ThaiPublica > คอลัมน์ > หลักคิดทางวิชาการในการวางแผน PDP

หลักคิดทางวิชาการในการวางแผน PDP

27 กันยายน 2019


ดร.ภิญโญ มีชำนะ

ผมได้อ่านข่าวรัฐมนตรีพลังงานกำลังจะปรับปรุงแผน PDP2018 เป็นบางส่วน โดยมุ่งเป้าไปที่การสร้าง Energy for All ส่งเสริมไทยให้เป็นศูนย์กลางพลังงานไฟฟ้าของอาเซียน ราคาค่าไฟฟ้าต้องต่ำ ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนเทคโนโลยีด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้าและปรับปรุงโครงสร้างค่าไฟที่จะทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดซื้อขายไฟฟ้ามากขึ้น [1] ซึ่งผมเห็นด้วยว่าแผน PDP2018 ควรมีการปรับปรุงแก้ไข เหตุเพราะมีกระแสการไม่เห็นด้วยกับแผนนี้ในหลายๆ ประเด็น

การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบรวดเร็วและมีความมั่นคงในทุกด้านนั้น จะต้องมีการวางแผนร่วมกันในทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ราชการ เอกชน รวมถึงภาคอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันออกแบบและกำหนดแผนโครงสร้างในการพัฒนาประเทศโดยใช้ความสามารถในการวางแผนของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แผน PDP หรือ Power Development Plan ก็เช่นเดียวกัน จึงควรมีวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนดังกล่าวข้างต้น

แผน PDP เป็นแผนแม่บทว่าด้วยการจัดหาพลังงานในระยะยาว 20 ปี เพื่อสร้างความมั่นคงและความเพียงพอต่อความต้องการใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ดังนั้น การที่ประเทศหนึ่งประเทศใดเลือกใช้เชื้อเพลิงชนิดใด โรงไฟฟ้าแบบไหนจะมีเหตุผล และปัจจัยแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความจำเป็น และการจัดหาเชื้อเพลิงหรือพลังงานได้ง่ายหรือยากของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน นโยบายพลังงานของแต่ละประเทศจึงมีความแตกต่างกันตามบริบทของประเทศนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม ควรมีแนวคิดทางวิชาการเพื่อกำหนดนโยบายพลังงานไฟฟ้าหรือ PDP ของประเทศ ไม่ควรมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากดดันเพื่อให้แผน PDP ไปในแนวทางหรือผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ ซึ่งในบทความนี้ผมขอเสนอแนวคิดทางวิชาการที่ใช้หลักการปรับสมดุลระหว่างปัจจัย 4E ดังนี้

เริ่มจากปัจจัย E ที่ 1 Economic คือเรื่องเศรษฐศาสตร์อันเป็นนโยบายของรัฐที่จะกำหนดให้ค่าไฟฟ้าถูกหรือแพง

โดยหลักการทางเศรษฐศาสตร์แล้วค่าไฟฟ้าควรอยู่ในระดับที่คนส่วนใหญ่ของประเทศสามารถยอมรับได้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่กําลังพัฒนาและพึ่งพารายได้หลักจากอุตสาหกรรม การบริการ และเกษตรกรรม โดยเศรษฐกิจของประเทศต้องพึ่งพาการส่งออกถึง 70% ของรายได้ประชาชาติ ดังนั้น ประเทศไทยต้องการไฟฟ้าในราคาที่ถูกพอจะแข่งขันกับประเทศคู่แข่งทางการค้าของประเทศได้ และประชาชนภาคครัวเรือนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสมกับรายได้ โดยเฉพาะประชาชนที่มีรายได้น้อยจะต้องไม่เดือดร้อน

ปัจจัย E ที่ 2 คือ Environment หรือสิ่งแวดล้อมที่รัฐกำหนดค่ามาตรฐานในการปลดปล่อยของเสีย

การเลือกเชื้อเพลิงชนิดใดหรือโรงไฟฟ้าแบบไหนก็ตามต่างก็มีผลกระทบต่อส่ิงแวดล้อมทั้งสิ้น แต่จะมีมากหรือน้อยต่างกัน เรามักจะได้ยินได้ฟังข่าว อยู่เป็นประจําในบ้านเรา ก็คือ มีการคัดค้านและต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในที่ต่างๆ ของประเทศอยู่เนืองๆ ไม่ต้องพูดถึงโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และโรงไฟฟ้าพลังน้ําจากเขื่อน ซึ่งโรงไฟฟ้าเหล่านี้มักเป็นโรงไฟฟ้าที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ และจะมีคนไปคัดค้านไม่ให้สร้างเป็นปกติ (ประเทศของเรามักจะมีคนค้านโครงการขนาดใหญ่ทุกโครงการเป็นปกติ) ปัจจุบันนี้แม้แต่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดกลางและขนาดเล็กก็ยังถูกคัดค้าน เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าชีวมวล (กากปาล์ม แกลบ และของเหลือจากการเกษตร) และที่โดนต่อต้านหนักกว่าเพื่อนก็คือโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง ไม่เว้นแม้กระทั่งโรงไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ซึ่งไม่น่าจะถูกต่อต้านแต่ก็ถูกต่อต้านเช่นกัน

กรณีของประเทศไทย การเลือกใช้เชื้อเพลิงชนิดใดหรือโรงไฟฟ้าแบบไหน ควรคํานึงว่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นนั้นควรอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ของสังคมโดยไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้า นั่นคือการปลดปล่อยของเสียหรือสิ่งที่อาจจะเป็นอันตรายจะต้องไม่เกินค่ามาตรฐานสิ่งแวดล้อมของประเทศที่กําหนดไว้ตามกฎหมาย

ปัจจัย E ที่ 3 คือ Energy Security หรือความมั่นคงที่ต้องคำนึง

ความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า ได้แก่ ความสามารถในการส่งไฟฟ้าให้อย่างสม่ำเสมอเพียงพอกับความต้องการของคนทั้งประเทศ โดยจะต้องผลิตไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องตลอดเวลา (24 ชั่วโมงในหนึ่งวัน) ไม่หยุดๆ ดับๆ จะต้องสามารถจ่ายไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการทั้งทางภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ภาคเกษตรกรรม ภาคพาณิชยกรรม ภาคการขนส่ง ภาคสาธารณสุข และภาคครัวเรือน ถ้าเราไปต่างจังหวัดหลายๆ แห่ง โดยเฉพาะจังหวัดในภาคใต้ จะพบว่ามีไฟฟ้าไม่พอ หยุดๆ ดับๆ เป็นระยะๆ นอกจากนั้นแล้ว ยังพบว่าบางครั้งยังมีไฟฟ้าตกร่วมด้วย (นั่นคือเกิดภาวะที่ไฟฟ้าไม่เสถียร) เพราะภาคใต้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าให้พอกับความต้องการ บางช่วงเวลาต้องป้อนพลังงานไฟฟ้าจากภาคกลางไปสู่ภาคใต้ จึงเกิดความไม่เสถียรทางด้านพลังงานในภาคใต้ การที่ไฟฟ้าไม่เสถียรนั้นหากเกิดอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึงก็อาจลุกลามกลายเป็นปัญหาความไม่มั่นคงได้ ยกตัวอย่างเช่น การเกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง (blackout) ในจังหวัดภาคใต้เมื่อหลายปีก่อน [2] กล่าวคือ ในตอนเย็นของวันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ได้เกิดไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ เนื่องจากเกิดฟ้าผ่าสายส่งขนาดใหญ่ขณะที่เจ้าหน้าที่ กฟผ.กําลังซ่อมสายส่งที่จังหวัดราชบุรี สายส่งดังกล่าวเชื่อมต่อเพื่อส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปยังภาคใต้ ในวันดังกล่าวการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าในภาคใต้ไม่พอ (ซึ่งไม่พอเป็นปกติเพราะไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในภาคใต้ได้เนื่องจากมีการคัดค้านไม่ให้สร้าง) จึงต้องดึงไฟฟ้าจากภาคกลางมาเสริมให้พอ การเกิดอุบัติเหตุฟ้าผ่าสายส่งจึงลุกลามกลายเป็นปัญหาความไม่มั่นคงทางพลังงานได้ (วันนั้นหากภาคใต้มีโรงไฟห้าหลักที่สามารถผลิตไฟฟ้าให้พอเพียงกับความต้องการของภาคใต้ได้เอง ก็ไม่น่าจะเกิด blackout)

ปัจจัย E ที่ 4 คือ Engineering (หรือ Technology) ที่ต้องการ

เรื่องทางเทคนิคหรือวิศวกรรมซึ่งต้องทําความเข้าใจให้ดีเสียก่อนว่า โรงไฟฟ้าแต่ละแบบจะมีเทคนิคเฉพาะทางเทคโนโลยีที่ต่างกันไปในแต่ละโรง โดยเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้ามีหลายแบบ และ แต่ละแบบอาจใช้เชื้อเพลิงต่างชนิดกัน เช่น

    1. โรงไฟฟ้าฐาน (หรือโรงไฟฟ้าหลัก) มักใช้แหล่งพลังงานที่ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยถูก ราคาพลังงานเสถียร มั่นคง จัดหาได้ง่าย และผลิตได้สม่ำเสมอ เช่น ถ่านหิน นิวเคลียร์ และก๊าซธรรมชาติ (หรือพลังน้ําหรือน้ํามันที่ใช้ในบางประเทศ) และมักผสมผสานการใช้พลังงานเหล่านี้ร่วมกันผลิตไฟฟ้าที่มีความแน่นอน สามารถสั่งการให้เพิ่มหรือลดกำลังการผลิตได้แน่นอนและพึ่งพาได้ (firm)

    2. โรงไฟฟ้าเสริม ซึ่งใช้เชื้อเพลิงชีวมวล ลม หรือแสงอาทิตย์ เป็นแหล่งพลังงาน เราเรียกพลังงานเหล่านี้ว่าเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ไม่เสถียร เพราะไม่สามารถสั่งให้เพิ่มหรือลดกำลังการผลิตได้ตามต้องการ จึงเป็นโรงไฟฟ้าที่พึ่งพาไม่ได้ (non-firm)

เชื้อเพลิงหรือพลังงานแต่ละชนิดต่างก็มีข้อเด่นและข้อด้อยในตัวเอง ดังนั้น การพิจารณาเลือกเทคโนโลยีสำหรับโรงไฟฟ้าจึงควรพิจารณาถึงข้อเด่นและข้อด้อยของแหล่งเชื้อเพลิงหรือพลังงานที่นํามาใช้ เชื้อเพลิงหรือพลังงานทุกชนิดต่างก็มีข้อดีและข้อด้อย ดังแสดงในตารางข้างล่าง

และเราสามารถแยกเอาเชื้อเพลิงหรือพลังงานแต่ละชนิดมาดูข้อเด่นและข้อด้อยตามปัจจัย 4E ที่ได้เสนอมา ซึ่งได้แก่ ปัจจัยทางด้าน Economic, Environment, Energy Security และ Engineering ตามลำดับ ได้ตามตารางข้างล่าง

จะเห็นว่าเชื้อเพลิงหรือพลังงานแต่ละชนิดต่างก็มีข้อเด่นและข้อด้อย ดังนั้นจึงไม่มีเชื้อเพลิงหรือพลังงานชนิดหนึ่งชนิดใดที่ดีสมบูรณ์แบบ (เพราะถ้ามี เราคงหันมาใช้เชื้อเพลิงหรือพลังงานชนิดนั้นกันทั้งโลก) และเนื่องจากไม่มีสิ่งที่ดีสมบูรณ์แบบ เราจึงต้องเลือกใช้เชื้อเพลิงหรือพลังงานเหล่านี้ผสมผสานกันโดยให้มีความสมดุลระหว่างปัจจัย 4E เพื่อให้การผลิตไฟฟ้า ซึ่งคือ E ที่ 5 หรือ Electricity เกิดความมั่นคงยั่งยืนในการสร้างความผาสุกให้แก่ประชาชนคนทั่วไป

เรามักจะได้ยินได้ฟังจาก NGO เสมอๆ ว่าการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนนั้นมีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้วสนับสนุนให้เกิดการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเพื่อนำมาทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยแสดงความเห็นต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ว่าจะก่อสร้างที่กระบี่หรือเทพาเพื่อแก้ปัญหาไฟฟ้าไม่พอในภาคใต้ จนอาจกล่าวได้ว่า NGO เน้นปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมในการผลิตไฟฟ้าหรือ E ที่ 2 ซึ่งคือ Environment แต่เพียงปัจจัยเดียวโดยไม่ได้สนใจผลกระทบต่อปัจจัยอื่นๆ ที่จะตามมา ซึ่งการที่เน้นไปที่ปัจจัยสิ่งแวดล้อมแค่ปัจจัยเดียวนั้นจะส่งกระทบทำให้เสียสมดุลของอีก 3 ปัจจัยที่เหลือ กล่าวคือ หากเราเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนประเภทพลังงานลมและแสงอาทิตย์มากเกินไป (หรือเน้น E ที่ 2 คือปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่มากจนเกินไป) จะส่งผลกระทบต่อปัจจัย 3E ที่เหลือจนเกิดความไม่สมดุล ดังนี้

    1. E ที่ 4 คือ Engineering หรือเทคนิควิศกรรมมีผลกระทบ นั่นคือผู้ผลิตไฟฟ้า (ในที่นี้คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.) ต้องลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ทางด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าฐานหรือโรงไฟฟ้าหลัก (โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน หรือนิวเคลียร์) เพื่อนำมา backup ในการเพิ่มเสถียรภาพระบบการผลิตไฟฟ้าอันเกิดจากความผันผวนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ที่มีสัดส่วนสูงเกินไป นอกจากนั้นแล้วยังต้องลงทุนทางด้านเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อให้ระบบการผลิตไฟฟ้าทำงานได้ราบรื่น การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมาในลักษณะเช่นนี้ถือว่าเป็นการลงทุนที่ซ้ำซ้อนจนเป็นผลทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น [3]

    2. E ที่ 1 คือ Economic แม้ว่าผู้ติดตั้งเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ แต่จะเกิดผลกระทบที่สำคัญคือเกิดภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนโดยเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจาก กฟผ.จะต้องปรับปรุงเทคนิควิศวกรรมทำให้ต้องลงทุนทางเทคโนโลยีที่สูงเพิ่มมากขึ้น จนส่งผลให้ผู้ที่ไม่ได้ติดตั้งเทคโนโลยีผลิตพลังงานหมุนเวียน (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม) เกิดความเสียหายเพราะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราที่แพงขึ้น นั่นคือคนเหล่านั้นจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มเพื่อให้ผู้ที่ติดตั้งเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ประหยัด และที่สำคัญมากที่สุดคือคนยากจนที่ไม่สามารถลงทุนติดตั้งเทคโนโลยีได้ คนกลุ่มนี้ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มเพื่อให้คนที่ติดตั้งเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่มีฐานะดี) ได้ประหยัด ซึ่งจะเป็นเรื่องที่สร้างความไม่เป็นธรรมขึ้นในสังคม [4]

    3. E ที่ 3 คือ Energy Security เราพบว่าโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนประเภทพลังงานลมและแสงอาทิตย์แทบจะไม่มีความเสถียร เพราะเป็นโรงไฟฟ้าประเภทไว้ใจไม่ได้ที่ผลิตไฟฟ้าออกมาโดยขึ้นอยู่กับธรรมชาติ ถ้าไม่มีลมไม่มีแสงอาทิตย์ก็จะผลิตไฟฟ้าไม่ได้เลย จะไปบังคับให้ลมพัดให้แดดออกนั้นไม่สามารถทำได้ โรงไฟฟ้าที่ไว้ไจไม่ได้ซึ่งผลิตไฟฟ้าไม่เสถียรนี้ หากมีสัดส่วนในระบบการผลิตไฟฟ้าที่มากเกินไป อาจจะทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางพลังงาน และถ้าหากการผลิตไฟฟ้าที่ไม่เสถียรนี้มีสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้าที่มากเกินไป ก็จะสร้างภาระในทางเทคนิคให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าซึ่งมีหน้าที่ต้องผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน จะปล่อยให้ไฟฟ้าดับๆ หยุดๆ ตามแต่ว่าจะมีลมพัด หรือฝนจะตก หรือแดดจะออกนั้นทำไม่ได้เลย มิฉะนั้นแล้วชาวบ้านจะเดือดร้อน จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องลงทุนทางด้านเทคโนโลยีเพื่อให้มีการผลิตไฟฟ้าที่เพียงพอและต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงในหนึ่งวัน ถ้าหากเกิดไฟฟ้าไม่พอและใช้มากๆ หรือเกิดอุบัติเหตุแบบกะทันหันก็อาจจะเกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง เป็นปัญหาความมั่นคงทางพลังงานของประเทศได้ และปัญหานี้ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในต่างประเทศ [5] [6] [7]

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เมื่อมองให้ครบปัจจัยทั้ง 4E ก็จะพบว่า

1. E ที่ 1 หรือ Economic ค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงถ่านหินถูก อาจกล่าวว่าถูกพอๆ กับไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

2. E ที่ 2 หรือ Environment ปัจจุบันเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดที่พัฒนาล่าสุดที่ใช้ในโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นมีความสะอาดมาก และมีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าสูงจนทำให้มีการปลดปล่อยของเสียต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานมาก ไม่ว่าจะเป็นก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ฝุ่น แม้กระทั่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งนี้เนื่องจากประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ถูกพัฒนาให้สูงขึ้นมาเป็นลำดับ ประกอบกับอุปกรณ์ดักจับของเสียที่เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหินก็ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพในการกําจัดของเสียสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

3) E ที่ 3 หรือ Energy Security เนื่องจากแหล่งเชื้อเพลิงถ่านหินไม่ได้กระจุกตัวในส่วนหนึ่งส่วนใดของโลก เรียกว่าเชื้อ เพลิงถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่เป็น non-geopolitical คือแหล่งถ่านหินเกิดกระจายตัวไปยังส่วนต่างๆ ของโลก ไม่เหมือนน้ํามันซึ่งกระจุกตัวแถวตะวันออกกลาง (geopolitical) ดังนั้น การรวมตัวเพื่อกําหนดราคาถ่านหินจึงทําได้ยาก ไม่เหมือนน้ํามันที่มักจะถูกกําหนดราคาโดยประเทศกลุ่ม OPEC ซึ่งส่วนใหญ่อยู่แถวตะวันออกกลาง ประกอบกับถ่านหินมีปริมาณสํารองของโลกมากมายมหาศาล มากกว่าปริมาณสํารองของน้ํามันและก๊าซธรรมชาติ จึงทําให้ถ่านหินมีราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งสองชนิดมาก และราคาถ่านหินไม่ค่อยผันผวน (ราคาค่อนข้างเสถียร ไม่ขึ้นๆ ลงๆ อย่างน้ำมัน) จึงทําให้เชื้อเพลิงถ่านหินมีความมั่นคงสูง

4) E ที่ 4 หรือ Engineering นั้น ในทางเทคนิควิศวกรรมแล้ว โรงไฟฟ้าถ่านหินได้มีการพัฒนาและใช้มาเป็นเวลานานมากแล้ว เทคโนโลยีของโรงไฟฟ้านั้นสุกงอม มีความแน่นอนไว้ใจได้ สามารถทํางานได้ต่อเนื่อง และสามารถปรับหรือลดกําลังการผลิตไฟฟ้าได้ดี มีความถูกต้องแม่นยํา (ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าชนิดอื่นมาสำรองอย่างเช่นโรงไฟฟ้าพลังงานลมหรือแสงอาทิตย์)

ที่ผมอธิบายมานี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า การจะตัดสินใจเลือกสร้างโรงไฟฟ้าประเภทใดนั้น เราควรมีแนวคิดทางวิชาการในการกำหนดนโยบาย และได้เสนอให้ใช้แนวทางการพิจารณาสร้างสมดุลระหว่างปัจจัย 4E ซึ่งประกอบด้วย Economic, Environment, Energy Security และ Engineering เรามักจะได้ยิน NGO ที่สนับสนุนให้สร้างแต่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเท่านั้นโดยให้เหตุผลว่าสะอาดและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย (Environment ดี) แต่ไม่ได้คํานึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ (Economic) ที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น ไม่ได้คํานึงว่าประเทศเราได้เกิดความไม่มั่นคงทางพลังงาน (Energy Security) ขึ้นมาแล้ว ความมั่นคงทางด้านพลังงานที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้คือไทยมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างแบบที่เกิดกับ 14 จังหวัดภาคใต้เมื่อหลายปีก่อน และท้ายที่สุด NGO ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจหรือไม่คํานึงเลยว่าการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจะก่อปัญหาทางด้านเทคนิควิศวกรรม (Engineering) ที่จะเกิดขึ้นกับการที่ กฟผ.ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อมาสำรอง และยังต้องลงทุนทางด้านเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น เพื่อทำให้ระบบการผลิตไฟฟ้ามีความเสถียรสามารถผลิตไฟฟ้าให้แก่ประชาชนอย่างไม่เกิดปัญหาความมั่นคงทางพลังงาน

ผมมิได้สนับสนุนโรงไฟฟ้าชนิดหนึ่งชนิดใดเป็นพิเศษ เพราะตระหนักว่าไม่มีเชื้อเพลิงหรือพลังงานชนิดหนึ่งชนิดใดที่ดีสมบูรณ์แบบ และเนื่องจากไม่มีสิ่งที่ดีสมบูรณ์แบบ เราจึงต้องเลือกใช้เชื้อเพลิงหรือพลังงานเหล่านี้ผสมผสานกันโดยคำนึงถึงบริบทของประเทศไทยเพื่อให้มีความสมดุลระหว่างปัจจัย 4E นี้ และปัจจุบันประเทศไทยเราได้พึ่งพาพลังงานก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนที่สูงกว่าร้อยละ 60 จึงป็นเรื่องเสี่ยงที่เราไปพึ่งพาพลังงานก๊าซธรรมชาติมากจนเกินไป อันอาจเกิดปัญหาด้านความมั่นคงทางพลังงาน (ดูบทความตอนต่อไป) ในขณะเดียวกันก็เกิดการต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เนื่องจากความกังวลของประชาชน ทางออกจึงควรกระจายความเสี่ยงด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าฐานในภาคใต้ ซึ่งผมก็ขอยืนยันว่าเชื้อเพลิงถ่านหินไม่ได้เป็นเชื้อเพลิงที่ดีหรือสมบูรณ์แบบที่สุด และเชื้อเพลิงหรือพลังงานชนิดอื่นก็มิได้ดีและสมบูรณ์แบบที่สุดเช่นกัน ดังนั้น ทางเลือกที่ถูกต้องจึงควรผสมผสานการใช้พลังงานหรือเชื้อเพลิงให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงปัจจัย 4E ที่มีความสมดุลและมีเหตุผล

ผมจะใช้หลักการสร้างสมดุลของปัจจัย 4E นี้อธิบายถึงผลกระทบจากการกำหนดนโยบายพลังงานของประเทศตามแผน PDP2018 ใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อเร็วๆ นี้ และผมมีความเห็นว่าแผนนี้ควรมีการปรับปรุง ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของรัฐมนตรีพลังงานท่านใหม่ที่มีดำริว่าควรให้มีการปรับปรุงแผนนี้โดยจะรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ผมจึงขอโอกาสนี้เสนอแนะการปรับปรุงแผน PDP2018 นี้ให้เหมาะสมโดยใช้หลักการสร้างสมดุลของปัจจัย 4E ที่ได้อธิบายมาข้างต้นในบทความตอนต่อไป

อ้างอิง

[1] Energy for All แก้แผน PDP ให้ “ชุมชน” เป็นผู้ผลิตไฟฟ้า, ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 17 สิงหาคม 2562.

[2] เหตุการณ์ไฟฟ้าในภาคใต้ (ประเทศไทย) พ.ศ. 2556

[3] ใครได้-ใครเสีย จากการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้มากขึ้น (ตอนที่ 1), ดร.ภิญโญ มีชำนะ, THAIPUBLICA, 2 กันยายน 2562.

[4] ใครได้-ใครเสีย จากการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้มากขึ้น (ตอนที่ 2, ดร.ภิญโญ มีชำนะ, THAIPUBLICA, 5 กันยายน 2562.

[5] Record heat blackouts: Tens of thousands without power across South Australia and Victoria., By Rory McClaren, 9 News, Jan 25, 2019.

[6] More Blackouts In South Australia-Where’s Elon Musk?, by Paul Homewood, NOT A LOT OF PEOPLE KNOW THAT, January 29, 2019.

[7] Why South Australia’s blackouts are a problem for us all., By Charisma Chang, News Corp Australia, February 10, 2017.