ThaiPublica > คอลัมน์ > เลี้ยงลูกให้ใช้ชีวิตกับ AI

เลี้ยงลูกให้ใช้ชีวิตกับ AI

19 กันยายน 2019


จรัล งามวิโรจน์เจริญ Chief Data Scientist & VP of Data Innovation Lab บริษัท เซอร์ทิส จำกัด

การเรียนรู้เป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ และนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถของประชากรในประเทศได้ หลายๆ คนอาจคิดว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดทุกที่ ทุกเวลา

สถาบันครอบครัวสามารถเป็นแรงผลักดันในการสร้างสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ให้กับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอนที่บ้าน (homeschooling) หรือทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกัน เพื่อให้เด็กรักการเรียนรู้ และต่อยอดทักษะการเรียนรู้ได้ในระยะยาว (lifelong learning) ตลอดจนฝึกฝนทักษะให้เด็กสามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัล โดยเฉพาะยุคที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันและสามารถช่วยตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ตลอดจนทำงานได้หลายอย่างใกล้เคียงกับมนุษย์

สิ่งที่ผู้ปกครองควรคำนึงถึงคือ ทำอย่างไรเด็กยุคใหม่จึงจะสามารถใช้ชีวิตกับเอไอได้อย่างรู้เท่าทัน และนำเอาประโยชน์ของเอไอมาพัฒนาหรือต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการมีจริยธรรม

คนในยุคนี้โตมากับโลกที่เอไอ อัลกอริทึม เลือกเนื้อหาให้เราเห็น ไม่ว่าจะเป็นบน YouTube หรือ Facebook ซึ่งส่งผลต่อต่อการเรียนรู้ของเด็ก การสอนให้เด็กเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีเหล่านี้จะกระตุ้นทักษะการแก้ปัญหาและการคิดวิเคราะห์ ให้สามารถรู้เท่าทันสื่อ รวมทั้งสามารถกำหนดทิศทางของเทคโนโลยีในอนาคตได้

Blakeley Payne นักศึกษาผู้ช่วยนักวิจัยที่ MIT Media Lab ได้ทดลองนำหลักสูตรการสอนเกี่ยวกับเอไอ ในด้านกระบวนการพัฒนาอัลกอริทึม รวมทั้งผลกระทบกับชีวิตคนทั่วไปไปใช้สอนเด็กในช่วงวัย 9-14 ปี พบว่าหลักสูตรดังกล่าวสามารถปลูกฝังความคิดในเชิงวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการคิดแบบคำนวณ (computational thinking) ให้แก่เด็กได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของเด็กช่วงวัยนี้ที่กำลังเริ่มพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง

อีกทั้งการสอนเกี่ยวกับเทคโนโลยีตั้งแต่วัยเด็ก เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้และเกิดความสนใจ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมวงการเอไอให้มีบุคลากรเพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ หากเราปลูกฝังเรื่องจริยธรรมในการนำเทคโนโลยีมาใช้ ก็จะสามารถสร้างประชากรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมในอนาคตได้

ผมขอยกตัวอย่างทักษะที่ผู้ปกครองควรเรียนรู้และแนะนำให้กับเด็กๆ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับเอไออย่างเหมาะสม ได้แก่

1. เรียนรู้ที่จะแยกแยะว่าสิ่งไหนเป็นความจริง ถูกสร้างขึ้น หรือเป็นเพียงความคิดเห็น (fact vs fake vs opinion): ในยุคของ Deepfake ที่วิดีโอถูกปลอมแปลงหรือตัดต่อไปเป็นบุคคลอื่น หากสังเกตสีผิวบนใบหน้าที่แตกต่างจากส่วนอื่นของร่างกาย แสงที่อาจไม่เข้ากับส่วนอื่นในวิดีโอ คำพูดกับการขยับปากที่ไม่สอดคล้องกัน ก็จะสามารถแยกแยะได้ว่าวิดีโอนั้นถูกปลอมแปลง หากเป็นด้านเนื้อหาต้องสามารถแยกแยะได้ว่าเป็นความคิดเห็นหรือความจริงซึ่งมาจากแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ (ดูเพิ่มเติม information literacy)

2. ปลูกฝังแนวคิดที่มีต่อของเล่นจำพวกหุ่นยนต์หรือแชทบอท: ของเล่นในยุคนี้ มีลักษณะที่สามารถโต้ตอบได้ บางทีมีการใส่คาแรกเตอร์ให้กับของเล่นเพื่อให้เกิดความสมจริง สิ่งสำคัญสำหรับผู้ปกครองคือควรชี้แนะว่ามนุษย์เป็นคนสร้างสิ่งเหล่านี้และสอนให้มันฉลาด “มัน” เป็นสิ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้น ฉะนั้นพยายามอย่าคิดว่าเป็นสิ่งมีชีวิตหรือผูกพันทางความรู้สึกมากจนเกินไป มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่าของเล่นที่สามารถโต้ตอบได้มีผลต่อพัฒนาการและการตัดสินใจของเด็ก ตลอดจนสามารถมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางด้านศีลธรรม ดังนั้นผู้ปกครองควรใส่ใจและปลูกฝังให้เด็กเข้าใจถึงเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้เอไอมีอิทธิพลต่อเด็กในทางที่ไม่เหมาะสม

3. สร้างทัศนะคติที่เหมาะสมในการใช้งานเอไอ: สนับสนุนให้เด็กทำความเข้าใจว่า หุ่นยนต์หรือเอไอทำงานอย่างไร รวมทั้งปลูกฝังแนวทางการออกแบบอย่างมีจริยธรรมให้เอไอ เช่น ถ้าเอไอเล่นเกมชนะควรทำตัวอย่างไร (แนวทางจริยธรรมเอไอ อ่านเพิ่มได้จากบทความนี้) รวมทั้งให้ตั้งข้อสงสัยกับข้อมูล ข่าวสาร ที่ได้รับจากบอทหรือหุ่นยนต์ว่ามีความถูกต้องมากน้อยเพียงใด

4. ตั้งคำถามชวนคิด: อาจเริ่มด้วยการนำตัวอย่างวิดีโอ Deepfake ให้เด็กดูแล้วชวนให้คิดว่ารู้สึกอย่างไร ชอบการนำวิดีโอมาปลอมแปลงหรือสร้างข่าวลวงหรือไม่ เพื่อช่วยให้เด็กตระหนักถึงผลกระทบทางสังคมทั้งในเชิงบวกและลบจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในหลายๆ ด้าน

บางท่านอาจมองว่าสิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ยังดูไกลตัว แต่การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยทุกวันนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มว่าจะใช้ระยะเวลาสั้นลงเรื่อยๆ การปรับตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกประเทศ ไล่ระดับมาจนถึงประชาชนทุกคน ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ไกลตัวและเริ่มได้ตั้งแต่วัยเด็ก หากผู้ปกครองเริ่มต้นที่จะปลูกฝังและพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีให้กับเด็ก คุณจะพบว่าเด็กเหล่านั้นคิดเป็นและสามารถแสดงความคิดเห็นได้ หน้าที่ของเราคือช่วยสอนและผลักดันให้เด็กรุ่นใหม่สามารถคิดและวิเคราะห์ได้เอง พร้อมทั้งส่งเสริมทักษะที่จำเป็น รวมถึงสร้างเสริมจริยธรรมให้กับเด็ก โดยเฉพาะในยุคที่ทุกคนสามารถสร้างคอนเทนต์และโมเดลได้เอง เรายิ่งต้องปลูกฝังการรู้เท่าทันสื่อ และความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อการสร้างเอไอที่มีคุณภาพ และสามารถปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับเอไอได้อย่างเหมาะสมในอนาคต

หมายเหตุ: ทดลองดูหลักสูตร An Ethics of Artificial Intelligence Curriculum for Middle School Students ซึ่งเป็น open source ให้ลองได้

References: