ThaiPublica > คนในข่าว > งานศิลปะ “รามเกียรติ์” บนเปลือกหอย ความตั้งใจสร้าง “สมบัติแผ่นดิน” ของ “ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล”

งานศิลปะ “รามเกียรติ์” บนเปลือกหอย ความตั้งใจสร้าง “สมบัติแผ่นดิน” ของ “ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล”

5 ตุลาคม 2019


เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการ ได้เปิดงานนิทรรศการแสดงผลงานสะสมของผู้บริหาร ชุด “รามเกียรติ์” บนเปลือกหอย ของ ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารเกียรตินาคิน

นิทรรศการผลงานศิลปะ จะจัดแสดงเวลา 8:30-18:00 น. ที่ห้องโถงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม นี้

ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประธานสายพัฒนาระบบงาน ช่องทางขาย และผลิตภัณฑ์ ธนาคารเกียรตินาคิน เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางและรู้จักกันดีว่า มีความสามารถสูงด้านวิทยาการในเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปผลงานต่างๆ ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรและประเทศ เช่น การโอนและชำระเงินแบบ Any ID หรือ PromptPay ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือ National e-Payment และ Digital ID อีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ที่จะเชื่อมต่อการยืนยันตัวตนจากทุกภาคส่วนเข้ามาไว้ด้วยกัน

นิทรรศการซึ่งเป็นงานอนุรักษ์ศิลปะไทยผ่านภาพวาดชุดรามเกียรติ์บนเปลือกหอยที่สะสม นอกจากจะตอกย้ำความเชี่ยวชาญในด้านวิทยาศาสตร์แล้วยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถด้านศิลปะ ความรักในศิลปะไทยและรักที่จะอนุรักษ์ศิลปะไทยให้คงอยู่ตลอดไปของ ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล

วันเปิดงานนิทรรศการแสดงผลงานสะสม ชุด รามเกียรติ์บนเปลือกหอย

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้สัมภาษณ์ ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล ถึงที่มาของการจัดแสดงผลงานเปลือกหอยสะสมชุดรามเกียรติ์ รวมทั้งความชื่นชอบในศิลปะไทย

“ผมชอบลายไทยอยู่แล้ว ว่างๆ ก็วาดลายไทย ชอบไปถ่ายรูปวัดที่มีภาพเขียนโบราณ สวยงามมาก โดยเฉพาะที่วัดถ้ำสาลิกาที่หลวงปู่มั่นเคยจำพรรษา สวยมาก ที่ชอบลายไทยเพราะอย่างอื่นเป็นของชาวโลก แต่ของไทยก็คือของไทย” ดร.อนุชิตอธิบายพร้อมกับโชว์ภาพเขียนที่วัดถ้ำสาลิกาให้ไทยพับลิก้าชม

ดร.อนุชิตกล่าวว่า ศิลปะไทยมีความงดงามและสะท้อนความเป็นไทย ดังจะเห็นได้จากภาพเขียนที่เกี่ยวกับการต่อสู้ หรือเป็นฉากการสู้รบ ที่แม้จะเป็นการรบกันก็มีความสวยงาม ภาพสู้รบกันของทุกชาติไม่สวยงามอย่างภาพไทย ชาติอื่นภาพการสู้รบต้องนองเลือด แต่การรบของไทยสวย เป็นภาพสวยงามไม่สะท้อนความทุกข์

ดร.อนุชิตเล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของการจัดนิทรรศการที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า มาจากการพูดคุยกับ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการเกี่ยวกับงานศิลปะ ในขณะที่ดร.อนุชิตยังทำหน้าที่เป็นกรรมการตลาด ซึ่งดร.ชัยวัฒน์มีความรักในศิลปะเช่นกัน รวมทั้งได้พูดคุยกับ ดร.ภากร ปีตธวัชชัย ผู้จัดการและกรรมการตลาดหลักทรัพย์ พร้อมกับได้เล่าในสิ่งที่ทำ

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สนับสนุนการอนุรักษ์งานศิลปะไทย ด้วยการจัดแสดงภาพเขียน และผลงานฝีมือของศิลปินระดับชั้นนำของประเทศ เช่น งานศิลปะของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี งานศิลปะของอาจารย์ปรีชา เถาทอง มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อจุดประกายให้คนสนใจงานศิลปมากขึ้น

“ผมก็เล่าให้ประธานกรรมการตลาดฯ ฟังถึงสิ่งที่ผมทำ แล้วบอกว่า ผมชอบศิลปะไทยและพยายามอนุรักษ์ นอกจากจ้างคนทำงานศิลปะไทยแล้วก็ยังไปบริจาคซ่อมวัดตามที่ต่างๆ และก็เล่าว่าได้ทำภาพวาดรามเกียรติ์บนเปลือกหอย ประธานกรรมการตลาดฯ มีความสนใจ จึงบอกให้เอามาจัดแสดงให้คนทั่วไปได้ชม” ดร.อนุชิตกล่าวและว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงให้การสนับสนุน จัดนิทรรศการขึ้นมา

ดร.อนุชิตกล่าวว่า หลังการจัดแสดงสิ้นสุดคงต้องเก็บเปลือกหอยทั้งหมดไว้ที่บ้าน เพราะไม่มีพิพิธภัณฑ์ให้ไป ถ้ามีพิพิธิภัณฑ์ก็ยินดีให้

“ที่ผมทำเพราะเป็น inspiration เพื่อนหลายคนที่ไปดูก็เกิด inspiration ว่า ทำถึงขนาดนี้เลย จึงคิดกันว่าจะช่วยกันทำอะไรได้บ้าง ถ้าทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือ เหมือนญี่ปุ่น ศิลปินที่ช่วยผมอยู่ก็จะอยู่ได้ อย่างที่ผมให้ทำเขาก็มีงานออกมา เขาเป็นครู แล้วสอนเด็กฟรี แล้วไปวาดภาพตามวัด ถ้ามีคนสนับสนุนงานพวกนี้เยอะ งานวัฒนธรรมไทย ศิลปะไทยจะคงอยู่ และมีการแสดงให้ต่างชาติเห็นได้” ดร.อนุชิตกล่าว

ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล

ความสงสัยสู่ความสนใจ

ก่อนที่จะเล่าถึงความเป็นมาของการภาพวาดชุดรามเกียรติ์บนเปลือกหอย ดร.อนุชิตได้นำไทยพับลิก้าย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของการสะสมเปลือกหอย

ดร.อนุชิตเล่าวว่า ในช่วงที่ยังเรียนอยู่ชั้น ป.4 อายุราว 10 ปี โรงเรียนได้ส่งไปแข่งขันสัปดาห์วิทยาศาสตร์ที่ท้องฟ้าจำลอง ซึ่งการแข่งขันก็มีศัพท์วิทยาศาสตร์และแข่งวาดรูปตามจินตนาการ โลกในอนาคต ซึ่งภาพวาดได้รับรางวัลมากมาย มีทั้งนิตยสาร สารานุกรม และหนึ่งในของรางวัลที่แจกมา คือ โปสการ์ดชุดหอยสวยงามของไทย มีทั้งหมด 12 แผ่น

“พอได้รับโปสการ์ดชุดหอยสวยงามของไทย ก็เอามาคิดว่า ทำไมธรรมชาติช่างสร้างสรรค์ของแปลก ลวดลายสวยงาม รูปทรงแปลกตา สงสัยว่าหอยเติบโตได้อย่างไร หอยปีกนางฟ้า ทำไมรูปทรงออกมาแบบนี้ คิดแบบวิทยาศาตร์ ทำไมต้องงอกปีก ทำไมรูปทรงถึงได้แบบนี้ แล้วโตมาได้อย่างไร มีลวดลายอีกด้วย จึงเป็นความสนใจว่าแปลก” ดร.อนุชิตเล่า

“จากนั้นเมื่อครบรอบวันเกิดคุณพ่อถามว่าอยากได้อะไรเป็นของขวัญ ผมบอกว่าอยากได้หอย หอยตัวแรกที่ได้และเก็บสะสม จำได้ว่าซื้อที่ห้างเซ็นทรัลสีลมที่ปิดไปแล้ว ซึ่งตอนนั้นที่ซื้อหอยจากห้างเซ็นทรัลเพราะไม่รู้เรื่องจริงๆ ไม่เคยเห็นมาก่อน หอยตัวแรกที่ซื้อคือหอยปีกนางฟ้า” ดร.อนุชิตกล่าว

ดร.อนุชิตกล่าวว่า หอยปีกนางฟ้าเป็นชื่อสามัญ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า strombus listeri ซึ่งในช่วงหลังมีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากการประมงขยายตัว ลากอวนขึ้นมามาก เจอหอยมากขึ้น ราคาเพียงสิบบาท

“ตอนที่ผมเริ่มซื้อตอน ป.4 ไม่เคยเห็น ไม่มีขาย คนเก็บก็ไม่เจอ หาไม่ได้ ไปซื้อเป็นหอยที่วางขายตามเคาน์เตอร์ในห้างเซ็นทรัล เป็นของหรู เป็นชิ้นๆ ราคาที่ผมซื้อตอนเด็กราคาก๋วยเตี๋ยวราคายังถูก 3-5 บาท แต่ราคาหอยเป็นร้อย แพงมาก ตัวแรกที่ซื้อไม่สวยด้วย แต่พ่อยอมให้ซื้อ แพงเพราะไม่มี” ดร.อนุชิตกล่าว

ดร.อนุชิตเล่าว่า จากโปสการ์ดชุดหอย 12 ตัว ได้หอยปีกนางฟ้าเป็นตัวแรก และสนใจเก็บมาต่อเนื่อง เก็บเพราะรูปทรง และก็ยังคิดอยู่อีกว่า หอยโตมาได้อย่างไร ลวดลายทำไมแปลก สีสันก็แปลก

ดร.อนุชิตเล่าอีกว่า หอยทั้ง 12 ตัวในชุดหอยสวยงามของไทยในโปสการ์ด มาสะสมครบช่วงอายุ 30 ปีกว่า เพราะใน 12 ตัวหอยบางตัวราคาแพงมาก ซึ่งตัวสุดท้ายมาสะสมได้ขณะทำงานกับธนาคารกรุงไทย เป็นหอยเบี้ย สายพันธุ์กัตตาตา (guttata) แต่เป็นพันธุ์ไทย มีขอบลายสีดำสองข้าง ต่างจากพันธุ์อื่น

“หอยเบี้ยกัตตาตาตอนพีกๆ ราคาเป็นหมื่น ตอนทำงานมีเงินแล้วจะให้ซื้อหอยตัวละสามหมื่นก็ทำใจไม่ได้ แต่ตอนที่ผมซื้อราคาลงมาเป็นหลักพัน เรามีเงินมากขึ้นเงินเฟ้อลง ราคาหอยลงเราก็ซื้อ งานอดิเรกนี้สมัยก่อนต้องมีเงิน เพราะราคาแพง ขนาดตอนนี้ผมยังตัดใจซื้อไม่ได้อีกหลายตัว เพราะราคาแพงจริง ตัวละแสนตัวละล้าน” ดร.อนุชิตกล่าว

ดร.อนุชิตกล่าวว่า หอยเบี้ยที่ได้มาเป็นตัวสุดท้ายนี้ยังมีสายพันธุ์ใกล้เคียง ขอบไม่ดำแบบไทยแต่เป็นจุด มีที่ทะเลจีน ฟิลิปปินส์ สมัยก่อนแพง แต่หลังจากจีนเปิดประเทศ เรืออวนจีนออก ราคาก็ตกลง เหลือสามร้อย จึงซื้อมาในราคาสามร้อย

ลวดลายหอยสะท้อนในวัฒนธรรม

ดร.อนุชิตเล่าต่อว่า การสะสมหอยมีมานานแล้ว จะเห็นได้ว่าในหลุมศพคนโบราณก็มีการใส่เปลือกหอยลงไป แต่การสะสมเปลือกหอยจริงจังเริ่มมาจากยุคล่าอาณานิคม ศตวรรษที่ 17 ยุโรปออกเรือมาหาดินแดน ระหว่างล่าดินแดนไปก็เก็บหอยไปเพราะเป็นของแปลก นำกลับไปขายที่ยุโรป แต่ละตัวราคาแพง เพราะคนยุโรปก็ไม่เคยเห็นหอยจากดินแดนไกลๆ คนรวยเท่านั้นที่จะสะสมเปลือกหอย งานอดิเรกสะสมเปลือกหอยจึงอยู่ในแวดวงชนชั้นสูงและคนมีเงิน

“การสะสมไวน์กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเลยเมื่อเทียบกับการสะสมหอย เพราะไวน์ผลิตขึ้นก็ขายออกมา แต่การสะสมหอยต้องมีการออกไปเก็บ ในช่วง peak time ในยุโรป เกิด inflation หอย เพราะบางอย่างมี 2-3 ตัว เป็นยุคฟองสบู่หอย ตัวหนึ่งราคาซื้อบ้านได้ แพงมากในวงการ ตัวที่หายากสมัยวิกตอเรีย ชื่อสามัญคือ หอยเจดีย์ 7 ชั้น” ดร.อนุชิตกล่าว

ดร.อนุชิตเล่าต่ออีกว่า สมัยก่อนหอยที่สะสมบางตัวมีราคาแพงในระดับที่ซื้อบ้านได้ ในยุโรป แพงจนถึงขนาดมีคนมาทำหอยปลอมขาย เพราะมีน้อยคนไม่เคยเห็น ต้องออกเรือจากยุโรปมาหา จึงมีการทำหอยปลอมขายทำเลียนแบบ แต่ตอนหลังหอยเจดีย์ 7 ชั้นกลับมีราคาระดับร้อย เพราะมีจำนวนมาก แต่หอยปลอมกลับแพงมาก กลายเป็น piece of history

ทุกวันนี้ยังมีการทำหอยปลอมกันอยู่ เพราะหอยบางตัวยังมีราคาแพง ซึ่ง ดร.อนุชิตยอมรับว่ามีหอยปลอมไว้ในครอบครอง แต่มีไว้เพื่อให้รู้ ซึ่งประเทศที่เก่งที่สุดคือ ฟิลิปปินส์ ทำหอยปลอม จนเรียกว่า หมอหอย (shell doctor)

ระหว่างการสัมภาษณ์ ดร.อนุชิตได้เปิดภาพหอยต่างๆ ให้ไทยพับลิก้าชมไปพร้อมกับอธิบายว่า ในวงการนักสะสมเปลือกหอยจะใช้ชื่อวิทยาศาสตร์แทนชื่อสามัญ เนื่องจากหอยชนิดเดียวกันมีหลายสายพันธุ์ นักสะสมหอยจะจำลักษณะสามัญของหอย จำรูปทรง จำชื่อวิทยาศาสตร์

โดยหอยที่ ดร.อนุชิตเปิดภาพให้ชมมีทั้ง หอยเต้าปูนระนอง (Conus ranonganus) หอยฉมวกที่มีหัวแหลม ซึ่งมีทั้งหอยฉมวกหางเดียวและหอยฉมวกสองหางซึ่งหายากกว่าหางเดียว หอยสังข์หน้ายักษ์ หอยจุกพราหมณ์ทั้งของไทยและของอินโดนีเซีย หอยเบี้ยฟันขาวที่ด้านล่างมีลักษณะเป็นซี่ๆ คล้ายฟันสีขาว หอยครองแครงซึ่งมีสารพัดสี

ดร.อนุชิตอธิบายว่า หอยส่วนใหญ่มาจากการลากอวน นักสะสมหอยจะไปหาตามสะพานปลา แต่หอยบางชนิดอยู่ในน้ำทะเลลึกมาก ไม่มีใครลงไปเก็บได้ แต่ที่ได้มาเกิดจากการที่ปลาตัวใหญ่ลงไปกิน แล้วมีการจับปลาตัวนั้นมาผ่าท้องก่อนที่จะย่อยหอยไปหมด

สำหรับหอยตัวเด่นของ ดร.อนุชิต คือ หอยตระกูล Lyria ในสายพันธ์ Doutei ซึ่งมีขนาด 11 เซนติเมตร ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซื้อมาในราคา 500 บาท ในโลกนี้มีไม่กี่ตัว พันธ์นี้แทบจะหาไม่ได้ มีน้อยมาก ที่มีอยู่ก็เป็นขนาดเล็ก

“ในวงการนักสะสมเปลือกหอยทั่วโลก ผมระดับปะติ๋ว เพราะไม่ค่อยใส่เงินเข้าไป เจอหอยแพงก็ซื้อไม่แล้ว แต่รู้จักหมด หอยตัวประเภทราคาระดับสามแสนผมก็มี แต่ไม่ได้ซื้อที่ราคาสามแสน ซื้อตัวที่ไม่ค่อยสวย เอาไว้พอรู้ เพราะเราศึกษาเหมือนนักวิทยาศาสตร์มีตัวอย่าง” ดร.อนุชิตกล่าว

ดร.อนุชิตเล่าอีกว่า หอยมีลายที่แตกต่างกัน โดยหอยลายบ้านเชียงก็มี ซึ่งลายบ้านเชียงมาจากลวดลายบนตัวหอย มีลายบางอันที่หอยบางตัวเป็นลายไทยเลย และบางพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน มีการนำลายหอยไปทำเป็นวัฒนธรรมของแต่ละที่เข้าไปโดยปริยาย เป็น pattern จากธรรมชาติ

นอกจากนี้หอยยังสะท้อนแนวคิดของคนทั้งโลกที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ หอยเบี้ย cypraea คำว่า praea คือ เบี้ย หรือ ปี้ แต่สำเนียงจะเพี้ยนไปตามพื้นที่ตามประเทศ คำว่าเบี้ย ใช้ตรงกันทั่วโลก คนไทยใช้คำว่า เบี้ย คนอินดีย เรียกรูปี คนอินโดนีเซียเรียก รูเปียะห์ จีนเรียกว่า ปี๋ ตัวเดียวกันเลย หอยตัวเดียวกัน เวลาเขียนเป็นตัวอักษรจะคล้ายกันเป็นรูปทรงตัวหอย เบี้ยพดด้วงของไทยก็มีรูปทรงหอยเบี้ย

ดร.อนุชิตวาดรูปคำว่า เบี้ย หรือ praea ประกอบการอธิบายเรื่องหอยเบี้ย

หอยปีกนางฟ้ารางวัลชิ้นแรก

ดร.อนุชิตเล่าถึงที่มาของการทำเปลือกหอยชุดรามเกียรติ์ว่า เปลือกหอยรามเกียรติ์ไม่ใช่งานศิลปะไทยบนเปลือกหอยชุดแรกที่ทำศิลปะไทย แต่เป็นชุดที่ทำขึ้นเพื่อใช้เป็นรางวัลแจกสำหรับผู้ชนะการประกวดเปลือกหอยในงานแสดงเปลือกหอยหรือ Shell Show ที่ไทยจัดขึ้นที่ภูเก็ต

แต่ก่อนที่จะทำเปลือกหอยชุดนางฟ้า จุดเริ่มต้นของหอยวาดศิลปะมาจากการที่ต้องการหาของที่ระลึกให้กับเพื่อนนักสะสมด้วยกัน ซึ่งบังเอิญไปเจอหอยวาดลายไทยที่หัวหิน จึงได้ซื้อมามอบให้เพื่อน

“จากที่เราสะสมเปลือกหอยมาก มีเพื่อนมาเยี่ยมบ้าน ทั้งไทยและต่างประเทศ คนหนึ่งคือ จอม ปัทมคันธิน จากพิพิธิภัณฑ์เปลือกหอยภูเก็ต พวกนี้มือระดับโลก ตัวที่พอออกแขกของผมคือ Lyria doutei ก็เลยคิดว่าจะมีของที่ระลึกให้เพื่อนยังไง เพราะบางครั้งเพื่อนเอาของมาฝาก วันหนึ่งเดินไปที่ตลาด Cicada ที่หัวหิน เห็นหอยวาดที่ตกแต่งมีลวดลายวางขาย ก็เลยปิ๊งไอเดียว่าเอาหอยวาดนี่แหละ ไม่มีใครมีแน่นอน ทุกคนมีหอยทุกพันพันธุ์แน่นอน แต่หอยวาดแบบไทยยังไม่มีแน่นอน ก็เลยซื้อหอยวาดลายสองตัว นับว่าเป็นตัวปฐมบท ซึ่งตอนนั้นยังไม่รู้ว่าใครวาด เพราะคนวาดฝากคนอื่นขาย ไม่เห็นศิลปินที่วาด แต่ก็คิดในใจว่าจะไปหาคนวาดที่ไหน เลยซื้อเป็นของฝากเพื่อนไป” ดร.อนุชิตเล่า

ดร.อนุชิตเล่าต่อว่า จากนั้นหลายปีมาก ได้ไปเดินเที่ยวงานประจำจังหวัดที่เขาวัง เพชรบุรี ไปเจอศิลปินที่วาดหอยกำลังวาดอยู่ ก็จำได้เพราะฝีมือเดียวกันเลย จึงความรู้จักและซื้อหอยวาดลายไทยมา

“ผมเห็นก็รู้เลยว่า ฝีมือเดียวกัน เพราะหอยวาดยาก เพราะผิวเรียบมัน เขียนไม่ค่อยติด นอกจากนี้การเขียนลายไทยก็ยิ่งยากไปอีก การเขียนบนกระดาษง่ายแต่การเขียนลายไทยบนผิวโค้งมนก็ยากขึ้นไปอีก แล้วสัดส่วนก็กำหนดยาก คนที่วาดได้ ต้องเก่งมาก วาดมองมุมไหนก็สวย ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำลายบนผิวหอย” ดร.อนุชิตกล่าว

หลังจากนั้นมีการจัดงาน Shell Show ที่ภูเก็ต ซึ่งในงานมีทั้งการขาย แลกเปลี่ยน สะสมเปลือกหอย ประกวดเปลือกหอย ว่าของใครสมบูรณ์ รูปทรงสมบูรณ์ สวยงามสุด ดร.อนุชิตก็คิดหาของรางวัลชนะเลิศ ปีแรกให้เป็นแก้วรูปหอยสังข์

ดร.อนุชิตเล่าว่า ในวงการสะสมเปลือกหอยก็มีการจัดงานประกวดรวมคนที่สะสมเปลือกหอยจากทั่วโลก ซึ่งเจ้าภาพจัดงานเวียนกันไปทั่วโลก แต่การจัดงานที่ไทยมีคนเข้าร่วมน้อย เพราะนักสะสมเมืองไทยมีไม่มาก จึงมีแนวคิดที่จะมอบรางวัลที่เป็นเอกลักษณะเพื่อดึงคน จึงขอรับผิดชอบด้านการจัดการของรางวัล ซึ่งก็นึกถึงหอยปีกนางฟ้าที่ตัวเองชื่นชอบ

“คนไม่ค่อยมาไทยเพราะมีการสะสมหอยน้อย นักสะสมน้อยหลักร้อย มาก็เหงา ก็เลยบอกคณะที่จัดงานว่า เรื่องของรางวัลผมรับผิดชอบเอง ก็นึกถึงหอยปีกนางฟ้า เพราะเป็นหอยที่ผมชอบ นอกจากนี้หอยปีกนางฟ้าเป็นหอยไทย ไม่ใช่หอยจากที่อื่น มีความเหมาะสมและมีความเป็นไทย เพราะด้านข้างพลิ้ว ทำให้นึกถึงปีกนางฟ้า ห่มสไบ เกิดจินตนาการในหัว ก็เลยไปคุยกับน้องศิลปินที่ชื่อน้ำแข็ง (หิรัณยากร พูลศักดิ์) ให้วาดหอยปีกนางฟ้าตามที่จินตนาการ แล้วให้ใช้ลายอยุธยา ให้ดูขลัง ก็เลยกลายเป็นรางวัล พอทำเสร็จถ่ายรูปโชว์ลงในกุล่มปรากฏว่ามากันเยอะ มาแย่งหอยรางวัล” ดร.อนุชิตเล่า

ดร.อนุชิตเล่าต่อว่า ในตอนนั้นทำหอยวาดชุดนางฟ้าขึ้น 5 ชิ้น มีคนมาขอไป 1 ชิ้นเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์หอยที่ภูเก็ต 1 ชิ้น ที่เหลือแจกรางวัลไปหมด แต่ยังมีคนต้องการอีกมาก มีการเสนอราคาขอซื้อด้วย มีเสียงเรียกร้อง แต่ได้ปฏิเสธไปเพราะเป็นของรางวัลไม่มีการทำซ้ำ

เปลือกหอยชุดเทพ วาดบนหอยปีกนางฟ้า

หวังเป็นสมบัติของแผ่นดิน

สำหรับการทำเปลือกหอยรามเกียรติ์ ดร.อนุชิตเล่าว่าเกิดจากแรงบันดาลใจที่ต้องการงานศิลปะไทยให้ยิ่งใหญ่ เพื่อฝากไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน

“หลังจากงานนั้นและเสียงเรียกร้องอยากได้ ผมเกิดแรงบันดาลใจว่าน่าจะทำงานให้อลังการสวยหรู แสดงศิลปะไทย อย่างของญี่ปุ่นมีเกมที่เล่นตั้งแต่สมัยเอโดะ มีการวาดรูปในเปลือกหอยแล้วนำมาประกบกัน เป็นเกมหาคู่ให้ตรงกัน มีการจัดแสดงในพิพิธิภัณฑ์ด้วยว่าเป็นศิปะของชาติ ซึ่งหอยที่ญี่ปุ่นใช้ก็ไม่ใช่หอยดีมีระดับแต่เป็นหอยตลับธรรมดา เรียบๆ แบนๆ ซึ่งผมเห็นว่าศิลปะไทยสวยงามมาก ทำได้สวยกว่า” ดร.อนุชิตกล่าว

ดร.อนุชิตจึงได้คุยกับศิลปินให้เอาหอยปีกนางฟ้ามาทำงานศิลปะเป็นลายรดน้ำ ลงรักปิดทอง ซึ่งยากกว่าชุดแรกที่ทำด้วยสีอะคริลิกดำทอง เพราะการวาดรูปในหอย ความยากคือไม่สามารถร่างลายลงไปได้ ต้องเขียนสด เขียนภาพใช้สีลงไปเลย ถ้าวาดผิด วาดเพี้ยน ผิดแล้วผิดเลย ต้องใช้หอยตัวใหม่

“ศิลปินที่วาดต้องเก่งมาก สัดส่วนต้องไม่เบี้ยว อีกอย่างลงรักปิดทองแก้ไม่ได้ เวลาวาดต้องจับหัวท้าย กางมือ เขียนให้เสร็จ เพราะหากมือไปโดนก็ต้องเริ่มที่ตัวใหม่ ดังนั้นพอลงลายเสร็จ ตอนลงรักเสร็จเอาทองปิด แล้วรดน้ำล้างออกต่อทันที อันนี้ทำเป็นชุดเทพ คนวาดก็บอกว่ายากมาก เหนื่อย ชุดนี้อยู่ที่บ้านไม่ได้ยกให้ใคร ทองอร่ามเลย” ดร.อนุชิตกล่าวและว่า การจัดงาน Shell Show ที่กรุงเทพฯ ครั้งที่แล้วได้นำหอยชุดเทพมาโชว์เพื่อเป็นหน้าตาของประเทศ

เมื่อทำชุดเทพไปแล้วก็เกิดความต้องการที่จะยกระดับงานศิลปะไทยขึ้นมาอีกขึ้น ต้องการที่จะทำด้วยทองจริง แต่ไม่ใช่ลงรักปิดทอง อยากได้งานที่เป็นสีสวยและใช้ทองจริง ดร.อนุชิตจึงนึกถึงรามเกียรติ์ขึ้นมา

“พอทำไปก็เกิดความปรารถนาไปอีกขั้น อยากทำด้วยทองจริง สวยงาม ก็น่าจะทำให้สวยอีก แต่คราวนี้ไม่เอาลงรักปิดทอง เอาเป็นสีสวยแต่ใช้ทองจริง และเป็นซีรีส์ยาว ก็เลยนึกถึงรามเกียรติ์ มหากาพย์ อีกอย่างที่นึกถึงรามเกียรติ์เพราะตัวละครรามเกียรติ์แต่ละตัวสีต่างกัน สีกายต่างกัน ลักษณะเครื่องแต่งกายไม่เหมือนกัน ถืออาวุธไม่เหมือนกัน” ดร.อนุชิตกล่าว

กระบวนการทำเปลือกหอยชุดรามเกียรติ์

ดร.อนุชิตเล่าต่อว่า รามเกียรติ์ไม่เคยมีใครรวบรวมตัวละครให้ครบทุกตัว ไม่มีใครตอบได้ ไม่มีหนังสือเล่มไหนรวมรวบไว้ด้วย ศิลปินจึงขอรวบรวบด้วยตัวเอง ต้องไปค้นคว้าหลายเดือน เพราะต้องเก็บข้อมูลว่าแต่ละตัวสีอะไร ใส่เครื่องแต่งกายแบบไหนมีอะไร เป็นงานค้นคว้าเยอะ และยังพบว่า มีหลายตำราที่อธิบายตัวเดียวกันคนละแบบ จึงใช้ตัวละคร 1 ตัวต่อหอย 1 ตัว

“กว่าจะทำแคตตาล็อกตัวละครแบบเสร็จก็ใช้เวลานาน ค่อยๆ ทำไป ไม่เคยนับว่ากี่ปี ศิลปินเองก็คิดว่าประมาณไม่ต่ำกว่า 3 ปี ส่วนใช้เงินเท่าไรก็ไม่ได้จำ เพราะถึงเวลาคนทำขอเบิกเงินก็โอนให้ คนเขียนก็เขียนเอง 300 ตัว” ดร.อนุชิตกล่าว

สำหรับหอยที่นำมาวาด ได้รับการสนับสนุนจาก จอม ปัทมคันธิน กับคุณพ่อ สมนึก ปัทมคันธิน สุดยอดนักสะสมหอยเมืองไทย คุณสมนึกมีหอยเป็นล้านตัว มีพิพิธภัณฑ์หอยภูเก็ต ที่ขณะบ้านมีโกดังหอยล้านล้านตัว เป็นโกดังหอยที่มากที่สุดในโลก หอยที่บ้านดำของอาจารย์ถวัลย์ก็มาจากคุณสมนึก

“พอคุณสมนึกกับจอมรู้ว่าผมอยากทำรามเกียรติ์ก็อยากจะสนับสนุน และผมคุยกับจอมว่าร่วมกันทำงานนี้เพื่ออยากให้เป็นสมบัติแผ่นดิน อย่างของญี่ปุ่นยังอยู่มาหลายร้อยปี ของเราก็เป็นสมบัติแผ่นดิน จอมก็บอกว่าจะทำพิพิธภัณฑ์ใหม่ ผมก็บอกว่าให้จัดพื้นที่ส่วนหนึ่งเฉพาะรามเกียรติ์ไปเลย ทำให้อลังการ ไม่เหมือนใคร เป็นเรื่องลายไทย ศิลปะไทยกับเปลือกหอย” ดร.อนุชิตกล่าว

ดร.อนุชิตเล่าอีกว่า จอม ปัทมคันธิน คัดหอยมาให้ เอาตัวที่สวยที่สุด ขนาดใหญ่ใกล้เคียงกัน สมบูรณ์ และสวย ปีกงอน แม้หอยจุกพราหมณ์หรือที่ชาวบ้านเรียกหอยโนรีมีจำนวนมาก แต่หากต้องการหอยสวยต้องคัด อีกทั้งการหาหอยขนาดนี้จำนวน 300 ตัวไม่ง่าย หอยที่ใช้เป็นหอยไทยทั้งหมด

นอกจากการวาดภาพลงบนเปลือกหอยแล้ว ระหว่างการทำงานศิลปินเสนอให้ทำภาพวาดประกอบด้วย เพื่อเวลาจัดแสดงงานจะดูดีขึ้นแทนที่จะมีการแสดงเฉพาะเปลือกหอย ซึ่ง ดร.อนุชิตก็นึกถึงญี่ปุ่น ที่การจัดแสดงเกี่ยวกับซามูไร มีข้าวของซามูไรวางเต็มไปหมด แล้วมีภาพวาดที่ซามูไรทุกคนอยู่ในภาพเดียว พร้อมป้ายชื่อว่าใครเป็นใคร ก็เห็นด้วยกับศิลปิน

“ผมนึกถึงที่ญี่ปุ่นก็เลยบอกว่าตกลงเอาใส่ฉากเดียวกันไปเลย เพราะอย่างที่เราไปดูที่วัดพระแก้ว แต่ละตัวก็อยู่แต่ละฉาก แต่เราต้องการทำฉากเดียวทุกตัวครบหมด คิดจะทำแบบนั้น ศิลปินก็ไปร่างมา 3 ภาพ แต่ผมบอกภาพใหญ่ขนาดนั้นสนับสนุนไม่ไหว ไม่มีเงินพอ ก็เลยวาดแค่ภาพเดียวขนาดใหญ่ 3 เมตร แต่ไม่ครบทุกตัว” ดร.อนุชิตกล่าว

“แต่ภาพที่วาดขึ้นมานี้ก็บอกศิลปินว่าไหนๆ จะทำแล้วก็ทำแบบโบราณไปเลย ไม่ให้เป็นภาพสมัยใหม่ คำว่าโบราณหมายถึงทำทุกอย่างเหมือนโบราณ วิธีการเหมือนโบราณ วิธีการสมัยใหม่ง่ายเอาผ้าใบขึงเอาสีอะคริลิกลง จบ แต่โบราณไม่ใช่ ต้องเตรียมการเยอะ เตรียมพื้นผิว บดดินสอพอง เคี่ยวกาว เอาหอยเบี้ยเกลี่ยลงไปให้พื้นผิวเรียบ เตรียมทั้งหมด ส่วนสีก็ต้องทำสีเองทุกอัน สีดำก็เอานิลมาป่น สีแดงใช้หินมาจากจีน ก้อนละ 4 พันบาท กาวต้องเม็ดมะขามคั่ว คั่วเสร็จเคี่ยวด้วยกาว เอามาบด งานใหญ่มาก ไม่ใช่ง่าย ทั้งหมดนี้เรียกสีฝุ่น ต้องระวังไม่ให้โดนน้ำ กระบวนการทำยาก และใช้เวลามาก ใช้สมาธิมาก ใช้ความพยายามมาก นี่คือวิธีการที่คนไทยสมัยก่อนวาดภาพเขียนในผนังตามวัด ผมถึงซาบซึ้งมากกับความยาก” ดร.อนุชิตกล่าว

นอกจากนี้ต้องเทียบสีให้ตรงกับแบบโบราณอย่างไม่ผิดเพี้ยน ซึ่งศิลปินที่วาดมีภาพเขียนอ้างอิง มีการจดบันทึกกระบวนการทำด้วย ซึ่งการบันทึกจะทำให้เด็กรุ่นใหม่รู้ว่ากระบวนการไม่ง่าย การทำภาพไทยแบบโบราณไม่มีใครทำแล้ว กระบวนการแบบนี้ต้องใช้กำลังมาก

ดร.อนุชิตเล่าอีกว่า ความยากในการวาดตัวละครทุกตัวไม่ได้อยู่ที่สีกายเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่ลายผ้าที่นุ่งด้วย ลายดอกในผ้าลงรายละเอียด ศิลปินต้องเขียนที่ละนิด ซ้อนกันอยู่ ลายเหมือนจริงมาก สีไม่ได้ไหล ค่อยๆ เติมไป วาด อีกทั้งต้องกางมือจับหอยบนล่าง วาดสีฝุ่นบนหอยถ้ามือไปโดนสีจะหลุดเลย ดังนั้นเมื่อวาดเสร็จต้องเคลือบทันทีเพราะผิวเรียบสีติดยาก

“คนเขียนทำงานไปจนหมดพลัง ต้องไปบวช แต่ตอนบวชเอาภาพไปเขียนต่อทั้งวัน แต่เขาบอกว่าเป็นวิธีการทำสมาธิ อยู่กับลมหายใจก็เขียน เขาบอกว่าเขียนๆ ไปก็เข้าใจว่าคำว่าจิตรกร คือ จิตมาเป็นกร คนที่วาดภาพนี้เป็นคนที่วาดภาพตามวัดอยู่แล้ว วัดที่เขาไปบวช ก็มีภาพที่เขาเขียนปรากฏว่าพอดูเทียบไปเห็นพัฒนาการ ภาพวาดเขาวาดก่อนหน้านี้เป็นรูปพระในพุทธศาสนา ยังไม่เย็นสงบนิ่งเท่ากับภาพรามเกียรติ์ที่เป็นภาพรบต่อสู้

แม้ภาพรบจะสัมผัสได้ถึงความสงบนิ่ง คนวาดมีสมาธิ ใจเย็นมาก วาดใบไม้ที่ละใบ และไม่ใช่วาดหนึ่งใบจบ เพราะแต่ละใบยังมีเฉดสีอีก ต้องไล่สี ใช้เวลามาก” ดร.อนุชิตกล่าว

ดร.อนุชิตเล่าว่า สมัยก่อนเวลาวาดใบไม้ต้องวาดทีละใบ หลายวัดของไทยมีงานศิลปชั้นยอดของรัตนโกสินทร์ โดยในสมัย รัชกาลที่ 3 เป็นงานสุดยอดทั้งนั้น ใช้ปากกาขนหนูวาด ปากกาขนหนูคือขนเส้นเดียว วาดขนตาที่ละเว้น วาดใบไม้ทีละใบ สีที่เขียนแบบนี้ร้อยปีก็ไม่เปลี่ยนเพราะใช้วัตถุธาตุ อย่างนิลโดนแสงอีกร้อยปีก็ยังดำ

ดร.อนุชิตเล่าอีกว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ศิลปินทดลองทำงานออกมาอีกหนึ่งชุด เป็นชุดหุ่นกระบอกใส่ผ้าไทย ใช้หอยปีกนางฟ้า จินตนาการออกมาเป็นหุ่นกระบอกใส่ชฎา ปีกที่พลิ้วออกมาเป็นสไบลายผ้าไทย แต่ยังไม่รู้ว่างานจะเสร็จช่วงไหน ขึ้นอยู่กับศิลปิน เพราะบางทีก็มีงานไปวาดวัด