ThaiPublica > เกาะกระแส > เอเชียศูนย์กลางฟรีแลนซ์ คนหลายอาชีพหลากวัยไหลเข้า “Gig Economy”

เอเชียศูนย์กลางฟรีแลนซ์ คนหลายอาชีพหลากวัยไหลเข้า “Gig Economy”

14 ตุลาคม 2019


ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้า โลกออนไลน์ขยายตัว ผู้ที่รับทำงานแบบอิสระทุกกลุ่มวัยทุกอาชีพ หรือ ฟรีแลนซ์สามารถให้บริการ หรือรับทำงานให้ใครก็ได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ซึ่งรู้จักกันในชื่อของ Gig Economy

Gig Economy หมายถึง ระบบเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยลักษณะการทำงานชั่วคราว งานที่รับจ้างเป็นระยะเวลาสั้นๆ และจบเป็นครั้งๆ ไป ไม่ยึดติดกับที่ใดที่หนึ่ง ตัวอย่างเช่น งานพาร์ทไทม์ งานฟรีแลนซ์ จุดเด่นของรูปแบบการทำงานนี้คือมีอิสระ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับงานหรือเวลาทำงาน โดยค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับจำนวนงานและความยากง่ายของงานที่ทำ

Payoneer ผู้ให้บริการชำระเงินระหว่างประเทศ ได้จัดทำรายงาน The Gig Economy Index Q2 2019 มีข้อมูลการชำระเงินระหว่างประเทศของ ผู้ที่รับงานแบบ Gig หรือ Gig worker ซึ่งช่วยให้วิเคราะห์ Gig Economy ทั่วโลกได้

Global Gig-Economy Index ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างของ Gig worker มากกว่า 300,000 ราย ทั้งผู้ให้บริการ service providers และ อาชีพด้านการเอาท์ซอร์ส (outsourcing professionals) ที่อยู่ในเครือข่าย Payoneer

เอียน แม็คนิโคลล์ ผู้บริหารภูมิภาคอเมริกา กล่าวว่า มีแนวโน้มที่ผู้ประกอบวิชาชีพหรือ Professional ลาออกจากงาน เพื่อเข้าสู่ระบบ gig economy หรือหันมาทำงานอิสระมากขึ้น จากหลายเหตุผลด้วยกัน ทั้งชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น การไม่มีหัวหนน้าคอยมาจับตามอง รวมไปถึงความต้องการที่จะเริ่มทำธุรกิจของตัวเอง

นอกจากนี้ความยืดหยุ่น เป็นปัจจัยหลักที่ดึงดูดคนทุกกลุ่มวัย ทั้งอายุน้อยและสูงวัย ที่ต้องการรายได้เสริม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงอาชีพ
รายงานพบว่า เอเชีย ยุโรปตะวันออกยังคงเป็นศูนย์กลางของการทำงานแบบอิสระ แม้ตลาดฟรีแลนซ์ในฝั่งตะวันตกขยายตัวมากขึ้น

  • EIC สำรวจชีวิตชาว gig อยู่ในวัยไหน หางานกันอย่างไร ทำงานกันวันละกี่ชั่วโมง…

  • “Gig Economy…ยังไงถึงจะเวิร์ก”

     

    ในไตรมาสสองปีนี้ เอเชียยังครองตำแหน่งศูนย์กลางการทำงานแบบฟรีแลนซ์ โดยปากีสถาน ฟิลิปปินส์ อินเดียและบังคลาเทศ ติดอยู่ใน 10 อันดับแรก รวมกันแล้วมีรายได้เพิ่มขึ้น 138% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ Gig Economy ของทั้ง 4 ประเทศขยายตัวคือ การลงทุนในการศึกษาระดับอาชีว

    ในภูมิภาคอื่น บราซิลมีรายได้จาก Gig Economy เพิ่มขึ้น 48% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ซึ่งคริสติน ฮัทชิสัน ผู้จัดการฝ่ายขายและพัฒนาธุรกิจของ Payoneer ให้ความเห็นว่า เกิดจากการรับรู้ใน Gig Economy และโอกาสที่สูงขึ้น โดยผู้ที่ทำงานเป็นฟรีแลนซ์เองก็เริ่มพิจารณาทางเลือกด้านอาชีพในช่วงเวลาที่ไม่นานมานี้ แต่ส่งผลให้ขณะนี้การงานแบบฟรีแลนซ์ หรือ การเป็น Gig worker กลายเป็นส่วนหนึ่งของตลาดแรงงาน

    รายงานระบุว่า เมื่อพิจารณาจากรายได้หรือผลกำไร คนในกลุ่ม Gen X ทำรายได้ได้มากที่สุดและมีโอกาสมากที่สุด

    ในไตรมาสสองปีนี้คนกลุ่ม Gen X ซึ่งอยู่ในวัย 35-44 ปี เป็นกลุ่มที่ทำรายได้มากที่สุด มีสัดส่วน 32% ของรายได้ Gig Economy แม้มี Gig worker เพียง 23%

    และเมื่อเทียบกับ Gig worker ในกลุ่มอายุ 18-34 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของ Gig Economy เพราะมีจำนวนในสัดส่วนถึง 64% แต่กลับมีรายได้เพียง 53% ของรายได้ของ Gig Economy โดยรวม

    นอกจากนี้ยังพบว่ามีหลายปัจจัยที่บ่งชี้ว่าแนวโน้มยังขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่

  • ผลงานมีความสำคัญ
    บริษัทพร้อมที่จะจ่ายเงินค่าจ้างที่สูงขึ้นให้กับ gig worker ที่มีประสบการณ์ มีผลงานดีในช่วงที่ผ่านมาและสามารถทำงานได้หลากหลาย

  • การรีวิวผลงานคุ้มค่า
    การรีวิวผลงานจากผู้ว่าจ้างจะทำให้โปรไฟล์ gig worker โดดเด่นในตลาดฟรีแลนซ์

  • อย่าจำกัดตลาด
    ฟรีแลนซ์ที่มีประสบการณ์สูง รู้วิธีการขยายตลาดงานของตัวเองไปยังตลาดระหว่างประเทศ ซึ่งมีผลให้ผู้ว่าจ้างมีจำนวนมากขึ้น

    สำหรับประเทศที่ติด 10 อันดับแรกของ Gig Economy เมื่อวัดจากรายได้ อันดับหนึ่ง คือ สหรัฐอเมริกา โดยที่รายได้ไตรมาสสอง ปีนี้เพิ่มขึ้น 78% จากระยะเดียวกันของปีก่อน สูงสุดที่สุดในโลก และที่แตกต่างจาก Gig Economy จากประเทศอื่นที่ฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่อายุน้อย แต่ในสหรัฐฯมีฟรีแลนซ์จากหลายกลุ่มอายุ หลายอาชีพ

    ข้อมูลยังบ่งชี้แนวโน้มที่น่าสนใจของการเป็นฟรีแลนซ์ ด้วยว่า ฟรีแลนซ์เป็นงานที่ทำเป็นอาชีพเสริมเพื่อทำรายได้เพิ่มแล้ว งานฟรีแลนซ์ยังเป็นอาชีพหลักได้อีกด้วย นอกจากนี้มีผู้คนหลายช่วงอายุได้เข้ามาอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบ Gig ไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มอายุน้อยเท่านั้น

    ในอินเดีย จำนวนฟรีแลนซ์เพิ่มขึ้น 52% นับตั้งแต่ไตรมาสสองปีก่อน เป็นผลจากนโยบายเชิงรุกของรัฐบาล เช่น การส่งเสริมธุรกิจสตาร์ตอัพ Start up India, Skill India Digital India ที่ส่งเสริมธุรกิจในประเทศ

    สำหรับฟรีแลนซ์แล้ว ความริเริ่มมาตรการเหล่านี้เป็นการสร้างแพล็ตฟอร์มบ่มเพาะทักษะ และพัฒนาธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟรีแลนซ์ในกลุ่มอายุ 35-44 ปี ซึ่งทำรายได้ในสัดส่วนถึง 35% แม้มีสัดส่วนจำนวนคนเพียง 20% ในไตรมาสสอง

    ส่วนในปากีสถาน จำนวนฟรีแลนซ์เพิ่มขึ้น 42% จากระยะเดียวกันของปีก่อน จากหลายปัจจัยด้วยกัน แต่ปัจจัยหลักคือ กลุ่มคนทำงานอายุน้อย ซึ่งกลุ่มอายุต่ำกว่า 30 ปีสัดส่วนสูงถึง 70% ปัจจัยอื่นคือ การศึกษาในระดับอาชีวะที่ทำให้กลุ่มคนอายุน้อยเข้ามาอยู่ใน Gig Economy มากขึ้น นอกจากนี้การลงทุนในกลุ่มคนอายุน้อย ยังส่งผลให้ฟรีแลนซ์กลุ่มอายุต่ำกว่า 35 ปีทำรายได้ในสัดส่วน 77%

    ทางยูเครน ความรู้การศึกษาด้านเทคนิค ส่งผลให้รายได้ของฟรีแลนซ์เพิ่มขึ้น 36% จากงวดเดียวกันขอบปีก่อน ขณะที่การพัฒนาของภาค ไอทีในเซอร์เบียช่วยสร้างรายได้เพิ่มขึ้ น19% จำนวนคนที่ทำงานฟรีแลนซ์เพิ่มขึ้น 30% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกเพราะมีคนสำเร็จการศึกษาด้านไอทีจำนวนนับพันคนต่อปี

    ที่สำคัญ การเติบโตอย่างแข็งแกร่งของตลาด gig economy ในสหรัฐฯและอังกฤษ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษใน gig economy ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ฟรีแลนซ์ทั่วโลกต้องหันมาให้ความสำคัญกับการสื่อสารและพัฒนาทักษะ เพื่อความสำเร็จในงาน