ThaiPublica > คอลัมน์ > คุ้ยขยะเพื่อช่วยโลก

คุ้ยขยะเพื่อช่วยโลก

9 กรกฎาคม 2019


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Freeganism#/media/File:Freegan_at_work.jpg

ถ้าท่านไปสิงคโปร์และเห็นกลุ่มคนแต่งตัวดีกำลังคุ้ยถังขยะอยู่ อย่าคิดว่าพวกเหล่านี้เพี้ยนหรือยากจน พวกเขาที่เป็นคนปกติดีมีอุดมการณ์กำลังทำงานเพื่อช่วยโลก

สารคดี “รอบโลก” ของคุณกรุณา บัวคำศรี นำเรื่องราวของคนกลุ่มนี้ที่เรียกตนเองว่า Freegan มาถ่ายทอดให้คนไทยได้รับรู้อย่างน่าสนใจ ผมติดตามสุภาพสตรีแสนเก่งผู้นี้มายาวนาน เธอทำรายการ “รอบโลก” หลายร้อยตอน ดูได้ใน YouTube รายการของเธอล้วนแปลกใหม่ ให้ความรู้ เดินเรื่องกะทัดรัด ร้อยเรียงด้วยบทที่สละสลวยและด้วยน้ำเสียงที่ชวนฟัง วันนี้ขอเอาเรื่องนี้มาขยายความต่อ

คนกลุ่มนี้ตระหนักว่ามีวัตถุดิบประกอบอาหาร อาหารในถุงซองและกระป๋องที่ยังมีคุณภาพดีถูกทิ้งในถังขยะเป็นปริมาณมากมายในแต่ละวัน ทั้งนี้เพราะหมดอายุ ผักผลไม้ถูกทิ้งเพราะหน้าตาไม่สวย รวมกันวันหนึ่งถึง 1,000-2,000 ตันต่อวันอย่างน่าเสียดาย ในขณะที่ยังมีคนจนในสิงคโปร์ที่ต้องการอาหารอย่างเพียงพอรวมทั้งประเทศอาจมีถึง 10% นอกจากนี้ยังเห็นช่องทางที่จะได้สิ่งของมาบริโภคฟรีอีกด้วย

ในตอนแรกสมาชิกของกลุ่มออกไปค้นหาของในถังขยะซึ่งได้มามากมายในแต่ละวัน อีกทั้งไปรับอาหารกระป๋อง เครื่องดื่ม อาหาร junk food ในซองตลอดจนเครื่องปรุง ผักผลไม้จากร้านทั้งหลายที่โยนทิ้ง แต่ปัจจุบันงานคุ้ยขยะมีน้อยลงเพราะเจ้าของร้านเอาใส่รถมาให้ เมื่อได้ของมาสมาชิกก็ร่วมกันคัดและจัดเป็นประเภทใส่เป็นลังไว้ 2 อาทิตย์ต่อครั้ง สมาชิกก็จะมาเลือกไปอย่างเป็นระเบียบไม่มีการแย่งชิง เอาไปมากเท่าใดก็ได้ แต่กฎเหล็กก็คือห้ามเอาไปขายต่อ

ของที่เอาไปก็อยู่ในสภาพดีทั้งนั้น เพราะมีการคัดกรองทิ้งไปก่อนนำมาให้เลือก เพียงแต่ถ้าเป็นผักผลไม้อาจมีหน้าตาไม่งดงาม ซึ่งเป็นเหตุผลที่คนขายต้องโยนทิ้งเพราะผู้ซื้อชอบที่จะเห็นและซื้อแต่ของหน้าตาดีเท่านั้น

สำหรับเครื่องกระป๋อง ซองอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารลักษณะอื่นๆ นั้น คนทั่วไปจะไม่ตระหนักว่ามี 2 วันที่ระบุไว้คือวันที่ควรบริโภคก่อน (best before) กับวันที่หมดอายุ (expiration date) ตัวเลขแรกแนะนำว่าของจะมีคุณภาพและโภชนาการสมบูรณ์ (ภายใต้สมมติฐานของการเก็บของผู้ขายและผู้ซื้อ) ก่อนวันที่นั้นๆ ส่วนตัวเลขหลังคือหมดอายุ ซึ่งมิได้หมายถึงว่าจะกินแล้วตายหรือป่วย หากแนะนำว่าไม่ควรกิน (มักกำหนดไว้ก่อนวันหมดอายุอย่างแท้จริงนานพอควรเพื่อเป็นการป้องกันการถูกฟ้องร้อง หรือเสียชื่อเสียงหากบริโภคไป)

วันที่ทั้งสองดังกล่าวกลุ่มนี้เชื่อว่าไม่มีความหมายมากนัก โดยเฉพาะตัวเลขแรกที่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของการเก็บรักษา ส่วนตัวเลขหลังถ้าหน้าตายังดีอยู่และเกินวันที่ไม่นานก็บริโภคได้ สาเหตุที่ผู้ผลิตใส่วันที่ไว้ก็เพราะต้องการรักษาคุณภาพ และจะได้ขายได้ปริมาณมากขึ้น มนุษย์ถูกฝังหัวเรื่องตัวเลขหมดอายุมายาวนาน ผู้ผลิตจึงหาประโยชน์จากแง่มุมนี้ได้มาก

กลุ่มนี้ที่สิงคโปร์เข้มแข็ง มีสมาชิกร่วมงานกันพร้อมหน้า เขาไม่อาย ไม่รู้สึกเสียเกียรติหรือศักดิ์ศรีเพราะเขามีอุดมการณ์ที่ไม่ต้องการให้ทรัพยากรของโลกถูกใช้ไปอย่างไร้ความหมายโดยการบริโภคอย่างทิ้งๆ ขว้างๆ ไม่ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ก่อปัญหาขยะ และประการสำคัญ ได้ของมาใช้ฟรี เป็นการช่วยผู้ขายในการกำจัดและสมาชิกได้ประโยชน์ด้วยในการลดค่าใช้จ่าย

ขบวนการ Freegan มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในสิงคโปร์ ต้นกำเนิดของมันคือสหรัฐอเมริกาในยุคทศวรรษ 1960 ของฮิปปี้และสงครามเวียดนามซึ่งมีการต่อต้านทุนนิยมและค่านิยมการบริโภคอย่างไม่สิ้นสุด ปัจจุบันคำว่า freegan ในภาษาอังกฤษหมายถึงคนที่ปฏิเสธบริโภคนิยม และพยายามช่วยสิ่งแวดล้อมด้วยการลดขยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำอาหารที่โยนทิ้งแล้ว (rescued food) และของใช้อื่นๆ กลับมาใช้อีกครั้ง

ที่มาภาพ : https://freeganinsingapore.wordpress.com/2018/07/01/the-great-bread-hunt/

คำว่า freegan มาจาก free + vegan (พวกไม่นิยมบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทั้งหมด) ถูกใช้ครั้งแรกในปี 1994 โดยปัจจุบันมักมีความหมายไปทางพวก “ค้นหาของจากขยะ” ซึ่งมีความหมายไปทางลบ ปัจจุบันบางกลุ่มไม่มีการคุ้ยขยะแต่มีคนเอา “สินค้าขยะ” มาส่งถึงที่ดังเช่นกรณีกลุ่มของสิงคโปร์

กลุ่ม Freegan ต้องต่อสู้กับความรู้สึกที่เป็นลบจากสาธารณชนในเรื่องการคุ้ยหาของจากถังขยะ กลุ่ม Freegan นั้นมีอยู่ในหลายประเทศมานานพอควร เช่น ในอังกฤษ สวีเดน นอร์เวย์ ญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส คานาดา กรีซ บราซิล ออสเตรีย โปแลนด์ สเปน สวิตเซอร์แลนด์ และอีก 6 เมืองใหญ่ในสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองนิวยอร์ก อย่างไรก็ดีในปัจจุบันในหลายเมืองและหลายประเทศข้างต้นกลุ่ม Freegan ไม่เข้มแข็ง หากมีกลุ่มอุดมการณ์คล้ายกันก็มักใช้ชื่ออื่น

ในบ้านเราโดยเฉพาะกรุงเทพฯ มีอาหารที่ถูกโยนทิ้งในลักษณะดังกล่าวมหาศาลในแต่ละวันจากร้านค้าทั้งหลาย เชื่อว่ามีผู้คนยากจนจำนวนมากที่ได้ประโยชน์แต่ยังไม่มีใครสำรวจหรือศึกษา เรายังไม่มีกลุ่มคนที่กล้าต่อสู้กับความรู้สึกด้านลบของสาธารณชนไทยที่มีต่อการเก็บของจากถังขยะและใช้ “สินค้าขยะ” ดังเช่นกลุ่มนี้

ถ้าดูสถิติโลกก็จะพบว่ากลุ่ม Freegan กำลังทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อโลก การจะมีโลกที่ยั่งยืนอยู่กันนานเท่านานอย่างมีความสุขถ้วนหน้านั้นต้องแก้ไขปัญหาหลายประการดังนี้ (1) ในแต่ละปี 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตทั้งหมดในโลก (ประมาณ 1.3 พันล้านตัน) ถูกทิ้งในถังขยะโดยทั้งผู้บริโภคและผู้ขาย หรือเน่าเสียจากการขนส่งหรือการเก็บเกี่ยวที่ขาดประสิทธิภาพ (2) ในปี 2050 ซึ่งคาดว่าจะมีประชากรถึง 9.6 พันล้านคนนั้น ถ้าเราบริโภคกันในลักษณะปัจจุบัน เราต้องมีโลกรวมถึง 3 ใบ จึงจะมีทรัพยากรเพียงพอ

(3) ประชากรโลกประมาณ 2 พันล้านคนใน 7 พันล้านคน มีน้ำหนักเกินพอดี ในขณะที่ประชากร 1 พันล้านคนมีภาวะทุพโภชนาการ และอีก 1 พันล้านคนอดอยาก

มนุษย์มิได้กินทิ้งกินขว้างเท่านั้น หากยังทิ้งถุงพลาสติกปริมาณมหาศาลซึ่งจะแตกย่อยเป็น nano-plastic ที่มีขนาดเล็กจนมองไม่เห็นปนเปื้อนอยู่ในอาหารและน้ำซึ่งปัจจุบันวงการแพทย์กำลังเร่งศึกษาว่าจะมีผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร

การผลิตและการบริโภคอย่างไม่รู้จบในโลกที่มีทรัพยากรจำกัดไม่อาจดำเนินต่อไปได้ หนทางแก้ไขก็คือการบริโภคที่ลดน้อยลง ลดการสูญเสีย และมีการคาดหวังที่น้อยลงและมีการดำรงชีวิตแนว “เศรษฐกิจพอเพียง”

  • เทสโก้ โลตัส ประกาศเลิกทิ้งอาหารกินได้ เป้าหมายใหม่ใน “วิกฤตขยะอาหาร”
  • หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.”กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 2 ก.ค. 2562