะขยายการฝึกอบรมไป 100 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยมีธุรกิจขนาดกลางและเล็กกว่า 14,000 แห่งเข้าร่วมโครงการ

แต่มีนักวิเคราะห์บางคนเห็นว่า การสนับสนุนของเยอรมันให้กับอินเดียเรื่องการฝึกฝนแรงงานมีสาเหตุจากกฎหมายใหม่ของเยอรมัน เรื่อง การอพยพที่มีทักษะ (Skilled Immigration Act) ที่จะมีผลในเดือนมีนาคม 2020 จะเปิดตลาดแรงงานของเยอรมันให้กับผู้อพยพที่ผ่านการฝึกอบรมทางวิชาชีพ เพราะเยอรมันกำลังขาดแคลนแรงงานดังกล่าวหลายหมื่นคน เจ้าหน้าที่บริษัท Tata Consultancy Service ก็คาดการณ์ว่า กฎหมายนี้ จะทำให้แรงงานอินเดียที่ผ่านการฝึกอบรมด้านอาชีวศึกษาสามารถเดินทางไปทำงานในเยอรมันได้สะดวกขึ้น

อังเกลา แมร์เคิล ไปเยี่ยมชมศูนย์ฝึกงานของ Bosch ที่บังกาลอร์ ที่มาภาพ : asia.nikkei.com

ระบบฝึกงานอาชีวศึกษาของเยอรมัน

เว็บไซต์กระทรวงศึกษาและวิจัย (Federal Ministry of Education and Research) ของรัฐบาลเยอรมัน อธิบายระบบฝึกงานอาชีวศึกษาว่า เป็นระบบคู่ขนานที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาของเยอรมัน ลักษณะสำคัญคือ ความร่วมมือระหว่างธุรกิจขนาดกลางและเล็ก กับวิทยาลัยอาชีวศึกษาของรัฐ กฎหมายกำหนดให้มีความร่วมมือดังกล่าว ส่วนหนึ่งของสัปดาห์ นักศึกษาจะใช้เวลาฝีกงานตามบริษัทต่างๆ และเวลาอีกส่วนหนึ่งที่วิทยาลัย หลักสูตรการศึกษาระบบคู่ขนานนี้ใช้เวลา 2 ปี ถึง 3 ปีครึ่ง

กฎหมายการฝึกงานอาชีวศึกษาปี 1969 ของเยอรมัน ที่มีการแก้ไขในปี 2005 กำหนดให้มีความร่วมระหว่างรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น และบริษัทธุรกิจ เพื่อให้มีการฝึกงานแก่นักศึกษา ในสาขาวิชาชีพที่ได้รับการรับรองระดับชาติ นักศึกษาที่ผ่านการฝึกงานจะได้รับใบรับรองคุณวุฒิจากสภาอุตสาหกรรมหรือสภาการค้าของเยอรมัน

ปัจจุบัน งาน 330 ประเภทกำหนดให้ต้องผ่านการฝึกฝนที่เป็นทางการของเยอรมัน องค์กรนายจ้างและสหภาพแรงงานจะเป็นองค์กรสำคัญในการปรับปรุงระบบฝึกงานให้ทันสมัย ดังนั้น การฝึกงาน การทดสอบ และการออกใบรับรอง จะมีมาตรฐานเดียวทั่วเยอรมัน ทำให้นักศึกษาฝึกงานได้รับการฝึกฝนในมาตรฐานที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของประเทศ หรือฝึกงานกับบริษัทไหน

ธุรกิจและนายจ้างก็มีความเชื่อมั่นในใบรับรองการผ่านการฝึกงานของนักศึกษา ธุรกิจที่เข้าร่วมระบบการฝึกงานอาชีวศึกษาถือว่าโครงการนี้เป็นวิธีการดีที่สุดที่ช่วยประหยัดเงินในการรับพนักงานใหม่ นักศึกษาฝึกงานก็ได้รับการฝึกฝนในทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน เพราะเหตุนี้ ระบบอาชีวศึกษาแบบคู่ขนานจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้การว่างงานของแรงงานเยาวชนในเยอรมันมีอัตราที่ต่ำ

ต่างประเทศนำมาเป็นโมเดลได้หรือไม่

บทความชื่อ Could Germany’s Vocational Education and Training System Be a Model for the U.S.? ในเว็บไซต์ wenr.wes.com กล่าวว่า เยอรมันมีระบบอาชีวศึกษาแบบฝึกงานที่มีประสิทธิผลสูง แม้ว่าคนที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในเยอรมันจะมีรายได้สูงกว่าคนทำงานที่มีระดับการศึกษาที่ต่ำกว่า แต่ระบบอาชีวศึกษาและการฝึกงาน หรือ VET ของเยอรมัน คือเส้นทางของแรงงานในการพัฒนาทักษะและการมีวิชาชีพที่ประสบความสำเร็จ

ในปี 2016 ประชากรเยอรมัน 47.2% ได้รับใบรับรองคุณวุฒิที่ผ่านการฝึกงานเป็นทางการมาแล้ว ในปี 2017 นักศึกษาของเยอรมัน 1.3 ล้านคนลงทะเบียนในระบบการศึกษาแบบ VET ขณะที่ในปีเดียวกันนี้ของสหรัฐอเมริกา มีนักศึกษาอเมริกันเข้าร่วมโครงการฝึกงานเพียง 190,000 คน เยาวชนในสหรัฐฯ น้อยกว่า 5% ได้รับการฝึกฝนทักษะจากการฝึกงาน ที่ส่วนใหญ่เป็นทางด้านการก่อสร้าง

ระบบฝึกงานวิชาชีพของเยอรมันได้ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมาก ทำให้มีอัตราการว่างงานที่ต่ำในหมู่แรงงานเยาวชน การที่เยอรมันเป็นประเทศที่แรงงานมีผลิตภาพมากที่สุดของโลกก็เกิดจากการศึกษาในระบบ VET ที่ป้อนแรงงานมีฝีมือให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ระบบอาชีวศึกษาแบบคู่ขนาน ที่ประกอบด้วยการฝึกงานกับอุตสาหกรรมและการเรียนรู้ทางทฤษฎี ยังช่วยให้นักศึกษาสามารถปรับตัวเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วย

บทความของเว็บไซต์ wenr.wes.com กล่าวว่า ระบบอาชีวศึกษาและการฝึกงานของเยอรมัน กำกับดูแลและได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลกลางและท้องถิ่น โดยมีการประสานงานกับองค์กรอุตสาหกรรมของเยอรมัน แม้วิทยาลัยอาชีวแต่ละแห่งของเยอรมันจะมีหลักสูตรที่แตกต่างกันบ้าง แต่ระบบสอบจะเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ทำให้เกิดมาตรฐานในเรื่องอาชีวศึกษา ประกาศนียบัตรจะได้รับการยอมรับจากอุตสาหกรรมทั่วประเทศ

ส่วนสหรัฐฯ เองมีระบบอาชีวศึกษาและการฝึกงาน ที่เรียกว่า “การศึกษาทางวิชาชีพและทางเทคนิค” (Career and Technical Education — CTE) โดยโรงเรียนมัธยมปลาย โรงเรียนวิชาชีพ วิทยาลัยอาชีวศึกษา และวิทยาลัยชุมชน เป็นสถาบันการศึกษาที่ให้บริการด้านอาชีวศึกษาและการฝึกงาน แต่ทว่า สถาบันการศึกษาของเอกชนที่มุ่งแสวงหากำไร มีบทบาทหลักของการศึกษาแบบ CTE ในสหรัฐฯ

บทความของ wenr.wes.com กล่าวว่า เนื่องจากระบบการศึกษาของสหรัฐฯ เป็นแบบกระจัดกระจาย หากสหรัฐฯ จะนำโมเดลของเยอรมันมาใช้ คงจะไม่เป็นแบบมาตรฐานเดียวทั่วประเทศเหมือนกับระบบฝึกงานของเยอรมัน นอกจากนี้ อาชีวศึกษาระบบคู่ขนานของเยอรมันเป็นสิ่งที่ฝังแน่นอยู่ในบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเยอรมัน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะโอนระบบนี้ไปยังอีกประเทศหนึ่ง

มูลนิธิเยอรมันชื่อ Bertelsmann ก็ให้คำแนะนำว่า ระบบฝึกงานของเยอรมันสามารถเป็นโมเดลให้กับประเทศอื่นได้ แต่ไม่ใช่พิมพ์เขียว โดยจะต้องพิจารณาให้การฝึกงานด้านอาชีวศึกษานั้นเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ทางการศึกษา วัฒนธรรม และสภาพเศรษฐกิจของประเทศตัวเอง

เอกสารประกอบ

India seeks to emulate German vocational training system, asia.nikkei.com, November 15, 2019.
The Germany’s Vocational Training System, Federal Ministry of Education and Research, www.bmbf.de
Could Germany’s Vocational Education and Training System Be a Model in the U.S? June 12, 2018. wenr.ws.com