ThaiPublica > คอลัมน์ > ภูมิอากาศวิทยา ปัญหาการเมืองของความรู้สภาวะโลกร้อน

ภูมิอากาศวิทยา ปัญหาการเมืองของความรู้สภาวะโลกร้อน

22 สิงหาคม 2019


กฤษฎา บุญชัย มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

ที่มาภาพ : https://climate.nasa.gov/

“อีก 11 ปี (พ.ศ.2573) หากโลกควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาได้ โลกจะประสบความวิบัติอย่างแก้ไขไม่ได้”

นี่เป็นคำเตือนที่จริงจังที่สุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ว่าโลกไม่เหลือเวลาที่จะผัดผ่อนการแก้ปัญหาต่อไปแล้ว เพราะนับตั้งแต่กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปี 2538 พิธีสารเกียวโต 2548 มาจนถึงข้อตกลงปารีส ปี 2558 เป็นเวลา 20 ปีแล้วที่โลกมีข้อตกลงลดก๊าซเรือนกระจก แต่ก็โลกไม่ได้ลดการปล่อยก๊าซลงเลย มีแต่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากภาคพลังงานฟอสซิล ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรพาณิชย์

คำเตือนดังกล่าวนับว่าน่าตกใจที่สุด เพราะนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกยืนยันกันเสียงเดียว ไม่ใช่ภาพยนตร์โลกาวินาศที่เคยดูมาแต่เด็กๆ ถึงแม้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกาหรือกลุ่มธุรกิจน้ำมันและถ่านหินจะออกมาปฏิเสธว่าโลกร้อนเป็นเรื่องธรรมชาติก็ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจนัก เพราะเข้าใจได้ว่าผลประโยชน์ธุรกิจได้ครอบงำการกำหนดนโยบายไปแล้ว แต่สิ่งที่น่าตกใจกว่าคือ ทำไมคำเตือนที่ฉุกเฉินเช่นนี้กลับไม่เป็นประเด็นปลุกให้พลเมืองโลกและพลเมืองไทยตื่นตัว ยกเว้นกลุ่มประเทศยุโรป รัสเซีย ที่มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง

สาวน้อย Greta Thunberg แห่งสวีเดน ที่มาภาพ : https://www.aroundonline.com/greta-thunberg/

การลุกขึ้นสู้ของสาวน้อย Greta Thunberg แห่งสวีเดน และผองเพื่อนเยาวชนทั่วโลก แม้ได้รับคำชมเชยจนถึงขั้นว่าจะเสนอให้ได้รับรางวัลโนเบล แต่ในทางปฏิบัติกลับโดดเดี่ยวอย่างยิ่ง

ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศไทยเอง ต่างทำรายงานการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแบบเล่นเกมส์กับตัวเลข ดังที่อาจารย์ประสาท มีแต้ม ได้ชี้ไว้ว่า ช่วงปี 2548-2559 ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 6 ล้านตัน แต่ได้พยากรณ์ไว้ว่า (กำหนดไว้สูงๆ) ว่าช่วงปี 2558-2573 ไทยจะปล่อยก๊าซปีละ 11 ล้านตัน ดังนั้นเพื่อให้ดูว่าเราจริงจังจึงตั้งเป้าหมายว่าจะลดการปล่อยก๊าซลงร้อยละ 20 ให้เหลือปีละ 6 ล้านตัน นั่นก็เท่ากับว่า กลับมายืนจุดเดิม ไม่ได้ลดลงเลย มีแต่การแต่งตัวเลขให้ดู “ขาดทุนกำไร” เท่านั้นเอง

ด้วยการปั้นแต่งความต้องการให้สูงเพื่อกำหนดเป้าหมายให้ดูดี สังคมไทยจึงถูกรัฐบาลสปอยล์ ไม่ได้รับแรงกดดันใดๆ เพราะวิถีการผลิตบริโภคและธุรกิจฟอสซิลจะยังคงเป็นไปเช่นเดิม ประเด็นปัญหาโลกร้อนจึงไม่มีนัยทางการเมือง ไม่มีแรงขับเคลื่อนใดๆ จากสังคมส่งผ่านไปถึงพรรคการเมือง รัฐบาล และราชการให้ต้องเอาจริงเอาจังกับห้วงเวลาเพียง 11 ปีที่เหลือ ซึ่งน้อยกว่าระยะเวลายุทธศาสตร์ปฏิรูปประเทศเสียอีก

อะไรทำให้รัฐเล่นกับตัวเลขได้โดยราบรื่น อะไรที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่ยี่หระกับคำเตือนถึง 11 ปีของความหายนะ มันต้องมีปัญหาการอ่านความหมายของสังคมที่มีต่อสภาวะโลกร้อน ทั้งๆ ที่ผู้คนก็เผชิญกับความร้อนที่รุนแรง ภัยแล้งที่หนักหน่วง

ผมได้ฉุกคิดจากบทความชื่อ “Climatology/Ideology: Unacknowledged Struggle among Global Warming Movements”1 ของคุณ Larry Lohmann นักกิจกรรมวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมที่นับถือแห่ง Corner House อังกฤษว่า เป็นปัญหาว่าด้วย “ภูมิอากาศวิทยา” (Climatology)

สภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องร้ายแรงจริง ไม่ใช่ปั้นแต่งอย่างที่ทรัมป์เชื่อ แต่องค์ความรู้ในการอธิบายสภาวะโลกร้อนต่างหากที่เป็นปัญหา เพราะปัญหาสภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ที่ทำลายระบบนิเวศ ล้างผลาญทรัพยากร สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นโครงสร้างของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่ชนชั้นนำเข้าถึง ผูกขาดนิเวศ สภาพชีวิตที่ดี และผลักให้คนส่วนใหญ่ต้องรับภาระ ปัญหาสภาวะโลกร้อนหรือปัญหานิเวศจึงเป็นเรื่องการเมือง และโยงใยกับวิถีดำรงชีพ และวัฒนธรรมของผู้คนอย่างแยกไม่ออก

Larry อธิบายภูมิอากาศวิทยาว่า เป็นศาสตร์ที่มุ่งเเยกธรรมชาติ “ที่ไม่ใช่มนุษย์” (โมเลกุลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การสะท้อนแสงของเมฆ สารประกอบมีเทนคลาเทรดหรือน้ำเเข็งไฟ) ออกจากสังคม “ที่ไม่ใช่ธรรมชาติ” (ส่วนเกินที่ผลิตได้ สหภาพเเรงงาน นโยบายพลังงาน) ภูมิอากาศวิทยามองก๊าซเรือนกระจกราวกับว่ามันล่องลอยอยู่ในอากาศที่เจตนาไม่มีตัวตน ตัวอย่างเช่น ภูมิอากาศวิทยาสามารถทำความเข้าใจถึงที่มาของโมเลกุลก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศได้ตราบเท่าที่สามารถสืบย้อนไปได้ถึงจุดต่างๆในระบบพิกัดคาร์ทีเซียน (Cartesian) ที่ปราศจากมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องเท่านั้น

มีการใช้ทรัพยากรอย่างมากที่จะคำนวณถึงสภาวะภูมิอากาศวิทยาเพื่อระบุความเป็นไปได้ในการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนของโมเลกุลชนิดต่างๆ เช่น มีเทน หรือไนตรัสออกไซด์ ข้อมูลเหล่านี้ยังมีข้อถกเถียงเรื่องหลักฐานยืนยัน แต่ที่สำคัญคือ มันไม่ได้ระบุถึงศักยภาพของสาเหตุเชิงโครงสร้างทั้งเชิงบวกและลบที่มีต่อสภาวะโลกร้อน ภูมิอากาศวิทยาอาจเเยกเเยะความต่างระหว่างโมเลกุลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เเละมีเทนได้ เเต่ไม่สามารถแยกเเยะความต่างระหว่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากกิจกรรมยังชีพและที่มาจากวิถีบริโภคอันฟุ้งเฟ้อ เพราะมันถูกมองว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ภูมิอากาศวิทยาที่มุ่งแต่คำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซหรือผมเรียกว่า “ภูมิอากาศวิทยาเชิงลดทอน” นั่นทำให้เศรษฐศาสตร์การประเมินมูลค่าและการแลกเปลี่ยนสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำงานได้ง่าย (เศรษฐศาสตร์ไม่ได้ตาย แต่ครองอำนาจการอธิบายและกำหนดนโยบายเหนือองค์ความรู้อื่นมากขึ้น) ปริมาณก๊าซไม่ว่าจะกี่ล้านตันไม่ได้บอกนัยทางการเมืองและสังคมอีกมากมาย เช่น การปล่อยก๊าซที่นับเป็นประเทศนั้นๆ มาจากธุรกิจข้ามชาติที่เข้าไปลงทุนมากกว่าการผลิตและบริโภคของพลเมืองในประเทศ ไม่ได้แยกแยะว่า ก๊าซนั้นมาจากการสร้างความมั่งคั่งของธุรกิจพลังงาน มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและบริโภคอันฟุ่มเฟือยของชนชั้นสูง หรือมาจากความจำเป็นในการดำรงชีพของเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน คนยากจนที่ยังจำเป็นต้องใช้พลังงานและทรัพยากรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกกลับปฏิบัติต่อคนสองกลุ่มนี้โดยไม่แยกแยะสาเหตุและความจำเป็น

มากไปกว่านั้นการใช้ชีวิตของเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน คนยากจนเหล่านั้น ก็ล้วนอยู่ภายใต้โครงการการลงทุนของภาคเอกชนและรัฐที่ตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรอย่างบ้าคลั่ง การหารเฉลี่ยทั้งในระดับประเทศถึงระดับปัจเจก หรือภาคการผลิตต่างๆ ได้สลายนัยทางการเมือง ความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาโลกร้อนกับธรรมชาติ และวิถีชีวิตของประชาชนไปเสีย

แนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกจึงเพ่งไปที่การปรับพฤติกรรมบริโภคส่วนบุคคลและองค์กรในวิถีปรกติ เช่น ลดพลาสติก ประหยัดพลังงาน เปลี่ยนชนิดพลังงาน รณรงค์ปลูกต้นไม้ ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการยิ่ง แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่พอที่จะปรับรื้อโครงสร้างแห่งความรุนแรงของสภาวะโลกร้อนได้ ทุนนิยมอุตสาหกรรมยังเติบโตต่อไป เทคโนโลยีอาจช่วยให้ลดการปล่อยก๊าซต่อหน่วยการผลิตดีขึ้น แต่ผู้คนก็ยังถูกสปอยล์ให้ผลิตและบริโภคมากขึ้น การปล่อยก๊าซแทนที่จะลดลงกลับเพิ่มขึ้นดังช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

การทอนปัญหาเหลือแต่ตัวเลขและโยงกับพฤติกรรมบุคคลแบบหารเฉลี่ย ทำให้เราไม่เห็นบทบาทของชาวบ้านเทพา สงขลา ชุมชนเขาหินซ้อน ฉะเชิงเทราและอื่นๆ ที่กำลังคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่เห็นความสำคัญของชาวบ้านภาคตะวันออกที่ปกป้องสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจจากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่รัฐโปรโมทว่าเป็นความหวังฉุดเศรษฐกิจไทย ไม่นับบทบาทของเครือข่ายชุมชนคัดค้านเขื่อนวังหีบ คลองสังข์ และเหมืองตะกั่วจากภาคใต้เพื่อปกป้องนิเวศท้องถิ่น ไม่เข้าใจถึงบทบาทของชุมชนที่ดูแลป่า ดับไฟป่า ทำไร่หมุนเวียนในภาคเหนือว่าได้ฟื้นฟูนิเวศป่าเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนจนทำให้ป่าไม้ไทยมีศักยภาพดูดซับก๊าซมากที่สุด และไม่เห็นถึงนัยสำคัญของเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศที่ไม่เพียงแต่ปล่อยก๊าซต่ำ แต่ยังเลิกการใช้ปุ๋ยเคมีที่มาจากการเผาถ่านหินและน้ำมันซึ่งเป็นสาเหตุที่ภาคเกษตรปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังมีเรื่องราวของประชาชนอีกมากมายที่ปกป้องนิเวศ สิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้ถูกรัฐและผู้เชี่ยวชาญภูมิอากาศวิทยานับว่า เป็นการปกป้องโลกร้อน

ผลของวิธีคิดเชิงลดทอนของภูมิอากาศวิทยาทำให้แนวคิดเรื่องข้อจำกัดทางนิเวศและสังคมหายไป เพราะทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปล่อยคาร์บอนสามารถแลกเปลี่ยน (trade) กันได้ นัยสำคัญ ความเฉพาะเจาะจง และบริบทก็สลายไปการถ่ายโอนตัวเลขคาร์บอน ตัวเลขคาร์บอนก็เปลี่ยนเป็นตัวเลขเงินตราที่ถ่ายโอนได้รวดเร็วในยุคการเงินดิจิตอล เราจึงตกอยู่ในวังวนของตัวเลขที่ห่างไกลจากปัญหาที่เผชิญอยู่จริง

ภูมิอากาศวิทยาที่ลดทอนและไร้มิติมนุษย์เช่นนี้ปลุกสังคมไม่ได้หรอกครับ ถ้าไม่ไปเชื่อมโยงกับปัญหาเชิงโครงสร้างแห่งความไม่เป็นธรรม และคุณค่าในวิถีชีวิตของประชาชนเผชิญอยู่

พลังทางวิชาการของภูมิอากาศวิทยาจะมีความหมายเมื่อใช้อธิบายปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ตรวจสอบกฎหมาย นโยบาย โครงการที่ทำลายนิเวศและฐานทรัพยากรของประชาชน อธิบายบทบาทคุณค่าของชุมชน พลเมืองที่ปกป้องนิเวศ อาหาร สิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้กอบกู้โลกจากสภาวะโลกร้อน และตีแผ่ให้เห็นความไม่เป็นธรรมในการใช้นิเวศและภาระสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมที่ประชาชนแบกรับ

ภูมิอากาศวิทยาเชิงการเมืองและวัฒนธรรมที่เสริมอำนาจประชาชนเช่นนี้ จึงจะเป็นพลังทางปัญญาที่จะเชื่อมโยง ปลุกพลังของสังคมให้ลุกขึ้นกอบกู้โลกในช่วง 11 ปีที่เหลืออย่างมีความหวังมากกว่าครับ

หมายเหตุ: 1.Larry Lohmann, (2019), Climatology/Ideology: Unacknowledged Struggle among Global Warming Movements , The corner house, http://www.thecornerhouse.org.uk/resource/climatologyideology