
กรมศุลฯ จัดประชาพิจารณ์ กม. “สินบน-รางวัล” 2-25 ก.ย.นี้ เล็งชงคลังปรับแก้ตามยุทธศาสตร์ชาติ
หลังจาก พ.ร.บ.ศุลกากร 2560 มีผลบังคับใช้ พร้อมระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล 2560 ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นมา เพื่อปรับลดสัดส่วนการจ่ายเงินสินบนให้กับผู้แจ้งเบาะแสและรางวัลนำจับแก่เจ้าหน้าที่เหลือ 40% ของรายได้จากการขายของกลางหรือค่าปรับ โดยกำหนดเพดานการจ่ายเงินสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อคดี ขณะที่ พ.ร.บ.ศุลกากร 2469 (ฉบับเดิม) กำหนดให้จ่ายเงินสินบน-รางวัลในอัตรา 55% ของรายได้จากการขายของกลางหรือค่าปรับ โดยไม่จำกัดเพดาน
ล่าสุด กรมศุลกากรได้ออกแบบสอบถามออนไลน์ผ่านเว็บไซต์กรมศุลกากร รับฟังความคิดเห็นประชาชนทั่วไป และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการจ่ายเงินสินบนและรางวัลตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฉบับใหม่อีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 2-25 กันยายน 2562 โดยนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์ของการจัดทำประชาพิจารณ์ครั้งนี้ว่า เป็นผลสืบเนื่องมาจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบตามนโยบายของรัฐบาล ได้จัดทำแผนการปฏิรูปประเทศ โดยกำหนดให้ส่วนราชการต่างๆ พิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินสินบนและรางวัล ทั้งนี้เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างเหมาะสม สร้างความเป็นธรรม และป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ตามแผนงานดังกล่าวจึงกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องรวมถึงประชาชนทั่วไป พร้อมกับทำรายงานสรุปความคิดเห็น ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่พิจารณาลงโทษผู้กระทำผิด และความไม่ชัดเจนของกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่หาประโยชน์ โดยให้เสนอให้รัฐมนตรีต้นสังกัด เพื่อพิจารณายกเลิกหรือปรับปรุงให้เหมาะสมภายในปี 2562
“การเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนครั้งนี้ ไม่ได้ดำเนินการเฉพาะที่กรมศุลกากรเท่านั้น ส่วนราชการอื่นไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ, ป่าไม้, หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามยาเสพติด, ฟอกเงิน, ทรัพย์สินทางปัญญา, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ต้องดำเนินการตามที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายกำหนดไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งกรมศุลกากรเป็นหน่วยงานแรกที่เปิดรับฟังความคิดจากประชาชน และรวบรวมปัญหาอุปสรรค ผลกระทบต่างๆ เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณายกเลิกหรือปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินสินบนและรางวัลให้มีความเหมาะสมต่อไป” นายกฤษฎากล่าว
อนึ่ง ที่มาของเรื่องการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายสินบน-รางวัล เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่แล้ว เนื่องจากมีผู้ประกอบการจำนวนมากถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐ เข้าตรวจค้น จับดำเนินคดี ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้งที่เจตนาและไม่เจตนากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 แต่ต้องจ่ายค่าปรับ 2-4 เท่าของมูลค่าสินค้า รวมแล้วคิดเป็นมูลค่าประมาณ 31,432 ล้านบาท โดยเงินจำนวนนี้ถูกนำมาจัดสรรให้ผู้แจ้งเบาะแส (สายสืบ) 3,939 ล้านบาท และจ่ายเป็นเงินรางวัลเจ้าหน้าที่ผู้จับกุม (ศุลกากร, ตำรวจ, ดีเอสไอ) 4,576 ล้านบาท ส่วนที่เหลือนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินประมาณ 22,918 ล้านบาท
ต่อมา ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีกลุ่มผู้ประกอบการที่ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินคดีเป็นจำนวนมากไปยื่นหนังสือร้องเรียนผ่านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย เพื่อเสนอต่อรัฐบาล โดยขอให้ปรับปรุง แก้ไขกฎหมายศุลกากรที่เกี่ยวกับการจ่ายเงินสินบน-รางวัล เพื่อลดแรงจูงใจของเจ้าหน้าที่ในการกวดขันจับกุม จนทำให้มีคดีภาษีค้างอยู่ที่กรมศุลกากรเป็นจำนวนมาก รวมทั้งแก้ไขกฎระเบียบที่มีความคลุมเครือ เปิดช่องให้มีการใช้ดุลยพินิจ
รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ใช้เวลายกร่างกฎหมาย 2 ปี เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านความเห็นชอบในหลักการ แต่ยังไม่ได้เสนอที่ประชุมรัฐสภา รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ก็ประกาศยุบสภา ต่อมาในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการนำร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าที่ประชุม ครม. 3 ครั้ง ยังไม่ได้เสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประกาศยุบสภาอีก
จนกระทั่งมาถึงยุค คสช. รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง โดยเสนอที่ประชุม ครม.ผ่านความเห็นชอบครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ใช้เวลาผ่านร่างกฎหมาย 2 ปี พ.ร.บ.ศุลกากร 2560 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 และมีผลบังคับใช้อีก 180 วันต่อมา พร้อมกับออกระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นมา
พ.ร.บ.ศุลกากรฉบับใหม่กำหนดให้จ่ายเงินสินบนแก่ผู้แจ้งเบาะแส และรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ ในคดีลักลอบหรือหลีกเลี่ยงการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร คนละ 20% แต่จ่ายสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อคดี ขณะที่ พ.ร.บ.ศุลกากรฉบับเดิม กำหนดให้จ่ายเงินสินบนให้ผู้แจ้งเบาะแส 30% ของรายได้จากการขายของกลางหรือค่าปรับ ส่วนเจ้าหน้าที่ได้รับเงินรางวัล 25% โดยไม่มีการกำหนดเพดานการจ่ายเงินสูงสุด
ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่ตรวจพบผู้ประกอบการจ่ายภาษีไม่ครบ และสามารถติดตามเงินภาษีคืนมาได้ กฎหมายศุลกากรฉบับใหม่กำหนดให้จ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ตรวจพบ 10% ของยอดเงินภาษีที่เรียกเก็บได้เพิ่มเติม แต่จ่ายเงินรางวัลได้ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อการตรวจพบ ต่างจากกฎหมายฉบับเดิม กำหนดให้จ่ายเงินรางวัล 10% ของยอดเงินภาษีที่เรียกเก็บได้เพิ่มเติม แต่ไม่ได้กำหนดเพดานการจ่ายเงินสูงสุดเอาไว้ จึงเป็นเหตุจูงใจให้เจ้าหน้าที่เข้มงวด กวดขันจับกุม จนทำให้มีคดีความตกค้างอยู่ที่กรมศุลกากรเป็นจำนวนมากต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
[pdf-embedder url=”https://thaipublica.org/wp-content/uploads/2019/09/ระเบียบการจ่ายเงินสินบน-รางวัลนำจับ.pdf” title=”ระเบียบการจ่ายเงินสินบน รางวัลนำจับ”]