
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมครั้งที่ 7 ของปี 2562 ว่า กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปีจากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.25 ต่อปี โดยให้มีผลทันที ขณะที่ 2 เสียงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี
ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้และต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้นจากการส่งออกที่ลดลง ซึ่งส่งผลไปสู่การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย เสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม
กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย จึงเห็นควรให้ลดอัตรดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ ส่วนกรรมกร 2 ท่าน เห็นว่า ในภาวะปัจจุบันนโยบายการงินอยู่ในระดับผ่อนคลายอยู่แล้ว การลดอัตราดอกเบี้ยอาจไม่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มได้มากนัก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังจำเป็นต้องรักษาขีดความสมารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ที่มีจำกัดเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต
“หากเทียบกับการประมาณการณ์ในครั้งที่ผ่านมา เศรษฐกิจชะลอตัวลงกว่าที่คาด ขณะที่เงินเฟ้อจากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่กรอบล่าง 1% แต่ตอนนี้คาดว่าจะต่ำกว่ากรอบเป้าหมายทั้งปีนี้และปีหน้า ในรายละเอียดพัฒนาการทางเศรษฐกิจเห็นปัจจัยด้านลบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกที่ชะลอตัวลง อุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอตัวลง แม้ว่าจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐแล้วก็ไม่เพียงพอ ส่วนเสถียรภาพระบบการเงินเป็นอะไรที่กังวลอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว รวมไปถึงพื้นที่นโยบายที่ กนง.คำนึงหาทางเลือกต่างๆ อาจจะใช้มาตรการ 2-3 อันให้เหมาะสม แต่ถือว่าจำกัดอยู่แล้วเพราะดอกเบี้ยนโยบายเราก็ต่ำอยู่แล้ว” นายทิตนันทิ์กล่าว
เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้น โดยการส่งออกสินค้าหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ และจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดไว้ตามปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะการกีดกันทางการค้า ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง
สำหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงตามรายได้ของครัวเรือนและการจ้างงานที่ปรับลดลงเร็วโดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อส่งออก รวมถึงแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ อย่างไรก็ดี การย้ายฐานการผลิตมายังไทยและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยสนับสนุนการลงทุนในระยะต่อไป การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านต่างประเทศจากสภาวะการกีดกันทางการค้าระว่างประเทศ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลมาสู่อุปสงค์ในประเทศและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามผลจากมาตรการกระตุ้นศษฐกิจของรัฐบาลและการใช้จ่ายของภาครัฐ ตลอดจนความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2562 และปี 2563 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจากราคาพลังงานที่ต่ำกว่าคาดตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มชะลอลงตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ปรับลดลง ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น ผลกระทบจากการยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้นราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต
ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลาย โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง ภาคเอกชนสามารถระดมทุนได้ แนวโน้มขยายตัวชะลอลงทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค ด้านอัตราแลกเปลี่ยนต่อเนื่องแต่สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอตัว ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นในภาวะที่ความเสี่ยงด้านต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ สนับสนุนให้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและสร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทและช่วยให้ภาคเอกชนบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้สะดวกขึ้น คณะกรมการฯ เห็นควรให้ติดตามสถานกรณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมตามความจำเป็น
ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต โดยเฉพาะคุณภาพสินเชื่อของธุรกิจเอสเอ็มอีที่ด้อยลง คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไปช่วยดูแลการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องติตตามพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำ พฤติกรรมการก่อหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอี การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมถึงการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ร่วมกันอย่างเหมาะสม
มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มการยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน

เปิดช่องทุนไหลออก ช่วยค่าเงินบาทอ่อน
นอกจากนี้ ภายหลังการแถลงข่าวผลการประชุม กนง. ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. เดินออกมากล่าวถึงมาตรการที่ ธปท.ออกมาพร้อมกันว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ความไม่สมดุลของเงินทุนเคลื่อนย้ายกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น กระทรวงการคลังและ ธปท.ได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้เงินทุนไหลออก ซึ่งจะช่วยปรับสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายและลดแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินบาท รวมทั้งจะช่วยให้การทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศมีความสะดวกมากขึ้น โดยจะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562
“ของเดิมเวลาเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากๆ เงินตราต่างประเทศจะมาอยู่ในทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย แปลว่าต้องเอาเงินมาแลกเป็นเงินบาท แต่ถ้าพูดถึงสินทรัพย์ต่างประเทศของคนไทย เมืองไทย เศรษฐกิจไทย ไม่จำเป็นต้องเข้ามาเก็บไว้ที่ ธปท.หมดก็ได้ ผู้ส่งออกก็มีบัญชีอยู่ในต่างประเทศเป็นสินทรัพย์ของคนไทยเหมือนเดิม นักลงทุนไทยก็สามารถไปลงทุนในต่างประเทศก็เป็นสินทรัพย์ของไทยอีกเช่นกัน หลักการของการปรับกฎเกณฑ์คือไม่ต้องมาใช้แบบเดิมคือเอาเข้ามาแล้วแลกเป็นเงินบาททันที สร้างแรงกดดันให้ค่าเงินบาทและโผล่อยู่ในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของ ธปท.เท่านั้น เป็นหลักการของการช่วยกันกระจายสินทรัพย์ต่างประเทศของคนไทยให้ไปอยู่ในต่างประเทศในหลายช่องทาง”
ดร.วิรไทกล่าวต่อไปว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเป็นผลกระทบจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ทำให้ต้องการมาตรการมาปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบนี้ค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลงทุนของไทยที่ต่ำมาเป็นเวลานาน หลังจากหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็เห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องสำคัญ และจะร่วมมือกันทำแผนปรับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด รวมไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้การเกินดุลสูงแบบนี้ด้วย
โดยมีรายละเอียด 4 มาตรการ ดังนี้
1. การยกเว้นการนำเงินรายได้จากการส่งออกกลับประเทศ
- อนุญาตให้ผู้ส่งออกที่มีรายได้ต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์ สรอ.ต่อใบขนสามารถฝากเงินไว้ในต่างประเทศโดยไม่จำกัดระะวลา ทั้งนี้ ในปี 2561 รายได้รวมจากการส่งออกที่ต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์ สรอ.ต่อใบขน มีมูลค่ากว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
- นอกจากนี้ หากผู้ส่งออกมีรายได้สูงกว่าวงเงินข้างต้น ยังสามารถนำไปหักลบกับรายจ่ายในต่างประเทศได้ ไม่ต้องนำกลับเข้าประเทศ โดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงขึ้นทะเบียนกับ ธปท. และยื่นเอกสารหลักฐานกับธนาคารพาณิชย์
- ปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD)ที่เปิดกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศให้ง่ายขึ้น
การปรับปรุงกฎเกณฑ์ข้างต้นเพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกสามารถบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศ โดยพักเงินไว้ในต่างประเทศเพื่อรอชำระค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนการโอนงินและชำระเงิน และช่วยให้สามารถบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น ทันี้ธปท. ได้หารือเบื้องตันกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่าจะขยายวงเงินรายได้จากการส่งออกไม่ต้องนำกลับเข้าประเทศป็น 1 ล้านดอลลาร์ สรอ.ต่อใบขน ภายในระยะ 3 เดือนข้างหน้า โดยการผ่อนคลายดังกล่าวจะครอบคลุมประมาณร้อยละ 80 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด
นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า การที่ผู้ส่งออกสามารถเก็บเงินตราต่างประเทศไว้ข้างนอกได้ ถ้าเกิดทุกๆ คนช่วยกันนำไปลงทุนหรือไปหักกลบลบหนี้ก่อนนำเข้ามา เงินก็ไหลเข้ามาน้อยลง จะช่วยลดแรงกดดันจากที่บ่นกันว่าเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากจนค่าเงินแข็ง ผู้ส่งออกก็จะได้ยิ่งประโยชน์เอง ถ้าได้รับความร่วมมือกันเอง
“เราเปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกทำให้บาทอ่อนเองได้ อันนี้จะช่วยให้การทำธุรกิจที่มาบอกว่าเงินแข็ง ก็จะช่วยลดประเด็นพวกนี้ลงไป แต่ว่าต้องแยกประเด็นว่าตัวเลขของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่มาจากการค้าขายไม่ได้ลดลงไป เพียงแต่ตัวเม็ดเงินเหล่านั้นที่จะไหลเข้าออกทันทีก็จะน้อยลง เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวเลย คือต่างประเทศมาดูก็จะเห็นว่ามีความแข็งแกร่งทางด้านต่างประเทศ อีกด้านแรงกดดันที่จะมาส่งผลต่อค่าเงินตรงๆ ก็จะลดลง” นายเมธีกล่าว
2. การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ
- เปิดเสรีให้นักลงทุนรายย่อยสามารถออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เองในวงเงิน 200,000 ดอลลาร์ สรอ.ต่อปี จากเดิมที่ต้องผ่านตัวกลางในประเทศ หรือต้องมีสินทรัพย์ตามเงื่อนไขที่กำหนด
- เพิ่มวงเงินรวมสำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่จัดสรรให้นักลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กล.ต) เป็น 150,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพื่อรองรับการออกไปลงทุนในต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมีความสะดวกมากขึ้น
3. การโอนเงินออกนอกประเทศ
- เปิดเสรีการโอนเงินออกนอกประเทศได้ทุกวัตถุประสงค์ ยกเว้นเพียงไม่กี่รายการ (negative list) เช่น การชำระธุรกรรมซื้อขาย FX/THB กับสถาบันการเงินในต่างประเทศที่ยังต้องขออนุญาตจาก ธปท. จากเดิมที่ใช้ระบบอนุญาตให้ทำได้เพียงไม่กี่รายการ (positive list)
- อนุญาตให้สามารถโอนเงินให้ตนเองหรือญาติที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่งประเทศได้เสรี และสำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ สามารถโอนได้ในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์ สรอ.ต่อปี โดยซื้อในชื่อของบุคคลในครอบครัวได้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการย้ายถิ่นฐานและการส่งบุตรหลานไปศึกษาในต่างประเทศ
- ประชาชนหรือภาคธุรกิจที่ต้องการโอนเงินออกนอกประเทศต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์ สรอ.ต่อครั้ง ไม่ต้องยื่นเอกสารหลักฐานเพื่อช่วยให้การทำธุรกรรมสะดวกขึ้น
4. การซื้อขายทองคำในประเทศเป็นเงินตราต่างประเทศ
อนุญาตให้ลูกค้าคนไทยที่มีการลงทุนซื้อขายทองคำกับบริษัทผู้ค้ทองคำที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท.ชำระราคาในรูปเงินตราต่างประเทศผ่านบัญชี FCD ที่เปิดกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศได้ โดยลูกค้าสามารถเก็บเงินตราต่งประเทศจากการขายทองคำไว้ในบัญชี FCD โดยไม่ต้องแลกเป็นบาทเพื่อรอลงทุนในครั้งต่อไป นอกจากนี้ ธปท.ยังพร้อมที่จะอนุญาตการซื้อขาย Gold Futures ในรูปเงินตราต่างประเทศในระยะต่อไปด้วย
นายเมธียังกล่าวอีกว่า ธปท.พร้อมจะติดตามผลของการปรับกฎเกณฑ์ดังกล่าวทุกๆ 3 เดือน และหวังว่าจะช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนลงได้ และหากไม่ได้ผลเท่าที่คาดก็พร้อมจะผ่อนปรนมาตรการต่างๆ เพิ่มเติมอีก โดยคาดว่ามาตรการแรกที่ยกเว้นการนำเข้าเงินรายได้จากการส่งออกกลับประเทศจะเป็นช่องทางหลัก เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งเป็นผลจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นหลัก
[pdf-embedder url=”https://thaipublica.org/wp-content/uploads/2019/11/reg_outflow_infographic.pdf”]