ThaiPublica > คอลัมน์ > Thai Parent 4.0: ผู้ใหญ่ 4.0 เลี้ยงลูกด้วย Data

Thai Parent 4.0: ผู้ใหญ่ 4.0 เลี้ยงลูกด้วย Data

23 กันยายน 2017


จรัล งามวิโรจน์เจริญ

ผมฝันนะ ว่าวันหนึ่งสังคมไทยจะเป็น Data driven society (ไม่ใช่ Drama) ลองจินตนาการตามนะครับ ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เมื่อเรามีการเปิดใช้ข้อมูล open data กันมากขึ้น ทำให้ผู้คนสามารถตรวจเช็คแหล่งที่มา ความจริงความเท็จของข้อมูลได้ คนในสังคมมีการพูดจาที่ใช้ข้อมูลหรือหลักฐานมาสนับสนุน ไม่พูดลอยๆ หรือแค่แสดงความคิดเห็นที่ไม่มีมูล หรือสร้างภาพในสิ่งที่ตนไม่เป็น (The mask talker) การถกเถียงการตัดสินใจจะคุยกันด้วยเหตุและผลมากขึ้น เพราะเราต้องร่วมกันหาข้อมูลทำให้การถกเถียงเกิดเป็นความรู้ใหม่ขึ้น (เหมือนโต้วาทีชักจูงด้วยเหตุผลและข้อมูล) ข่าวสารที่นำเสนอได้ใช้ข้อมูลมาเล่าเรื่องให้น่าสนใจมากขึ้น (แบบ data journalism) คนในสังคมเริ่มแยกแยะออกว่าอะไรจริงอะไรเท็จมีเหตุผล รู้จักตั้งคำถามที่ท้าทายสมมุติฐาน การปกครองทั้งระดับครอบครัว องค์กร ท้องถิ่น รวมถึงการปกครองในระดับประเทศ ที่เริ่มฉลาดในการตัดสินใจ แม้กระทั่งการนำข้อมูลมาใช้ในการเลี้ยงลูกก็เป็นที่นิยมมากขึ้น 🙂

ฟังดูเป็นฝันของคนโลกสวยที่เป็นไปได้นะครับ แต่ถ้าเรายังชื่นชมความสะดวกเพราะการจะหาข้อมูลมาสนับสนุนสิ่งที่เราพูดมันต้องขวนขวายใช้ความพยายาม พอนานๆ เข้าก็นำไปสู่ความมักง่ายพูดอย่างไม่มีมูลหรือดีแต่พูด ซึ่งเป็นที่มาของปัญหาหลายๆ อย่างทางสังคม เราพูดเรื่องการปฏิรูปต่างๆ ที่เป็นการชี้นิ้วให้คนอื่นแก้ปัญหาแต่มักจะลืมว่า การปฏิรูปที่เริ่มต้นได้ง่ายที่สุดคือ การปฏิรูปตัวเองแล้วค่อยๆ เผยแพร่ไปที่ครอบครัว รวมถึงเพื่อนๆ ตาม Facebook หรือ social media อื่นๆ

ถ้าเราจะเป็นสังคม 4.0 มันก็มีอะไร 4.0 ที่เราต้องเริ่มทำได้แล้ว พูดน้อยๆ ช่วยๆ กันทำเยอะๆ (เพราะเราเสียเวลากับการพูด มีแต่งานพูดที่จัดๆ กันไป จนประเทศอื่นเช่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน เค้าทำล้ำหน้าไปแล้ว) เราควรเริ่มปฏิรูปตัวเองให้เป็นผู้ใหญ่ 4.0 ที่มี Growth mindset (ความเชื่อว่าความสามารถและความฉลาดสามารถพัฒนาได้ ไม่ใช่แค่สิ่งที่มีติดตัวมา) ด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

ในบ้าน เราต้องมีกระทรวงศึกษาฯ ที่บ้าน แบบที่มีผู้ปกครอง 4.0 อยู่ สังคมที่แข็งแรงเริ่มต้นที่บ้านเพราะบ้านเป็นแบบจำลองสังคมที่เล็กที่สุดที่ช่วยผลิตคนในสังคม ดูจากประเทศที่มีการศึกษาดีและพัฒนาก้าวหน้าเช่น ญี่ปุ่น ฟินแลนด์ จะพบว่าพ่อแม่มีส่วนในการอบรมลูกและช่วยในการเรียนรู้ยังไง อย่าได้ว่าการศึกษาในโรงเรียนเลยครับ เด็กเรียนรู้จากนอกห้องเรียน จากเพื่อน จากคนอื่นมากกว่าเรียนในห้อง รวมไปถึงค่านิยม นิสัย การทำตัวเป็นคนดีมีประโยชน์ในสังคม ซึ่งถูกปลูกฝังได้ตั้งแต่เด็กโดยคนใกล้ตัวเช่น พ่อแม่ พี่ ป้า น้า อา เป็นต้น

ความละเลยที่จะสั่งสอนลูกที่บ้านให้รู้จักถูกผิดเป็นปัญหาที่ยั่งรากลึกในสังคมไทย โรคกลัวลูกลำบากเป็นยาพิษที่ค่อยๆ ฆ่าลูกของคุณ (ประมาณว่าพ่อแม่รังแกฉัน) คุณภาพของแรงงานไทยที่ทำให้เด็กไม่สู้งาน ทำงานไม่เป็น แล้วเราจะมอบอนาคตยุค aging society ให้กับเด็กรุ่นกลัวลำบากไหม

เราต้องแยกให้ออกว่าการที่ลูกรู้จักใช้ความพยายามทำอะไรเอง มันเป็นการสอนกระบวนการในการทำงาน สอนความอดทน พ่อแม่ไม่สั่งสอนเพราะอ้างว่าไม่มีเวลา ถ้าของมันสำคัญคุณให้เวลากับมันสิครับ อย่าโยนให้เป็นความรับผิดชอบของครูหรือโรงเรียนอย่างเดียว การสอน life skills ง่ายๆ ก็แค่ให้เด็กเรียนรู้ว่าอยู่ในครอบครัวต้องช่วยกันทำอะไรที่เหมาะสมกับความสามารถของวัย เป็นพลเมืองที่ดีในบ้านเช่น กวาดบ้าน ล้างจาน จัดโต๊ะกินข้าว พับผ้า เป็นต้น (ญี่ปุ่นก็ทำกัน โรงเรียน Montessori สำหรับเด็กถือว่านี้เป็น practical life skills ที่สำคัญ แล้วอยู่บ้านทำไมทำไม่ได้) พอช่วยกันทำทั้งครอบครัวก็เป็น social skill ที่ทำให้เด็กรู้ว่าหน้าที่คนในสังคมอันนึงคือการช่วยเหลือกัน ทำอะไรได้ก็ทำ ไม่ใช่ใช้นิ้วชี้หรือปากพูดอย่างเดียว

นอกเหนือจากการสอนทางวินัย ความเป็นคนในสังคม งานวิจัย Meta analysis* (ในงานวิจัยนี้เค้ามีการสรุปงานวิจัย 77 งาน รวมนักเรียนทั้งสิ้น 300,000 คน จากงานศึกษา โรงเรียนมัธยม 36 แห่ง โรงเรียนประถม 25 แห่ง ทั้งโรงเรียนมัธยมและโรงเรียนประถม 16 แห่ง) ของ Harvard Family Research Project (ตอนหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็น Global Family Research Project) เรื่อง Parental Involvement and Student Achievement: A Meta-Analysis ยอมรับว่า การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองมีประโยชน์ต่อความสำเร็จในการเรียนรู้ของเด็กในโรงเรียน โดยเฉพาะการใช้เวลาในการอ่านและสื่อสารกับเด็ก วิธีการตั้งความคาดหวังมีผลต่อการความสำเร็จในการเรียนมากกว่าการที่ผู้ปกครองที่แค่ตั้งกฎในบ้านหรือมีส่วนร่วมในธุระของโรงเรียน

งานวิจัยของ Institute for Learning & Brain Sciences ของ University of Washington พบว่าสมองเด็กโตถึง 92 % ของผู้ใหญ่ในช่วง 2,000 แรกวัน (5 ปีแรก) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของการเรียนรู้ การสร้าง connection ในสมองของเด็กขึ้นกับความถี่ของประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเด็กวัยเยาว์

การศึกษาในวัยเด็กเป็นรากฐานสำคัญของสังคมในอนาคต จากงานวิจัยของ James J. Heckman (Nobel Memorial Prize winner in economics) หรือที่รู้จักในนาม Heckman Equation การลงทุนที่คุ้มที่ให้ Return of Investment (ROI) มากที่สุดคือ การขยายโอกาสให้กับครอบครัวที่ด้อยโอกาสเพื่อให้เด็กในช่วงเด็กทารกจนถึงอนุบาล (0-5 ปี) สามารถเข้าถึงการศึกษาหรือการช่วยเหลือครอบครัวเพื่อให้เด็กสามารถพัฒนา social skill สุขภาพ และ ความรู้เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในอนาคต การลงทุนนี้จะทำให้ขยายฐานคนที่จะพัฒนาความรู้ความสามารถ เมื่อเด็กโตขึ้นก็จะเป็นประชาชนที่มีคุณภาพของสังคม

สำหรับผู้ปกครอง สิ่งที่ทำเพิ่มขึ้นได้นอกเหนือจากการให้เวลาในการสั่งสอนบุตรหลานของท่านแล้ว เทคนิคในการเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ก็มีประโยชน์ งานวิจัย “Relearn Faster and Retain Longer” จากมหาวิทยาลัยในฝรั่งเศสพบว่า การคั่นเวลาเรียนรู้ด้วยการนอนหลับทำให้มีการจำเนื้อหาที่เรียนดีขึ้น และที่สำคัญอีกอย่างคือ การนอนหลับที่มีคุณภาพก็มีส่วนช่วยในการพัฒนาสมองด้วยเช่นกัน

จากการศึกษาของรายงาน “From Best Practices to Breakthrough Impacts” ของ Center on the Developing Child, Harvard University บอกว่า สิ่งที่ทำให้เด็กสามารถผ่านความยากลำบากในชีวิดก็คือความสัมพันธ์ที่มีกับผู้ปกครอง ผู้ดูแล หรือผู้ใหญ่ ความสัมพันธ์นี้ช่วยประคองไม่ให้พัฒนาการของเด็กถูกทำลายและเป็นส่วนช่วยสร้างความสามารถในการวางแผน การควบคุมตัวเอง การปรับตัวต่อสิ่งที่ท้าทายในชีวิต สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานของ Resilience (ความสามารถของบุคคลในการปรับตัวและฟื้นตัวภายหลังที่พบกับเหตุการณ์วิกฤต) ที่บ่มเพาะความอึดของเด็ก

นอกจากนี้ผู้ใหญ่ 4.0 ก็ต้องชม (praise) ให้เป็น ไม่ใช่ชมความเก่งหรือพรสวรรค์ของเด็ก Person Praise (“หนูเป็นนักวาดรูปตัวยง”) ที่บอกให้เด็กรู้ว่าผู้ใหญ่ให้คุณค่ากับความเก่ง การชมควรชมกระบวนการ กลยุทธ์ การใช้ทักษะ ที่เด็กทำได้ดี ชมความอดทนในการที่จะแก้ปัญหา Process Praise (“หนูมีความพยายามฝึกฝนและวาดภาพได้ดี”) ซึ่งกระบวนการชมนี้เป็นหลักการของ Growth mindset ซึ่งบ่งบอกว่าผู้ใหญ่ให้ความสนใจความสำเร็จที่ได้มาจากความพยาพยามและกระบวนการในการทำงานที่เด็กสามารถควบคุมและพัฒนาได้ Process praise ช่วยสร้างแรงจูงใจ (Motivation) และการปรับตัวต่อความท้าทาย (Resilience) ฝากผู้ใหญ่ 4.0 ในวงการสื่อนะครับ รายการ Talent show ทั้งหลายแหล่ควรจะเน้นให้เห็นเบื้องหลังของเด็กที่ใช้ความพยายามพัฒนาให้ตัวเองมีความสามารถ จะได้กระตุ้นให้คนในสังคมให้มีแรงบันดาลใจที่จะใช้ความพยายามเพื่อสร้างความสำเร็จได้มากขึ้น

สังคมไทยกำลังรอให้เราปฏิรูปตัวเองให้เป็นผู้ใหญ่ 4.0 อยู่ซึ่งเป็นอะไรที่ทำได้เลย ไม่ต้องรออนุมัติ เพื่ออนาคตของสังคมไทยที่ดีกว่า แล้วคุณจะรออะไร

หมายเหตุ
*1. Meta analysis เป็นการประเมินที่รวมงานวิจัยจากหลายๆ แหล่งที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อวิจัยที่สนใจในเชิงทางสถิติเพื่อหาข้อสรุปรวม ถือเป็นหลักฐานที่ดีมากในงานวิจัยและเป็นหนึ่งในหลักฐานที่ใช้กันในการบริหาร Evidence-based Management

2. Resource อื่นที่ช่วยผู้ปกครองในการเรียนลูก (ภาษาอังกฤษ)
http://scienceoflearning.jhu.edu/science-to-practice/resources/resources-for-parents