ThaiPublica > เกาะกระแส > CPF จับมือ Sertis เปิดตัว “CPF AI FarmLab Powered by Sertis” บริหารฟาร์มแบบ Real-time

CPF จับมือ Sertis เปิดตัว “CPF AI FarmLab Powered by Sertis” บริหารฟาร์มแบบ Real-time

19 กันยายน 2019


นายไพบูลย์ เจียมเรืองจรัส (ซ้าย) รองกรรมการผู้จัดการบริหารธุรกิจอาหารสัตว์บก บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), นายธี วชิรมน (ที่ 2 จากซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท เซอร์ทิส จำกัด, นายเรวัติ หทัยสัตยพงศ์ (ที่ 2 จากขวา) รองกรรมการ ผู้จัดการอาวุโส ด้านบริการจัดการฟาร์ม ธุรกิจอาหารสัตว์บก บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และนายธงชัย เดชอินทรนารักษ์ (ขวา) ผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท เขาอ้อม จำกัด

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562 บริษัท ซีพีเอฟ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท เซอร์ทิส จำกัด มีกำหนดจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “CPF AI FarmLab Powered by Sertis” ระบบบริหารและจัดการฟาร์มอัจฉริยะ ผ่านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ รายแรกในประเทศไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการฟาร์มปศุสัตว์ในยุคดิจิทัล

นายเรวัติ หทัยสัตยพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหารธุรกิจอาหารสัตว์บก บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ซีพีเอฟในฐานะผู้นำธุรกิจการเกษตรอุตสาหกรรมและดำเนินธุรกิจครบวงจร ตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ เลี้ยงสัตว์ การผลิตอาหาร มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพสินค้าการจัดการฟาร์ม และยกระดับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ของไทย ตลอดจนนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจปศุสัตว์เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ เจ้าของฟาร์ม และเกษตรกร ให้มีความสามารถในการแข่งขันและก้าวทันยุคสมัย

โครงการ “CPF AI FarmLab Powered by Sertis” เป็นความร่วมมือกันที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาการจัดการฟาร์มด้วยการยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity) หรือระบบป้องกันโรคที่เป็นหัวใจของการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งช่วยให้เกษตรกรสามารถติดตามและควบคุมการปฏิบัติงานของพนักงานได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ของการทำงานในจุดเสี่ยงได้ทุกขั้นตอน

“เรียกว่าการทำฟาร์มปศุสัตว์ในวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก มีขนาดใหญ่ขึ้นมาก และมีภัยคุกคามเพิ่มขึ้นในหลายมิติ ทั้งโลกร้อนที่กระทบต่อผลผลิตและที่สำคัญคือโรคระบาด ซีพีเอฟในฐานะที่ทำธุรกิจครบวงจรทางด้านอาหารที่ผ่านมากว่า 40-50 ปี เราเติบโตมาพร้อมกับลูกค้าเกษตรกร มีทีมงาน ทีมวิศวกร ดูแลเรื่องของอาหารสัตว์ แต่วันนี้เรามองว่าควรจะต้องหาเทคโนโลยีมาขยายผลเรื่องการบริหารจัดการฟาร์มให้แก่ลูกค้าด้วย จึงเกิดเป็นโครงการนำร่องนี้ เสียงตอบรับก็เป็นกำลังใจให้เราทำงานต่อไป วันนี้เราทดลอง 2 ฟาร์ม ต่อไปเราจะขยายฐานให้ลูกค้าทั่วประเทศได้ใช้นวัตกรรมของเอไอมากขึ้น และในระยะต่อไป เราจะเข้าไปศึกษาร่วมกันศึกษาพฤติกรรมของสัตว์ที่เบี่ยงเบนไปว่าบอกอะไรบ้าง สุขภาพเป็นอย่างไร หรือความคาดหวังของเราบอกว่าถ้าสัตว์ตายขึ้นมาเราผ่าแล้วบอกได้ทันทีว่าเป็นโรคอะไร อันนี้เป็นเรื่องเอไอที่ระยะถัดไปเราจะได้ร่วมมือพัฒนาต่อ แล้วต่อไปอีกจะเป็นเรื่องของ IoT (internet of things) ในเล้าจะเห็นได้หมด แล้วสุดท้ายเกษตรกรจะมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ด้วยคุณภาพสินค้าที่ดี ช่วยยกระดับชีวิตของเกษตรกรมากขึ้น” นายเรวัติกล่าว

ด้านนายไพบูลย์ เจียมเรืองจรัส รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านบริการจัดการฟาร์ม ธุรกิจอาหารสัตว์บก บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ถึงแม้จะมีระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าได้ทั้งหมด แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เพียงพอและไม่ทันการณ์ เพราะจากข้อมูลของบริษัทพบว่าปัญหาหนึ่งในอดีตที่พบมากคือเรื่องของการขายสุกรที่มักจะเป็นจุดที่นำโรคเข้าสู่ฟาร์มกว่า 70% ไม่ว่าจะมาจากความผิดพลาดของมนุษย์หรือระบบใดๆ ซึ่งต้องการการตรวจสอบที่เรียลไทม์ทันที เพื่อจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที

นายธี วชิรมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท เซอร์ทิส จำกัด

นายธี วชิรมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท เซอร์ทิส จำกัด กล่าวว่า ระบบเทคโนโลยีจัดการฟาร์มอัจฉริยะครั้งนี้จะทำหน้าที่ตรวจสอบเฝ้าระวังการปฏิบัติงานของพนักงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านกล้องวงจรปิดที่ถูกติดตั้งในพื้นที่มีความเสี่ยงภายในฟาร์ม ระบบเอไอจะตรวจจับและวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพที่ได้รับและแจ้งเตือนให้ผู้เกี่ยวข้องทราบในทันทีผ่านแอปพลิเคชันไลน์ (violation detection and notification) เช่น พนักงานอยู่ที่ไหน หรือหากพบว่ามีพนักงานเดินเข้าไปในพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือทำผิดกฎอะไรเมื่อไรตรงไหนบ้าง นอกจากนี้ ระบบยังเก็บข้อมูลสถิติและแสดงผลบนแดชบอร์ด เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาและพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด

“เราให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพ เนื่องจากหากอาหารปนเปื้อนหรือไม่สะอาดจะเป็นปัญหาใหญ่ แม้ว่าจะมีระบบตรวจสอบย้อนกลับได้ก็ตาม ส่วนในระยะข้างหน้าเราตั้งใจจะไปสู่การทำเกษตรแบบ smart farming มากขึ้น เรื่องหนึ่งคือดูว่ามีอุปกรณ์อะไรที่เสียหายต้องซ่อมหรือไม่ ระบบพัดลม ระบบจ่ายน้ำ ระบบให้อาหารสัตว์ พวกนี้ถ้ามีระบบเอไอไปช่วยจะใช้ติดตามได้ตลอดเวลา เราตั้งใจมาเติมเต็มบางสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้ แต่ไม่ได้จะมาแทนที่มนุษย์ อันหนึ่งคือการเฝ้าติดตามตลอดเวลา ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว อีกอันคือติดตามคุณภาพของปศุสัตว์จากพฤติกรรม เช่น อาจจะมีหมูตัวหนึ่งนอนเยอะไป ไม่กินอาหาร อาจจะส่งสัญญาณของโรค พวกนี้จะช่วยให้เกษตรกรติดตามและทำปศุสัตว์ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายธีกล่าว

นายธงชัย เดชอินทรนารักษ์ ผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท เขาอ้อม จำกัด เล่าถึงประสบการณ์การใช้ระบบว่า บริษัทได้นำระบบเอไอมาช่วยปิดจุดบอด ของเดิมตอนที่ไม่มีเอไอ บริษัทเองมีระบบป้องกันอยู่แล้ว แต่ต้องรับผิดชอบของพนักงาน ซึ่งบางครั้งมันมีความเหนื่อยล้า มีความประมาท เอไอจะช่วยปิดช่องโหว่ตรงนี้ ที่สำคัญระบบการป้องกันโรคมันไมมีการพักยก ไม่เหมือนมวยที่ชกเสร็จแล้วจบ แต่ระบบป้องกันโรค วันนี้ป้องกันได้ ไม่ได้หมายความว่าพรุ่งนี้จะไม่เป็น เมื่อไรที่มันเข้ามาแล้วระบบเอไอมันบล็อกได้ มันคือคำตอบว่าทำไมเราต้องมีระบบเอไอ ถ้าเกิดมีโรคมาถึงบริษัทเราก็จะรอด

“ประทับใจที่เห็นตอนนี้คือความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เดี๋ยวก็เข้ามาในไลน์ เราก็ส่งไปให้พนักงงานที่เกี่ยวข้องกันที แล้วพอเป็นบ่อยๆ เราก็ต้องปรับปรุงระบบ ไม่ต้องดูย้อนหลัง ซึ่งบางครั้งย้อนหลังมันอาจจะแก้ไขไม่ทันแล้ว ถ้ามีระบบลำโพงอาจจะต้องส่งข้อมูลกลับไปที่หน้างานแล้ว แบบนี้หน้างานไม่ต้องรอให้เราเตือนเขาจะรู้เองได้ทันที แต่ส่วนที่เป็นปัญหาติดขัดอยู่บ้างคือเรื่องฮาร์ดแวร์อย่างกล้องมันจะเสียง่าย ตั้งแต่ติดมาส่งซ่อมมา 2-3 ครั้ง ระยะยาวอาจจะต้องมีกล้องสำรอง ไฟดับตัวระบบอาจจะต้องหาตัวที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ไฟกระชากมันไม่สามารถใช้แบตเตอรี่ได้ มันจะวูบไปเลย ถ้าตั้งใจตัดไฟหรือไฟดับ คือไฟตกแล้วระบบสำรองไฟยังไม่ทำงาน ต้องหาระบบสำรองมาอุดช่องโหว่ตรงนี้” นายธงชัยกล่าว